ความชื้นสัมพัทธ์ของร้านอาหารติดแอร์กับการควบคุมการแพร่กระจายไวรัสโควิด
เรียนคุณหมอสันต์
ทำร้านอาหารอยู่ค่ะ ตอนนี้จะได้ไฟเขียวกลับมาเปิดใหม่แล้วแต่หนูก็ยังกริ่งเกรงปัญหา เพราะยังถกเถียงกันว่าโควิดมาตามอากาศได้หรือเปล่า หนูจึงต้องรอบคอบไว้ก่อน เพราะร้านของหนูเป็นร้านติดแอร์ จะปิดแอร์เปิดประตูก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะร้านของหนูไม่มีหน้าต่าง หนูกลัวอากาศในร้านจะเป็นที่เพาะเชื้อโควิดแจกลูกค้า หนูควรปรับปรุงร้านอย่างไร หนูลงทุนได้ การใช้ HEPA filter จะช่วยไหมคะ หรือมีวิธีอื่น
ขอบพระคุณคุณหมอค่ะ (แฟนพันธ์แท้)
……………………………………….
ตอบครับ
1.. ความข้อที่ว่าไวรัสโควิดมาตามอากาศ (airborne) ได้หรือเปล่านั้น ไม่ใช่ข้อถกเถียงกันแล้วครับ มันเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าไวรัสซาร์สโควี2 นี้เดินทางมากับฝอยละอองเล็กๆในอากาศได้ และเราหายใจเอามันเข้าไปได้ การหายใจเอาเชื้อเข้าไปเป็นหนึ่งในสามกลไกของการได้รับเชื้อ คือ
(1) เสมหะหรือน้ำลายที่คนไข้ไอออกมา กระเด็นมาตกบนเยื่อเมือกของเราเช่น ปาก จมูก ตา
(2) มือไปสัมผัสฝอยเสมหะหรือน้ำลายที่แปดเปื้อนอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วเผลอเอามือนั้นมาลูบหรือสัมผัสเยื่อเมือกของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจมูก
(3) สูดหายใจเอาฝอยละอองอากาศเล็กๆ (aerosol) ที่มีเชื้อโควิดติดอยู่ด้วยซึ่งคนป่วยหายใจหรือไอออกมาเข้าไปในปอด เวลาหายใจธรรมดาก็ออกมาได้แต่น้อยหน่อย แต่เวลาพูดเสียงดังหรือไอจากก็จะออกมาได้คราวละมากๆ
คำว่า aerosol หมายถึงฝอยละอองในอากาศที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่า 20 ไมครอน ถ้าเล็กถึงขนาดที่มีคุณสมบัติเชิงแอโรไดนามิกที่จะลอยเท้งเต้งอยู่ในอากาศได้นานเท่านานก็เรียกว่าเป็นฝอยละอองจากอากาศ (airborne)
มีหลักฐานชัด [1]ว่าเชื้อโควิดอยู่รอดในฝอยละอองที่ล่องลอยในอากาศขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนได้ในห้องปิดประตูปิดหน้าต่างตลอดการวิจัยซึ่งทำอยู่นาน 3 ชั่วโมง โดยถ้ามีแรงส่งดีๆเช่นการไอหรือการจามฝอยละอองจะไปได้ไกลถึง 7-8 เมตร กระแสการหมุนเวียนของอากาศในห้องจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและความยาวนานที่ฝอยละอองจะคงอยู่ในอากาศ ดังนั้นในแง่ของการแพร่เชื้อ นั่งกินอาหารในห้องโล่งเปิดประตูหน้าต่างย่อมดีกว่านั่งกินในห้องแอร์ที่ปิดประตูหน้าต่าง
2.. ถามว่าถ้าจำเป็นต้องปิดประตูเปิดแอร์ มีวิธีแก้ไขอย่างไรไหม ตอบว่าคุณสามารถลดเชื้อในอากาศได้ผ่านการความคุมความชื้นสัมพัทธ์ เรื่องนี้มันลึกซึ้งละเอียดอ่อนหน่อยนะคุณต้องตั้งใจอ่าน มันมีสองประเด็นคือ (1) การควบคุมหรือทำลายฝอยละออง กับ (2) การควบคุมความเข้มข้นของของเหลวในฝอยละออง
ในแง่ของการควบคุมปริมาณฝอยละออง งานวิจัยพบว่าการการระเหยของน้ำในฝอยละออง [2] จะทำให้ขนาดของฝอยละอองค่อยๆเล็กลง ยิ่งความชื้นสัมพัทธ์ลดลงน้ำยิ่งระเหยมาก ขนาดฝอยละอองยิ่งเล็กลงจนแตกออกในที่สุด เมื่อฝอยละอองแตกออก ตัวไวรัสซึ่งเกาะฝอยละอองนั้นอยู่ยังล่องลอยอยู่ในอากาศได้อีกนานแต่ยังไม่ชัดว่ารู้นานกี่ชั่วโมง ดังนั้นการพยายามทำให้ฝอยละอองระเหยจนแตกออกจึงไม่ใช่วิธีที่จะลดจำนวนไวรัสในอากาศ
แต่งานวิจัยกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ [3] พบว่าไวรัสจะคงชีพอยู่ในฝอยละอองได้มากที่สุดความชื้นสัมพัทธ์ (RH) สูง 100% และที่ภาวะอากาศแห้งจนฝอยละอองแตก คือระดับ RH ใกล้ 0% ก็จะมีไวรัสคงชีพได้มากที่สุด โดยที่ไวรัสจะอยู่รอดน้อยที่สุดจนถึงไม่รอดเลยที่ความชื้อสัมพัทธ์ 50% กลไกที่ทำให้เป็นอย่างนี้แท้จริงเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่า [4] เป็นเพราะเมื่อความชื้อสัมพัทธ์ค่อยๆลดลงมาจาก 100% น้ำจะระเหยออกจากฝอยละออง ทำให้ขนาดฝอยละอองเล็กลง และความเข้มข้นของโซเดียมคลอไรด์ในฝอยละอองกลับมากขึ้นๆ จนเมื่ออากาศแห้งถึงระดับ RH 50% ซึ่งเป็นระดับที่ฝอยละอองยังไม่แตกแต่ความเข้มข้นของโซเดียมคลอไรด์จะขึ้นสูงถึงระดับที่ไวรัสมีชีวิตอยู่ไม่ได้
ดังนั้นในการควบคุมอากาศในห้องอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศ ผมแนะนำตามหลักฐานวิจัยเหล่านี้ว่าคุณควรติดเครื่องควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ให้ RH อยู่ระดับ 50% ตลอดเวลาจะลดปริมาณไวรัสในอากาศได้มากที่สุด (อากาศกทม.ขณะนี้มีความชื้นสัมพัทธ์ 85-100% แล้วแต่ว่าฝนตกหรือแดดออก) ปิดป้ายหน้าร้านเลยว่าร้านคุณควบคุมไวรัสในอากาศโดยควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ไว้ที่ 50% เป็นการเพิ่มมูลค่าอาหารของคุณอีกทาง หิ..หิ
3.. ถามว่าการใช้ HEPA filter จะช่วยไหม ตอบแบบเดาเอาว่าคงช่วยได้อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง เพราะมันกรองได้ถึงระดับ 0.3 ไมครอนเลยทีเดียวมันก็น่าจะกรองฝอยละอองออกได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ว่ายังไม่เคยมีงานวิจัยการหมุนเวียนของฝอยละอองเล็กๆในห้องแอร์ว่าฝอยละอองน้ำหนักรุ่นไหน มีการล่องลอยละล่องอยู่ระดับไหนอย่างไร และระดับไหนที่จะได้มีโอกาสลอยขึ้นสูงกลับไปเข้า HEPA filter โหลงโจ้งแล้วจะมีโอกาสได้ผ่านเครื่องกรองสักกี่เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ยังไม่มีองค์ความรู้เลย แต่ในห้องต่างๆของโรงพยาบาลทั่วโลกก็ใช้กันทั่ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- van Doremalen N., Bushmaker T., Morris D.H., Holbrook M.G., Gamble A., Williamson B.N., Tamin A., Harcourt J.L., Thornburg N.J., Gerber S.I., Lloyd-Smith J.O. Aerosol and surface stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV. N. Engl. J. Med. 2020;382:1564–1567. doi: 10.1056/NEJMc2004973.
- Morawska L. Droplet fate in indoor environments, or can we prevent the spread of infection? Indoor Air. 2006;16:335–347. doi: 10.1111/j.1600-0668.2006.00432.x.
- Yang W, Elankumaran S, Marr LC (2012) Relationship between Humidity and Influenza A Viability in Droplets and Implications for Influenza’s Seasonality. PLoS ONE 7(10): e46789. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0046789
- Dbouka T and Drikakisb D. Weather impact on airborne coronavirus survival featured. Physics of Fluids 32, 093312 (2020); https://doi.org/10.1063/5.0024272