จำเป็นต้องมีการวิจัยรักษาโควิด-19 ด้วยฟ้าทลายโจรซ้ำด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น

เมื่อวานนี้ ทีมผู้วิจัย (ชาวไทย) ซึ่งได้ทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ที่สรุปผลได้ว่าฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิด19แล้วมีผลดีลดการเกิดปอดอักเสบได้ ได้ขอถอนนิพนธ์ต้นฉบับของตนเองที่รอตีพิมพ์กลับคืนจากคลังวารสารรอตีพิมพ์ (medRxiv) ด้วยเหตุผลว่ามีความผิดพลาดในการคำนวณค่านัยสำคัญของความแตกต่าง (p-value) จึงของดการเผยแพร่ไว้ก่อนเพื่อป้องกันการนำผลวิจัยไปใช้ด้วยสำคัญผิด

เจาะลึกลงไปอีกหน่อยก็คือในงานวิจัยนั้นรายงานว่า

กลุ่มผู้ใช้ฟ้าทลายโจร 29 คน เป็นปอดอักเสบ 0 คน

กลุ่มที่ใช้ยาหลอก 28 เป็นปอดอักเสบ 3 คน

คำนวณนัยสำคัญของความแตกต่างได้ p=<0.039 ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ (ตัดกันที่ p=<0.05)

แต่หากคำนวณอย่างถูกต้องแท้จริงแล้วค่านัยสำคัญจริงๆคือ p=0.1

แปลไทยให้เป็นไทยก็คือจะต้องเปลี่ยนคำสรุปว่า “ยังสรุปไม่ได้ว่าการใช้ฟ้าทลายโจรลดปอดบวมได้แตกต่างจากใช้ยาหลอกหรือไม่”

ท่านผู้อ่านอาจคิดแย้งว่า

“..อ้าว..ได้ไง ก็กลุ่มหนึ่งเป็นปอดบวมสามคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เป็นเลย ต่างกันเห็นๆจะมาสรุปว่าไม่ต่างกันได้อย่างไร”

หิ..หิ ใจเย็นๆครับคุณพี่ เรากำลังเล่นกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นระบบความเชื่อที่ให้ความสำคัญกับโอกาสเป็นไปได้ (probability) และนัยสำคัญของความแตกต่าง (significantly difference) โดยกำหนดกฎกติกามารยาทร่วมกันขึ้นมาว่าหากค่า p ต่ำกว่า 0.05 ให้ถือว่าเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ หากต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ ก็ถือเอาแบบสมมุติว่าคือไม่แตกต่างกัน เออ..งงแมะ

“..แล้วค่า p นี้มันได้มาอย่างไร เรื่องใหญ่ขนาดนี้ทำไมจึงคำนวณผิดได้”

หิ หิ ใจเย็นครับ ตอบว่าสมัยนี้ค่า p ได้มาจากการจิ้มค่าต่างๆที่ได้จากการวิจัยเข้าไปในคอม แล้วคอมก็คำนวณตามสูตรออกมาให้ หากได้ค่าผิดไม่ได้หมายความว่าคอมคำนวณผิดนะ แต่หมายความว่า..จิ้มผิด ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เดี๋ยวต้องขอถอนต้นฉบับกลับ เดี๋ยวต้องเขียนคำแก้ไขไปตีพิมพ์ต่อท้าย นี่เป็นวิถีชีวิตปกติของนักวิจัย

“..แล้วทำอย่างไรจะให้มันเกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาได้ละ”

ตอบว่าก็ต้องทำวิจัยใหม่โดยขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้น วิธีการรักษาที่ให้ผลแตกต่างกันหากทำวิจัยเปรียบเทียบโดยใช้กลุ่มตัวอย่างเล็กจะมองไม่เห็นความแตกต่างนั้น แต่หากกลุ่มตัวอย่างใหญ่ขึ้นก็จะเห็นความแตกต่างนั้นโดยง่าย เพราะค่า p-value ออกแบบไว้ชดเชยความเล็กของกลุ่มตัวอย่าง ยิ่งกลุ่มตัวอย่างเล็ก ยิ่งยากจะเห็นความแตกต่างผ่านค่า p-value แต่ในทางกลับกันหากใช้กลุ่มตัวอย่างใหญ่เว่อร์เกินความจำเป็นก็จะกลายเป็นความเซ่อทางการวิจัย คือเสียเงินเสียเวลาและเดือดร้อนอาสาสมัครมากโดยใช่เหตุ

ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ทำไมจิ้มคอมผิด แต่ประเด็นอยู่ที่มันจำเป็นต้องทำการวิจัยนี้ซ้ำใหม่ด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพราะตราบใดที่โควิด19ยังมีโดยวัคซีนยังไม่มา เรื่องนี้ก็จะยังคงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และเป็นเรื่องระดับชาติ เพราะฟ้าทลายโจรรักษาโควิดได้จริงหรือไม่เป็นเรื่องสำคัญ หากฟ้าทลายโจรรักษาโควิดได้จริง เราก็จะได้อาศัยฟ้าทลายโจรนำพาชาติให้พ้นภัย (หิ..หิ พูดเหมือนจอมพลตราไก่เลย)

ตัวหมอสันต์เองกำลังดูลาดเลาที่จะลุ้นให้เกิดงานวิจัยนี้ โดยกำลังพูดคุยหารือกับผอ.รพ.มวกเหล็ก ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต4(สระบุรี) และเซียนด้านการวิจัยทางการแพทย์ท่านหนึ่งในเมืองหลวง เรื่องสปอนเซอร์ที่จะดูแลค่าใช้จ่ายในการวิจัยนั้นไม่หนักใจ แต่เกรงใจที่ต้องไปรบกวนน้องๆที่หน้างานซึ่งทุกวันนี้งานรูตีนเขาก็อ๊วกรับประทานกันอยู่แล้ว จะพูดกับแต่ละคนทีนึงก็ต้องรอท่านกลับเข้าบ้านกันก่อน ซึ่งก็ไม่เคยต่ำกว่าสามทุ่ม แต่แม้จะเกรงใจก็คิดว่าจะเดินหน้าทำ เพราะหากไม่ทำ เราก็จะยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก กันอยู่ตรงนี้ไปไหนต่อไม่ได้ ส่วนจะทำวิจัยครั้งนี้ได้สำเร็จหรือไม่ก็ต้องตามลุ้นกันต่อไป

ในระหว่างที่งานวิจัยใหม่นี้ยังไม่ออกมา ชาวไทยเราก็ต้องอาศัยข้อสรุปใหม่ล่าสุดที่ว่า “ยังไม่ทราบว่าฟ้าทลายโจรลดปอดบวมในคนไข้โควิด-19ได้แตกต่างจากยาหลอกหรือไม่” ไปพลางๆก่อนนะครับ และที่หมอสันต์เคยบอกว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดตอนนี้มีมากพอแล้วนั้น ก็ต้องถอนคำพูด และขอใช้คำพูดใหม่ว่า

“หลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดตอนนี้ยังมีไม่พอ ต้องรอการวิจัยซ้ำด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. หลังเขียนบทความนี้ไม่กี่ชั่วโมง ผมก็ได้ทราบทางหลังไมค์อย่างไม่เป็นทางการว่าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์(ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)กำลังจะทำงานวิจัยเดียวกันนี้อยู่พอดี ฮี่..ฮี่ สบายหมอสันต์เขาแล้ว ผมเปลี่ยนแผนเป็นนั่งรอดีกว่า

บรรณานุกรม

1. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. Kulthanit Wanaratna, Pornvimol Leethong, Nitapha Inchai, Wararath Chueawiang, Pantitra Sriraksa, Anutida Tabmee, Sayomporn Sirinavinmed. medRxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

หมอสันต์กราบขออภัย และขอเปิดรับสมัคร์แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY 33) ใหม่

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67

Carotid endarterectomy อัตราตายบวกอัมพาตจากการผ่าตัดคือ 4.8%