ประท้วงเรื่องปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ในยาต้มสมุนไพรฟ้าทลายโจร
เรียนคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์
จาก Youtube EP.12 ผลวิจัยแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อใบของฟ้าทะลายโจร เพื่อการรักษาโควิด19 ด้วยตนเองอยากสอบถามคุณหมอเรื่องการคำนวณปริมาณในยาหม้อว่ามีความผิดพลาดเรื่องหน่วย หรือมีข้อมูลบางอย่างผิดพลาดหรือเปล่าครับ?
ซึ่งถ้าข้อมูลของคุณหมอถูกต้องคือ
% Andrographolide ในยาต้ม = 0.37%
ยาต้มหนึ่งแก้วปริมาตร = 240ml = ประมาณน้ำหนัก 240g
– ดังนั้นปริมาณ Andrographolide ในยาต้ม 1 แก้ว(g) = (240×0.37)/100=0.888g
– คิดเป็น andrographolide (mg) = 0.888×1,000 = 888mg ครับ
– และหากหาปริมาณ Andrographolide จากปริมาณใบสด = (83.2/11.2)x(2.8×5.11)/100=1.06g
– ดังนั้นผมเข้าใจว่าเป็นการต้มใบสด 83.2g ให้ได้ปริมาณยาที่ 240ml จะได้ Andrographolide ในยาต้มคิดเป็น %จากปริมาณในใบสด = 0.888/1.06=83.77% ครับ แต่หาก เป็น 0.37% ของ 1,000ml ปริมาณ Andrographolide จะเกินจากในปริมาณใบสดครับ เช่นเดียวกับ ในชาใบสด ที่มีปริมาณในใบสดที่ 4.29g เพียง 53mg แต่ในหนึ่งแก้วมี= (240×0.29)/100=0.696g=696mg เกินจากใบสดครับ – รบกวนคุณหมอชี้แจงด้วยครับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ทานแบบต้มเป็นอย่างมากครับ – เพราะในอดีตหากการทานแบบต้มได้ปริมาณสาร Andrographolide ที่น้อยมากตามที่คุณหมอบอก การใช้ฟ้าทะลายโจรแบบยาหม้อก็ไม่ควรจะได้ผลกับการรักษาไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ที่ต้องการปริมาณ Aืdrographolide ที่ 30-60mg/day นะครับ
ดังนั้นจึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาคุณหมอช่วยตรวจสอบและชี้แจงเพื่อประโยชน์ของคนที่ทานแบบต้มด้วยครับ
ด้วยความนับถือ
(ชื่อ)
……………………………………………………………..
ตอบครับ
เห็นหรือยังครับว่าคนอ่านบล็อกของหมอสันต์เนี่ยอยู่ดับไหน (หิ หิ พูดเล่น) ขอบพระคุณที่กรุณาทักท้วงมา ผมได้ตรวจสอบแล้วสรุปว่าหมอสันต์ผิดจริงในสองกระทง คือ
(1) มีการมั่วหน่วยกันเล็กน้อยระหว่างหน่วยน้ำหนัก มก. และ กรัม
(2) เปอร์เซ็นต์ที่นักวิเคราะห์เขาแจ้งผลมา (0.3781%) นั้นเป็นเปอร์เซ็นต์แบบ w/w แปลว่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแอนโดรกราฟโฟไลด์ที่สกัด (ต้ม) ออกมาในน้ำได้ทั้งหมด โดยเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับน้ำหนักรวมของพืชสดที่ใช้ต้ม (83.2 กรัม) แต่หมอสันต์เอามาเขียนให้เข้าใจผิดว่าเป็นเปอร์เซ็นต์โดยเทียบกับปริมาตรน้ำที่ใช้ต้มทั้งหมด (1000 ml)
ดังนั้นการคำนวณปริมาณเนื้อแอนโดรกราฟโฟไลด์ในน้ำยาหม้อที่ตักมา 1 แก้ว (240 ml) ต้องคำนวณดังนี้
น้ำหนักแอนโดรกราฟโฟไลด์เป็นกรัมในน้ำต้มทั้งหมด(1000 ml) = (0.3781 x 83.2 gm) / 100 = 0.3145 gm
น้ำหนักแอนโดรฯในน้ำต้มที่ตักมาหนึ่งแก้ว(240 ml) = (0.3145 gm x 240 ml) / 1000 ml = 0.0754 gm = 75.4 mg
โปรดสังเกตว่าทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับ % แอนโดรฯในน้ำหนักแห้งนะครับ เพราะนี่เป็นเรื่องของพืชสด ไม่ใช่พืชแห้ง
ขอบพระคุณเป็นอันขาดที่กรุณาแจ้งข่าวมาทำให้รู้ว่าผิด หิ..หิ ผมได้แก้ไขสคริปต์ที่ได้เผยแพร่ออกไปก่อนหน้านี้แล้วที่ https://drsant.com/2021/08/%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%8c-%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b9%83%e0%b8%8a%e0%b9%89.html
และได้แก้ไขวิดิโอคลิปและโพสต์อันที่ถูกต้องขึ้นใหม่แล้วที่
สำหรับท่านที่ขี้เกียจตามไปอ่านหรือไปดู ขอสรุปว่าข้อมูลส่วนที่แก้ไขคือตารางการวิเคราะห์แอนโดรฯในยาหม้อและชาใบสด ซึ่งได้แก้ไขใหม่เป็นดังนี้
ใบแก่(ขณะออกดอก) | ปริมาณพืชสด | ปริมาณน้ำที่ใช้ต้ม (ml) | % แอนโดร w/w ของพืชสด | แอนโดร(มก.) /แก้ว(240 ซีซี) |
น้ำยาหม้อ | 83.2 กรัม | 1000 | 0.3781% | 75.45 มก. |
น้ำชาใบสด | 4.29 กรัม | 240 | 0.2923% | 12.44 มก. |
และได้แก้ไขคำพูดสรุปเกี่ยวกับปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ในรูปแบบของยาต้มและชาใบสดเป็น
“..งานวิจัยทำยาต้มโดยเอาส่วนเหนือดินของฟ้าทลายโจรแก่(กำลังออกดอก)หนึ่งต้น (83.2 กรัม) ต้มในน้ำ 1 ลิตร เดือดนาน 1 ชั่วโมง น้ำพร่องก็เติมให้ครบ 1 ลิตร แล้วเอาน้ำยาต้มที่ได้มาวิเคราะห์ พบว่ามีปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ 0.3781% ของน้ำหนักพืชสดที่ใช้ต้ม นั่นหมายความว่าหากดื่มน้ำยาต้มส่วนเหนือดินของต้นแก่ (ขณะออกดอก)นี้หนึ่งแก้ว (240ml) ก็จะได้รับปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ 75.4 มก. ถ้าจะดื่มยาต้มนี้รักษาโควิดให้ได้ขนาด 144 มก.ต่อวันก็ต้องดื่มวันละประมาณ 2 แก้ว
งานวิจัยทำน้ำชาใบสดโดยเอาใบแก่(กำลังออกดอก) หนึ่งกำมือ (4.29 กรัม) ใส่ในน้ำร้อนหนึ่งแก้ว (240 ml) แล้วเอาน้ำชาที่ได้มาวิเคราะห์พบว่ามีความเข้มข้นของแอนโดรกราฟโฟไลด์ 0.29%ของน้ำหนักใบสดที่ใช้ทำ หากดื่มหมดทั้งแก้วก็จะได้แอนโดรกราฟโฟไลด์เพียง 12.4 มก. ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยไปหน่อย ไม่เหมาะที่จะใช้ดื่มเอาขนาดสูงๆอย่างการรักษาโรคโควิด..”
ขอบคุณอีกครั้งครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์