จะไปเมืองนอกก็กลัวติดโควิด จะฉีดวัคซีนก็กลัวตาย
เรียนคุณหมอสันต์
จะไปต่างประเทศ กลัวติดโควิดแต่ไม่กล้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพราะกลัวเสียชีวิต เพราะเห็นมีคนที่รู้จักเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนได้ไม่นาน รบกวนปรึกษาคุณหมอว่าเท่าที่คุณหมอติดตามข้อมูลปัจจุบันวัคซีนโควิดปลอดภัยขึ้นหรือยัง คุ้มที่จะฉีดหรือไม่คุ้มคะ
ขอบพระคุณค่ะ
……………………………………………………..
ตอบครับ
ข้อมูลล่าสุดที่มีคือ ทีมพยาธิแพทย์ที่เยอรมันได้รายงานการตรวจศพของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนโควิด (mRNA) แล้วตายกะทันหันภายใน 20 วันหลังฉีดวัคซีน โดยได้ตรวจศพผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำนวน 25 ศพ พบว่ามีอยู่ 4 ศพในวัยผู้ใหญ่ (ไม่จำกัดเฉพาะวัยรุ่น) ที่พบมีพยาธิสภาพที่หัวใจแสดงว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแบบเฉียบพลันแน่นอนโดยที่ตรวจไม่พบสาเหตุอื่น (นอกจากการฉีดวัคซีน) ผลตรวจทางพยาธิทั่วทั้งร่างกายสรุปได้ว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่นำไปสู่หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
งานวิจัยนี้ให้ข้อมูลสองสามอย่าง คือ
(1) ในบรรดาผู้ตายกะทันหันภายใน 20 วันหลังฉีดนั้น มีประมาณ 16% ที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันขึ้นแน่นอน
(2) ภาวะหัวใจอักเสบเฉียบพลันหลังฉีดวัคซีนโควิด จำนวนหนึ่งสัมพันธ์กับการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่ทำให้หัวใจล้มเหลวถึงตายได้
(3) การตายกะทันหันเกิดตอนไหนก็ได้อย่างน้อยก็ใน 20 วันหลังฉีด
ประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัยนี้คือการดูแลผู้ฉีดวัคซีนโควิดมาแล้วควรมีระยะเฝ้าระวังการตายกะทันหันนานพอสมควร อย่างน้อยก็ 3 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะหากเฝ้าระวังก็จะวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันได้เร็ว ก็จะลงมือรักษาเร็ว ผลการรักษาก็จะย่อมดีกว่าการไม่เฝ้าระวังเลย
นอกจากงานวิจัยของเยอรมันที่ผมเล่าให้ฟังนี้แล้ว งานวิจัยที่แคนาดาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาลัยหัวใจอเมริกัน (JACC) บ่งชี้ว่ากลุ่มเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันสูงสุดหลังฉีดวัคซีนคือคนอายุต่ำกว่า 40 ปี โดยโอกาสเกิดมากสุดใน 21 วันแรกหลังฉีด อีกงานวิจัยหนึ่งเป็นของไกเซอร์เพอรมาเนนเท ซึ่งรายงานว่าการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจาก mRA เกิดขึ้นกับเข็มหลังๆ มากกว่าเข็มแรกๆ ศูนย์ควบคุมโรครัฐบาลสหรัฐฯ (CDC) เอง ก็เคยออกคำแนะนำว่าควรทิ้งช่วงห่างระหว่างเข็มกระตุ้นออกไปอย่างน้อย 8 สัปดาห์เพื่อลดอุบัติการณ์เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน
น่าเสียดายที่ไม่มีงานวิจัยใดๆระบุได้เลยว่าอุบัติการณ์ของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจากวัคซีนโควิดนี้มีโอกาสเกิดกี่เปอร์เซ็นต์ ศูนย์ควบคุมโรครัฐบาลสหรัฐฯเองก็ยังสรุปอุบัติการณ์ไม่ได้ ได้แต่คาดเดาว่าอาจะเกิดประมาณ 52.4 รายต่อล้านรายกรณีวัคซีนไฟเซอร์ และ 56.3 รายต่อล้านรายกรณีวัคซีนโมเตอร์นา หรือ 5 รายต่อแสนราย ซึ่งหากการคาดเดานี้ถูกต้องก็ต้องถือว่าเป็นอุบัติการณ์ที่ต่ำมาก เพราะสมมุติว่าไทยฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้า 56 ล้านคนก็จะมีคนเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันแค่ 2,912 คนเท่านั้นเอง
ในแง่ของการเปรียบเทียบคนฉีดวัคซีนกับไม่ฉีดวัคซีนว่าใครจะตายมากกว่ากัน หมายความว่าคนฉีดก็ตายเพราะวัคซีน คนไม่ฉีดก็ตายเพราะโควิด ฝ่ายไหนจะตายมากกว่ากัน น่าเสียดายที่นับถึงวันนี้ยังไม่มีผลวิจัยใดๆเปรียบเทียบให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย ถึงในอนาคตก็อาจจะไม่มีตัวเลขเลยก็ได้เพราะอัตราตายจากการติดเชื้อโควิดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นๆลงๆไปตามเชื้อ ขณะที่อัตราตายที่สัมพันธ์กับวัคซีนค่อนข้างคงตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนวัคซีน ทำให้ตัวเลขเปรียบเทียบอัตราตายถึงจะรวบรวมตัวเลขมาได้ก็คงแทบไม่มีความหมายอะไรสำหรับเชื้อที่ระบาดอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น
ทุกวันนี้วงการแพทย์จัดการโรคโควิดและฉีดวัคซีนโควิดไปโดยอาศัยสามัญสำนึกมากกว่าอาศัยข้อมูลจริงเพราะข้อมูลจริงมีไม่พอ หมายความว่าอาศัยการคาดการณ์ว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจากวัคซีนน่าจะเกิดน้อยกว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อไวรัสตัวเป็นๆ วงการแพทย์จึงประเมินว่าประโยชน์ของวัคซีนน่าจะมีมากกว่าความเสี่ยงของวัคซีน ความเชื่อนี้จะเป็นจริงหรือไม่ยังไม่มีใครทราบ
ดังนั้นคุณและท่านอื่นๆที่ชอบถามมาว่าฉีดเข็มสองแล้วฉีดเข็มสาม สี่ ห้า จะเสี่ยงกว่าไม่ฉีดไหม คำตอบก็คือไม่มีใครตอบให้ได้เพราะข้อมูลเด็ดๆจะๆที่จะให้ฟันธงได้ยังไม่มี ให้ท่านตัดสินใจเอาเองจากการเดาของท่านเองก็แล้วกันนะครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Schwab C, Domke LM, Hartmann L, Stenzinger A, Longerich T, Schirmacher P. Autopsy-based histopathological characterization of myocarditis after anti-SARS-CoV-2-vaccination. Clin Res Cardiol. 2022 Nov 27:1–10. doi: 10.1007/s00392-022-02129-5. Epub ahead of print. PMID: 36436002; PMCID: PMC9702955.
- Goddard K, Hanson KE, Lewis N, Weintraub E, Fireman B, Klein NP. Incidence of Myocarditis/Pericarditis Following mRNA COVID-19 Vaccination Among Children and Younger Adults in the United States. Ann Intern Med. 2022 Oct 4:M22-2274. doi: 10.7326/M22-2274. Epub ahead of print. PMID: 36191323; PMCID: PMC9578536.