มาตรฐานการรักษาเบาหวานให้หายในอนาคตคือการผ่าตัดทิ้งกระเพาะอาหาร
คุณหมอคะ
น้องที่หนูแนะนำให้ไปเข้าแค้มป์ GHBY ของคุณหมอเพิ่งกลับมาเล่าว่าเดี๋ยวนี้อาจารย์หันมาโปรโมทการอดอาหารโดยสอน IF อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในแค้มป์ ตอนที่หนูไปเรียนยังไม่มี มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษไหมคะ ทำไมคุณหมอถึงหันมาโปรโมท IF
…………………………………………………………………..
ตอบครับ
ก่อนตอบคุณขอนิยามศัพท์ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปเข้าใจก่อนอ่านนะ
GHBY ย่อมาจาก Good Health By Yourself แปลว่า “สุขภาพดีด้วยตนเอง” เป็นคอร์สสั้นที่สุด (สองวันหนึ่งคืน) ที่ผมเปิดสอนที่เวลเนสวีแคร์ คอร์สอื่นๆก็มีเช่น RDBY พลิกผันโรคด้วยตนเอง (สี่วันห้าคืน), CR รีทรีตผู้ป่วยมะเร็ง (สี่วันสามคืน), WL แค้มป์ลดน้ำหนัก (ห้าวันสี่คืน), SR รีทรีตทางจิตวิญญาณ (สี่วันสามคืน) เป็นต้น
IF ย่อมาจาก Intermittent Fasting แปลว่าการอดอาหารแบบมีช่วงอดสลับกับช่วงกิน เขียนย่อโดยให้ช่วงอดนำหน้าช่วงกิน ถ้ารอบจบในหนึ่งวันก็ใช้ / คั่น เช่น 12/12 ก็กิน 12 ชั่วโมง อด 12 ชั่วโมง (มื้อเย็นให้จบก่อน 18.00 น.มื้อเช้าเริ่มหลัง 6.00 น.เป็นต้น) หรือเช่น 18/6 ก็หมายความว่าช่วงอดนาน 18 ชม. ช่วงกินนาน 6 ชม. ซึ่งก็คือกินแบบพระภิกษุสามเณร นอกจากนี้ยังมีอดเป็นวัน เช่นอดวันเว้นวัน อดทั้งวันวันเดียวหรือหลายวัน จะเอากี่วันก็ได้ตามใจชอบ
เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ เป็นความจริงที่ว่าผมได้ยอมรับเอาการอดอาหารแบบมีช่วงอดสลับกับช่วงกิน หรือ IF มาเพิ่มเป็นเนื้อหาสาระหลักเรื่องหนึ่งของแค้มป์ GHBY และ RDBY และแค้มป์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเพิ่งเริ่มเดือนนี้เอง สาเหตุที่ตัดสินใจทำอย่างนี้นั้น เรื่องมัน ยาว หากคุณอยากรู้ผมจะเล่าให้ฟัง
ประมาณสองปีก่อนผมไปประชุมสมาคมแพทย์กินผักกินหญ้า (Plantician Conference) ที่เมืองโอ้คแลนด์ แคลิฟอร์เนีย ผมมีเพื่อนเก่าเป็นหมออเมริกันที่เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านการตัดกระเพาะอาหารทิ้ง (ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการบายพาสพาอาหารอ้อมไม่ผ่านกระเพาะอาหาร เรียกว่า Roux-en-Y gastric bypass – RYGB) เขาชวนผมหลบอาหารผักหญ้าในห้องประชุมไปกินขนมจีบที่ร้านอาหารจีนไม่ไกลจากโรงแรมนัก เมืองโอ้คแลนด์นี้เป็นเมืองคนจีน และขนมจีบที่ร้านนี้ก็ขึ้นชื่อ เรากินกันไปคุยกันไปถึงความยากลำบากของการแก้ไขโรคอ้วนและโรคเบาหวานด้วยการเปลี่ยนอาหาร เพราะคนทำตามล้วนทำได้ไม่นานก็แพ้กิเลสเสียก่อน เขาว่า
“คุณเชื่อผมสิ ต่อไปการผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารจะเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคเบาหวาน”
ผมยิ้มเจื่อนๆ รู้ดีว่าเขาไม่ได้โม้ เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนได้มีการตีพิมพ์ผลระยะ 5 ปีของการผ่าตัดกระเพาะในผู้ป่วยที่อ้วนและเป็นเบาหวานด้วย ปรากฎว่าหากนับกันที่ 5 ปี การผ่าตัดกระเพาะเป็นวิธีรักษาเบาหวานให้หายที่ดีที่สุด แม้ผมเองจะเป็นหมอผ่าตัดแต่ก็ไม่เห็นด้วยที่เอะอะเราก็แก้ปัญหาโดยการตัดชิ้นส่วนของร่างกายทิ้ง เราทำอย่างนี้กันมานานแล้วกับแทบทุกอวัยวะ นับตั้งแต่ไส้ติ่ง ถุงน้ำดี มดลูก กระเพาะ ลำไส้ แต่การตัดทิ้งหรือบายพาสกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคเบาหวานนี่ ผมรับไม่ค่อยได้เลย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเบาหวานเกิดจากการกินอาหารมากเกินไป แต่เรามาแก้ด้วยการผ่าตัดทิ้งอวัยวะ มันก็เหมือนกับที่เรารู้อยู่แล้วว่าการกินไขมันมากทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ แล้วเรามาแก้โดยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ มันเป็นวิธีรักษาโรคที่ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุซึ่งผิดหลักพื้นฐานของวิชาแพทย์
กลับมาเมืองไทยแล้ว วันหนึ่งไม่นานมานี้ผมอ่านวารสาร Lancet พบงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานเปรียบเทียบวิธีรักษาสองแบบคือ แบบที่ 1. ตัดทิ้งหรือบายพาสกระเพาะอาหารไปเลยให้รู้แล้วรู้รอด กับ แบบที่ 2. ให้กินยาบวกอ้อนวอนให้คนไข้เปลี่ยนอาหารและออกกำลังกาย แล้วติดตามดูนาน 10 ปีว่าวิธีไหนจะดีกว่ากัน ผลวิจัยที่เป็นข่าวดีก็คือโรคเบาหวานหายสนิทได้ตลอดสิบปีมากถึง 37·5% แต่ข่าวร้ายคือคนที่หายจากเบาหวานนั้นส่วนใหญ่(25%) หายด้วยการผ่าตัดทิ้งกระเพาะ มีส่วนน้อยจิ๊บจ๊อย(5.5%)เท่านั้นเองที่หายด้วยการกินยาควบกับการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิต อ่านงานวิจัยนี้แล้วก็มองเห็นอนาคตของการรักษาโรคเบาหวานชัดเจนขึ้นมาทันที นั่นก็คือคนเป็นเบาหวานต่อไปจะต้องถูกรักษาด้วยการผ่าตัดทิ้งหรือบายพาสกระเพาะอาหารเป็นทางเลือกอันดับแรกกันทุกคน เพราะมันเวอร์คสุด อามิตตาภะ..พุทธะ กะอีแค่จะเอาชนะกิเลสคือความอยากกิน คนเราถึงกับต้องมาตัดหรือทิ้งกระเพาะอาหารกันเลยหรือ
ผมไม่ใช่คนนับถือศาสนาอะไรนะ แต่ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนให้พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นลูกน้องของท่านอดอาหารแบบ IF-18/6 คืองดกินหลังเที่ยงวันจนถึงรุ่งเช้า แสดงว่าแม้ในหมู่คนที่มุ่งตัดกิเลสแสวงนิพพานกิเลสความอยากกินมันก็ยังร้อนแรงจนเอาไม่อยู่จนต้องบัญญัติกฎ IF-18/6 ขึ้นมาใช้ หิ..หิ
ฉันใดก็ฉันเพล ลูกแค้มป์ของหมอสันต์ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นสมาชิกสมาคมโรคหกสหายวัฒนะอันได้แก่โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันสูง ความดัน หัวใจ อัมพาต ซึ่งล้วนมีสมุหฐานจากการกินมากเกินไปทั้งนั้น สมมุติฐานที่หมอสันต์เชื่อมาแต่เดิมว่าเทศนาพร่ำสอนไปแล้วเดี๋ยวเขาจะตัดกิเลสห้ามใจตัวเองได้เองนั้นมันต้องการตัวช่วยเสียแล้วละ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมเริ่มเอา IF มาร่วมเป็นแก่นกลางของการดูแลสุขภาพ แน่นอนว่าจากนี้ไปเมื่อท่านมาที่เวลเนสวีแคร์ท่านจะถูกจับเข้า IF หมด เบาะๆก็ 12/12 คือหลัง 19.00 น.ไม่เสริฟอะไรเลยยกเว้นน้ำเปล่า ตู้เย็นในห้องก็ไม่มีให้ ก่อน 7.00 น.ของเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไม่เสริฟอะไรให้เลยเช่นกัน บางแค้มป์เช่นเแค้มป์ลดน้ำหนัก แค้มป์โรคเบาหวาน ท่านก็จะโดนบังคับให้ค่อยๆเพิ่มการอดไปจนถึง IF 18/6 ฮิ..ฮิ นี่บอกไว้ล่วงหน้าให้ท่านจะได้ซ้อมถือศีลแปดมาก่อน โชคดีประจวบเหมาะที่ตอนนี้หมอสันต์ได้อาจารย์แพทย์ท่านใหม่ชื่อคุณหมอคมกฤชมาร่วมงานที่เวลเนสวีแคร์ ตัวคุณหมอเองนอกจากจะเป็นอายุรแพทย์ที่สนใจโรคเมตาโบลิกซินโดรมมากเป็นพิเศษแล้ว ยังเป็นผู้มีประสบการณ์ลดน้ำหนักตัวเองลงมาราว 20 กก. ด้วยวิธี IF ด้วย ทำให้ทีมงานหมอสันต์มีความครบเครื่องที่จะเดินหน้ากับ IF ยิ่งขึ้น (อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่ว่ามานี้ใช้กับคนที่อ้วนน้ำหนักเกินหรือไขมันในเลือดสูงเท่านั้นนะ คนที่ผอมแห้งเป็นปลาเค็มอยู่แล้วไม่เกี่ยว พวกหลังนี้หมอสันต์ให้ใช้สูตรกินทุกอย่างที่ขวางหน้าเหมือนเดิม)
ในแง่ของหลักฐานวิทยาศาสตร์ หากมองระดับงานวิจัยทางคลินิกในคนจริงๆซึ่งเป็นหลักฐานระดับสูงสุด งานวิจัยยำรวมข้อมูล (metaanalysis) ที่รวมการวิจัยวิธีลดน้ำหนัก 27 รายการซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ มีบ้างเป็นงานวิจัยแบบตามดูกลุ่มคน โดยที่ทั้งหมดเป็นการรายงานผลระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) พบว่า IF ทำให้ลดน้ำหนักได้ 0.8-13.0% ของน้ำหนักเดิมโดยไม่มีผลข้างเคียงซีเรียสอะไรและได้ผลไม่แพ้วิธีนับและจำกัดแคลอรี่ นอกจากนั้นยังพบว่าในกรณีที่คนอ้วนนั้นเป็นเบาหวานอยู่ด้วย IF จะช่วยลดความรุนแรงของเบาหวานและทำให้การควบคุมน้ำตาลง่ายขึ้น แน่นอนว่านี่เป็นแค่ผลระยะสั้น ระยะยาวนั้น IF จะช่วยลดน้ำหนักได้ถาวรหรือไม่ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป
หากมองจากหลักฐานในระดับห้องทดลอง ผมจะเล่าให้ฟังเฉพาะบางประเด็นที่เกี่ยวข้องนะ
ประเด็นที่ 1. IF กับสรีรวิทยาปกติของร่างกาย การอดอาหารแบบ IF ก็คือการเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่เก็บสะสมไว้ในร่างกาย (ซึ่งก็คือไขมัน) เพราะว่าชีวิตของคนทุกวันนี้ การกินอาหารถูกปากกันไม่ยั้งทำให้ร่างกายได้รับกลูโค้สอยู่ตลอดเวลา กลไกการสร้างพลังงานในร่างกายนี้ปกติมีสามวิธี คือสร้างพลังงานจากกลูโค้ส หรือจากไขมัน หรือจากโปรตีน หากมีกลูโค้สให้ใช้การสร้างพลังงานจากกลูโค้สเป็นวิธีที่ร่างกายจะเลือกใช้ก่อนเสมอเพราะเป็นวิธีที่ง่ายและได้พลังงานเร็วในปริมาณมากเป็นเนื้อเป็นหนัง การอดอาหารแบบ IF เป็นการสร้างเงื่อนไขไม่ให้มีกลูโค้สให้ใช้ในช่วงเวลาที่อด ร่างกายจึงถูกบังคับให้หันไปใช้พลังงานจากไขมันที่เก็บไว้ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายรองลงไป เมื่อไขมันที่เก็บไว้ถูกใช้ความอ้วนก็ลดลง ผลพลอยได้อย่างอื่นคือเมื่อมีระดับกลูโค้สในเลือดต่ำลง ความไวต่ออินสุลินของบรรดาเซลทั้งหลายก็ดีขึ้น นั่นหมายความว่าโรคเบาหวานซึ่งมีสาเหตุอยู่ที่ความดื้อด้านต่ออินสุลินก็พลอยดีขึ้นด้วย
ประเด็นที่ 2. ยีนเซอร์ทูอีน เราทราบจากหลักฐานในห้องทดลองมานานแล้วว่าในเซลมียีนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกว่ายีนเซอร์ทูอีน (Sirtuin) เป็นยีนควบคุมเอ็นไซม์ในเซลซึ่งทำหน้าที่เช่น ช่วยเซลเผาผลาญ ซ่อมแซมการอักเสบ ซ่อมแซมดีเอ็นเอ. คุมการหลั่งอินสุลิน งานวิจัยในเซลยีสต์พบว่าเมื่อให้เซลยีสต์อดอาหาร ยีนเซอร์ทูอีนจะผลิตเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และทำให้เซลยีสต์มีอายุยาวขึ้น อันที่จริงงานวิจัยการอดอาหารในคนก็พอมีนะแต่มันไม่ได้วัดเซอร์ทูอีนโดยตรง คือเมื่อปี 2006 วารสาร JAMA ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในคนซึ่งลดการกินอาหารแคลอรี่เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งสรุปได้ว่าคนที่ลดอาหารจะมีสิ่งต่อไปนี้ดีกว่าคนไม่ลด คือ (1) การซ่อมดีเอ็นเอ. (2) การหลั่งอินสุลิน (3) การลดอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งในส่วนของการซ่อมดีเอ็นเอ.และการหลังอินสุลินนั้นอาจจะเกี่ยวกับยีนเซอร์ทูอีน
ประเด็นที่ 3. โกรทฮอร์โมน (growth hormone) มันเป็นฮอร์โมนช่วยเด็กให้เติบโต พอเป็นผู้ใหญ่แล้วระดับฮอร์โมนนี้จะต่ำวัดแทบไม่ได้ แต่เมื่อยี่สิบปีมาแล้วมีผู้ทำวิจัยพิสูจน์ได้ว่าหากให้ผู้ใหญ่อดอาหารจะมีโกรทฮอร์โมนออกมามากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับผลวิจัยพื้นฐานทางสรีรวิทยาที่สรุปได้ว่าเมื่อไม่มีอาหารตกถึงลำไส้เล็ก ลำไส้เล็กจะหลั่งฮอร์โมนโมติลิน (Motilin) ออกมาทำให้กระเพาะอาหารบีบตัว และหากขณะนั้นไม่มีอาหารค้างอยู่ในกระเพาะ กระเพาะก็จะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ออกมาซึ่งเรียกว่าฮอร์โมนหิว เกรลินนี้ตัวรับ (receptor) ของมันอยู่ในสมอง หากตัวรับในสมองถูกกระตุ้นแล้วสมองจะปล่อยโกรทฮอร์โมนออกมา เอาเป็นว่าเมื่อใดที่เปิดโอกาสให้ความรู้สึกหิวเกิดขึ้น เมื่อนั้นจะมีโกรทฮอร์โมนออกมา เมื่อจับมากระเดียดกับงานวิจัยของหมอชื่อรัดแมนซึ่งได้ตีพิมพ์งานวิจัยของเขาในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ว่าเขาเอาคนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 คนมาฉีดโกรทฮอร์โมน แล้วรายงานว่าคนแก่เหล่านั้น(เมื่อเทียบกับตัวเองก่อนฉีด)มีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น มีมวลกระดูกแน่นขึ้น ก็ทำให้คนเฮโลไปทางว่าในผู้ใหญ่อะไรก็ตามที่ทำให้โกรทฮอร์โมนเพิ่มขึ้น (การนอนหลับ การปล่อยให้เกิดความหิว) จะทำให้ผู้ใหญ่คึกคักเข้มแข็งขึ้น นี่พอจะมีหลักฐานรองรับอยู่ ส่วนที่อ้างว่าจะทำให้อายุยืนขึ้นนั้นเป็นการอ้างเกินจริงไป ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน
กล่าวโดยสรุป หมอสันต์สนับสนุนการอดอาหารแบบ IF เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันและรักษาโรค “หกสหายวัฒนะ” คืออ้วน เบาหวาน ไขมันสูง ความดันสูง หัวใจ อัมพาต ที่ดัชนีมวลกายสูงผิดปกติ (น้ำหนักเกิน) หรือมีพุง นอกจากจะถือศีล IF แล้วให้พยายามกินน้อยๆ กินมื้อเดียวได้ยิ่งดี กินผักแยะๆ กินเนื้อน้อยๆ ไม่กินเนื้อเลยได้ยิ่งดี กั๊กอาหารเข้าไว้ ปล่อยให้ตัวเองหิวบ่อยๆ แล้วโรคหกสหายวัฒนะของท่านจะดีขึ้นแน่นอน โดยไม่ถูกนำไปผ่าตัดทิ้งกระเพาะอาหาร
นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Geltrude Mingrone, Simona Panunzi, Andrea De Gaetano, Caterina Guidone, Amerigo Iaconelli, Esmeralda Capristo, Ghassan Chamseddine, Stefan R Bornstein, Francesco Rubino. Metabolic surgery versus conventional medical therapy in patients with type 2 diabetes: 10-year follow-up of an open-label, single-centre, randomised controlled trial. The Lancet, 2021; 397 (10271): 293 DOI: 10.1016/S0140-6736(20)32649-0
- Ho KY, Veldhuis JD, Johnson ML, et al. Fasting enhances growth hormone secretion and amplifies the complex rhythms of growth hormone secretion in man. J Clin Invest. 1988;81(4):968-975. doi:10.1172/JCI113450
- 1. Weindruch R, Walford RL, Fligiel S, Guthrie D. The retardation of aging in mice by dietary restriction: longevity, cancer, immunity and lifetime energy intake. J Nutr. 1986;116:641-654
- Valter D. Longo. Linking sirtuins, IGF-I signaling, and starvation. Experimental Gerontology. 2009 :44(2); 70–74
- Leonie K. Heilbronn, PhD; Lilian de Jonge, PhD; Madlyn I. Frisard, PhD; James P. DeLany, PhD; et al. Effect of 6-Month Calorie Restriction on Biomarkers of Longevity, Metabolic Adaptation, and Oxidative Stress in Overweight IndividualsA Randomized Controlled Trial. JAMA. 2006;295(13):1539-1548. doi:10.1001/jama.295.13.1539.
- Rudman D. Effects of growth hormone in men over 60 years old. New England Journal of Medicine 1990;323(1):1-6.
- Pradhan G1, Samson SL, Sun Y. Ghrelin: much more than a hunger hormone. Curr Opin Clin Nutr Metab Care. 2013;16(6):619-24. doi: 10.1097/MCO.0b013e328365b9be.