งานวิจัยอาหารไทยสุขภาพ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร RMJ แล้ว


 

    วันนี้ของดตอบคำถามเพื่อแจ้งข่าวความคืบหน้าของงานวิจัยอาหารไทยสุขภาพที่หมอสันต์เป็นหัวหน้าคณะวิจัยว่าผลวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ RMJ ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์ระดับ tire-1(สูงสุด) เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำผลสรุปของงานวิจัยมาเล่าให้ท่านฟังอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ท่านได้เอาไปทดลองประยุกต์ใช้กับการปรับเปลี่ยนโภชนาการของท่านเองให้สุขภาพดีขึ้น

     งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งเป็นหลักฐานวิจัยระดับสูงที่สุดที่จะออกแบบทำได้ ชื่อว่า "งานวิจัยอาหารไทยสุขภาพต่อตัวชี้วัดสุขภาพ"

ที่มาของงานวิจัยนี้ก็คือว่าดัชนีสุขภาพของคนไทยแย่ลงอย่างรวดเร็ว งานวิจัยในคนไทยทุกภาคจำนวนร่วม 15,000 คนพบว่า 67% มีไขมันในเลือดสูง แม้งานวิจัยในหมู่แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็พบว่า 68% เป็นไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าอาหารที่คนไทยกินอยู่ จะทำให้มันเป็นอาหารสุขภาพได้ไหม คณะผู้วิจัยจึงได้นิยามอาหารไทยสุขภาพขึ้นมาว่า

     "อาหารไทยสุขภาพ คืออาหารที่ใช้เครื่องปรุงไทยได้ทุกอย่างรวมทั้งกะปิ น้ำปลา ปลาร้า กะทิ ผงชูรส ใช้ได้หมด แต่ไม่ใช้เนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบอาหารและไม่ใช้น้ำมันในการปรุงอาหารหรือใช้เพียงแต่น้อย" 

    แล้วทำวิจัยโดยสุ่มแบ่งอาสาสมัครซึ่งเป็นคนไทยทั่วทุกภาคที่มีดัชนีสุขภาพผิดปกติ คือ น้ำหนักเกิน หรือไขมันในเลือดสูง หรือความดันเลือดสูง หรือเป็นเบาหวานหรือใกล้จะเป็นเบาหวาน มาจำนวน 62 คน เอามาให้คอมพิวเตอร์สุ่มแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มทดลอง 30 คนให้กินอาหารไทยสุขภาพ กับกลุ่มควบคุม 32 คนให้กินอาหารไทยสมัยนิยม (อาหารที่กินปกติที่บ้านของตัวเองอยู่แล้ว) ผู้ที่อยู่ในกลุ่มทดลองนั้นให้มาเรียนทำอาหารด้วยตนเองที่เวลเนสวีแคร์เป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะกลับไปทำอาหารกินเองต่อที่บ้าน งานวิจัยนี้ทำวิจัยอยู่นาน 3 เดือน โดยใช้น้ำหนัก ความดัน ไขมัน และปริมาณยาเบาหวานที่กินอยู่ (กรณีคนเป็นเบาหวาน) เป็นตัวชี้วัดสำคัญ

    ผลวิจัยกลุ่มพบว่า

    1. การลดน้ำหนักของผู้มีน้ำหนักสูงเกินปกติ (BMI>23 kg/m2)

        กลุ่มกินอาหารไทยสุขภาพ น้ำหนักลด -3.99 กก.

        กลุ่มควบคุม น้ำหนักเพิ่ม +0.43 กก. 

    2. การลดความดันเลือดตัวบนของผู้มีความดันเลือดสูง (>140 mmHg sys)

        กลุ่มกินอาหารไทยสุขภาพ ความดันเลือดตัวบนลดลง −32 mmHg 

        กลุ่มควบคุม ความดันเลือดตัวบนลดลง -12 mmHg 

    3. การลดลงของไขมันเลวในเลือดของผู้มีไขมันในเลือดสูง (LDL>130) 

        กลุ่มกินอาหารไทยสุขภาพ ไขมันเลวลดลง -34.1 mg/dl 

        กลุ่มควบคุม ไขมันเลวลดลง -12.9 mg/dL

    4. การลดยาเบาหวานของผู้ใช้ยาเบาหวานโดยน้ำตาลในเลือดยังปกติ    

        กลุ่มกินอาหารไทยสุขภาพ ลดยาเบาหวานได้ 30%

        กลุ่มควบคุม ลดยาเบาหวานไม่ได้เลย 

    สรุปผลวิจัยว่าอาหารไทยสุขภาพซึ่งใช้เครื่องปรุงไทยได้ทุกอย่างแต่ไม่ใช้เนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบอาหารและใช้น้ำมันปรุงอาหารให้น้อยที่สุด สามารถลดตัวชี้วัดสุขภาพที่บ่งชี้ถึงการเป็นโรคเรื้อรังลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งน้ำหนัก ความดัน ไขมัน และการใช้ยาเบาหวานกรณีเป็นเบาหวานอยู่

    บนพืันฐานของผลวิจัยนี้ ผมจึงอยากจะเชิญชวนคนไทยทุกคนปรับเปลี่ยนอาหารของตัวเองมาอยู่ในแนวทางอาหารไทยสุขภาพเพื่อป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังด้วยตนเอง คือใช้เครื่องปรุงไทยได้ไม่จำกัดแต่ลดการใช้เนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบอาหารลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพิ่มการใช้พืชเป็นวัตถุดิบอาหารแทนมากขึ้น และใช้น้ำมันปรุงอาหารแต่น้อย

    สำหรับท่านที่สนใจจะทำอาหารตาม 88 เมนูที่ใช้ในงานวิจัยนี้สามารถเปิดดูเมนูย้อนหลังได้ฟรีในบล็อกนี้ ในกรณีที่ท่านเปิดค้นหาไม่ได้ ให้ทำตามขั้นตอนดังนี้ 

    1. คลิก visitdrsant.blogspot.com 

    2. คลิกซาละเปาสามขีดที่มุมซ้ายบนสุดของหน้า 

    3. คลิกที่ "อ่านบทความเก่าทั้งหมดที่นี่ " 

    4. ย้อนไล่หาเมนูอาหารซึ่ง published ทุกวันในช่วงวันที่ 30 May 2024 - 8 June 2024



    สำหรับท่านที่อยากได้หนังสือเมนูมีภาพและวิดิโอวิธีทำชัดเจน ผมแนะนำให้ซื้อหนังสือ "ใช้อาหารรักษาโรค" ของพญ.พิจิกา วัชราภิชาต ซึ่งเป็นผู้ร่วมทำวิจัยนี้และได้รวบรวมเมนูในงานวิจัยไว้ในหนังสือนี้ โดยซื้อทางไลน์ @692tmruo หรือซื้อที่ศูนย์หนังสือจุฬาก็ได้


    ท่านที่สนใจจะอ่านรายละเอียดของงานวิจัยทั้งหมดก็สามารถอ่านได้ฟรีที่วารสาร RMJ ตามลิงค์นี้ https://he02.tci-thaijo.org/index.php/ramajournal/article/view/270918 

    ปล. ผมและคณะผู้วิจัยขอขอบคุณอาสาสมัครที่เข้าร่วมวิจัยทุกท่าน และขอขอบคุณผู้อุปถัมภ์การวิจัยที่ได้ใช้เงินสนับสนุนการวิจัยนี้เกือบ 5 ล้านบาท

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม    

1. Chaiyodsilp S, Watcharapichat P, Suwanjutah T, Purivatanapong S, Lawantrakul P, Chaiyodsilp P, Wirayacharuwat S, Krupimai B, Euathanikkanon C, Vitheejongjaroen P, Bhawamai S, Luangthongkum P. A Comparison of a Healthy Thai Diet and Contemporary Thai Diet on Health Indices in Individuals With Noncommunicable Diseases: A Randomized Controlled Trial. Rama Med J [internet]. 2025 Mar. 28 [cited 2025 Mar. 29];48(1):e270918. available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/ramajournal/article/view/270918


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทะเลาะกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 บ้าจี้ เพ้อเจ้อ หรือว่าไม่รับผิดชอบ

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

หมอสันต์สวัสดีปีใหม่ 2568 / 2025

ยังวนเวียนอยู่ในหลุม

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

ประกาศเลิกเดินสายบรรยาย และตอบคำถามโยเกิรตกับไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน

"ลู่ความสุข" กับ "ลู่เงิน"

แผนเกษียณแบบเกาะบิทคอยกินจนสิ้นชาติ