หมอสันต์ตอบคำถามผู้ฟังต่างชาติเรื่องโควิด
เมื่อสองสามวันก่อนผมบรรยายเรื่องโรคโควิดให้ผู้ฟังชาวต่างชาติ (เป็นภาษาอังกฤษ) มีคำถามมาก หลายคำถามเป็นคำถามที่คนไทยไม่ค่อยถามกัน ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ จึงแปลเฉพาะตอนถามตอบกันมาให้อ่าน
- ถ้าผมได้ Covishield ไปแล้วสองโด้สเมื่อสองเดือนก่อน แล้วตอนนี้มีไข้และไอ ผมมีโอกาสติดโรคมากแค่ไหน และควรทำอย่าง?
Dr.Sant:
ตามสถิติของผู้ได้รับ Covidshield ที่อินเดีย โอกาสเกิดการติดเชื้อทะลุกลางปล้อง (breakthrough infection) หลังได้รับวัคซีนครบแล้วมี 0.07% ในแง่ของการวินิจฉัยก็ต้องทำเหมือนกับตอนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน คือต้องกักตัวเอง และตรวจ RT-PCR.
- วัคซีนอะไรดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวเอเซีย?
Dr.Sant:
คำตอบนี้ไม่มี เพราะยังไม่มีการทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) จึงยังตอบคำถามนี้ไม่ได้
- พอสัมผัสผู้ป่วยแล้วแม้จะยังไม่มีอาการ เราต้องกักกันตัวเองกี่วัน
Dr.Sant:
14 วัน นี่เป็นระยะกักกันโรคที่ยอมรับกันเป็นสากล
- ช่วยคอมเมนต์เรื่องการใช้แอสไพรินป้องกันโควิดหน่อย
Dr.Sant:
งานวิจัยย้อนหลังดูกลุ่มคนที่สหรัฐชิ้นหนึ่งพบว่าการกินแอสไพรินขนาดต่ำช่วยลดโอกาสต้องเข้าไอซียู.และลดการตายของผู้ป่วยโควิดลงได้ ดังนั้นแอสไพรินมีศักยภาพที่จะใช้ช่วยรักษาโควิดอยู่ แต่เราต้องการงานวิจัยแบบ RCT สักชิ้นหนึ่งมายืนยัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี จึงยังไม่มีใครใช้แอสไพรินรักษาโควิดในขณะนี้
- ฉันติดเชื้อโควิดมา 24 วันแล้ว เมื่อใดที่ฉันจะต้องตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันว่าปลอดภัยแล้ว ฉันต้องตรวจแอนตี้บอดี้ด้วยไหม
Dr.Sant:
คุณไม่ต้องไปตรวจ RT-PCR หลังการรักษาโควิดแล้ว เพราะไม่มีประโยชน์ ได้ผลบวกหรือลบแผนการรักษาก็ยังจะเหมือนเดิม เพราะวงการแพทย์นับการหมดไปของไวรัสที่มีชีวิตเอาจากการนับวันไป 10 วันจากวันเริ่มมีอาการ ครบสิบวันก็ถือว่าไวรัสหมดฤทธิแล้ว RT-PCR จะได้ผลบวกหรือลบก็ไม่สน เพราะ RT-PCR ได้ผลบวกก็มีความหมายแค่ว่าคุณมีซากศพของไวรัสอยู่ในตัว เอาข้อมูลนี้ไปใช้อะไรอื่นไม่ได้ ส่วนแอนตี้บอดี้ก็ไม่ต้องตรวจ มันเป็นเรื่องของงานวิจัย ไม่จำเป็นในการรักษาโควิดทั่วไป
- ผมฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วติดเชื้อโควิด โด้สที่ฉีดไปนั้นไม่มีความหมายใช่ไหม ผมต้องตั้งต้นฉีดวัคซีนใหม่ทั้งหมดใช่ไหม หรือว่าเดินหน้าไปฉีดเข็มสองได้เลย
Dr.Sant:
เดินหน้าไปฉีดเข็มสองได้เลยครับ ซึ่งปกติก็ต้องรอ 3 เดือนหลังการติดเชื้อ
- ผมยังไม่ติดโควิด ได้วัคซีน astra zeneca แล้วสองเข็มเมื่อปลายพฤษภา ผมอ่านพบว่าผมต้องฉีดเข็มสาม ผมต้องฉีดเมื่อไหร่ ต้องฉีดวัคซีนคนละแบบไหม การไขว้วัคซีนคนละยี่ห้อจะดีกว่าหรือเปล่า ระยะระหว่างเข็มสองกับสามควรเป็นเท่าใด ต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนหรือเปล่า
Dr.Sant:
ฉีดแอสตร้าไปแล้วสองเข็มไม่จำเป็นต้องฉีดเข็มสามนะครับ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นคนภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นเข็มสามนี่ผมถือว่ามันเป็น option มากกว่า
ณ ขณะนี้เรายังไม่มีความรู้หรอกว่าแต่ละวัคซีนควรมีเข็มสามไหม ควรฉีดเมื่อไหร่
ในประเด็นการไขว้วัคซีน งานวิจัยใหม่ชื่อ Com-Cov study พบว่า Astra + mRNA ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Astra+Astra ข้อมูลนี้อาจมีประโยชน์หากคุณเลือกจะฉีดเข็มสาม ในประเทศไทย Sinovac+Astra ก็ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Sinovac+Sinovac. ในเยอรมัน Astra+Pfizer ก็ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Astra+Astra.
การตรวจภูมิคุ้มกันระหว่างเข็มไม่จำเป็น
- ในอนาคตเราต้องฉีด booster vaccine ไหม และควรฉีดวัคซีน pfizer หรือ moderna หลังจากได้วัคซีนอื่นแล้วไหม ผมฉีด Sinovac ครบแล้ว หากอยากฉีด Pfizer เพื่อจะได้เดินทางได้ ต้องรอนานเท่าใดจึงจะฉีด
Dr.Sant
วัคซีนไหนต้อง booster กี่เข็ม อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำวิจัยไป แล้วก็ฉีดกันไป เพราะวัคซีนโควิดนี้เรารีบเอาออกมาใช้ ยังไม่รู้หรอกว่าชนิดไหนควรได้ทั้งหมดกี่เข็ม การฉีด Sinovac + mRNA ข้อมูลวิจัยวัดระดับภูมิคุ้มกันพบว่าดีกว่า Sinovac+Sinovac ระยะห่างระหว่างเข็มสองกับเข็มสามก็ปกติ 1 เดือน
- วัคซีนโควิดป้องกันเราจากเชื้อกลายพันธ์ได้ไหม?
Dr.Sant:
ได้บ้างไม่ได้บ้าง อย่างเช่นวัคซีน Pfizer ป้องกันเชื้อกลายพันธ์ได้ตั้งแต่ 42% ถึง 96% สุดแล้วแต่ทำวิจัยที่ไหน แต่ประเด็นที่ควรกล่าวเสียหน่อยคือแม้จะป้องกันการติดเชื้อกลายพันธ์ได้ไม่มาก แต่วัคซีนลดอัตตราตายได้มาก ระดับ 90% ขึ้นไปทีเดียว
- วัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อโควิดไปได้นานเท่าใด?
Dr.Sant:
ไม่มีใครรู้หรอกครับ ข้อมูลยาวที่สุดที่เรามีคือวัคซีน Pfizer จะป้องกันการติดเชื้อไปได้นานอย่างน้อย 4 เดือน หลังจากนั้นไม่รู้.
- ที่พม่าวัคซีนหายาก เพื่อนบางคนก็ไม่อยากฉีดวัคซีน ผมควรจะพูดอย่างไรให้เขายอมรับการฉีดวัคซีน
Dr.Sant:
ถ้าเขาไม่อยากฉีดเพราะไม่มีวัคซีนก็หาวัคซีนให้เขาสิครับ แต่ถ้าเขาไม่อยากฉีดเพราะเขาเชื่อในทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (conspiration theory) ผมก็ไม่รู้จะพูดกับเขายังไงเหมือนกัน
- ตั้งแต่ฉีดวัคซีนกันมาทั่วโลกเนี่ย วัคซีนช่วยชีวิตคนไว้ได้แค่ไหนแล้ว?
DrSant:
ไม่มีใครรู้หรอก เพราะไม่มีใครรู้ธรรมชาติ (natural course) ของโรคนี้ มันอาจจะมีธรรมชาติลดความรุนแรงลงและมีอัตราตายที่ต่ำลงของมันอยู่แล้วไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวัคซีนก็เป็นได้ เราไม่มีตัวเลขการทิ้งให้โรคเดินหน้าของมันเองมาเปรียบเทียบ เราจึงไม่รู้ว่าวัคซีนที่เราฉีดกันอยู่นี้มันมีมรรคผลอะไรหรือเปล่า ได้แต่เปรียบเทียบกับอัตราตายของโรคในอดีตว่าพอมีวัคซีนแล้วอัตราตายมันลดลง
- การรักษาขณะ home isolation ควรทำอย่างไรบ้าง .
Dr.Sant:
ไม่ต้องใช้ยาเลย เพราะไม่มียาตัวไหนที่ใช้ในระยะแรกได้รับการพิสูจน์ว่าลดอัตตราตายของโรคลงได้ สิ่งที่ควรทำคือปรับอาหารให้มากินพืชผักผลไม้มากขึ้น เพราะงานวิจัยใหญ่ในหกประเทศพบว่าอาหารพืชผักผลไม้เป็นสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงติดโควิดในหมู่แพทย์พยาบาลด่านหน้าลงได้ 73% ควรออกกำลังกายทุกวัน จัดการความเครียดให้ดี นอนหลับให้พอ เพราะระบบภูมิคุ้มกันโรคจะทำงานดีถ้าทำสิ่งเหล่านี้
- ช่วยคอมเมนต์การรักษาแบบคอกเทลในอินเดีย เช่น Azithro+Cefixime+Dexomethasone+Multivitamin ให้คนไข้ที่บ้าน
Dr.Sant:
อันนั้นมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ มันเป็นการรักษาที่มีพื้นฐานอยู่บนจินตนาการ ผมโนคอมเมนต์ครับ
- วิตามินแร่ธาตอาหารเสริมจะช่วยป้องกันโควิดได้ไหม
Dr.Sant:
วิตามินและอาหารเสริมมีประโยชน์ในภาวะขาดอาหารหรือกินอาหารได้ไม่ถึงระดับปกติ แต่ในคนที่โภชนาการปกติ ไม่มีหลักฐานว่าวิตามินและอาหารเสริมจะลดการติดเชื้อโควิดหรือลดอัตราตายลงได้ครับ
- คุณคิดว่าโควิดเป็นโรคมากับอากาศ (airborne) ไหม
Dr.Sant:
ใช้แน่นอนเลยครับ แต่มันมีวิธีมาถึงตัวเราได้สามวิธี คือ (1) เราหายใจเอาฝอยละออง aerosol ที่มีเชื้อเข้ามาในปอด (2) ฝอยน้ำลาย (droplet)ของคนป่วยปลิวมาตกบนเยื่อเมือกของเรา (3) เราเผลอเอามือไปแปดเปื้อนฝอยน้ำลายที่มีเชื้อ แล้วเผลอเอามือนั้นมาแตะเยื่อเมือกของเรา
- ควรให้เด็กฉีดวัคซีนไหม เด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโควิดไหม
Dr.Sant:
เหตุผลที่จะฉีดวัคซีนให้เด็กก็คือเพื่อไม่ให้เขาเอาโรคไปติดผู้ใหญ่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงฉีดแต่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนการจะฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราตายในเด็กนั้นไม่จำเป็น เพราะเด็กมีอัตราตายจากโรคนี้ต่ำมาก
ส่วนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันโควิดนั้น มันมีงานวิจ้ยย้อนหลังดูกลุ่มคนที่มิชิแกน สหรัฐฯ ซึ่งสรุปผลได้ว่าเด็กที่ได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อปีก่อน จะเป็นโควิดในปีนี้น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็พท์ที่เรียกว่า virus interference หมายความว่าเมื่อเซลติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งแล้วมันจะปล่อยอินเตอร์เฟียรอนต้านไม่ให้ไวรัสตัวอื่นเข้ามาได้ง่ายๆ นี่เป็นแค่คอนเซ็พท์นะ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันโควิดในเด็กได้หรือไม่ยังเป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ ต้องตามดู
- โควิดมีผลต่อหญิงตั้งครรภ์อย่างไร มีวัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ไหม ควรเลือกใช้ตัวไหน
Dr.Sant:
งานวิจัยที่ดีมากงานหนึ่งย้อนดูหญิงตั้งครรภ์ 2130 คน ในจำนวนนี้ 700 คนเป็นโควิด พบว่าการติดโควิดขณะตั้งครรภ์ทำให้อัตราตายทั้งแม่และทารกสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นครรภ์เป็นพิษและคลอดก่อนกำหนด
วัคซีนสำหร้บหญิงตั้งครรภ์ยังไม่มี ความปลอดภัยของวัคซีนโควิดต่อหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่มีใครรู้เลย โดยเฉพาะวัคซีนรุ่นใหม่อย่าง DNA vaccine นี้ กลไกการออกฤทธิ์ของมันคือมันจะเข้าไปในนิวเคลียสของเซลมนุษย์ ไปยุ่งกับรหัสพ้นธุกรรม (DNA) ของมนุษย์และทำให้ DNA ผลิต mRNA ออกมาเพื่อส่งเป็นคำสั่งให้ไมโตคอนเดรียผลิตโปรตีนชื่อ spike protein ออกมา ที่ผมเล่านี่มันอาจฟังเข้าใจยากหน่อย แต่ประเด็นของผมคือไม่มีใครรู้หรอกว่าเมื่อส่งไวรัสเข้าไปป้วนเปี้ยนกับรหัสพันธุกรรมของเซลของเราเองแล้วในระยะยาวจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราและกับลูกหลานของเรา มันเป็นเรื่องที่จะรู้ได้จากการติดตามดูเท่านั้น
- คนติดเชื้อธรรมชาติกับฉีดวัคซีนอย่างไหนจะมีภูมิคุ้มกันดีกว่ากัน.
Dr.Sant:
งานวิจัยเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันพบว่าการติดเชื้อธรรมชาติให้ภูมิคุ้มกันน้อยกว่าการฉีดวัคซีน จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้คนที่ติดเชื้อโควิดมาแล้วเดินหน้ารับวัคซีนเหมือนคนที่ไม่เคยติดเชื้อ
- ที่ว่าสัมผัสใกล้ชิดกับคนเป็นโรคนั้นนิยามว่าอย่างไร อย่างเราคุยด้วยโดยใส่หน้ากาก อย่างนี้เรียกสัมผัสใกล้ชิดหรือเปล่า
DrSant:
คำนิยามมันเป็นแค่การนั่งเทียนเขียนเอานะ ของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) นิยามว่าใกล้กันเกินกว่า 6 ฟุต นานเกิน 15 นาที ถือว่าสัมผัสใกล้ชิดกับคนเป็นโรค แต่ที่เมืองไทยนี้หมอจะรักษาคนไข้โดยอยู่ห่างกัน 6 ฟุตมันเป็นไปไม่ได้ คำนิยามจึงเปลี่ยนเป็น 1 เมตร ทั้งนี้ไม่สนว่าจะสวมมาสก์หรือไม่
- ยาต้านไวรัสนี้ยิ่งใช้เร็วยิ่งได้ผลดีไม่ใช่หรือ ทำไมเราไม่ฉีดยาต้านไวรัสกันเสียตั้งแต่ที่บ้าน
Dr.Sant:
โดยหลักการ ใช่ แต่นับถึงวันนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสตัวไหนได้รับการพิสูจน์ว่าลดอัตราตายจากโควิดได้เลย ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาในโรงพยาบาล การตั้งต้นให้ยาเสียตั้งแต่ที่บ้านอาจจะดี แต่ว่าเราต้องมีงานวิจัยระดับ RCT มารองรับมันจึงจะกลายเป็นวิธีรักษามาตรฐานขึ้นมาได้
- อีกนานเท่าใดโรคโควิดจึงจะหมดไปจากโลกนี้?
Dr.Sant:
ผมไม่ทราบครับ บางทีหมอดูคงจะทราบกระมัง
- CT value คืออะไร ค่าเท่าใดจึงจะปลอดภัย?”
Dr.Sant:
CT ย่อมาจาก cycle threshold ขอผมอธิบายวิธีตรวจวินิจฉัยโรคแบบ RT-PCR ก่อนนะว่าเขาทำกันอย่างไร
RT-PCR ย่อมาจาก Reverse transcription (RT) polymerase chain reaction (PCR) วิธีทำคือเขาเอาไวรัสมาจากแซมเปิลที่ได้จากการสว็อปจมูก เอามาฆ่าให้ตาย แล้วเอาไปขยายจำนวนด้วยวิธีก๊อปปี้ทีละเยอะๆ เปรียบเหมือนคุณเอาดอกกุญแจไปให้มิสเตอร์มินิทปั๊มดอกสำรองให้ แต่สมมุติว่าคุณใจร้อน คุณซื้อเครื่องปั๊มดอกกุญแจมาเองเสียเลยแล้วก็ปั๊มๆๆๆๆ เอาลูกกุญแจออกมาเป็นแสนเป็นล้านดอก การตรวจ RT PCR ก็เอาไวรัสไปปั๊มอย่างนั้น ปั๊มขยายจำนวนกันรอบหนึ่งก็เรียกว่า cycle หนึ่ง ปั๊มกันจนได้ตัวไวรัสมามากมายพอที่จะตรวจด้วยเครื่องตรวจพบ จำนวนรอบที่ขยายจนได้จำนวนที่ตรวจพบได้เรียกว่า CT ซึ่งค่าปกติคือหาก CT value เกิน 35 รอบหมายถึงมีเชื้อยิ่งน้อยจนตรวจไม่พบเลย (ยิ่งต้องขยายไปหลายรอบจึงตรวจพบ ยิ่งแสดงว่ามีไวรัสน้อย) ถ้าได้ CT value ต่ำกว่า 35 ก็จะรายงานผล RT-PCR ว่าได้ผลบวก บวกแรงหรือบวกอ่อนก็ดูที่ค่า CT value ยิ่งจำนวนรอบต่ำยิ่งมีเชื้อมากก็คือบวกแรงมาก
- ถ้าจะไปยิมตอนนี้ผมควรระวังอะไรบ้าง?
Dr.Sant:
ต้องเป็นยิมที่เปิดประตูหน้าต่าง นั่นสำคัญที่สุด เพราะงานวิจัยของฮาร์วาร์ดพบว่าเมื่อปล่อยเชื้อให้เกาะฝอยละอองอากาศ (aerosol)ไว้ในห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง มันจะล่องล่อยอยู่ในห้องได้นานถึง 3 ชั่วโมง และจะลอยจากมุมหนึ่งไปหาอีกมุมหนึ่งของห้องได้
และแน่นอน มาตรการป้องกันสากลคือสวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ก็ยังต้องใช้อยู่
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
………………………….