ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ
ถึงคุณหมอสันต์
ผมอายุ 90 ปีนี้ ได้ติดตามคุณหมอสันต์มาสิบกว่าปี ขอถามคุณหมอสันต์คำเดียว ว่าอะไรคือคุณค่าหรือความหมายหรือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต
....
........................................................
ตอบครับ
ป้าด..ด...ด โทะ
ท่านอยู่มาจนอายุเก้าสิบแล้ว ผ่านมาหมดแล้วทั้งหนังสือ ตำรา คัมภีร์ และขี้ปากของศาสดาและผู้รู้ทั้งหลาย แล้วก็ท่านยังไม่รู้อยู่ดีว่าอะไรคือคุณค่าหรือความหมายหรือเป้าหมายของชีวิต เออ.. ผมขอถามท่านหน่อยเหอะ ว่าป่านฉะนี้แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ หิ..หิ
มองจากอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่ท่านมองหามาตั้งเก้าสิบปีแล้วก็ยังหาไม่เจอ ก็แสดงว่าสิ่งนั้นมันคงไม่ได้มีอยู่จริงกระมังครับ
ความจริงผมว่าผู้คนเขาไม่ได้สนใจจริงจังดอกว่าอะไรคือคุณค่าหรือความหมายของชีวิต เขาสนใจที่จะเสาะหาความสุขที่ถาวรมากกว่า เขาต้องการแฮ้ปปี้ แต่ว่าความสุขนี้มันเป็น sensation นะ พูดแบบบ้านๆก็คือมันเป็นเวทนา (feeling) มันมีธรรมชาติมาแล้วก็ไป จะไปเสาะหาความสุขที่ถาวรนะหรือ คนแก่อย่าว่าแต่ระดับท่านเลย แค่ระดับตัวผมซึ่งมีประสบการณ์น้อยกว่าท่านผมก็รู้ได้ง่ายๆแล้วว่าของอย่างนั้นในชีวิตจริงมันมีซะที่ไหนละครับ
ประเด็นที่ผมจะยกขึ้นมาก็คือ ความอยากที่จะแฮ้ปปี้เนี่ยแหละ ที่เป็นเหตุให้คนเราไม่แฮ้ปปี้ ถ้ามีใครสักคนหนึ่งที่ไม่รู้เลยว่าแฮ้ปปี้คืออะไร เขาก็ไม่ต้องเดือดร้อนที่เขาไม่แฮ้ปปี้เลย ถูกไหมครับ นั่นเป็นเหตุผลเบื้องหลังคำถามของผมที่ถามท่านว่า..
"แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรือ?"
ผมหมายความว่า ติ๊งต่างว่าถ้าคำถามหาคุณค่าและความหมายของชีวิตหายไปจากหัวของท่านดื้อๆจะด้วยเหตุใดก็ตาม ท่านก็จะกลายเป็นอิสระชนขึ้นมาทันที เป็นอิสระจากการอยากได้คำตอบ เป็นอิสระทั้งๆที่ท่านเองก็ยังไม่รู้คำตอบเลย
โดยวิธีการเดียวกันนี้ ท่านก็จะสามารถค่อยๆปลดสารพัด "ความจำ" ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของ "ความคิด" อยากรู้ อยากได้ อยากหนี ที่ขยันป๊อปขึ้นมาในหัวของท่านไปได้ทีละเปลาะ ทีละเปลาะ จนความคิดที่เร่งเร้าให้ท่านต้องดิ้นรนแสวงหานั้นหมดเกลี้ยงไป ท่านก็จะเป็น "อิสระชนขนานแท้และดั้งเดิม" ขึ้นมาทันที คือพอใจกับทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ ไม่ต้องวิ่งหาอะไร ไม่ต้องวิ่งหนีอะไร รับได้กับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาและผ่านออกไป เอาอย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือครับ
ตามความเห็นของผม ชีวิตคือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ทีละขณะ ทีละขณะ แค่เนี้ยะ มันจะไปมีคุณค่าหรือมีความหมายอะไรเล่าครับ ครั้นเราจะไปให้คุณค่าหรือความหมายกับ "ความจำ" หรือ "ความคิด" ก็ใช่ที่ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ชีวิต มันเป็นเพียงองค์ประกอบชั่วคราวของประสบการณ์เก่าๆซึ่งดับหายไปตั้งนานแล้ว ที่เดือดร้อนอยู่ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราเองไปทะลึ่งตั้งคำถามขึ้นมาว่าอะไรคือคุณค่าและความหมายของชีวิต ความจริงเราอาจจะไม่ได้ตั้งเองดอก บรรพบุรุษของเราตั้งขึ้นมาแล้วถ่ายทอดต่อๆกันมาให้เรา เราก็เลยเดือดร้อนต้องวิ่งหาคำตอบ ถ้าไม่มีคำถามนี้ขึ้นมา เราก็ไม่ต้องเดือดร้อนหรอกครับ แต่ถ้าเราไม่ถาม ก็ไม่ต้องตอบ ก็จะเหลือแต่ความรู้ตัวแบบไม่ต้องมีความคิด ซึ่งก็สงบเย็นสบายดี นั่นแหละครับที่ผมถือว่าคือการค้นพบ
ถ้าท่านและท่านผู้อ่านหลายท่านไม่พอใจคำตอบของผมเพราะความอยากรู้มันแรง โดยเฉพาะเรื่องระดับ unknown ที่พ้นขอบเขตที่ภาษามนุษย์จะสามารถสื่อถึงหรือบัญญัติได้ ถ้าท่านแค่อยากรู้ขึ้นมาจริงๆ (just curiosity) ผมก็ไม่ได้คัดค้านดอกหากท่านจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ดั้นด้นค้นหาของท่านต่อไป ซึ่งหากท่านจะเอาอย่างนี้ ผมก็เพียงแค่ขอชี้ประเด็นว่าท่านต้องลุกขึ้นแล้วเดินไปของท่านด้วยสองขาตามลำพังโดยไม่อาศัย "ไม้ค้ำยัน" คำว่าไม้ค้ำยันนี้ผมหมายถึงหลักคิดคำสอนใดๆที่มนุษย์รุ่นก่อนๆได้สั่งสมส่งต่อๆกันรวมทั้งการฟังเอาจากคนโน้นทีคนนี้ทีด้วย ว่าชีวิตจะมีคุณค่าต้องเป็นอย่างนี้ จะมีความหมายต้องเป็นอย่างนี้ เพราะที่ที่ท่านอยากรู้จักหรืออยากค้นให้พบนั้นไม้คำยันช่วยพาท่านไปไม่ได้ดอก รังแต่จะฉุดไม่ให้ท่านไปถึงเท่านั้น เนื่องจากทางที่จะไปคือการกลับเข้าไปในตัวและในใจของท่านเอง จึงมีท่านคนเดียวตามลำพังเท่านั้นที่จะไปตรงนั้นได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์