โรคเนื้องอกต่อมน้ำมัน (sebaceoma) และ Muir-Torre syndrome

ผลผลิตจากแรงงานหมอสันต์


สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์

    หนูเป็นแฟนคลับติดตามคุณหมอมานานหลักสิบปี ไม่คิดว่าวันนี้จะมีโอกาสได้เขียนมาหาคุณหมอเอง หนูอายุ 45 ปี มีประวัติเป็นไทรอยด์ ฮาชิโมโตะ คนในครอบครัวสายตรงไม่มีใครเป็นมะเร็ง ตัดถุงน้ำดีไปแล้ว ดัชนีมวลกาย อ้วนระดับ 1 หนูขอเข้าเรื่องเลยนะคะ เมื่อปลายปีที่แล้วหนูมีเม็ดตุ่มขึ้นที่ศีรษะ ก็นึกเอาว่าเป็นสิวก็เอามือแกะออกมีเลือดออก และเอายาแก้สิวทา ก็แห้งไปแต่สักพักก็ขึ้นมาใหม่ ก็ปล่อยไว้ไม่ได้สนใจ ก็คิดว่าเป็นสิวมาตลอดจนมาเมื่อต้นปีเริ่มรู้สึกว่าไม่หายซักที จึงไปหาหมอผิวหนัง และได้ถูกส่งตัวแผนกไปศัลยกรรม
หมอศัลฯ ได้แนะนให้ผ่าเอาออกและส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ
-ผลออกมารอบแรก เป็นตามไฟล์ คือ หมอพยาธิวิทยาคิดว่าเป็นเนื้องอกไขมันแต่ขอตรวจเพิ่ม 5 รายการ คือ EPA,CK7,Ber-Ep4,Adipophillin,androgen receptor
-และผลรอบ2 ก็ออกมาดังไฟล์แนบคือค่าต่างๆ มี positive 3 รายการและ negative 2 รายการ

สรุปเป็น เนื้องอกไขมัน แต่ก็มี Note ให้ตรวจ หา Muir-Torre syndrome อีก ยังไม่ถึงกำหนดฟังผลกับหมอแต่ก็โทรไปขอผลมาก่อน เอามาแปลเองและ search หาข้อมูลจากเน็ท ยิ่งทำให้จิตตก พบว่า การมีเนื้องอกไขมันแม้ไม่อันตรายในวันนี้ แต่คือมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนอื่น คำถามคือ หนูต้องตรวจยีนส์เหล่านี้เพิ่มอีกมั๊ย  หรือต้องแล่นไปตรวจมะเร็งลำไส้วันนี้เลย (ขับถ่ายปกติดี)  นึกถึงคุณหมอสันต์ ขึ้นมา คิดว่าหมอน่าจะช่วยให้กระจ่างได้ในเรื่องนี้ว่าเราต้องให้ความสำคัญแค่ไหนกับผลคราวนี้
รบกวนคุณหมอด้วยนะคะ
ปล.หนูมีนัดฟังผล และตัดไหม จันทร์ที่ 17 มีค นี้ค่ะ
ท้ายนี้ขอบพระคุณ คุณหมอสันต์ล่วงหน้านะคะ

..............................................


ตอบครับ

    นิยามศัพท์

    ก่อนอื่นขออธิบายผลการตรวจที่คุณส่งมาเพื่อให้ผู้อ่านท่านอื่นได้ความรู้ไปด้วย

    Cytokeratin (CK) 7 เป็นโมเลกุลโปรตีนที่อยู่ในเซลล์ปอด เต้านม อวัยวะสืบพันธ์สตรี และลำไส้ใหญ่ การตรวจพบ CK7 ในก้อนผิดปกติที่ผิวหนังบ่งชี้ว่าก้อนนั้นอาจจะเป็นมะเร็งแพร่กระจายมาจากปอด เต้านม อวัยวะสืบพันธ์สตรี และลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ในกรณีของคุณตรวจได้ผลลบ (ไม่พบ) ก็คือผลตรวจไม่สนับสนุนว่าเป็นมะเร็งแพร่กระจายมาจากไหน

    Epithelial membrane antigen (EMA) เป็นโมเลกุลโปรตีนอยู่ที่เยื่อหุ้มเซลล์เยื่อบุ (epithelium) ของต่อมต่างๆภายในร่างกายและเยื่อบุของช่องกลวงในตัวเช่นเยื่อบุลำไส้ และยังพบในเซลล์ต้นกำเนิดที่ผลิตเม็ดเลือดด้วย แต่ไม่ค่อยพบในเซลล์เยื่อบุที่ผิวหนัง การตรวจพบโมเลกุลชนิดนี้ในก้อนเนื้องอกผิดปกติที่ผิวหนังเป็นปริมาณมากบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่เนื้องอกนั้นจะเป็นมะเร็งจากที่อื่น (เช่นจากลำไส้ใหญ่หรือต่อมต่างๆในร่างกาย) แพร่กระจายมา ซึ่งในกรณีของคุณตรวจ EMA ได้ผลบวก (พบ) ทำให้ต้องคาดเดาไว้ก่อนว่าก้อนนั้นอาจจะเป็นมะเร็งแพร่กระจายมาจากลำไส้ใหญ่ หรือจากต่อมใดๆในร่างกาย

    Ber-Ep4 เป็นโมเลกุลภูมิคุ้มกัน (monoclonal antibody) ที่จะไปจับกับเซลล์เยื่อบุผิวหนังชนิดใดรวมทั้ง basal cell แต่จะไม่จับกับเซลล์เยื่อบุชนิด epithelial cell จึงใช้วินิจฉัยแยกก้อนผิดปกติบนผิวหนัง ในกรณีของคุณนี้ตรวจได้ผลลบ (ไม่จับ) ก็แสดงว่าก้อนนั้นไม่ได้มีกำเนิดมาจากเซลล์ชนิด epithelial cell 

    adipophilin คือโปรตีนที่จับกับหยดไขมันในเซลล์ หากตรวจพบในก้อนผิดปกติใดๆก็บ่งชี้ว่าก้อนนั้นมีการสะสมไขมันอยู่ในเซลล์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเซลล์ต่อมน้ำมันที่ผิวหนัง (sebaceous gland) ซึ่งในกรณีของคุณตรวจได้ผลบวก (พบ) ก็บ่งชี้ว่าก้อนนั้นน่าจะเป็นเนื้องอกของต่อมน้ำมัน (sebaceoma)

    androgen receptor คือส่วนของผิวเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นเต้ารับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) การตรวจพบเต้ารับชนิดนี้ในเนื้องอกใดๆหมายความว่าเนื้องอกนั้นอาจเติบโตด้วยการกระตุ้นจากฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งไปภายหน้าข้อมูลนี้อาจมีประโยชน์ในการรักษาด้วยการใช้ยาต้านตัวรับนี้ (ยาล็อคเป้า) ในกรณีของคุณตรวจได้ผลบวก (มีตัวรับ) อยู่ประปรายไม่มาก

    ส่วนการที่หมอเสนอให้ตรวจ MLH1, MSH2, MSH6, PMS2 นั้น ทั้งหมดเป็นการตรวจดูยีนเพื่อพิสูจน์ว่าคุณเป็นโรคประหลาดโรคหนึ่งชื่อ Muir Torre syndrome (MTS) หรือไม่ อันว่าโรค MTS นี้มันมีเอกลักษณ์ว่ามักเกิดเนื้องอกต่อมน้ำมันขึ้นพร้อมๆกับเนื้องอกของต่อมอื่นๆหรือเยื่อบุลำไส้ใหญ่หรืออวัยวะภายในร่างกาย 

    โรค MTS นี้นับเป็นรูปแบบหนึ่งของโรค Lynch syndrome ซึ่งโรคหลังนี้บางทีคนก็เรียกว่าโรค HNPCC ย่อมาจาก hereditary nonpolyposis colorectal cancer ซึ่งแปลว่าโรคพันธุกรรมเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุน้อยนั่นเอง 

    

    การวินิจฉัยโรค

    หลักฐานที่มีอยู่ตอนนี้วินิจฉัยได้ว่า

    1. คุณเป็นโรคเนื้องอกต่อมน้ำมัน (sebaceoma) แน่นอน

    2. คุณยังอาจเป็นโรค Muir Torre syndrome (MTS) ด้วยก็ได้


    การจัดการโรค

    ขั้นตอนปกติคือ 

    (1) รักษาโรค sebaceoma ด้วยการตัดทิ้ง ซึ่งคุณทำไปแล้ว ก็จบข่าว 

    (2) ทำการวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นโรค MTS จริงหรือไม่ด้วยการตรวจยีน

    (3) ทำการตรวจค้นหาเนื้องอกหรือมะเร็งของต่อมต่างๆในร่างกายและในอวัยวะภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

    ในกรณีของคุณนี้เผอิญมีข้อมูลผลตรวจ EMA ได้ผลบวก หมายความว่าหลักฐานบ่งชี้ไปทางว่าเนื้องอกนั้นอาจแพร่กระจายมาจากอวัยวะข้างใน ทำให้จำเป็นต้องเดินหน้าทำขั้นตอนที่ (3) แน่นอนโดยไม่สนใจว่าผลตรวจยีนจะยืนยันว่าเป็นโรค MTS หรือไม่ ดังนั้นผมจึงเห็นว่าขั้นตอนที่ (2) ไม่จำเป็น เพราะผลที่ได้จะไม่เปลี่ยนแผนการจัดการโรค คุณจะตรวจยีนหรือไม่ตรวจก็ได้ แต่ยังไงคุณต้องเดินหน้าไปขั้นตอนที่ 3 คือ 

    3.1 ควรส่องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

    3.2 ควรตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) หรืออย่างน้อยก็ตรวจอุลตร้าซาวด์ช่องท้องช่วงบนและล่าง เพื่อคัดกรองมะเร็งของต่อมและเยื่อบุต่างๆในร่างกาย 

    4. ในแง่ของความวิตกกังวล ให้คุณรับรู้และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้ว คือ sebaceoma อย่าไปจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น นั่นจะเป็นเหตุให้ทุกข์ฟรี 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์  


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

ทะเลาะกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 บ้าจี้ เพ้อเจ้อ หรือว่าไม่รับผิดชอบ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

แจ้งข่าวด่วน หมอสันต์ตัวปลอมกำลังระบาดหนัก

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

เลิกเสียทีได้ไหม ชีวิตที่ต้องมีอะไรมาจ่อคิวต่อรอให้ทำอยู่ตลอดเวลา

ไปเที่ยวเมืองจีนขึ้นที่สูงแล้วกลับมาป่วยยาว (โรค HAPE)

หมอสันต์สวัสดีปีใหม่ 2568 / 2025

"ลู่ความสุข" กับ "ลู่เงิน"