การอดอาหารแบบเป็นช่วงๆ (Intermittent Fasting - IF) เพื่อรักษาเบาหวาน
(ภาพวันนี้: พวงประดิษฐ์ริมทางเดิน)
คุณหมอครับ
ผมเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ใช้ยาอยู่กินสองตัว อยากปรึกษาคุณหมอว่าจะอดอาหารแบบ IF รักษาเบาหวานดีไหมครับ
ของคุณครับ
……………………………………………………..
ตอบครับ
ก่อนที่จะตอบ ผมขอเล่าถึงหลักฐานวิทยาศาสตร์จากการทำวิจัยในคนในเรื่องการอดอาหารแบบเป็นช่วงเวลา (intermittent fasting – IF) เช่นการอดเฉพาะช่วงกลางคืน ก่อนนะ
วงการแพทย์รู้มานานแล้วจากการวิจัย [1] ว่าการกินอาหารหลังตะวันตกดินแล้วร่างกายจะจัดการน้ำตาลที่กินเข้าไปได้ไม่ดีเท่าการกินอาหารตอนตะวันยังไม่ตกดิน กล่าวคือการกินอาหารตอนกลางคืนจะทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงกว่า และสูงค้างเติ่งอยู่นานกว่าการกินอาหารตอนกลางวัน และทราบกลไกแล้วด้วยว่ากลางคืนเมื่อฮอร์โมนเมลาโทนินออกมาแล้วจะบล็อกการปล่อยอินสุลินจากตับอ่อน แม้ว่าจะมีกลูโค้สในเลือดสูงขึ้นเป็นต้วกระตุ้นให้ตับอ่อนปล่อยอินสุลินก็ตาม ซึ่งความรู้เท่านี้ก็เพียงพอที่จะสร้างนิสัยกินอาหารมื้อหนักเสียตั้งแต่ช่วงตะวันขึ้น และเลิกกินมื้อหนักช่วงตะวันตกเพื่อป้องกันเบาหวาน
งานวิจัยอดอาหารแบบ IF ในอดีตมีทำไปแล้วมากกว่า 494 เปเปอร์หรือจำนวนงานวิจัย การทบทวนงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดได้เลือกงานวิจัยที่ดีที่สุด 23 งานมาทำวิจัยแบบเมตาอานาไลซีส [2] พบว่าการอดอาหารแบบ IF ลดน้ำหนักได้ 3% โดยเฉลี่ย ทำให้มวลไขมันในร่างกายลดลง และทำให้กลไกการเผาผลาญอาหารเช่นความไวต่ออินสุลินของเซลล์ร่างกายดีขึ้น จึงถือว่าเป็นหลักฐานบ่งชี้โดยอ้อมว่าการอดอาหารแบบ IF น่าจะเป็นผลดีต่อการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีมูลเหตุอยู่ที่การที่เซลล์ดื้อต่ออินสุลิน
งานวิจัยการใช้การอดอาหารแบบ IF รักษาผู้ป่วยเบาหวานโดยตรงซึ่งจะเป็นตัวให้แสงสว่างชี้นำในเรื่องนี้เขากำลังทำวิจัยกันอยู่ที่อลาบามา (สหรัฐฯ) ยังไม่ได้สรุปผลออกมา งานนี้ใช้ผู้ป่วยเบาหวาน 144 คน ผลสรุปของงานนี้จะตอบได้เด็ดขาดว่าควรใช้ IF รักษาเบาหวานหรือไม่
ดังนั้นนับถึงวันนี้หลักฐานระดับสูงที่พิสูจน์ว่า IF รักษาเบาหวานได้แบบชัดๆจึงยังไม่มี ทำให้วงการแพทย์ยังไม่ถือว่าการอดอาหารแบบ IF เป็นวิธีมาตรฐานในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน
แต่อย่างไรก็ตาม หมอสันต์ก็ยังสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทดลองรักษาเบาหวานให้ตัวเองด้วยการอดอาหารแบบ IF ได้เลยโดยไม่ต้องรอผลวิจัยจากอลาบามา คำสนับสนุนของผมมีพื้นฐานอยู่บนหลักฐานวิจัยแบบอ้อมๆที่ได้จากการทบทวนงานวิจัยข้างต้น [2] โดยหากท่านคิดจะทดลองกับตัวเองจริงให้ท่านลดหรืองดอินสุลินและยากินทั้งหมดที่ออกฤทธิ์ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำลงมาก่อนที่จะเริ่มอดอาหาร ยกเว้นเฉพาะยา metformin ไม่ต้องลดหรืองดก็ได้เพราะยานี้ไม่ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อได้เริ่มอดอาหารไปแล้ว หลังจากนั้นจึงค่อยๆปรับลดหรือเพิ่มยาตามผลเลือดที่ได้เป็นวันๆไปจนขนาดยาและระดับน้ำตาลเข้าที่
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Van Cauter E, Désir D, Decoster C, Féry F, Balasse EO. Nocturnal decrease in glucose tolerance during constant glucose infusion. J Clin Endocrinol Metab. 1989;69(3):604-611.
- Adafer R, Messaadi W, Meddahi M, et al.. Food timing, circadian rhythm and chrononutrition: a systematic review of time-restricted eating’s effects on human health. Nutrients. 2020;12(12):3770.