งานวิจัยพบว่าเห็ดเมา (magic mushroom) ดีเลิศประเสริฐศรี แต่อนาคตเห็ดเมาจะเป็นฉันใด..ม่ายรู้
![]() |
เอื้องผึ้งหน้าร้อนที่หน้าบ้านมวกเหล็ก |
เรียนคุณหมอสันต์
ผมเป็นทันตแพทย์ ภรรยาของผมอายุ 64 ปีเป็นโรคซึมเศร้ามา 2 ปีไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น มีแต่จะหนักลง ยาที่จิตแพทย์ให้ก็มากขึ้นๆ ญาติคนไทยที่อยู่อเมริกาแนะนำว่าทำไมไม่พาไปกิน magic mushroom ที่เกาะพงันดู เพราะทางอเมริกาเขาใช้ magic mushroom รักษาโรคซึมเศร้าแบบดื้อด้านอย่างนี้ ผมอยากถามความเห็นของคุณหมอสันต์ว่าเป็นการสมควรไหมครับที่จะทำตามนั้น
ขอบพระคุณครับ
........................................................................
ตอบครับ
แม่เฮย นี่จะหาเรื่องให้หมอสันต์มีเรื่องกับแพทยสภาซะแล้วหรือนี่ ครัังที่แล้วแค่ผมเขียนเรื่อง "ศึกสองวิชาชีพ" นี้ด..ดเดียะ ก็มีมิตรสหายสายแพทยสภายกหูโทรศัพท์มาปรับทัศนคติกันยกใหญ่เลยทีเดียว
จริงอยู่ ผมนั่งเป็นหมออยู่ทุกวันนี้ รู้อยู่แก่ใจดีว่าการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลางทั้งยาต้านซึมเศร้า ยาคลายกังวล ยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยากันชัก (ที่จ่ายให้คนที่ไม่ได้ชัก) ล้วนมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นพรวดพราด เฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อยและวัยรุ่นมีอัตราเพิ่มสูงถึง 64%
แต่ว่าเรื่องเห็ดเมานี้เนื่องจากกฎหมายไทย ถือว่าเห็ดเมา หรือเห็ดขี้ควาย หรือ magic mushroom (ซึ่งทั้งหมดนี้มีสารออกฤทธิ์ชื่อซิโลไซบิน - psilocybin) เป็นยาเสพย์ติดให้โทษประเภท 5 ใครมีไว้ในครอบครอง หรือปลูก หรือผลิต หรือขาย หรือซื้อ มีความผิดถึงจำคุกเชียวนะ ดังนั้นผมไม่สามารถแนะนำให้คุณไปกินเห็ดได้หรอกครับ มันผิดทั้งจรรยาแพทย์ ผิดทั้งกฎหมาย
ผมทำได้แค่เล่าผลวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับซิโลไซบินซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ในเห็ดเมาให้คุณฟังก็แล้วกันนะ แบบว่าให้ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์แก่คุณ แต่ไม่แนะนำอะไรทั้งสิ้น
1. งานวิจัยใช้ซิโลไซบินรักษาภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย พบว่าได้ผลดีมาก [1, 2] โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีใช้รักษาโรคซึมเศร้าระดับดื้อด้านนั้นได้ผลดีกว่าการใช้ยา [3]
2. งานวิจัยใช้ซิโลไซบินช่วยเลิกการเสพติดบุหรี่ พบว่าทำให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายกว่าการเลิกด้วยวิธีอื่นที่นิยมกันในปัจจุบัน [4]
3. งานวิจัยใช้ซิโลไซบินช่วยเลิกการเสพย์ติดแอลกอฮอล์ ก็พบว่าทำให้เลิกแอลกอฮอล์ได้มากกว่ากลุ่มไม่ได้ใช้ซิโลไซบิน [5]
4. งานวิจัยในนักปฏิบัติสมาธิวิปัสนา (meditation) พบว่าการใช้ซิโลไซบินช่วยเข้าถึงประสบการณ์ตื่นรู้และปลอดความคิด (consciousness) ในสมาธิวิปัสนาได้ดีกว่าไม่ใช้ และ 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มใช้ซิโลไซบินบอกว่าเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์มากชนิดที่ได้รับรู้ประสบการณ์นี้แค่ครั้งเดียวก็มากเกินพอที่จะให้ฝึกสมาธิวิปัสนาต่อไปด้วยความมั่นใจ [6]
5. งานวิจัยในภาพรวมในเรื่องขนาด (dose) พบว่าซิโลไซบินแม้ใช้ในขนาดต่ำ และใช้ครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง ก็ให้ผลดี ทั้งนี้ผู้ป่วยจำนวนมากได้ผลดีจากการใช้เพียงครั้งเดียว
6. งานวิจัยความปลอดภัยพบว่าซิโลไซบินไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ ไซโลซิบินไม่มีผลเสียตกค้างต่อระบบการทำงานเชิงสรีรวิทยาของร่างกาย หรือต่อกายวิภาคของร่างกายใดๆทั้งสิ้น
7. การวิจัยประเมินศักยภาพการเสพติดไซโลซิบินด้วยเกณฑ์เสพติดของ DSM-5 (1. Impair control คุมการใช้ไม่ได้ 2. Craving อยากเสพรุนแรง 3. Tolerance ด้านยา ต้องเสพมากขึ้นๆ 4. Withdrawal ลงแดงเมื่อไม่ได้เสพ 5. Social impairment เสียการสังคม การงาน การเรียน 6. Obsession หมกมุ่นกับการเสพ เลิกสนใจกิจกรรมอื่น 7. Harm มีผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ) ผลวิจัยในทุกงานวิจัยให้ผลตรงกันว่าซิโลไซบินไม่ใช่สารเสพติด และไม่ทำให้เสพติด
8. งานวิจัยพบข้อเสียของซิโลไซบินสองอย่าง คือ (1) อาจเกิดพฤติกรรมหรือประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ (bad trip) ขณะใช้ ถ้าใช้ในภาวะที่ไม่มีการคัดกรองผู้ใช้ ไม่มีการเตรียมการก่อนใช้ ไม่มีผู้ช่วยหลือแนะนำขณะใช้ (2) กรณีที่มีความผิดปกติทางจิตอยู่แล้วอาจทำให้อาการผิดปกติเหล่านั้นชัดขึ้น ซึ่งปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ป้องกันได้ถ้าใช้แบบมีการคัดกรองทางการแพทย์ก่อนใช้ มีการเตรียมการก่อนใช้ และมีการช่วยเหลือแนะนำ (supervising) ขณะกำลังใช้ยา
กล่าวโดยสรุป ซิโลไซบินมีผลวิจัยว่าดีเลิศประเสริฐศรี ส่วนอนาคตของเห็ดเมาหรือเห็ดขี้ควายในเมืองไทยจะรุ่งเรืองเป็นพืชเศรษฐกิจใช้ทำยาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หรือว่าจะถูกเหยียบให้เป็นสิ่งต้องห้ามมีโทษรุนแรง ผู้จำเป็นต้องใช้ต้องจ่ายค่าต๋งหรือไปหาเอาเองที่เกาะพงันอย่างทุกวันนี้ นั่นเป็นเรื่องนอกเหนือเขตอำนาจดลบันดาลของหมอสันต์แล้วครับ เหมือนเพลงท่อนหนึ่งของคุณพงศ์พันธ์ จันทรเนตร ที่ว่า..
"..ต่อไปจะเป็นฉันใด ม่าย..รู้"
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Griffiths RR, Johnson MW, Carducci MA, Umbricht A, Richards WA, Richards BD, Cosimano MP, Klinedinst MA, 2016. Psilocybin produces substantial and sustained decreases in depression and anxiety in patients with life-threatening cancer: A randomized double-blind trial. J Psychopharmacol 30, 1181–1197.
2. Ross S, Bossis A, Guss J, Agin-Liebes G, Malone T, Cohen B, Mennenga SE, Belser A, Kalliontzi K, Babb J, Su Z, Corby P, Schmidt BL, 2016. Rapid and sustained symptom reduction following psilocybin treatment for anxiety and depression in patients with life-threatening cancer: a randomized controlled trial. J Psychopharmacol 30, 1165–1180.
3. Carhart-Harris RL, Bolstridge M, Rucker J, Day CM, Erritzoe D, Kaelen M, Bloomfield M, Rickard JA, Forbes B, Feilding A, Taylor D, Pilling S, Curran VH, Nutt DJ, 2016a. Psilocybin with psychological support for treatment-resistant depression: an open-label feasibility study. Lancet Psychiatry 3, 619–627.
4. Johnson MW, Garcia-Romeu A, Cosimano MP, Griffiths RR, 2014. Pilot study of the 5-HT2AR agonist psilocybin in the treatment of tobacco addiction. J Psychopharmacol 28, 983–992.
5. Bogenschutz MP, Forcehimes AA, Pommy JA, Wilcox CE, Barbosa PC, Strassman RJ, 2015. Psilocybin-assisted treatment for alcohol dependence: a proof-of-concept study. J Psychopharmacol 29, 289–299.
6. Griffiths R, Richards W, Johnson M, McCann U, Jesse R. Mystical-type experiences occasioned by psilocybin mediate the attribution of personal meaning and spiritual significance 14 months later. J Psychopharmacol. 2008 Aug;22(6):621-32. doi: 10.1177/0269881108094300. Epub 2008 Jul 1. PMID: 18593735; PMCID: PMC3050654.
7. Johnson, M.W., Griffiths, R.R., Hendricks, P.S., & Henningfield, P.E. (2018). The abuse potential of medical psilocybin according to the 8 factors of the Controlled Substances Act. Neuropharmacology, 142, 143-166.