การจะหลุดพ้น คุณอย่าไปพิจารณาไตร่ตรองอะไรทั้งนั้น

เรียนคุณหมอสันต์

ดิฉันติดตามคุณหมอมานานทุกเรื่อง อ่านหมดที่คุณหมอเขียน โดยเฉพาะเรื่องความหลุดพ้น ตัวดิฉันเองได้ปฏิบัติตนตามแนววิปัสนาสายอาจารย์ … มานานสิบสองปี ก่อนหน้านั้นปฏิบัติเปะปะ ตอนนี้เน้นการฝึกสมาธิให้ถึงฌาน แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสนาไตร่ตรองความเป็นอนิจจังของสิ่งต่างๆให้คลายกำหนัดและปล่อยวาง ทำเช่นนี้มานานก็สงบเย็นดีแต่ก็ไม่มีอะไรก้าวหน้ามากไปกว่านี้นอกจากพบเห็นนิมิตในสมาธิบ้าง อยากขอคำแนะนำคุณหมอสันต์ว่าสมควรปรับตรงไหนอย่างไรหรือไม่จึงจะไปถึงความหลุดพ้น
…………………………………………………

ตอบครับ

นานมาแล้วผมไม่ค่อยเขียนถึงเรื่องทางจิตวิญญาณเพราะเขียนอะไรออกมาแล้วมันไม่เหมือนที่ชาวบ้านเขาสอนๆกันอยู่ กลัวจะถูกรุมตื๊บเอา จึงถือภาษิตนิ่งเสียพันตำลึงทอง แต่นี่คุณเขียนมาแหย่เองนะ ทำให้ผมกลับมาพูดเรื่องนี้ใหม่

ศัพท์แสงที่คุณพูดมานั้นผมไม่เก็ทหรอก เพราะผมไม่ได้ศึกษาที่มาของศัพท์แสงเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง ถึงถ้าหากผมศึกษาจริงจังแค่ไหนผมก็จะไม่เก็ทอยู่ดี เพราะความสนใจของผมไปอยู่ในส่วนที่ตรรกะของภาษาอธิบายไปไม่ถึง แต่ผมกับคุณต้องใช้ภาษาสื่อกัน คุณจึงต้องเป็นฝ่ายพยายามเข้าใจภาษาของผมเอาเอง เข้าใจหรือไม่เข้าใจก็สุดแต่บุญกรรม

ประเด็นที่ 1. มาจูนคำว่า “ความหลุดพ้น” ให้มันใกล้กันสักหน่อยก่อน ของผมนี่ความหลุดพ้นคือการเป็นอิสระจากการถูกครอบโดยความคิดของตัวเอง พูดง่ายๆว่าเมื่อวางความคิดได้เกลี้ยงก็หลุดพ้น นี่ว่ากันเฉพาะเดี๋ยวนี้นะ เพราะสำหร้บผมชีวิตปรากฎอยู่ในขณะเดียว คือเดี๋ยวนี้ ส่วนอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชาติหน้า หรือจิตสุดท้ายก่อนตาย ไม่มีอยู่จริง สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงความคิด ของจริงมีแต่เดี๋ยวนี้ เพราะความหลุดพ้นหรืออิสรภาพนี้มันเป็นประสบการณ์ มันไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์มันมีได้แต่ที่เดี๋ยวนี้เท่านั้น คุณใช้คอมมอนเซ็นส์ก็ได้ คุณจะไปมีประสบการณ์กับอดีตหรืออนาคตได้อย่างไร อย่างดีคุณก็แค่คิดถึงมันเอาที่เดี๋ยวนี้ ถูกแมะ

ประเด็นที่ 2. สำหรับผมแค่วางความคิดก็หลุดพ้นแล้ว เดี๋ยวค่อยไปพูดกันว่าวางความคิดอย่างไร ในวาระนี้ขอเจาะเรื่องสำคัญเรื่องเดียว คือการพิจารณาไตร่ตรองนั้นมันเป็นความคิดซะเองนะ มันจะพาคุณหลุดพ้นจากความคิดไม่ได้หรอก มันมีแต่จะพาคุณจมปลักความคิดหนักขึ้น เพราะฉะนั้นหากคุณถามผมว่าจะไปทางไหนต่อดี คำตอบผมก็ง่ายมาก เลิกซะ กลับบ้านนอน คือเลิกคิดพิจารณาไตร่ตรองเสียทั้งหมด แค่เลิกคิดพิจารณาไตร่ตรองคุณก็หายปวดหัวทันที

ประเด็นที่ 3. วางความคิดวางอย่างไร ผมตอบคำถามนี้ซ้ำซากมากแต่ก็ยินดีที่จะตอบอยู่ เพราะมันเป็นสาระสำคัญ เทคนิคที่ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ของผมเองคือวิธี “แอบสังเกต” ความคิด กำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม พอนึกขึ้นได้ก็ “แอบ” หรือ “เหลือบดู” ซะทีหนึ่ง ว่าในใจมีความคิดอะไรอยู่ไหม ดูอยู่ข้างนอก แบบคนแอบมองลอดรูกุญแจดูเพื่อนบ้านเขาจู๋จี๋กัน แอบดูเฉยๆแต่ไม่ได้ไปขอร่วมจู๋จี๋ด้วย แล้วธรรมชาติของความคิดเมื่อมันถูกแอบดูมันจะเขินแล้วม้วนตัวหนีหายไป แค่คุณขยันฝึกขยันแอบดูหรือเหลือบดูใจของคุณ บ่อยๆ เนืองๆ ความคิดมันก็จะบางลงๆ จนคุณเริ่มสัมผัสได้ถึงการ “อยู่” โดยไม่มีความคิด คุณอาจจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เห็นหรือได้ยินอะไร ก็ได้ แต่พื้นฐานข้างในใจคือใจที่ว่างๆโดยไม่มีความคิด อย่ามาอ้างว่าคุณฝึกไม่ได้เพราะต้องทำงานนะ คุณฝึกได้ตลอดเวลา ในการทำงานก็ดี ในการเห็นก็ดี หรือในการได้ยินก็ดี ฝึกให้มันเป็นการทำ หรือเห็น หรือได้ยิน จากใจที่ไม่มีความคิด ถ้าคุณมาถึงตรงนี้ได้คุณหลุดพ้นแล้ว จบแล้ว สงบเย็นแล้ว คุณใช้ชีวิตของคุณต่อไปอย่างสร้างสรรค์ได้ สงบเย็นและสร้างสรรค์ นั่นคือแคแรคเตอร์ของผู้หลุดพ้น อ๊ะ..อ๊ะ อย่าถามถึงจิตสุดท้ายก่อนตายหรือชาติหน้านะ นั่นเป็นความคิด อย่าไปยุ่งกับความคิด เอาแค่สงบเย็นและสร้างสรรค์ที่เดี๋ยวนี้ นี่เป็นสูตรของหมอสันต์นะ เกิดมาใช้ชีวิตได้แค่นี้..สงบเย็นและสร้างสรรค์ที่เดี๋ยวนี้ พอแล้ว..ว

ประเด็นที่ 4. โลกของภาษาเป็นโลกที่คับแคบ คุณเป็นคนเจ้าความคิด ผมจึงยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดกับคุณ มันอาจจะเป็นประเด็นใบไม้นอกกำมือสำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นก็ได้ หากใครรู้สึกเช่นนั้นให้ผ่านประเด็นนี้ไปเลย แต่สำหรับคุณ ผมจะบอกว่าความคิดกับภาษาคือเรื่องเดียวกัน ความคิดหรือภาษามีกำเนิดขึ้นมาจากสำนึก (concept) ว่าเรานี้เป็นบุคคลคนหนึ่ง ย้ำอีกทีนะ “สำนึกว่าเป็นบุคคล” เป็นผู้ให้กำเนิดความคิดหรือภาษา สำนึกว่าเป็นบุคคลนี้ตัวมันเองก็เป็นความคิดนะ เนื้อหาของความคิดหรือภาษาที่สำนึกนี้ให้กำเนิดออกมาสรุปได้สั้นๆได้ว่าล้วนเป็นการจำแนก หรือแบ่ง หรือพิพากษา สิ่งต่างๆที่เดิมมันเป็นหนึ่งแยกกันไม่ออกอยู่ แต่ความคิดหรือภาษาไปจำแนกมันออกเป็นสองเพื่อให้เห็นว่ามันเป็นความแตกต่าง เช่น สูง-ต่ำ ดำ-ขาว ถูก-ผิด ดี-ชั่ว ยุติธรรม-อยุติธรรม ชอบ-ชัง รัก-เกลียด เป็นต้น อย่างเช่นคุณพยายามพิจารณาว่านี่เที่ยง นั่นไม่เที่ยง นี่ก็เป็นการอยู่ในโลกของความคิดหรือโลกของภาษาแล้ว มันเป็นโลกของการมีสองขั้ว (duality) เรียกอีกอย่างว่าเป็นโลกของความสุดโต่งสองด้าน บางศาสนาสอนว่าอย่าสุดโต่งไปในทั้งสองด้าน ให้อยู่กลางๆ คนรุ่นหลังก็ตีความคำว่า “ทางสายกลาง” ไปต่างๆนาๆ ใครจะตีความว่าอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ แต่หมอสันต์ตีความว่าทางสายกลางคือการออกมาเสียจากโลกของความคิดหรือโลกของภาษาที่มีความสุดโต่งสองด้านให้เปรียบเทียบกันตลอดเวลาอย่างนี้ การจะออกจากโลกใบนี้ คุณต้องปักหลักอยู่ ณ ที่ที่ไม่มีความคิด คุณจึงจะมองเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น คือของเดิมมันเป็นหนึ่งอยู่ ไม่ใช่เป็นสอง (non-duality) หมายความว่าคุณจะต้องหลุดออกไปจากสำนึกว่าเป็นบุคคล เพราะสำนึกว่าเป็นบุคคลโดยธรรมชาติมันเกิดจากการแบ่งแยกพิพากษา มันจึงชำนาญในการแบ่งแยกพิพากษา เริ่มจากนี่คือตัวเรา นั่นไม่ใช่ตัวเรา นี่เป็นของเรา นั่นไม่ใช่ของเรา เป็นต้น

แล้วเนื่องจากคุณเป็นคนเจ้าความคิด ผมขอพูดเพ้อเจ้อต่อกับคุณอีกหน่อย ความคิดของคุณนี้คุณแอบสังเกตดูเถอะ มันไม่มีอะไรใหม่หรอก มันเป็นการรีไซเคิลความจำเก่าๆของคุณนั่นเอง พูดง่ายๆว่าชื่อว่าความคิดมันล้วนหมักเม่า ซังกะบ๊วย ฝรั่งเรียกว่ามัน sucks คุณจะต้องถอยออกจากสำนึกว่าเป็นบุคคล หมายความว่าคุณจะต้องเปลี่ยนตัวตน (change of identity) จากการเป็นบุคคลที่ชื่อนี้มีหลักยึดมั่นประจำใจอย่างนี้ไปเป็น … จะว่าเป็นใครก็ไม่ใช่ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ (no body, no place, no time) แล้วคุณจึงจะใช้ชีวิตแบบใหม่ได้ คือขณะพูดหรือขณะทำอะไรก็เหลือบมองใจตัวเองไปด้วยว่ามีความคิดอะไรอยู่หรือเปล่า พอมองบ่อยๆ ใจมันก็จะค่อยๆว่างลงจากความคิด ปักหลักอยู่ในใจที่ว่างจากความคิดนี้แล้วจึงค่อยออกไปพูด ไปทำอะไร ไปประกอบอาชีพอะไร โดยมีใจที่ว่างจากความคิดเป็นฐานที่มัน แบบนี้จึงจะเป็นการคิดชอบ ทำชอบ ประกอบอาชีพชอบ นี่เป็นเวอร์ชั่นของหมอสันต์เท่านั้นนะ คุณเก็ทก็เก็ท ไม่เก็ทก็ไม่เก็ท อย่าเอาไปเปรียบกับของคนอื่น เดี๋ยวคุณจะเป็นเหตุทำให้หมอสันต์ถูกรุมตื๊บเอา

ถ้าคุณพยายามแล้วยังเลิกนิสัยชอบพิจารณาไตร่ตรองไม่ได้ ให้หาโอกาสมาเข้า Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน

ทำอย่างอาจารย์ว่าอาจสบายใจชั่วคราวที่สังเกตดูใจ แต่จะหลุดพ้นอย่างถาวรได้อย่างไร ถ้าไม่ไตร่ตรองว่าอะไรเที่ยงอะไรไม่เที่ยง

ตอบครับ

คุณพาความสนใจของคุณไปอยู่ในความรู้ตัวที่ปลอดความคิดให้ได้ก่อน ณ ตรงที่ปลอดความคิดนั้น มันจะมีความรู้อีกรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้คิดเอา จะเรียกว่าปัญญาญาณ หรือญาณทัศนะ ก็ได้ แล้วแต่จะเรียก ตัวนี้จะส่องสว่างทางไปให้คุณเอง ตรงนี้มันเป็นประสบการณ์ คุณต้องพาตัวเองไปจุ่มแช่หรือกบดานอยู่ที่ความรู้ตัวซึ่งปลอดความคิดนี้ให้นานๆก่อน นานเท่าไหร่ไม่รู้ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายปี กบดานอยู่อย่างใจเย็น ไม่ต้องรอคอยการมาของอะไร หรือเร่งรัดอะไร การกบดานอยู่ตรงนั้นมันไม่ได้ลำบากร้อนรนอะไรนะ มันเย็นสบายดีแถมมีพลังมากเสียอีกด้วย จุ่มแช่ตรงนั้นไป สะสมพลังงานไป ทำการงานอาชีพปกติไป จนพลังมันสะสมได้ถึงระดับหนึ่งแล้วคุณก็จะมีประสบการณ์กับสิ่งที่ผมเรียกว่าปัญญาญาณด้วยตัวคุณเอง แล้วความสงสัยทั้งหลายของคุณก็จะหมดไป ถึงตอนนั้น identity เดิมของคุณจะหายไป ชีวิตใหม่จะเป็นชีวิตที่สงบเย็น สร้างสรรค์ มีแต่การให้และเผื่อแผ่เพราะคุณจะไม่มีตัวตนเดิมๆที่ต้องคอยปกป้องสะสมพอกพูนแล้ว

สันต์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี