(..ก่อนตอบคำถามวันนี้ขอใช้พื้นที่ตรงนี้คั่นประกาศหรือโฆษณาหน่อยว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หมอสันต์ขอเลิกเดินสายสอนและบรรยายให้ความรู้ทั่วราชอาณาจักรอย่างที่เคยทำมา ด้วยเหตุชราภาพ ยกเว้นเฉพาะกรณีที่ได้รับปากไว้แล้ว โดยจะปักหลักสอนอยู่เฉพาะที่ WWC ที่มวกเหล็กที่เดียวเท่านั้น จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกันเพื่อท่านจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเชิญมา ส่วนที่เชิญมาแล้วยาวไปถึงสิ้นปีแต่ผมยังไม่ได้รับปากนั้นก็ขอยกเลิกหมด ผ่าง ผ่าง ผ่าง..)
.........................................................................
เรียนคุณหมอสันต์
รบกวนสอบถามคุณหมอสันต์เกียวกับการทานโยเกิร์ต ดิฉันอายุ50ปีคะ น้ำหนัก45กิโล สูง157 ซึ่งไม่อ้วน แต่ครอเรสเตอรอลสูง370 (ยังไม่ทานยาลดคลอเรสเตอรอล) แต่ใช้การออกกำลังและพยามควบคุมอาหารและทำ IF อยู่ค่ะ คือดิฉันงดทานนมและเบเกอรี่ทุกชนิด แต่อยากสอบถามว่าทานโยเกิร์ตธรรมชาติ พวกกรีกโยเกิรต์ได้ไหมคะ เพราะอยากได้พวกโปรไบโอติก หรือทานคอมบูชะดีคะ จริงๆตอนนี้กำลังอยู่ช่วงวัยทองกลัวขาดแคลเซียมด้วยคะ ตอนที่ไปตรวจคลอเรสตอรอลตอนนั้นน้ำหนัก 50 ค่ะ เลยออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ก่อนหน้าที่จะไปตรวจเป็นคนชอบทานนมมากค่ะ แบบไขมัน 100% เลย คิดว่าอาจจะเกียวกับนมที่ทานมีส่วนทำให้คลอเรสเตอรอลสูงคะ เลยไม่แน่ใจถ้าจะทานโยเกิร์ตคะ
........................................
ตอบครับ
1. ถามว่าจะกินโยเกิร์ตดีไหม เพราะด้านหนึ่งก็กลัวไขมันสูง อีกด้านหนึ่งก็กลัวไม่ได้โปรไบโอติก อีกด้านหนึ่งก็กลัวขาดแคลเซียม ตอบว่าอาหารทุกชนิดล้วนมีด้านดีและด้านเสีย ร่างกายแต่ละคนก็มีด้านดีและด้านเสีย เราต้องเลือกกินอาหารที่มีด้านดีของอาหารนั้นมาแก้ด้านเสียของร่างกายเรา ไม่ใช่เลือกแบบตรงข้าม
อย่างในกรณีของคุณนี้ซึ่งเป็นโรคไขมันในเลือดสูงปรี๊ด..ด ด้านเสียของโยเกิร์ตคือมันมีไขมันอิ่มตัวสูงซึ่งจะยิ่งไปซ้ำเหงาโรคไขมันในเลือดสูงให้หนักยิ่งขึ้น แต่ว่าด้านดีเหลือเกินของโยเกิร์ตคือมันให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ คุณก็ต้องหมุนบิดหามุมที่จะให้ได้แต่ด้านดีไม่เอาด้านเสีย เช่น เลือกกินโยเกิร์ตที่ทำจากถั่วเหลือง (soy yogurt) เป็นต้น ถั่วเหลืองซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวก็จะแสลงต่อโรคไขมันในเลือดสูงน้อยกว่านมวัวซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว
2. ถามว่ากินคัมบูฉะ (ชาหมักผลไม้) ดีไหม ตอบว่าดีครับ งานวิจัยที่กรีนแลนด์ที่ทำกับอาหารหมักจากทุกชาติ 200 ชนิด พบว่าอาหารหมักที่ให้จุลินทรีย์หลากหลายและปริมาณมากที่สุดมีสองรายการคือ (1) ชาหมักผลไม้ (2) ผักดอง เช่น ซาวเคร้าท์หรือกิมจิ
3. ถามว่ากลัวขาดแคลเซียมจะทำอย่างไรดี ตอบว่าแคลเซียมมีในอาหารธรรมชาติทุกชนิดทั้งเนื้อสัตว์และพืชผักผลไม้ ไม่มีใครที่ไหนหรอกที่ต่อมในร่างกายทำงานปกติจะขาดแคลเซียมเสียจนแคลเซียมในเลือดต่ำ ตั้งแต่ผมเป็นหมอมายังไม่เคยได้ยินว่ามีคนไข้ที่ต่อมไร้ท่อของร่างกายปกติจะถูกหามเข้าห้องฉุกเฉินด้วยเหตุขาดแคลเซียม แต่วงการอุตสาหกรรมการแพทย์และการขายยาก็ปลูกฝังความกลัวขาดแคลเซียมขึ้นมาจนได้ด้วยการคิดค่าความแน่นกระดูก (ฺBMD) ขึ้นมาและผูกโยงค่านี้ว่าสัมพันธ์กับอัตราการเกิดกระดูกหัก ทำให้เกิดธุรกิจใหม่แบบครบวงจร คือขายการตรวจมวลกระดูก ขายแคลเซียม และขายยากินยาฉีดรักษากระดูกพรุน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงนั้นกระดูกหักมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับการลื่นตกหกล้ม ซึ่งสัมพันธ์แนบแน่นกับการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อส่วนล่างของร่างกายและการสูญเสียการทรงตัว ดังนั้นถ้าคุณกลัวกระดูกหักให้ขยันเล่นกล้ามท่อนล่างและขยันฝึกการเคลื่อนไหวและทรงต้ว นี่เป็นสิ่งที่ must do ส่วนการที่คุณจะกินแคลเซียม จะกินยากระดูกพรุนหรือไม่นั้น นั่นสุดแล้วแต่คุณชอบ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่สิ่งที่ must do นั้น ชอบหรือไม่ชอบคุณต้องทำ
4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้เพราะวงการแพทย์ไม่ได้ให้ข้อมูลสำคัญชิ้นนี้แก่สาธารณชนเลย กล่าวคือหลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันบ่งชี้ชัดเจนว่าการกินโยเกิร์ตสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงเบาหวาน มีงานวิจัยสนับสนุนอย่างน้อย 117 รายการ แม้แต่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ก็ยังได้อนุมัติเมื่อ 1 มีค. 2024 ให้ผู้ผลิตโยเกิรตเขียนข้างขวดโยเกิรตได้ว่า
"ตามหลักฐานที่มีอยู่ กินโยเกิรตสม่ำเสมออย่างน้อย 2 ถ้วย (3เสริฟวิ่ง) ต่อสัปดาห์ อาจลดความเสี่ยงเบาหวานลงได้"
ทั้งนี้โปรดสังเกตว่าโยเกิร์ตที่ใช้ในงานวิจัยเหล่านี้เป็นโยเกิร์ตแท้ๆที่ไม่ได้สนใจประเด็นว่าใส่น้ำตาลหรือไม่ใส่น้ำตาล เอานมวัวหรือเอานมถั่วเหลืองทำ แต่ผลวิจัยโดยรวมก็ยังบ่งชี้ไปทางว่าโยเกิร์ตเป็นคุณต่อโรคเบาหวาน ดังนั้นผมจึงเชียร์ให้คนเป็นหรือใกล้เป็นเบาหวานกินโยเกิรต ถ้ารังเกียจน้ำตาลก็กินกรีกโยเกิรตซึ่งไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่ม ถ้ารังเกียจไขมันอิ่มตัวก็กินซอยโยเกิร์ตซึ่งทำจากถั่วเหลืองก็ได้
อย่างไรก็ตามอย่าลืมด้วยนะว่าสิ่งที่จะทำให้คนหายป่วยจากโรคเรื้อรังเช่นเบาหวานเป็นการประชุมแห่งเหตุ ไม่ใช่มีเหตุเพราะขาดจุลินทรีย์จากโยเกิร์ตอย่างเดียว ในแง่การจะกินอาหารเพื่อรักษาโรคได้อย่างแท้จริงต้องมุ่งไปที่รูปแบบการกินที่ทำให้สุขภาพดี (dietary pattern) หมายถึงอาหารทั้งหมดที่คนๆนั้นกินเป็นประจำอยู่ทุกวัน ไม่ใช่มุ่งเป้ากินอาหารตัวใดตัวหนึ่งเป็นอาหารพระเอกหรือ superfood เพียงตัวเดียว ดังนั้นการกินโยเกิร์ตเพื่อหวังลดโรคเบาหวานขณะที่รูปแบบของอาหารที่กินโดยรวมเป็นอาหารทำให้เป็นเบาหวาน (เช่นมีไขมันอิ่มตัวจากสัตว์มาก มีแคลอรี่สูง มีแป้งขัดสีหรือน้ำตาลมาก มีกากหรือเส้นใยจากพืชน้อย) ก็จะไม่มีผลในการรักษาโรคเรื้อรังดีเท่าการเปลี่ยนรูปแบบของอาหารที่กินโดยรวมแบบยกแผง โดยผมแนะนำให้เปลี่ยนไปหารูปแบบการกินที่มีหลักฐานว่าดีต่อสุขภาพแน่นอนแล้วเช่นอาหารมังสวิรัติ อาหารพืชเป็นหลัก อาหารเมดิเตอเรเนียน อาหารแดชไดเอ็ท เป็นต้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Chen, M., Sun, Q., Giovannucci, E., Mozaffarian, D., Manson, J. E., Willett, W. C., & Hu, F. B. (2014). Dairy consumption and risk of type 2 diabetes: 3 cohorts of US adults and an updated meta-analysis. BMC Med, 12, 215.