อัตตา ชื่อและรูปร่าง ลูกคิด เลขศูนย์ กับปัญญาญาณ
(ภาพวันนี้; มะขวิด เขาว่ากินได้ จะลองกินดู)
หมอสันต์พูดกับสมาชิก SR
สมัยก่อนเราไม่มีเลขศูนย์ใช้ ภาษาอีจิปต์โบราณใช้สัญญลักษณ์แทนหลักเลขใหญ่ๆ เช่นหลักแสนใช้รูปสัตว์คล้ายตัวเงินตัวทอง หลักล้านใช้รูปเทวดา เป็นต้น โรมันใช้อักษร X แทนค่าที่มากกว่า 9 โดยถ้าอักษร X ไปอยู่หน้าตัวไหนก็มีความหมายว่าให้เพิ่มจำนวนให้เลขตัวนั้นไปอีก 9+1 ถ้าอักษร X ไปอยู่หลังเลขตัวไหนก็ให้หักค่าเลขตัวนั้นออกจาก 9+1 วุ่นวายขายปลาช่อนดีไหม
แม้ในสมัยพระพุทธเจ้าก็ยังไม่มีเลขศูนย์ใช้ การอ้างถึงจำนวนมากมักใช้คำพูด เช่น “ห้าร้อย” แปลว่ามากพอควร หรือ “โกฏิ” แปลว่ามากๆระดับสองล้านโน่นเลย
คนจีนได้ทำลูกคิดขึ้นมานับเลขโดยมีรางล่างซึ่งประกอบด้วยเสาร้อยลูกคิดแทนหลัก แต่ละหลักมีลูกคิด 5 ลูกตามนิ้วมือทั้งห้านิ้ว ครบห้าก็ดีดรางบนแทนได้หนึ่งลูกแปลว่าครบหนึ่งมือ หากดีดลูกรางบนครบ 2 ลูกก็คือครบสองมือก็ดีดรางล่างของหลักใหม่แทนได้หนึ่งลูก แบบนี้ก็จะบวกเลขไปได้ไม่รู้จบตราบใดที่ต่อความกว้างของรางลูกคิดเพื่อขยายจำนวนหลักออกไปได้ และพอบวกจบก็อ่านตัวเลขได้ทันทีโดยไม่ต้องตีความยุ่งยาก แต่ต้องพกลูกคิดไปด้วยจึงจะบวกเลขคราวละมากๆและอ่านยอดรวมได้
เลขศูนย์เพิ่งเกิดขึ้นประมาณ 1,000 ปีหลังพระพุทธเจ้า จากการนั่งสมาธิของชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อพรหมคุปต์ ซึ่งในสมาธิเขาเรียนรู้ว่าเมื่อพ้นไปจากชื่อและรูปร่าง (names and forms) ที่พรรณาได้โดยภาษาหรืออัตตาแล้วเขาพบว่ามันเป็นความว่างเปล่าที่ไม่มีมูลค่าใดๆทั้งสิ้นไม่ว่าจะมองจากคอนเซ็พท์ใดๆที่อัตตาของเขายึดถืออยู่ แต่ในความว่างเปล่านั้นหากมีการรับรู้อะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นเป็นประสบการณ์ในใจ ความว่างเปล่านั้นกลับมีขีดความสามารถที่จะขยายความหรือสรรหาข้อมูลประกอบประสบการณ์นั้นได้ทันทีแบบกว้างไกลไม่มีที่สิ้นสุด เขาจึงคิดเลขศูนย์ขึ้นมาเพิ่มเติมจากตัวเลข 1-9 ที่มีใช้กันอยู่แต่เดิมโดยเรียกมันว่า “สุญญา” โดยให้เลขศูนย์นี้มีคุณสมบัติแทนความว่างเปล่าและความสามารถที่จะทวีคูณจำนวนไปได้อย่างไม่สิ้นสุด
มาถึงยุคนี้แล้วสิ่งที่พรหมคุปต์พบในการนั่งสมาธิก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือใจของเรานี้ปกติจะเต็มไปด้วยความคิดที่ชงขึ้นมาจากคอนเซ็พท์ต่างๆที่อัตตาของเรายึดถือ ความคิดทั้งหมดนั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อปกป้องและเชิดชูอัตตานี้ให้สูงเด่น สมาธิก็คือการ “จดจ่อ” ความสนใจไว้ที่อะไรสักอย่างแบบจดจ่อลึกลงไป ลึกลงไป จนเป้าที่จดจ่อนั้นหายไปเหลือแต่ความรู้ตัวโดยไม่มีความคิด ซึ่งนั่นก็คือสมาธิ หรือสุญญา ที่ตรงนั้นไม่มีชื่อ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีเรื่องราวใดๆทั้งสิ้น มีแต่ความว่างเปล่า เมื่อจุ่มแช่อยู่ตรงนั้นนานพอ จะพบว่าที่ตรงนั้นเป็นความสงบเย็น และเมื่อมีปรากฎการณ์ใดๆเกิดขึ้นในใจ ใจที่ว่างเปล่าปราศจากความคิดนั้นกลับมีความสามารถแสดงข้อมูลประกอบได้อย่างกว้างขวางพิศดารชนิดที่เชาว์ปัญญาและการคิดเอาตามเหตุผลแห่งตรรกะไม่อาจทำได้มากเท่า ขีดความสามารถอันนี้ผมเรียกว่าปัญญาญาณ (intuition) ก็แล้วกันนะจะได้ไม่ไปเข้าร่องของศาสนาไหน ปัญญาญาณจะนำเสนอสิ่งที่เราอยากรู้พอดี ในเวลาที่เราต้องการพอดี แบบลงตัวไม่มีที่ติ
ดังนั้นเป้าหมายของการจดจ่อหรือสร้างสมาธิจึงมีสองอย่างคือ (1) เพื่อให้ได้พบกับความสงบเย็น และ (2) เพื่อให้เกิดปัญญาญาณอันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิตของเราได้ดียิ่งขึ้น
การจะนั่งสมาธิเกิดปัญญาญาณนี้ให้เป็นจริงได้ มันต้องมีเหตุครบสองอย่าง คือ
อย่างที่ 1. ต้องหนักแน่นในคอนเซ็พท์พื้นฐานสามประการ ได้แก่
(1) สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีใครไปควบคุมบังคับได้ ทำได้แค่ยอมรับมัน
(2) หากไม่ยอมรับมันแต่คิดจะไปควบคุมบังคับมันก็จะไม่สำเร็จแล้วก็จะเป็นทุกข์
(3) ตัวเราหรืออัตตาของเราที่เราพยายามปกป้องเชิดชูด้วยการควบคุมบังคับสิ่งรอบตัวนี้ มันไม่ได้มีอยู่จริง
ทั้งสามประการนี้ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่คุ้นหูอยู่แล้วนั่นเอง ซึ่งเป็นคอนเซ็พท์พื้นฐานที่ทุกคนท่องได้ เข้าใจได้ แต่จะหนักแน่นในคอนเซ็พท์นี้ได้แค่ไหนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างที่ 2. ต้องช่ำชองในการฝึกใช้เครื่องมือวางความคิดที่ชงขึ้นมาจากอัตตาในทุกสภาพการณ์ของการใช้ชีวิตปกติ ซึ่งวันนี้เราก็ได้เรียนเครื่องมือดังกล่าวไปแล้ว 5 ชิ้น คือ (1) การตามดูลมหายใจ (2) การผ่อนคลายร่างกาย (3) การสังเกตความคิด (4) การตามดูพลังชีวิตหรือ body scan และ (5) การจดจ่อสมาธิ ซึ่งทั้งห้าอย่างนี้ฝึกใช้ได้ง่ายๆผ่านการนั่งสมาธิหรือ meditation ทุกวัน ร่วมกับการฝึกใช้มันในชีวิตประจำวันขณะตื่นอยู่
คำว่า “หนักแน่นในคอนเซ็พท์ ช่ำชองในการใช้เครื่องมือ” นี้ มันกินความลึกมากนะ ขอให้หมั่นทบทวนฝึกฝนทั้งสองส่วนไปให้พร้อมๆกัน ผมเคยเล่าให้ท่านฟังแล้วถึงหลวงพ่อชาวอเมริกันท่านหนึ่งที่ว่าท่านบวชเป็นพระภิกษุสายวัดป่ามายี่สิบกว่าปี เทศน์สอนญาติโยมแทนพระอาจารย์ได้ นั่งสมาธิในป่าได้นิ่งระดับผึ้งมาทำรังบนหนวดเคราไชเข้ารูจมูกออกมาทางปากท่านก็ยังนิ่ง แต่วันหนึ่งเข้ากรุงเทพมาต่อวีซ่าที่สถานทูต ต่อคิวไปสองชั่วโมงไปถึงเคาน์เตอร์ก็ถูกเสมียนไล่ให้ไปเข้าคิวใหม่เพราะเข้าคิวผิดที่ พอไปเข้าคิวใหม่ไปอีกสองชั่วโมงเสมียนเคาน์เตอร์ที่สองไล่ให้ไปเข้าคิวแรกเพราะว่ามาเข้าคิวผิดที่อีก ถึงจุดนี้ท่านก็ระเบิดผรุสวาทเป็นภาษาอเมริกันขนานแท้ลั่นสถานทูต ซึ่งตัวท่านเล่าเองว่าที่ท่านคิดว่าคอนเซ็พท์อนิจจังทุกขังอนัตตาของท่านแน่นปึ๊กแล้วนั้น แท้จริงแล้วมันยังไม่แน่นจริงเพราะอัตตาของท่านก็ยังใหญ่คับฟ้าอยู่โดยท่านไม่รู้ตัว และที่ท่านคิดว่าตัวเองช่ำชองในการใช้เครื่องมือวางความคิดจนเหลือแต่ความว่างเปล่าแล้วนั้นจริงๆแล้วท่านช่ำชองแต่กับยุงกับผึ้งซึ่งเหยียบอัตตาท่านได้ไม่มาก แต่พอมาเจอคนจริงๆซึ่งเหยียบอัตตาของท่านเข้าแบบเต็มฝ่าเท้าท่านก็เป๋ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นการหนักแน่นในคอนเซ็พท์ ช่ำชองในการใช้เครื่องมือนี้ ต้องเอามันออกมาทดสอบในชีวิตจริงบ่อยๆ ทุกวันๆ ยิ่งถูกเหยียบอัตตาหนักๆตรงๆบ่อยๆ ยิ่งเป็นการทดสอบตัวเองที่มีประสิทธิผลดี
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์