อาการหลังเป็นอัมพาต (Post Stroke) รวมทั้งตาพร่ามัว และอาการปวด
(ภาพวันนี้: เจ็ดสิบแล้ว นานๆได้แต่งเครื่องแบบที จึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน)
สวัสดีครับคุณหมอ
ผมชื่อ … นะครับ ได้ไปเข้าคอร์ทของคุณหมอที่เขาใหญ่ เมื่อวันที่หนึ่งถึงสี่ธันวาคมครับ ผมเป็น สโต๊ค มาก่อน สองครั้งเมื่อสามปีที่แล้ว และเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นที่สมองน้อย แต่ตอนนี้ Fully Recover แล้วครับ คุณหมอวิเคราะห์ว่าร่างกายผมน่าจะโอเค แต่มีปัญหาเรื่องความกังวล ต้องจัดการเรื่องนั้น และความดันยังสูงอยู่ ประมาณร้อยสี่สิบ เก้าสิบ ครับ
ตอนนี้ก็พยายามปฏิบัติตัวตามแนวทางที่เรียนจากคุณหมอมาได้ประมาณสักแปดสิบถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ครับ แต่เมื่อเช้าระหว่างไปทำงาน เดิน อยู่อยู่ตาก็เริ่มพร่า เหมือนซ้อนกัน แต่เป็นไม่มากนะครับ และเป็นอยู่แป๊บเดียว แต่อาการนี้ เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นอยู่ประมาณหนึ่งถึงสองนาที ก่อนที่จะเป็นสโตรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็เลยทำให้มีความกังวลใจขึ้นมาว่านี่เป็นสัญญาณว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า
จะขอรบกวน ปรึกษาคุณหมอหน่อยครับก็ควรจะทำอย่างไรดี ตอนนี้ก้อไม่มีอาการ BEFAST นะครับ เนี่ยนอกจากเรื่องตาพร่าที่เป็นเล็กน้อย อย่างที่เรียนคุณหมอข้างต้นครับ
ขอบคุณมากครับ
Best regards,
………………………………………………………………………..
ตอบครับ
ก่อนตอบคำถามขอขยายความคำว่า BEFAST ที่ท่านเจ้าของจดหมายพูดถึงหน่อยนะครับ เพราะมันมีประโยชน์สำหรับผู้อ่านทั่วไป BEFAST เป็นคำย่อให้คนทั่วไปวินิจฉัยโรคอัมพาตเฉียบพลันหรือ stroke ของตัวเองได้ คำนี้วงการแพทย์เพิ่งคิดขึ้นมาแทนคำเก่า FAST คำนี้มีความหมายดังนี้
B = Balance = สูญเสียการทรงตัว ยืนไม่อยู่ เดินตรงไม่ได้
E = Eye = การมองเห็นมีปัญหา เช่นตามืดเฉียบพลัน
F = Facial = หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยวเวลายิ้มหรือพูด
A = Arm = แขนตกหรืออ่อนแรงข้างหนึ่ง ยกแขนไม่ขึ้น
S = Speech = การพูดเสียไป พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด
T = Time = เวลา ไม่เกี่ยวกับอาการ แต่เตือนว่าเวลาเป็นนาทีทอง ให้รีบไปโรงพยาบาล
เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม
1.. ถามว่าเป็นสโตร๊คมาแล้ว อยู่ๆก็ตาพร่าขึ้นมาแป๊บหนึ่ง มันจะเป็นซ้ำหรือเปล่า ตอบว่ามันเป็นไปได้ทั้งนั้น มันอาจเป็นแค่อาการของไมเกรนซึ่งไม่ทราบสาเหตุหรือซึ่งสัมพันธ์กับการอดนอนก็ได้ มันอาจเป็นอาการขนาดเบาของการเป็นสโตร๊คซ้ำก็ได้ ซึ่งหากมันเป็นเช่นนั้น เราก็ได้ป้องกันเต็มที่แล้วโดยการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดให้ดีและกินยาต้านเกล็ดเลือดอย่างที่คุณทำอยู่แล้ว ส่วนนั้นทำแล้วก็จบแค่นั้นไม่ต้องไปกังวลต่อ ทำเต็มที่แล้วอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด
ที่ควรจะพูดถึงคือมันเป็นได้อีกอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่าการสูญเสียการมองเห็นหลังเกิดอัมพาตที่สมองส่วนหลัง (post occipital stroke vision loss) หมายความว่าคนเป็นอัมพาตเฉียบพลันที่สมองส่วนหลังอย่างคุณนี้ บางคนตอนหลังเป็นใหม่ๆการมองเห็นจะยังดีอยู่ได้ด้วยการทำงานชดเชยของเนื้อสมองส่วนที่ยังไม่เสียหาย แต่แล้วพอเวลาผ่านไปสักหกเดือนการมองเห็นกลับค่อยๆมีปัญหาขึ้นมาอีกทั้งนี้เป็นเพราะอัมพาตชนิด occipital stroke ซึ่งเริ่มต้นด้วยความเสียหายของเนื้อสมองส่วนหลังนั้น มันจะทำให้ค่อยๆเกิดการเสื่อมของเส้นประสาทควบคุมการมองเห็นย้อนกลับจากเนื้อสมองมาจนถึงลูกตา ทำให้การมองเห็นที่ดีๆอยู่หลังการเป็นอัมพาตใหม่ๆค่อยๆแย่ลงภายหลังได้ ซึ่งในประเด็นนี้ผมเคยอ่านงานวิจัยหนึ่งทำที่โรเชสเตอร์ (สหรัฐฯ)ว่าการใช้โปรแกรฟื้นฟูสายตา (เช่นการให้ระวังจ้องดูแล้วชี้เป้าแสงที่โผล่แว้บๆๆๆขึ้นมาตามจุดต่างในลานสายตา) จะช่วยชลอหรือแก้ไขการเสื่อมของการมองเห็นชนิดนี้ได้ ดังนั้นคุณก็ประยุกต์หลักอันนี้ไปใช้ด้วยตนเองได้ คือขยันฝึกการจ้องมองรับรู้จุดต่างๆบนลานสายตาทุกวันก็น่าจะดีกว่าอยู่เปล่าๆนะ
เทคนิคอื่นๆที่ใช้ได้ก็เช่น (1) ถ้าภาพซ้อน ลองหลับตาข้างหนึ่ง หรือเอาอะไรปิดตาข้างหนึ่งเวลาอ่านหนังสือหรือดูทีวี (2) ถ้ามองเห็นด้วยตาเดียว ให้หันหน้าและศีรษะไปข้างนั้นเพื่อช่วยการมองเห็น (3) เวลาอ่านหนังสือก็ใช้ไม้บรรทัดและปากกาคอยคุมให้รู้ว่าอ่านถึงตรงไหนอยู่บนบรรทัดไหน (4) จัดแสงให้สว่างพอส่องมาจากข้างๆ (4) จัดบ้านหรือครัวไม่ให้รก มีของน้อยๆ หยิบง่ายๆ (5) ผมไม่แน่ใจว่าเมืองไทยมีคลินิกหมอตาที่ไหนทำโปรแกรมฟื้นฟูสายตาหรือเปล่า ถ้าทำเองแล้วไม่ดีขึ้นคุณก็ไปเสาะหาคลินิกที่ว่านี้เอาเองก็แล้วกัน
2.. อีกอาการหนึ่งที่คนเป็นอัมพาตชอบเขียนมาถามแต่ผมยังไม่ได้ตอบจึงขอรวบตอบด้วยกันตรงนี้ คือการมีอาการปวดโน่นปวดนี่ หรือเหน็บชา หรือปวดร้อนๆไหม้ๆ หลังเป็นอัมพาต ทั้งหมดนี้เรียกว่า “อาการปวดจากระบบประสาทกลางหลังเป็นอัมพาต” หรือ Central post-stroke pain (CPSP) คือปวดด้วยเหตุในสมอง ไม่ใช่เหตุที่อวัยวะเช่นแขนขา บางครั้งก็เป็นอาการเสียการรับรู้ (ชา) บางครั้งก็รับรู้มากไป (ปวด) ซึ่งเกิดจากกลไกปรับตัวของระบบประสาทที่พอรับรู้รายงานทางประสาทได้น้อยลงก็ขยายสัญญาณที่รับรู้มานั้นให้ใหญ่ขึ้น (neural hyperexcitability) แนวทางการจัดการปัญหานี้หมอสันต์แนะนำว่าให้ใช้หลักปฏิบัติธรรมของบรรดาหลวงพ่อสาย “หนอ” คือปวดก็ปวดหนอ ร้อนก็ร้อนหนอ ชาก็ชาหนอ แค่นั่นพอ ไม่ได้ต้องไปแสวงหาการรักษาอื่นๆมากมายอันจะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นๆมากเข้าไปอีก
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1.. Saionz EL, Tadin D, Melnick MD, Huxlin KR. Functional preservation and enhanced capacity for visual restoration in subacute occipital stroke. Brain. 2020 Jun 1;143(6):1857-1872. doi: 10.1093/brain/awaa128. PMID: 32428211; PMCID: PMC7296857.
2.. Klit H, Finnerup NB, Jensen TS. Central post-stroke pain: clinical characteristics, pathophysiology, and management. Lancet Neurol. 2009 Sep;8(9):857-68. doi: 10.1016/S1474-4422(09)70176-0. PMID: 19679277.