อายุ 61 ปี เห็นเพื่อนเป็นโควิดแล้วใจไม่ดี ควรไปฉีดวัคซีนแบบสองเชื้อ (Bivalent) ไหม
เรียนคุณหมอ
ผมอายุ 61 ปี ได้วัคซีนไฟเซอร์มาแล้วสองเข็ม ตอนนี้มีคนเป็นโควิดมากขึ้นและแต่ละคนรอบตัวก็อาการแรง ผมควรจะไปฉีดวัคซีนกระตุ้นชนิด bivalent ไหมครับ
ขอบพระคุณที่ช่วยให้ความรู้ตลอดมาครับ
………………………………………
ตอบครับ
ผมจะตอบคุณด้วยข้อมูลจากงานวิจัยซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ออกมาใน MMWR งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบ match case control แต่ออกแบบได้เจ๋ง ซึ่งผมถือว่าเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดเท่าที่มี จนกว่าจะมีการทำงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบในเรื่องนี้ หมายถึงเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนกระตุ้นชนิดสองเชื้อ (Omicron BA.5- and XBB/SBB.1.5- bivalent booster vaccine )
ก่อนอื่นผมขออธิบายงานวิจัยแบบ match case control ก่อน ว่ามันเป็นการศึกษาย้อนหลังดูผู้ป่วยเป็นโรคนี้ เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคนี้ที่มีคุณลักษณะเชิงประชากรคล้ายกัน (อายุ ถิ่นที่อยู่ เป็นต้น) และขออธิบายก่อนว่าที่ผมว่างานวิจัยนี้ออกแบบได้เจ๋งเป็นพิเศษนี้มันเป็นอย่างไร คือในกลุ่มผู้ป่วยจริง (experimental) เขาเอาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล ส่วนในกลุ่มควบคุม (control) นั้นเขาเลือกเอาผู้ป่วยละแวกเดียวกันที่เข้าถึงบริการสุขภาพได้พอๆกันและป่วยด้วยอาการคล้ายๆกันคือมีอาการทางเดินหายใจปวดหัวไม่สบายตัวเป็นต้นแล้วถูกรับไว้รักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการเหล่านั้น ตรงนี้แหละที่ผมเรียกว่าเป็นการ match case ที่เจ๋ง
ผลวิจัยนี้คุณดูในรูปที่ผมที่ผมแสดงนี่นะ วงกลมน้ำเงินซ้ายมือคือคนไข้ป่วยเป็นโควิดจริงจำนวน 6,907 คน ซึ่งถูกรับไว้ในโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้คือ 100% พบว่าเป็นคนที่ได้วัคซีนบูสเตอร์แบบสองเชื้อมาแล้ว 23%
แล้วคุณมาดูวงกลมน้ำเงินขวามือซึ่งคือคนไข้ป่วยและถูกรับไว้ในโรงพยาบาลด้วยอาการคล้ายๆโควิดแต่ไม่ได้เป็นโควิดจำนวน 59,234 คนซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าคือ 100% พบว่าเป็นคนที่ได้วัคซีนบูสเตอร์แบบสองเชื้อมาแล้ว 26%
ความหมายก็คือคนในชุมชนนี้ ที่ฉีดวัคซีนบูสเตอร์แบบสองเชื้อแล้วมี 26% ซึ่งใช้เป็นกลุ่มควบคุม เมื่อมาดูคนติดเชื้อโควิดทั้งหมดในชุมชนพบว่าเป็นคนได้วัคซีนสองเชื้อแล้ว 23% ก็หมายความว่าการได้วัคซีนลดการติดเชื้อโควิดได้ราว 3% (ARR) ซึ่งมันเป็นความแตกต่างที่เล็กน้อยไม่ประทับใจโก๋เลย ผมหมายความว่าถ้าหากคนได้วัคซีนแล้วมีอัตราเข้ารพ.ด้วยโรคโควิดต่ำมาก แต่ที่ต้องเข้ารพ.นั้นต้องเข้าเพราะโรคอื่นเป็นส่วนใหญ่ อย่างนั้นจึงจะเรียกได้ว่าวัคซีนมีประสิทธิผลดี
แต่เดื๋ยวก่อน อย่าเพิ่งว่าวัคซีนเขาไม่ดีตะพึด หากเจาะลึกลงไปถึงว่าคนที่ได้วัคซีนมาแต่ละคนเขาได้วัคซีนมานานแล้วเท่าใด คุณดูภาพข้างๆล่างนี้นะ
จากกลุ่มกร๊าฟแท่งทั้งสามกลุ่ม คุณดูกลุ่มแรกก่อนนะ แท่งน้ำเงินคือประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมทั้งหมดในการวิจัยนี้ คือยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าต่ำยอมรับไม่ได้ ส่วนแท่งสีส้มคือประสิทธิภาพวัคซีนสำหรับคนที่เพิ่งได้วัคซีนมาไม่เกิน 2 เดือน แท่งสีเทาคือได้มา 2-4 เดือน แท่งสีเหลืองคือได้วัคซีนมาเกิน 4 เดือน
แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่าหากคุณฉีดวัคซีนสองเชื้อแล้วไปสัมผัสโรคเข้าภายใน 2 เดือน วัคซีนจะมีประสิทธิภาพถึงระดับหกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าโอเค.เชียว แต่เมื่อเวลาผ่านไปประสิทธิภาพของวัคซีนจะค่อยๆลดลงจนหากคุณไปติดเชื้อเอาตอนสี่ดือนไปแล้วผลของวัคซีนก็แป๊ะเอี้ย คือต่ำจนยอมรับไม่ได้
ดังนั้นผมแนะนำจากงานวิจัยนี้ว่าเนื่องจากผลของวัคซีนบูสเตอร์แบบสองเชื้อ (bivalent) นี้ดีอยู่แค่สองเดือนแรก คนที่ควรฉีดวัคซีนอย่างยิ่งคือกลุ่มเสี่ยง (608) ที่จะมีโอกาสได้รับเชื้อสูง (เช่นจะขึ้นเรือบินไปเที่ยวเมืองนอก) นับจากวันฉีดวัคซีนไปไม่เกินสองเดือน
ส่วนคนทั่วไปควรจะฉีดวัคซีนสองเชื้อดีหรือไม่นั้น ท่านต้องชั่งน้ำหนักของประโยชน์ (ลดความเสี่ยงสมบูรณ์ของการติดเชื้อได้ราว 3%) กับความเสี่ยง (โอกาสเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีน ราว 4:100,000) เอาเองนะครับ ผมไม่สามารถแนะนำได้เพราะความแตกต่างระหว่างประโยชน์กับความเสี่ยงกรณีนี้มันชั่งน้ำหนักยาก
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- CDC. Early Estimates of Bivalent mRNA Booster Dose Vaccine Effectiveness in Preventing Symptomatic SARS-CoV-2 Infection Attributable to Omicron BA.5- and XBB/SBB.1.5- Related Sublineages Among Immunocompetent Adults – Increasing Community Access to Testing Program, United State, December 2022-January 2023. MMWR February 3, 2023 / 72(5);119–124.