ทำไมการใช้เครื่องมือของการเป็นโค้ช "ฟัง - ถาม - สะท้อน - ชี้" จึงชี้ผิดที่



(หมอสันต์พูดกับโค้ชฝึกหัดที่มาเข้าแค้มป์โค้ชวิถีชีวิต  - CLC2)

เครื่องมือของการเป็นโค้ชมีสี่อย่างคือการ..

ฟัง-ถาม-สะท้อน-ชี้
 
หรือถ้าจะพูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือ
  • Listening (ฟัง)
  • Open Questioning (ถามปลายเปิด)
  • Reflection (สะท้อนคำพูดของศิษย์ออกมาเป็นคำพูดของโค้ชให้ได้ความหมายเดียวกัน)
  • Evocation (ชี้ให้ศิษย์เห็นความบันดาลใจที่ข้างในใจศิษย์)
    เช้าวันนี้เราได้ฝึก buddy coaching ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้จะเป็นโค้ชรู้และสามารถดำเนินการโค้ชด้วยตนเองได้อย่างเป็นไปตามหลักวิชาตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเราประสบความสำเร็จด้วยดีในวัตถุประสงค์นั้น เรายังได้เรียนรู้เพิ่มเติมเป็นของแถมด้วยว่าการใช้สี่ทักษะหลัก คือ ฟัง ถาม สะท้อน ชี้ ซึ่งเราได้ฝึกไปอย่างช่ำชองแล้วจากการทำเวอร์คช็อพเมื่อวันก่อนนั้น มันออกอาการเป๋ขึ้นมา กล่าวคือ การชี้ (evocation) นี้เรามุ่งชี้ให้เห็นความบันดาลใจที่อยู่ข้างใน (internal motivation) แต่ผลที่ออกมาให้เห็นคือแทนที่โค้ชจะ "ชี้ความบันดาลใจ" โค้ชกลับไป "ชี้แนะ (advise)" เสียมากว่า ทั้งๆที่ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าการชี้แนะหรือการแนะนำไม่ใช่หลักวิชาโค้ช ไม่ใช่วิธีที่โค้ชพึงทำ 

    เราลองมาวิเคราะห์กันดูหน่อยซิว่ามันเริ่มเป๋ไปตั้งแต่ขั้นตอนไหน ทำไม evocation ของเราจึงกลายเป็น advise ไปเสียได้

    บนเส้นทางของการโค้ช เราเริ่มด้วยการฟัง เมื่อได้ฟังแล้วขั้นต่อไปเราจึงจะตัดสินใจเลือกว่าจะสะท้อนคำพูดดี หรือจะถามดี ทั้งนี้ไม่ว่าการจะสท้อนคำพูดก็ดี การจะถามก็ดีล้วนแล้วแต่เพื่อนำไปสู่การ "ชี้" ซึ่งเราตั้งใจจะชี้ให้เห็นความบันดาลในที่อยู่ในใจของศิษย์ (internal motivation) คำว่า evocation ในวิชาเวชศาสตร์การเปลี่ยนนิสัยเมื่อแปลตรงๆก็คือการชี้ให้เห็นความบันดาลใจที่อยู่ข้างในใจศิษย์ แต่ทำไมเราเผลอ "ชี้แนะ" ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราพึงทำในการเป็นโค้ชไปเสียได้ คำชี้แนะมันเกิดขึ้นในใจเราตั้งแต่ตอนไหนกันนะ 

    หากวิเคราะห์แบบมองย้อนกลับไป การเผลอชี้แนะมันเกิดขึ้นในขั้นตอนสะท้อนคำพูดและขั้นตอนตั้งคำถาม ซึ่งทั้งสองนี้เป็นขั้นตอนที่สืบเนื่องมาจากการได้ฟังเรียบร้อยแล้ว ประเด็นคือแล้วไฉนการฟังของเราซึ่งควรจะได้มาแต่เนื้อๆความในใจของศิษย์ล้วนๆจึงกลายเป็นการบ่มเพาะคำชี้แนะไปโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจเสียได้ แสดงว่าคำชี้แนะมันมีมาในหัวของเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะเริ่มฟังศิษย์แล้ว

    หากวิเคราะห์ย้อนขึ้นไปอึกให้ถึงขั้นตอนก่อนหน้าที่เราจะเริ่มฟัง คือขั้นตอนที่เราตั้งท่าจะฟัง การตั้งท่าจะฟังนี้มันมีสองแบบนะ คือ

    (1) ตั้งท่าฟังเพื่อที่จะเข้าใจว่าศิษย์พูดอะไร

    (2) ตั้งท่าฟังเพื่อที่จะพูดกับศิษย์ว่าอย่างไร

    ย้ำอีกที การตั้งท่าจะฟังมีสองแบบนะ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจ กับฟังเพื่อจะพูด 

    เมื่อเราไปตั้งท่าฟังเพื่อที่จะพูด คำชี้แนะมันก็เข้ามาอยู่ในหัวของเราตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ไม่ว่าศิษย์จะพูดอะไรออกมาข้อความจากปากของศิษย์ก็เข้าไปในหัวของเราได้นิดเดียว เพราะเรากำลังเตรียมคำชี้แนะของเราอยู่ เราจึงรับรู้สิ่งที่ศิษย์พูดออกมาได้ไม่มากนัก พอถึงขั้นตอนที่เราพูด เราจึงปล่อยแต่คำชี้แนะของเราออกไปโดยอาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความบันดาลใจในใจของศิษย์เลย

    เพื่อเปลี่ยนการชี้แนะมาเป็นการชี้ความบันดาลใจ เราจะต้องเปลี่ยนวิธีฟังของเราเสียใหม่ เราจะต้องฟังเพื่อที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะพูด

    ไม่ต้องกลัวว่าเราจะพูดได้ไม่ดี เพราะอย่าลืมว่าการพูดได้ดีหมายถึงเราชี้ความบันดาลใจของศิษย์ให้ศิษย์เห็นได้ หากเราฟังศิษย์จนเข้าใจศิษย์ดี เราก็จะชี้ความบันดาลใจของศิษย์ได้ แต่หากเราฟังศิษย์โดยไม่ทันได้เข้าใจเขาเพราะเรามัวแต่เตรียมตัวพูด เราก็จะพูดได้แค่คำชี้แนะซึ่งออกไปจากหัวของเราเอง ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรกับความบันดาลใจที่ข้างในของตัวศิษย์ การโค้ชของเราก็จะไม่มีผลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนนิสัยของศิษย์เลย

    เพื่อจะซ่อมแซม (remedy) ตรงนี้ ผมจะขอเวลานอกหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ทุกคนฝึกซ้อมทักษะการฟังและการสะท้อนคำพูดร่วมกันใหม่อีกครั้ง โดยผมจะจัดผู้เล่นบทบาทศิษย์ให้ 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์          

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี