การเชื่อหมอหรือไม่เชื่อหมอล้วนเป็นความคิด ซึ่งมีแต่จะทำให้โรคนอนไม่หลับแย่ลง

เรียนอาจารย์หมอค่ะ
   หนูมีปัญหานอนไม่หลับติดต่อกันมาประมาณ 1 เดือน ทานยานอนหลับทุกวัน วันใหนไม่ทานนอนไม่หลับเลยค่ะ พยายามนั่งสมาธิ อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็แล้ว ยิ่งสดชื่นยิ่งตาสว่างค่ะ แต่ก่อนเครียดหนักทั้งจากปัญหาสุขภาพกรดไหลย้อนที่เป็นเรื้อรังค่ะ และเครียดกับงานที่เร่งรีบและปริมาณงานที่มากขึ้นสัมพันธ์กับสถานการณ์โรคระบาดโควิด หนูจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ที่คลินิก ซึ่งวันที่ไปนั้นคนไข้เยอะมากส่วนใหญ่มาตามนัดขอรับยาเดิมค่ะ หนูหวังไปปรึกษาหาทางแก้ไขโดยไม่อยากทานยา หมอคุยด้วยไม่ถึง10นาทีรีบสั่งยาให้ มีทั้งยาต้านซึมเศร้า ยาคลายเครียด ยานอนหลับ 4 ตัวเลยค่ะ ที่รีบเพราะมีคนไข้รอตรวจอีกหลายคน หนูกังวลกว่าเดิม เพราะประเมินตัวเองแล้วไม่ได้ซึมเศร้าและไม่พร้อมจะทานยาเหล่านั้น ตอนนี้เลยกังวลมากค่ะถ้าทานยาก็กลัวว่าจะต้องทานไปตลอด และความเครียดต่างๆก็ดีขึ้น แต่ยังนอนไม่หลับ แต่ถ้าไม่ทานก็กลัวว่าไม่เชื่อหมอแล้วจะเป็นรุนแรงขึ้นมั้ยค่ะ หนูควรทำอย่างไรดีคะควรรักษาอย่างไรดีค่ะ  กราบขอบพระคุณอาจารย์หมอล่วงหน้าค่ะสำหรับคำแนะนำค่ะ

ส่งจาก iPhone ของฉัน

……………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่านอนไม่หลับไปหาหมอแล้วได้ยามาและหมอบอกว่าเป็นหลายโรคยิ่งกังวลกว่าเดิมและยังนอนไม่หลับอยู่ ควรจะเชื่อหมอหรือไม่เชื่อหมอดี ตอบว่าการเชื่อหมอ หรือการไม่เชื่อหมอ ล้วนเป็น “ความคิด” ซึ่งเป็นต้นเหตุตัวเอ้ของการนอนไม่หลับ วิธีแก้ปัญหาก็คือให้คุณออกมาจากความคิดนั้นหรือความคิดอื่นใดเสียในเวลาเข้านอน แล้วก็จะแก้ปัญหาได้เอง พูดอย่างนี้คุณเก็ทไหมเนี่ย คือผมพยายามจะจับประเด็นเรื่องให้คุณใหม่ ว่ามันไม่ใช่ประเด็นจะทำตามหมอดีหรือไม่ ตรงนั้นคุณเอาแบบไหนก็ได้เอาแบบที่คุณชอบ เพราะมันไม่ใช่ประเด็น มันไม่สำคัญ แต่ประเด็นแท้จริงอยู่ที่จะวางความคิดให้สำเร็จอย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญที่คุณต้องใส่ใจลงมือทำ

การจับประเด็นให้ได้หรือการ “เก็ท” หรือ “ไม่เก็ท” นี่มันสำคัญมากนะ คุณคงคุ้นเคยกับเรื่องเล่าในพุทธประวัติที่ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเอาธรรมะออกสอนครั้งแรกแก่ปัญจวัคคี เหตุการณ์นั้นเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ไหนๆก็พูดกันเล่นๆมาถึงตรงนี้แล้วผมขอแวะตีความสาระคำสอนในวันนั้นเสียหน่อยก่อนที่จะเดินหน้าเรื่องเก็ทไม่เก็ทของเราต่อ

ในวันนั้นท่านสอนอยู่สามประเด็น คือ

(1) ทุกข์ของคนเรานี้มันเกิดแต่เหตุคือความอยาก เมื่อเหตุดับ ทุกข์ก็ดับ (อริยสัจสี่)

(2) การจะไม่พลัดลงไปในหลุมของความอยาก ไม่ว่า “อยากได้” หรือ “อยากหนี” วิธีทำคือให้เอาใจไว้ตรงกลางๆ (มัชฌิมาปฏิปทา) ไม่แกว่งตามหรือยึดติดสิ่งที่ชอบ (กามสุขัลลิกานุโยค) ไม่ลำบากลำบนทรมานตนเพื่อหนีสิ่งไม่ชอบ (อัตตกิลมถานุโยค)

(3) การเอาใจไว้ตรงกลางๆนี้แปลเป็นภาคปฏิบัติในชีวิตจริง (มรรค 8) ได้ว่าจะต้องตั้งลำหรือตั้งทิศทาง (ที่จะไม่แกว่งไปยึดติดหรือแกว่งหนี) ให้ถูกก่อน เมื่อจะคิดก็ให้ไปในทิศทางนั้น เมื่อจะพูดจะทำหรือจะประกอบอาชีพหรือจะพากเพียรทำอะไร ก็ให้ไปในทิศทางนั้น แม้เมื่อจะใช้สติทิ้งความคิดเข้าสู่สมาธิและความรู้ตัวก็ให้ทำไปในทิศทางนั้น

คุณสังเกตให้ดีนะ สาระของทั้งสามท่อนนี้ช่างสอดรับกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย เป็นการแกะเอาของที่ดูเหมือนรวมกันเป็นกระจุกไม่รู้ตรงไหนเป็นตรงไหน คลี่ออกมาให้เห็นทีละชิ้นๆเพื่อให้เอาไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย มันช่างลึกซึ้งจนต้องลุ้นว่าสอนแล้วจะมีคนเข้าถึงได้ไหมเนี่ย

เอาละ คราวนี้ก็มาถึงเรื่องของเรา คือ “เก็ท” หรือ “ไม่เก็ท”

พอสอนจบแล้วพระพุทธเจ้าสังเกตเห็นว่าโกญทัญญะเปลี่ยนไป ท่านจึงอุทานว่า

“อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ

อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ ติ” ซึ่งหมอสันต์แปลว่า

โกณทัญญะ เก็ทแล้ว..ว...ว เห็นมั๊ย”

หิ หิ หมอสันต์ไม่รู้ภาษาบาลีหรอก อย่าถือสาคำแปลเลยนะ เอาเป็นว่าการ “เก็ท” หรือ “ไม่เก็ท” เนี่ยมันสำคัญ

เออ แล้วเรากำลังคุยกันเรื่องอะไรนะ ลืมไปละ อ้อ เรื่องนอนไม่หลับ เอ้า คุยกันต่อ

2.. ถามว่าพยายามนั่งสมาธิ อยู่กับลมหายใจเข้าออกแล้ว ยิ่งสดชื่นยิ่งตาสว่าง ยิ่งนอนไม่หลับ จะแก้ไขอย่างไร ตอบว่า การที่นั่งสมาธิแล้วตาสว่างสดชื่น (alert) แสดงว่าประสบความสำเร็จในการวางความคิดจนมาอยู่กับความรู้ตัวได้แล้ว นี่เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นะ คือออกจากสถานะการณ์ในชีวิต (life situation) มาได้แล้วนะ ถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าก็ลงมือใช้ชีวิต (living) สิ เพราะผมพูดกรอกหูท่านผู้อ่านบ่อยๆว่าสถานะการณ์ในชีวิตเป็นคนละเรื่องกับการใช้ชีวิต สถานะการณ์ในชีวิตเป็นเรื่องราวในหัว ส่วนการใช้ชีวิตเป็นการอยู่ที่เดี๋ยวนี้ไปทีละลมหายใจ คือมีแต่ลมหายใจนี้เท่านั้น ดังนั้นวิธีใช้ชีวิตของคุณตอนนี้ซึ่งกำลังลืมตาโพลงอยู่บนเตียงนอนก็คือ หายใจเข้าลึกๆ ยิ้ม กลั้นไว้สักพัก ค่อยๆผ่อนลมหายใจออก ผ่อนคลายร่างกาย สบายๆ สงบเย็น เนี่ย การใช้ชีวิตทำแค่นี้แหละ ทำอย่างนี้ไปทีละลมหายใจ ไม่ต้องไปยุ่งกับว่าจะนอนหลับหรือไม่หลับ จะหลับได้ตอนกี่โมง จะตื่นตอนกี่โมง ทั้งหมดนั้นเป็นความคิดหรือเป็นสถานะการณ์ในชีวิต อย่าไปยุ่ง ให้คุณใช้ชีวิตลูกเดียว อย่างอื่นไม่ยุ่งเลย เดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีเอง

3. ถามว่าเมื่อเชื่อว่าตัวเองไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า ควรจะกินยาต้านซึมเศร้าที่หมอให้มาไหม ตอบว่าคุณจะเอายังไงก็ได้เอาแบบที่คุณชอบ เพราะมันเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่ถ้ากินคุณก็อย่ากินติดต่อกันไปนานเกิน 6 เดือน ยาพวกนี้เขาห้ามใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน ถ้าคุณกินยาพวกนี้ติดต่อกันไปนานๆ แบบว่านานจนลืม ไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับหรือยาต้านซึมเศร้า มันจะทำให้สมองคุณเสื่อมได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี