คนเป็นเบาหวานกับการกินผลไม้ ประเด็นปริมาณและความหวาน
เรียนอาจารย์สันต์
ได้ไปฟังอาจารย์สันต์สอน ซึ่งอาจารย์สอนว่าคนเป็นเบาหวานกินผลไม้มากได้ กินผลไม้หวานก็ได้ แต่อาจารย์แพทย์อีกท่านหนึ่งสอนว่าห้ามกินผลไม้หวาน ทำให้ไม่รู้จะทำตามท่านไหนดี อยากรู้เหตุผลที่แท้จริงของแต่ละคำแนะนำ ว่าคนเป็นเบาหวานกินผลไม้ได้หรือไม่ ได้แค่ไหน ทั้งในแง่ปริมาณและในแง่ความหวาน เพราะในแง่ความหวานนี้อะไรที่ดัชนีน้ำตาลสูงก็ไม่ดีต่อโรคเบาหวานไม่ใช่หรือคะ
……………………………………………………………..
ตอบครับ
ฮี่ ฮี่ นี่มันเป็นไปตามคำพังเพยไทยแท้ที่ว่า “มากหมอ ก็มากความ” มันเป็นเรื่องธรรมดา ทางด้านผู้ฟังก็ต้องทำการบ้านด้วย หมายความว่าต้องกลั่นกรองเองโดยการอาศัยชั่งน้ำหนักหลักฐานหลายๆด้านแล้ววินิจฉัยตัดสินเอาเอง ซึ่งผมจะตอบคำถามของคุณด้วยวิธีสรุปหลักฐานเท่าที่ผมมีอยู่ในมือให้อ่านดังนี้
ก่อนตอบคำถาม ขอย้ำให้เข้าใจภาพใหญ่ของปัญหาการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพก่อนว่าการเสพย์ติดอาหารเป็นอุปสรรคสำคัญ และน้ำตาลนี้เป็นสารอาหารตัวเอ้ที่คนเสพย์ติดมากที่สุด กลไกการเสพย์ติดอาหารไม่ต่างอะไรกับการเสพย์ติดสารเสพย์ติดอื่นๆเช่นฝิ่น โคเคน เฮโรอีน กัญชา ดังนั้นในแง่การเสพย์ติดอาหารนี้น้ำตาลไม่ใช่ของดี ทุกคนควรหัดกินของที่ไม่หวานเพื่อลดการเสพย์ติดรสหวานลง แปลไทยให้เป็นไทยว่าในแง่นี้น้ำตาลไม่ใช่ของดีอะไร เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ
1.. ถามว่าคนเป็นเบาหวานควรจำกัดการกินผลไม้หรือไม่ ตอบว่าไม่ควรจำกัดครับ คำถามนี้เป็นประเด็นที่เรียกว่า fruit restriction ซึ่งเป็นความเชื่อของแพทย์จำนวนมากว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่มีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการกินผลไม้มากกับการทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้นหรือทำให้โรคเบาหวานแย่ลงในระยะกลางหรือระยะยาวแม้แต่ชิ้นเดียวนอกเหนือไปจากที่รู้กันอยู่แล้วว่าอาหารบางชนิดรวมทั้งผลไม้หวานทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นชั่วคราวหลังกิน แต่ในแง่ของผลระยะยาว มีหลักฐานจากงานวิจัย EPIC-Norfolk Study ซึ่งเป็นการวิจัยประชากรแบบตัดขวางเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการกินผักและผลไม้กับน้ำตาลสะสมในเลือด ในประชากรชาย 2,678 คน หญิง 3,318 คน อายุ 45-74 ปี ที่ไม้ได้เป็นเบาหวาน พบว่ากลุ่มที่ไม่กินหรือกินผลไม้และผักน้อย มีระดับน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 5.43% ขณะที่กลุ่มที่กินผักผลไม้มากมีน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 5.34% ซึ่งข้อมูลนี้บ่งชี้ไปทางว่ากลุ่มกินผักผลไม้มากกว่าสัมพันธ์กับการมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า
สำหรับคนที่เป็นเบาหวานแล้ว งานวิจัยที่ตอบคำถามนี้ได้เด็ดขาดคืองานวิจัยของเดนมาร์คซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Nutrition Journal ได้สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งจำกัดปริมาณผลไม้ไม่ให้กินเกินวันละ 2 ชิ้น (กินจริงเฉลี่ย 51 กรัมต่อวัน) อีกกลุ่มหนึ่งให้กินผลไม้ได้อิสระเสรีไม่จำกัดจำนวนหรือปริมาณผลไม้ (กินจริงเฉลี่ย 125 กรัมต่อวัน) ทำการวิจัยอยู่นาน 12 สัปดาห์พบว่าน้ำตาลสะสมในเลือดลดลงทั้งสองกลุ่มและลดลงอย่างไม่แตกต่างกัน นี่เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดเท่าที่วงการแพทย์มีที่ทำให้สรุปได้เด็ดขาดว่าไม่ควรจำกัดการกินผลไม้ในผู้ป่วยเบาหวาน หากท่านผู้อ่านท่านใดพบเห็นหลักฐานที่ดีกว่านี้ที่บ่งชี้ให้จำกัดผลไม้ในคนเป็นเบาหวานก็ช่วยบอกหมอสันต์เอาบุญด้วยครับ หากหลักฐานนั้นเป็นหลักฐานระดับสูงกว่าหลักฐานทั้งสองชิ้นที่ผมเล่ามานี้ ผมก็จะเปลี่ยนคำแนะนำตาม
2.. ถามว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาล (glycemic index) สูง (หมายถึงอาหารที่กินแล้วน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงอย่างรวดเร็วหลังกิน) ทำให้เป็นเบาหวานและไม่ดีต่อสุขภาพไม่ใช่หรือ ตรงนี้ยังไม่มีความลงตัวให้สรุปเป็นตุเป็นตะได้อย่างนั้นครับ ในทางการแพทย์เรียกว่าเป็น controversy คือในด้านหนึ่งเป็นความจริงที่ว่าอาหารดัชนีน้ำตาลสูงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นทันทีหลังกินมากกว่าอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ แต่ในอีกด้านหนึ่งไม่เป็นความจริงที่ว่าอาหารดัชนีน้ำตาลสูงทำให้โรคเบาหวานแย่ลงหรือทำให้สุขภาพแย่ลง เพราะงานวิจัยที่ให้ข้อสรุปเด็ดขาดในเรื่องนี้ชื่องานวิจัย OniCarb ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร JAMA ได้สุ่มตัวอย่างเอาคนที่มีน้ำหนักมากผิดปกติมาจับฉลากแบ่งเป็นสี่กลุ่มเพื่อให้กินอาหารสี่แบบ แต่ละแบบกินอยู่นาน 5 สัปดาห์ คือ
กลุ่มที่ 1. กินอาหารดัชนีน้ำตาลสูง (65% on the glucose scale) และปริมาณคาร์โบไฮเดตรสูง (58% ของพลังงานทั้งหมด)
กลุ่มที่ 2. กินอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ (40%) แต่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูง
กลุ่มที่ 3. กินอาหารดัชนี้น้ำตาลสูง แต่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตพอดี (40% ของพลังงานทั้งหมด)
กลุ่มที่ 4. กินอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ และปริมาณคาร์โบไฮเดรตพอดี
โดยที่อาหารทั้งหมดอยู่ในแนวทางของอาหารลดความดันเลือด (DASH diet) ผลวิจัยพบว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบดัชนีน้ำตาลทั้งแบบสูงและแบบต่ำล้วนมีตัวชี้วัดสุขภาพที่สำคัญคือระดับน้ำตาล ระดับอินสุลิน กร๊าฟความไวต่ออินสุลิน ระดับไขมันในเลือด ความดันเลือด และน้ำหนักตัว ไม่ต่างกันเลย จึงสรุปว่าคอนเซ็พท์ดัชนีน้ำตาลนี้มีผลต่อน้ำตาลในเลือดหลังกินอาหารไม่กี่ชั่วโมง แต่หากนำมาใช้จริงจังนานหลายสัปดาห์กลับไม่เปลี่ยนระดับน้ำตาล ระดับอินสุลิน และตัวชี้วัดสุขภาพตัวสำคัญอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
3.. ถามว่าคนเป็นเบาหวานไม่ควรกินผลไม้ที่มีรสหวานใช่หรือไม่ ตอบว่าจะพูดห้ามแบบรูดมหาราชอย่างนั้นก็ไม่ได้เสียทีเดียวครับ มันขึ้นกับชนิดของผลไม้ด้วย หลักฐานที่ดีที่สุดในเรื่องนี้เป็นงานวิจัยของฮาร์วาร์ดซึ่งตามดูคน 187,382 คนนานสิบกว่าปี ( 3,464,641 คน-ปี) ในระหว่างติดตามมีคนเป็นเบาหวานเกิดขึ้น 12,198 คน เมื่อวิเคราะห์พบว่าความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดหรือเพิ่มตามการกินดังนี้
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลง 2% เมื่อกินผลไม้และผักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลง 26% เมื่อกินบลูเบอรี่เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลง 12% เมื่อกินองุ่นหรือเรซินเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลง 11% เมื่อกินลูกพรุนเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลง 7% เมื่อกินแอปเปิลหรือแพร์เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลง 5% เมื่อกินกล้วยและเกรพฟรุตเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลง 3% เมื่อกินพีช พลัม แอปปริคอต เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลง 1% เมื่อกินส้มเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 3% เมื่อกินสตรอว์เบอรรี่เพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 8% เมื่อดื่มน้ำผลไม้ทิ้งกากเพิ่มขึ้น 3 เสริฟวิ่งต่อสัปดาห์
ความเสี่ยงเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 10% เมื่อกินแคนตาลูบเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 3 เสริฟวิ่ง
จึงสรุปว่าผลไม้ส่วนใหญ่หวานบ้างไม่หวานบ้างเช่น องุ่น เรซิน บลูเบอรี่ พรุน แอปเปิล แพร์ กล้วย เกรพฟรุต ส้ม สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง ขณะที่การกินผลไม้สามกรณีคือ สตรอว์เบอรี่ แคนตาลูบ และน้ำผลไม้ทิ้งกาก สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น เออ..แล้วอย่าผมถามนะว่าแล้วมะละกอ สับประรด แตงโม ทุเรียน ละ ผมตอบท่านไม่ได้หรอก เพราะไม่มีงานวิจัยผลความสัมพันธ์ระหว่างผลไม้เหล่านี้กับการเป็นเบาหวานตีพิมพ์ไว้เลยแม้แต่ชิ้นเดียวครับ
สรุปของสรุป หมอสันต์แนะนำว่า (1) สำหรับคนทั่วไป รสหวานทำให้เสพย์ติดอาหารยิ่งขึ้น การฝึกกินอาหารไม่หวานเข้าไว้ย่อมเป็นวิธีดูแลสุขภาพที่ดี (2) คนเป็นเบาหวานไม่ควรจำกัดการกินผลไม้ ในทางตรงกันข้ามควรกินผลไม้ให้มากและหลากหลาย (3) ประเด็นเป็นเบาหวานแล้วกินผลไม้หวานได้ไหมนั้น ไม่สามารถตอบแบบรูดมหาราชครอบคลุมผลไม้ทุกชนิดได้ เพราะต้องเจาะลึกลงไปถึงผลไม้แต่ละชนิด กล่าวคือ องุ่น เรซิน บลูเบอรี่ พรุน แอปเปิล แพร์ กล้วย เกรพฟรุต ส้ม สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง ส่วนสตรอว์เบอรี่ แคนตาลูบ และน้ำผลไม้ทิ้งกาก สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น ขณะที่ผลไม้ไทยเช่นมะละกอ สับประรด แตงโม ทุเรียนนั้นยังไม่มีหลักฐานวิจัยบอกได้ว่าสัมพันธ์ในทางบวกหรือทางลบกับโรคเบาหวาน และขอย้ำส่งท้ายจากมุมมองการเสพย์ติดอาหารว่า..น้ำตาลไม่ใช่ของดี
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
จดหมายจากท่านผู้อ่าน
ผมเป็นหมอสูติ ฝากครรภ์จะพบว่าถ้ามารดาชอบกินส้ม น้ำมะพร้าว ผลไม้รสหวาน จะทำให้คนไข้น้ำหนักขึ้นเยอะผิดปกติ ทารกจะตัวเล็ก ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมได้น้ำหนักมารดาจะลดแต่ทารกจะโตปกติ คำแนะนำสำหรับคนท้องในตำราก็ไม่ได้ให้จำกัดผลไม้คิดว่าเอาผลไม้ของฝรั่งมาใช้กับไทยไม่ได้ครับ
ตอบครับ
ขอบคุณอาจารย์มากครับ ประสบประการณ์ของอาจารย์น่าสนใจมาก น่าจะได้รับการแชร์ไปยังแพทย์ท่านอื่นในรูปของงานวิจัย cohort study เล็กๆมี subject ไม่กี่สิบคนก็ได้ ตีพิมพ์ในวารสารอะไรก็ได้ อาจารย์ทำให้ผมเกิดไอเดียอยากจะเปิด eJournal ขึ้นในเว็บไซท์ที่ไหนสักแห่ง จะเรียกว่าเป็นเจอร์นาลเถื่อนก็ได้ เพื่อเปิดรับงานวิจัยของแพทย์และ health care professional ทั่วไปที่มีข้อมูลเล็กๆน้อยๆในคนไทยที่อยากจะสื่อกับเพื่อน HCP ด้วยกันในรูปของงานวิจัยง่ายๆกะป๊อกกะแป๊ก ยังอยู่ในรูปแบบของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แต่ว่าไม่เคร่งครัดกฎเกณฑ์หยุมหยิมยืดยาดเช่นการผ่านกรรมการจริธรรม การทบทวนโดย reviewer เป็นต้น (สองปีก่อนหน้านี้ผมทำวิจัยเรื่องระดับวิตามินบี.12 ในคนไทยทั่วไปกับคนไทยที่กินมังสวิรัติ ซึ่งเป็นงานวิจัยง่ายๆซื่อๆ บื้อๆ แต่มันใช้เวลานานถึงสองปีกว่าจะได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ มันตลกมากที่เราจะมัวยึดติดกับการสื่อสารกันด้วยวิธีนี้แม้ในเรื่องเล็กๆง่ายๆในโลกอินเตอร์เน็ทที่เราสามารถสื่อสารกันได้ทันที) ประเด็นความความน่าเชื่อถือของ eJournal นั้นผมไม่เห็นจะน่าห่วงเลยเพราะผู้อ่านมีดุลพินิจ เราก็ทิ้งให้ผู้อ่านวินิจฉัยเอาจาก methodology และจากการประเมินว่าใครเป็นผู้วิจัยก็ได้
สันต์
บรรณานุกรม
- Wareham NJ: Fruit and vegetable intake and population glycosylated haemoglobin levels: the EPIC-Norfolk Study. Eur J Clin Nutr 2001, 55:342–348
- Christensen, A.S., Viggers, L., Hasselström, K. et al. Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes – a randomized trial. Nutr J 12, 29 (2013). https://doi.org/10.1186/1475-2891-12-29 Sargeant LA, Khaw KT, Bingham S, Day NE, Luben RN, Oakes S, Welch A,
- Sacks FM, Carey VJ, Anderson CA, et al. Effects of high vs low glycemic index of dietary carbohydrate on cardiovascular disease risk factors and insulin sensitivity: the OmniCarb randomized clinical trial. JAMA. 2014;312(23):2531-2541. doi:10.1001/jama.2014.16658
- Muraki Isao, Imamura Fumiaki, Manson JoAnn E, Hu Frank B, Willett Walter C, van Dam Rob M et al. Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies BMJ 2013; 347 :f5001
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์