ติดโควิดแทรกกลางระหว่างวัคซีนเข็มแรกและเข็มสอง

กราบเรียน​คุณ​หมอสันต์ที่เคารพ
ดิฉันและน้องสาวได้รับวัคซีน​ ​AZ เข็มแรกเมื่อต้นเดือนมิถุนายน​ ผ่านไปประมาณ​ 1​เดือน​เราทั้งสองคนได้รับเชื้อโควิด​และมีอาการป่วยแบบที่ทางการจำแนกว่าเป็นผู้ป่วยสีเขียว​ ได้รักษาตัวที่บ้าน ได้กินยาฟ้าทะลายโจรตามขนาดที่คุณหมอเคยแนะนำไว้​ประมาณ​ 5 วัน/10​วัน​ จนอาการก็ทุเลา ​​ปัจจุบันไม่มี​อาการป่วยไข้แล้ว​ ​
จากที่เคยทราบมาหากป่วยเป็นโควิดหลังจากรับวัคซีนเข็มแรกแล้ว​ ต้องเว้นระยะไปอีก​ 3 เดือนหลังจากหายแล้วจึงจะรับวัคซีนเข็มที่​ ​2​ ได้​ แต่​เรามีนัดว่าต้องฉีดวัคซีนเข็มที่​ ​2​ ในช่วงต้นเดือนกันยายน​ จึงอยากเรียนถามคุณหมอว่าเราควรเข้ารับการฉีดวัคซีนตามที่ทาง​ ​รพ.นัดหมายไว้หรือไม่คะ​ เนื่องจากมีข้อกังวล​ ดังนี้1. หากไม่ไปตามนัดเกรงว่าจะรับวัคซีนไม่ครบตามที่จำเป็น​ ​และอาจเสียสิทธิ์ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนทดแทนในภายหลัง
2.​ หากไปฉีด​ตามนัด ก็เกรงว่าจะมีผลกระทบ​กับสุขภาพ ​(​เช่น​ มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง)​ เพราะเราสองคน​อายุเกิน ​60 ปีแล้วทั้งคู่
ถ้าคุณหมอมีคำแนะนำอื่นใดที่เป็นประโยชน์​ จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งค่ะ
หมายเหตุ:  ไทม์ไลน์​คนพี่​ -​ มีอาการป่วยระหว่าง​ 11 -​15 กค.​(รับยาฟ้าทะลายโจร​ 5​ วัน)​คนน้อง​ -​ มีอาการระหว่าง​ 16​ -​ 27 กค.​ (รับยาฟ้าทะลายโจร​ 2 ช่วงๆ​ ละ​ 5 วัน เว้น​2 วันระหว่างช่วง)

…………………………………………………………………..​

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. คนที่ป่วยเป็นโรคโควิด19 แล้ว ยังต้องฉีดวัคซีนอยู่หรือไม่ ตอบว่าจริงๆแล้ววงการแพทย์ยังไม่ทราบว่าการป่วยเป็นโควิด19 แล้วภูมิคุ้มกันธรรมชาติจะอยู่ยั้งยืนยงไปได้นานเท่าใด จึงตอบด้วยหลักฐานวิทยาศาสตร์ไม่ได้ว่าเป็นโรคโควิดแล้วยังควรฉีดวัคซีนโควิดอยู่ไหม แต่ผมตอบตามประเพณีนิยมที่ทำกันอยู่ทั่วโลกขณะนี้ได้ว่าให้ฉีดไปเลยจนครบสองโด้สแบบรูดมหาราชเสมือนหนึ่งคนไม่เคยเป็นโรคนี้ เพราะงานวิจัยการฉีดวัคซีนคนที่เคยเป็นโรคแล้วพบว่าวัคซีนก็ยังทำให้ภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมได้อีก

ประเด็นที่ 2. เมื่อป่วยเป็นโรคโควิดแล้ว ควรว่างเว้นการฉีดวัคซีนไปอย่างน้อยสามเดือนใช่ไหม ตอบว่า ไม่จำเป็นครับ ข้อกำหนด 3 เดือนนั้นเขามีไว้เฉพาะกรณีที่ขณะป่วยมีการใช้ภูมิคุ้มกันจากภายนอก (monoclonal antibody) เข้ามารักษาด้วย ตัวภูมิคุ้มกันจากภายนอกนี้มันจับกินวัคซีนด้วยจึงทำให้วัคซีนมีประสิทธิผลต่ำ ตัวภูมิคุ้มกันจากภายนอกนี้จะมีชื่อลงท้ายเสียงแหม็บๆ เช่น Casirivimab หรือ Imdevimab เป็นต้น ถือว่าเป็นยาสูง ใช้กับผู้มีอาการหนักเท่านั้น ในเมืองไทยนี้ผมเข้าใจว่ายังไม่มีใช้ ที่แน่ๆก็คือไม่อยู่ในมาตรฐานการรักษาที่ออกโดยคณะกก.กำกับการดูแลรักษาโควิด19 ดังนั้นการเว้นการฉีดวัคซีนออกไปสามเดือนสำหรับผู้ป่วยในเมืองไทยไม่จำเป็น เพราะไม่ได้ใช้ monoclonal antibody ในการรักษาขณะป่วย ส่วนการจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับการเลื่อนหรือไม่เลื่อนกำหนดฉีดวัคซีน

ดังนั้น ในกรณีของคุณทั้งสองพี่น้องนี้ หากกลัวเสียสิทธิในวัคซีนก็ไปฉีดได้เลย ไม่ต้องเลื่อนครับ

ประเด็นที่ 3. คำแนะนำทั่วไปสำหรับคนเป็นโควิดแล้ว ก็คือการที่เราเจอเชื้อแล้วก็ป่วยบ่งบอกว่าร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ตรงนี้ต้องทำการแก้ไข ผมเคยเขียนวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ตัวเองไปบ่อยมาก หาอ่านย้อนหลังเอาเองนะครับ อย่างย่อๆก็คือ (1) ต้องออกกำลังกายทุกวัน (2) กินอาหารที่มีพืชเป็นหลัก (3) คลายเครียดด้วยกิจกรรมช่วยวางความคิด เช่นโยคะ สมาธิ รำมวยจีน เป็นต้น (4) อย่าให้ร่างกายขาดวิตามินที่จำเป็นสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งวิตามินซี. วิตามินดี. วิตามินอี. สังกะสี เป็นต้น หากกินอาหารไม่ได้ก็ต้องหาวิตามินเม็ดมากินเสริม (5) เข้าหาธรรมชาติ ตากแดด รับลม แช่น้ำ สัมผัสดิน สัมผัสต้นไม้ป่าไม้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี