เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด




 อยากเรียนถามคุณหมอ​ 

ดิฉัน​อายุ59​ สูง150​ น้ำหนัก6เดือนก่อน​ 69 และตรวจเจอเบาหวาน233​ ไขมัน​ LDL.165.HDL37.Triglyceride184 ขอคุณหมอว่าอยากจะลองลดเบาหวานเองก่อนหมอให้3เดือน​ ดิฉัน​ทำตามคุณหมอสันต์ด้วยความศรัทธา​เพราะดูคลิป​คุณหมอตลอด​ กินพืชเป็นหลักเนื้อสัตว์​แทบไม่แตะเลยทำอาหารกินเองไม่ใช้น้ำตาลและน้ำมันออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน​ทางไกลวันล่ะประมาณวันล่ะ2ชม​ ครบ3เดือน​ น้ำหนักลดเหลือ​ 61 น้ำตาลสะสมจาก9​ เหลือ7​ น้ำตาลปลายนิ้วจาก233เหลือ130​ แต่​ ไขมันLDl.จาก165เพิ่มเป็น200​ คุณหมอให้ลดเองอีก3​เดือนเป็น6เดือนพอไปตรวจอีกครั้ง​ น้ำหนักตัวเหลือ57  น้ำตาลสะสมอยู่ที่7​ ไม่ลงเลยค่ะ​ น้ำตาลปลายนิ้วเหลือ120​  เจาะปลายนิ้วเองด้วยเกือบจะทุกวัน​ บางวันก็115  120บ้าง​ LDL ขึ้นมาเป็น202 คุณหมอบอกว่า​ กินพืชอย่างเดียวไม่ได้ผลเลยจ่ายยา เบาหวาน​ ไขมัน​ มาให้กินอีก3เดือน​ อ้อความดันดิฉัน​หกเดือนที่แล้วอยู่ที่ประมาณ140 -​150​ ไม่ใช้ยาตอนนี้เหลือ120ค่ะคุณหมอ​ และคุณหมอที่ตรวจบอกค่าไตดีขึ้น80​ จาก100และค่าตับก็ดีขึ้น​ อยากจะเถียงหมอกินพืชไม่ดีตรงไหน​ ที่จะถามคุณหมอสันต์คือ​ ทำไมไขมันที่ไม่ดีสูงขึ้นทุกตัว​ 3เดือนหลังน้ำตาลสะสมก็ไม่ลงเลยค่ะ​ กินข้าวกล้องมาตลอด​ และไม่กินแป้งขาวเลย​ ดิฉัน​กินพืชอย่างมีความสุข​ไม่ฝืนใจเลย​ ปรุงรสนิดนึงปลูกผัก​ ผลไม้กินเองด้วยค่ะ​ กลางคืนก็สวดมนต์​ นั่งสมาธิ​แทบทุกวัน​ ออกไปปั่นจักรยาน​ก็มีความสุข​ เจอเพื่อนเยอะแยะ​เลยค่ะ​ คุณหมอคะยังไม่อยากกินยาทำอย่างไรไขมันถึงจะลดลงคะ 

กราบขอบพระคุณ​คุณหมอค่ะ

...............................​ 

ตอบครับ

    ก่อนตอบคำถาม ผมขอเอาเรื่องราวของคุณมาย้ำให้แฟนบล็อกท่านอื่นที่อ่านแบบผ่านๆให้เห็นประเด็นไฮไลท์จะๆว่า.. คุณเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตด้วยการเปลี่ยนอาหารและออกกำลังกาย ทำให้เกิดผลสามอย่างคือ

- น้ำตาลหลังอดอาหาร (FBS) ลงมาจาก 233 เหลือ 120 คือเปลี่ยนสภาพจากผู้ป่วยโรคเบาหวานลงมาเป็นไม่ใช่ผู้ป่วยโรคเบาหวานแล้ว 

- น้ำหนักลดลง 12 กก. (17% ของน้ำหนักตัว) คือเปลี่ยนสภาพจากผู้ป่วยโรคอ้วนสมบูรณ์แบบ (BMI 30.6) ลงมาเป็นผู้มีน้ำหนักเกิน (BMI 25.3) 

- ความดันลดลงจาก 150 เหลือ 120 เปลี่ยนสภาพจากผู้ป่วยความดันเลือดสูงเป็นผู้มีความดันปกติ 

    ทั้งหมดนี้ทำได้ในเวลาเพียง 6 เดือน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้ยารักษาเบาหวานและยารักษาความดันเลือดสูง ซึ่งนับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ควรชื่นชมและที่แฟนบล็อกท่านอื่นๆเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้

    เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

    1. ถามว่าเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตรวมทั้งเปลี่ยนอาหารจนน้ำหนักลด ความดันลด น้ำตาลลด แต่ทำไมไขมันในเลือดสูงไม่ลด ตอบว่ามันมีความเป็นไปได้สี่อย่างดังต่อไปนี้

    ความเป็นไปได้ที่ 1. ไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายยังมีเหลืออยู่แยะ ทำให้ไขมันในเลือดไม่ยอมลด ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้สนับสนุนด้วยหลักฐานที่ว่าแม้ดัชนีมวลกายจะลงมาจาก 30 เหลือ 25 แต่ก็ยังลงมาไม่ถึงระดับปกติ งานวิจัยในคนเอเซียพบว่าในย่านดัชนีมวลกาย 23-25 ซึ่งถ้าเป็นฝรั่งก็ถือว่าปกติและความเสี่ยงต่ำแล้วนั้น สำหรับคนเอเซียกลับพบว่าย่านนี้ความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเรื้อรังยังสูงกว่าผู้มีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 23 (คือถ้าเป็นคุณก็คือน้ำหนักไม่เกิน 51 กก.) นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมองค์การอนามัยโลกตั้งค่าปกติของดัชนีมวลกายคนเอเซียว่าไม่ควรเกิน 23 การจะพิสูจน์สมมุติฐานข้อนี้ก็ไม่ยาก คือคุณก็เดินหน้าลดน้ำหนักต่อไปด้วยวิธีเช่นงดอาหารเย็น เป็นต้น เอาให้ลงไปต่ำกว่า 51 กก. แล้วเจาะไขมันในเลือดดู ก็จะรู้ว่าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริงหรือเปล่า

    ความเป็นไปได้ที่ 2. อาหารที่คุณกินถึงจะเป็นอาหารพืชเป็นหลักแต่ก็ยังเป็นอาหารแคลอรีสูง คำว่าอาหารให้แคลอรีนี้มีสองกลุ่ม คือพวกไขมัน กับพวกคาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์โบไฮเดรตขัดสีไม่เหลือกากเช่นข้าวขาว ขนมปังขาว ซึ่งเกิดผลที่ตามมาสองอย่าง คือ (1) ไขมันแทนที่จะลงกลับขึ้น เพราะได้ไขมันมาจากอาหาร (2) ดุลของแคลอรีเข้ากับออกยังสูสีกันแม้จะออกกำลังกายมากแต่น้ำหนักของคุณก็จึงลงต่อไม่ได้ 
    การจะพิสูจน์สมมุติฐานที่ 2 นี้ก็ไม่ยาก คือคุณก็สำรวจอาหารที่คุณกินให้ละเอียด ตรงไหนที่เป็นอาหารให้พลังงานเช่นไขมัน (ในเนื้ออาหารเช่นมะพร้าว อะโวกาโด ทุเรียน) และแป้งขัดสี (เช่นข้าวขาว) คุณก็ปรับลดลงควบกับเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้องเสียด้วย ให้เกาะติดอาหารแคลอรีต่ำเช่นผักผลไม้เข้าไว้ การทำอย่างนี้ต้องให้น้ำหนักลดลงไปจนต่ำกว่า 51 กก. ถ้าไม่ลดก็แสดงว่าแคลอรียังเยอะต้องพยายามลดแคลอรีลงไปอีก (เช่นงดอาหารมื้อเย็นเป็นต้น) เมื่อน้ำหนักลดถึง 51 กก.แล้วก็ไปเจาะเลือดดูอีกที ก็จะพิสูจน์สมมุติฐานนี้ได้ 

    ความเป็นไปได้ที่ 3. ลำไส้ของคุณไม่มีจุลินทรีย์ที่จะช่วยคุณลดโคเลสเตอรอลได้ ปัจจุบันนี้วงการแพทย์มีความรู้ใหม่ว่าจุลินทรีย์ในลำไส้บางพวกมีเอ็นไซม์ cholesterol dehydrogenase ซึ่งจุลินทรีย์พวกนี้มันย่อยโคเลสเตอรอลไปเป็นสารพวกสตานอลชื่อ coprostanol ซึ่งดูดซึมเข้าลำไส้ไม่ได้ทำให้โคเลยเตอรอลในเลือดของคนคนนั้นลดลง ใครมีก็ถือว่ามีผู้ช่วย ใครไม่มีก็เหนื่อยหน่อยเพราะผู้ช่วยไม่มี การจะพิสูจน์สมมุติฐานข้อนี้มีวิธีเดียวคือคุณต้องกินอาหารที่ทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้ของคุณมีปริมาณมากขึ้นและมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ด้วยวิธีกินอาหารที่เอาไปเลี้ยงจุลินทรีย์ (prebiotic) เช่นอาหารกากสูงต่างๆ และกินอาหารที่มีจุลินทรีย์ตัวเป็นๆ (probiotic) เช่นนมเปรี้ยว กะปิ น้ำปลา ปลาร้า ถั่วเน่า เป็นต้น) 
    ในเรื่องการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ในลำไส้นี้ ผมมีข้อแนะนำสองข้อ คือ 

    (1) ในกรณีที่คุณมีนิสัยกินขนมปังเป็นอาหารเช้า ผมแนะนำให้เปลี่ยนขนมปังที่กินเป็นขนมปังซาวร์โดที่ทำจากแป้งโฮลวีตเป็นสัดส่วนสูง(อย่างน้อย 40% ขึ้นไป) เพราะเป็นการยิงนกทีเดียวได้หลายตัว ได้ทั้งกากที่เป็นอาหารจุลินทรีย์คราวละมากๆ ได้ทั้งตัวจุลินทรีย์เองซึ่งถูกหมักขึ้นมาในเนื้อของขนมปังซาวร์โดที่ถึงแม้ตัวตายแล้วก็ยังมีผลเพิ่มจุลินทรีย์ในลำไส้ได้อยู่     
    (2) คุณควรสร้างนิสัยกินนมโยเกิร์ตทุกวัน เพราะมีงานวิจัยราว 147 ชิ้นที่ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการกินนมโยเกิร์ต (ทั้งจากนมวัวหรือจากถั่วเหลือง ทั้งใส่และทั้งไม่ใส่น้ำตาล) กับการลดความเสี่ยงเบาหวานลง 
    เมื่อคุณเปลี่ยนอาหารไปเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ในลำไส้ของคุณเองได้สัก 3 เดือนแล้วก็ไปเจาะเลือดดู หากไขมันลดลงก็แสดงว่าข้อสันนิษฐานนี้ถูกต้อง

    ความเป็นไปได้ที่ 4. ตัวคุณเองมีพันธุกรรมไขมันในเลือดสูง (familial hypercholesterolemia) มาตั้งแต่เกิดแล้ว ซึ่งงานวิจัยติดตามดูคนแบบนี้เทียบกับคนทั่วไปพบว่าคนแบบนี้จะจบลงด้วยการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการพิสูจน์สมมุติฐานนี้ด้วยการตรวจรหัสพันธุกรรมเป็นเรื่องยุ่งยาก ให้คุณวินิจฉัยภาวะนี้ด้วยวิธีลองรักษาทั้งสามแบบข้างต้นดูก่อน หากทำทั้งสามวิธีข้างต้นแล้วไขมันในเลือดก็ยังสูงอยู่ ก็ให้คุณวินิจฉัยแบบเดาเอาเองว่าคุณมีพันธุกรรมอย่างนี้ ซึ่งทางไปต่อจากนี้ก็คงมีเหลืออยู่ทางเดียวคือใช้ยาลดไขมันช่วย เพราะการวิจัยติดตามดูพบว่าหากไม่ลดไขมันในเลือดลงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง กลุ่มผู้มีพันธุกรรมไขมันในเลือดสูงนี้จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น ดังนั้นใช้ยาลดไขมันในขนาดต่ำๆพอให้ไขมันในเลือดลดลงมาปกติจึงเป็นวิถีที่ปลอดภัยกว่าที่จะยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมใช้ยาตะพึด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
    
บรรณานุกรม

1. Redinbo MR. The Microbiome Revolution Turns to Cholesterol. Cell Host Microbe. 2020 Aug 12;28(2):154-156. doi: 10.1016/j.chom.2020.07.011. PMID: 32791107.
2. Salas-Salvadó J, Guasch-Ferré M, Díaz-López A, Babio N. Yogurt and Diabetes: Overview of Recent Observational Studies. J Nutr. 2017 Jul;147(7):1452S-1461S. doi: 10.3945/jn.117.248229. Epub 2017 Jun 14. PMID: 28615384.
 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี