การเลือกยาปฏิชีวนะรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (UTI)
เรียนคุณหมอสันต์
ผมเป็นแพทย์หลังเกษียณไม่ได้ทำคลินิกแล้ว เพราะอายุ 74 ปีแล้ว อย่างมากก็ช่วยดูแลแนะนำญาติและลูกหลาน อยากรบกวนถามเรื่องยาที่ใช้รักษา UTI ในปัจจุบันว่าควรใช้ยาอะไร เพราะผมรู้สึกว่า Bactrim ไม่ค่อยเวอร์คแล้ว ตอนหลังมีคนแนะนำให้สั่ง Norfloxacin แต่เท่าที่ผมใช้ดูก็ไม่ค่อยเวอร์คอีก จะสั่งยาทีไรก็นึกชื่อยาใหม่ไม่ออก
………………………………………….
ตอบครับ
ขอเรียกท่านว่าอาจารย์ก็แล้วกันนะครับ เพราะเป็นธรรมเนียมวงการแพทย์ไทยเรานิยมเรียกผู้อาวุโสกว่าตัวเองว่าอาจารย์ เพื่อหลบเลี่ยงคำเรียกที่ผู้อาวุโสในวงการเดียวกันใช้เรียกรุ่นน้องว่า “คุณหมอ”
ถามผมเรื่องการเลือกยาปฏิชีวนะ ผมว่าอาจารย์ถามมาผิดที่เสียละมังครับ เพราะครั้งสุดท้ายที่ผมใช้ยาพวกนี้มันนานจนผมจำไม่ได้แล้ว ผมรู้แต่ว่ายาปฏิชีวนะรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (urinary tract infection – UTI) มันก็เปลี่ยนหน้ากันมาเรื่อยเพราะปัญหาเชื้อดื้อยา ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเมืองไทยเรานี้ใครใคร่ใช้ยาอะไรก็ใช้ และยิ่งยาใหม่ๆแพงๆยิ่งนิยมกันว่าแรงก็ยิ่งชอบใช้ แพทย์ไม่ใช้ สัตว์แพทย์ก็ใช้ สัตวแพทย์ไม่ใช้ ชาวบ้านก็ใช้กันซะเอง การใช้แบบชาวบ้านนี้มีทั้งให้คนด้วยกันกิน ให้สัตว์กิน หรือแม้กระทั่งฉีดให้กับพืชผลทางเกษตรกรรม เพราะเมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนา ยาอะไรไปร้านขายยาก็ขอซื้อได้หมดยกเว้นยาที่ตำรวจรู้จักเช่นกัญชาจึงจะซื้อได้ยากหน่อย แต่เอาเถอะ อย่าว่าแต่เมืองไทยเลย ทั่วโลกเขาก็มีปัญหาเหมือนกัน เพียงแต่เมืองไทยจะล้ำหน้าหน่อยในเรื่องความไม่บันยะบันยัง เอเซียโดยรวมก็ล้ำหน้าฝรั่ง ดังนั้นหากจะไปดู guideline การรักษา UTI ของฝรั่งจะเห็นว่า โห..เชย ในการตอบคำถามของอาจารย์นี้ผมเลือกเอา guideline ของเกาหลีมาตอบปนๆกับความไวของการเพาะเชื้อในเมืองไทย เพราะดูแล้วเกาหลีไม่ล้าสมัยกว่าเมืองไทยมากนัก ส่วนเมืองไทยนั้นออก guideline ไม่ทันเพราะเชื้อดื้อยาเร็วเกิน หิ..หิ
ยาเรียงลำดับตามความไวของการสนองตอบของเชื้อ คือ
- cefuroxime (Ceftin) 250-500 mg q 12 hr การสนองตอบ 99.2%
- nitrofurantoin (Macrodantin) 100 mg bid การสนองตอบ 93%
- trimethoprim-sulfamethoxazole ( TMP/SMX ซึ่งก็คือ Bactrim เดิมนั่นแหละ) 160 mg bid 3 วัน การสนองตอบ 93% ยกเว้นในชุมชนที่ดื้อยานี้ อาจสนองตอบแค่ 80%
- ciprofloxacin (Cipro) 500 mg bid การสนองตอบ 92.5%
- fosfomycin 3 gm (ผง) กินทีเดียว คุ้มไปสามวัน การสนองตอบ 91%
- ยาในกลุ่ม beta lactam เช่น amoxicillin/clavulanic acid (Augmentin), cefdinir, cefaclor, cefpodoxime proxetil การสนองตอบ 89%
ทั้งหมดนี้ให้กันนาน 3-14 วันแล้วแต่ชนิดและความรุนแรงของโรค ตัวผมเองชอบ nitrofurantoin และ fosfomycin เป็นพิเศษเพราะเป็นยาโบราณมี safety profile ดีและหมออื่นๆเขาไม่ชอบใช้กันทำให้ผมไม่เคยพบเชื้อดื้อเลย อาจารย์ชอบตัวไหนก็ลองดูนะครับ ถ้าอาจารย์อยากจะดูข้อมูลการดื้อยาของเมืองไทยที่ทันสมัย ผมแนะนำให้อาจารย์ไปดูของ National Antimicrobial Resistance Surveillance Center (NARST) [3] ข้อมูลเขาทันสมัยที่สุด ถ้าเจอรายที่ดื้อยาจริงๆอาจารย์ช่วยส่งไปให้แพทย์โรคติดเชื้อเขาช่วยดูหน่อยก็ดีนะครับ วงการของเราจะมีความรอบรู้และปรับตัวรับกับเชื้อดื้อยาได้มากขึ้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Kang CI, Kim J, Park DW, et al. Clinical Practice Guidelines for the Antibiotic Treatment of Community-Acquired Urinary Tract Infections. Infect Chemother. 2018;50(1):67-100. doi:10.3947/ic.2018.50.1.67
- Hooton TM. Clinical practice. Uncomplicated urinary tract infection. The New England Journal of Medicine. 2012;366(11):1028-37.
- National Antimicrobial Resistance Surveillance Center (NARST), Thailand. Percentage of susceptible organisms isolated from urine. Accessed on August14, 2021 on http://narst.dmsc.moph.go.th/antibiograms/2020/12/Jan-Dec2020-Urine.pdf