กินเม็ทฟอร์มินเป็นยาอายุวัฒนะดีไหม

กล้วยไม้ (เขาบอกชื่อมาแล้วแต่จำไม่ได้)


เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

    ขอคำแนะนำเรื่องการกินยา metformin เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ คือไปตรวจสุขภาพประจำปีได้น้ำตาล 90 แต่หมอแนะนำให้กินยา metformin โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นยาอายุวัฒนะ กินไปเถอะ แล้วก็จ่ายยามาให้สามเดือน ดิฉันขอปรึกษาคุณหมอว่าดิฉันอายุ 76 ปีและอยากมีอายุยืนด้วย ควรจะกินยานี้เป็นยาอายุวัฒนะไหม

รบกวนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

..................................................................

ตอบครับ

     ยาที่คุณถามมามันเป็นยารักษาเบาหวาน เป็นยาดีเสียด้วย กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำเวชปฏิบัติของทางยุโรปหรืออเมริกาล้วนแนะนำให้ใช้เม็ทฟอร์มิน (metformin) เป็นยาแถวแรกในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 หมายความว่าหากจะมีการใช้ยารักษาเบาหวานขึ้นมา ควรเลือกใช้เม็ทฟอร์มินก่อนตัวอื่นเสมอเพราะมันเป็นยาที่ดีที่สุดในการรักษาเบาหวาน ยาตัวนี้อันที่จริงมันได้มาจากสมุนไพรฝรั่งเศสชื่อ French lilac แต่ที่หมอชอบใช้เม็ทฟอร์มินมาเป็นยาทำให้อายุยืนนี้มันเป็นการใช้แบบใต้โต๊ะ (off label) หมายความว่าองค์การอาหารและยา (FDA) เขาไม่อนุมัติให้ใช้เพื่อการนี้แต่แพทย์แอบใช้แบบข้างๆคูๆ หลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้ยังไม่พอที่จะชี้ชัดให้เป็นตุเป็นตะได้หรอก วันนี้ผมจะสรุปหลักฐานเรื่องนี่้ให้ท่านฟัง 

    ผมจะข้ามไปไม่พูดถึงงานวิจัยในสัตว์เช่นการมีอายุยืนของไส้เดือนและหนูทดลองนะ เพราะมันเป็นหลักฐานระดับต่ำยังเอามาใช้ในคนไม่ได้ ผมจะพูดถึงแต่งานวิจัยในคน นับถึงวันนี้อย่างน้อยก็มีงานวิจัยบางงานในคนที่ให้ผลบ่งชี้ไปทางเชียร์ว่ายาเม็ทฟอร์มินอาจทำให้อายุยืนได้ ดังนี้

    งานวิจัย MILES [1] ซึ่งทำโดยเอาผู้ป่วยใกล้เป็นเบาหวานมา 14 คน ให้กินยาเม็ทฟอร์มิน ขนาด 1700 มก./วัน นาน 6 สัปดาห์ แล้วตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อออกมาตรวจก่อนและหลังกินยา ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ยาเม็ทฟอร์มินทำให้ยีน 647 ยีนในเซลล์กล้ามเนื้อ และ 146 ยีนในเซลล์ไขมันเปลี่ยนการทำงานไปในทิศทางที่อาจทำให้เกิดการซ่อมยีน (DNA repair) มากขึ้นและมีการเพิ่มตัวควบคุมการคัดลอกสำเนายีน (trancription) เช่น PPAR และ SREBP มากขึ้น ซึ่งบ่งชี้ไปทางว่าเม็ทฟอร์มินอาจออกฤทธิ์เพิ่มความยืนยาวของชีวิตผ่านการแสดงออก (expression) ของยีนได้ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานจากห้องทดลอง ไม่ใช่หลักฐานยืนยันว่ายาเม็ทฟอร์มินทำให้คนอายุยืนในคนได้จริงหรือไม่

    งานวิจัยที่ [2] เป็นการขุดคุ้ยข้อมูลจากงานวิจัยเก่าชื่องานวิจัย ORIGIN โดยเลือกเอามาแต่คนที่กินยาเม็ทฟอร์มินซึ่งเป็น 28% ของคนไข้เบาหวานในงานวิจัยทั้งหมด แล้วพลิกดูประวัติการเจาะเลือดดูตัวชี้วัด (biomarker) ต่างๆแล้วพบว่ากลุ่มคนที่กินเม็ทฟอร์มินมีปริมาณ GDF15 ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ช่วยเพิ่มความไวต่ออินสุลินมากขึ้น 

    ในประเด็น GDF15 นี้มีอีกงานวิจัยหนึ่ง [3] ซึ่งมุ่งค้นหาตัวชี้วัดการมีอายุยืน ได้เอาคนสุขภาพดีอายุระหว่าง 22-93. ปีจำนวน 240 คนมาเจาะเลือดตรวจดู GDF15 ด้วยวิธี SOMAscan พบว่าปริมาณของ GDF15 เพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ทำให้คนพลอยคิดเตลิดแบบคาดเดาต่อยอดเอาแบบไม่มีหลักฐานยืนยันว่าคนมี GDF15 มากๆน่าจะเป็นคนมีอายุยืน

    งานวิจัยที่ [4] ซึ่งเป็นการวิจัยติดตามผล 10 ปีหลังการวิจัยควบคุมน้ำตาลในเลือดที่อังกฤษ (UKPDS) พบว่ากลุ่มที่ได้ยาเม็ทฟอร์มินมีอัตราการป่วยและตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เม็ทฟอร์มิน และเมื่อติดตามนานถึง 20 ปีก็พบว่าประโยชน์ของเม็ทฟอร์มินในแง่ของการลดอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดมีชัดเจนมากในคนอ้วน [5]

    ได้มีผู้ทำวิจัยแบบยำรวมข้อมูลจากงานวิจัยรักษาเบาหวานเก่าๆหลายงาน (meta-analysis) [6] แล้วสรุปได้ว่าผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มผู้ใช้ยาเม็ทฟอร์มินมีอัตราตายจากโรคเรื้อรังและอัตราตายรวมต่ำกว่ากลุ่มผู้ไม่ได้ใช้ยาเม็ทฟอร์มิน 

    ขณะนี้ได้มีความริเริ่มทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบเพื่อพิสูจน์ว่าเม็ทฟอร์มินใช้เป็นยาอายุวัฒนะจริงหรือไม่ งานวิจัยนั้นชื่อ TAME trial กำลังอยู่ในระหว่างตั้งไข่ คงต้องใช้เวลาอีกราว 10-20 ปีจึงจะสรุปผลวิจัยนี้ได้

    ข้อมูลวิจัยในคนทั้งหมดที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงก็มีอยู่แค่นี้ สรุปภาพใหญ่ก็คือยาเม็ทฟอร์มินช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดและอัตราตายรวมต่ำกว่ากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้ใช้ยาเม็ทฟอร์มิน ข้อสรุปทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้วงการแพทย์ยกให้เม็ทฟอร์มินเป็นยาแถวแรกในการรักษาโรคเบาหวาน 

    ส่วนที่มีผู้พยายามยกให้เม็ทฟอร์มินเป็นยาอายุวัฒนะแบบรูดมหาราชสำหรับคนทั่วไปทุกคนไม่ว่าจะเป็นเบาหวานหรือไม่ทันทีเดี๋ยวนี้เลยนั้น เป็นแค่การคาดเดา ยังไม่มีหลักฐานในคนมาสนับสนุน ดังนั้น ในกรณีของคุณซึ่งประสงค์จะเสาะหายาอายุวัฒนะมากิน หลังจากได้อ่านข้อมูลนี้แล้วคุณจะกินหรือไม่กินก็จงตัดสินใจเอาแบบที่ชอบๆเถิดนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

    1. Kulkarni AS, Brutsaert EF, Anghel V, Zhang K, Bloomgarden N, Pollak M, et al. Metformin Regulates Metabolic and Nonmetabolic Pathways in Skeletal Muscle and Subcutaneous Adipose Tissues of Older Adults. Aging Cell (2018) 17(2):e12723.   10.1111/acel.12723

    2. Gerstein HC, Pare G, Hess S, Ford RJ, Sjaarda J, Raman K, et al. Growth Differentiation Factor 15 as a Novel Biomarker for Metformin. Diabetes Care (2017) 40:280–3.   10.2337/dc16-1682

    3. Tanaka T, Biancotto A, Moaddel R, Moore AZ, Gonzalez-Freire M, Aon MA, et al. Plasma Proteomic Signature of Age in Healthy Humans. Aging Cell (2018) 17:e12799.   10.1111/acel.12799

    4. Holman RR, Paul SK, Bethel MA, Matthews DR, Neil HAW. 10-Year Follow-Up of Intensive Glucose Control in Type 2 Diabetes. N Engl J Med (2008) 359:1577–89.   10.1056/NEJMoa0806470

    5. UKPDS 34: UK Prospective Diabetes Study (UKPDS) Group . Effect of Intensive Blood-Glucose Control With Metformin on Complications in Overweight Patients With Type 2 Diabetes (UKPDS 34. Lancet (1998) 352:854–65. 10.1016/S0140-6736(98)07037-8

    6. Campbell JM, Bellman SM, Stephenson MD, Lisy K. Metformin Reduces All-Cause Mortality and Diseases of Ageing Independent of Its Effect on Diabetes Control: A Systematic Review and Meta-Analysis. Ageing Res Rev (2017) 40:31–44.   10.1016/j.arr.2017.08.003 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

ทะเลาะกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 บ้าจี้ เพ้อเจ้อ หรือว่าไม่รับผิดชอบ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

หมอสันต์สวัสดีปีใหม่ 2568 / 2025

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

ประกาศเลิกเดินสายบรรยาย และตอบคำถามโยเกิรตกับไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน

"ลู่ความสุข" กับ "ลู่เงิน"

หมอสันต์กราบขออภัย และขอเปิดรับสมัคร์แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY 33) ใหม่

ใช้ชีวิตแบบง่ายๆ (simply) ใส่ใจลงมือทำจริงจัง (deliberately) ทำแบบมีศิลปะ (artfully)