เรื่องไร้สาระ (36) หมอสันต์ซ่อมบ้านไม้สักโบราณ
ในมวกเหล็กวาลเลย์นี้มีบ้านหลังใหญ่ที่สุดอยู่หลังหนึ่ง มันเป็นบ้านใหญ่ขนาดราว 1000 ตรม. สองชั้น หกห้องนอน เจ็ดห้องน้ำ ทำด้วยไม้สักทั้งหลัง ตั้งแต่พื้นถึงหลังคาเป็นไม้สักหมด ตัวกระเบื้องมุงหลังคาก็เป็นแป้นเกล็ดไม้สัก ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเนินเขาที่สูงที่สุดของหุบเขา มองเห็นวิวกว้างไกลสุดตารอบทิศ มีพื้นที่รอบบ้าน 14 ไร่ แต่น่าเสียดายที่นับตั้งแต่เจ้าของซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสตายไปเมื่อยี่สิบปีก่อน บ้านหลังนี้ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่ในพงเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อต้นปีนี้ ทายาทของฝรั่งได้ควักเอาสมบัติชิ้นนี้ออกมาขายเลหลัง ญาติของผมซึ่งทำที่พักถาวรสำหรับผู้สูงอายุอยู่ติดกับที่แปลงนี้ได้ซื้อเอาไว้ เธอยังไม่รู้ว่าจะเอาไว้ทำอะไร ผมเป็นคนชอบบ้านเก่าจึงชวนเธอว่าแทนที่จะรื้อบ้านเก่านี้ทิ้งอยู่ว่างๆเราซ่อมมันไปพลางก่อนน่าจะดีกว่าอยู่เปล่าๆ โดยผมอาสาซ่อมให้ ฮิ..ฺฮิ ในใจคิดว่านี่จะเป็นโปรเจ็คใหม่ที่ให้ความบันเทิงแก่หมอสันต์ไปได้อีกเป็นปี
Landslide เกือบตกม้าตายตั้งแต่เพลงแรก
เริ่มด้วยการเขียนแผนผังแบบฟรีแฮนด์เพื่อจ้างผู้รับเหมาให้เปิดพื้นที่ ด้วยการใช้รถแบ้กโคไถเปิดพงหญ้ารกๆบนเนินรอบๆบ้านออกเพื่อให้มองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร และต้องถมบึงแห้งขนาดมหึมาเนื้อที่ราวสองไร่ลึกราวหกเมตรที่หลังบ้านด้วยเพราะเจ้าของใหม่มองว่าบึงน้ำหลังบ้านไม่ถูกด้วยหลักฮวงจุ้ย ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องมีการเคลื่อนย้ายดินและหินภายในเขตพื้นที่เป็นจำนวนมาก พอย้ายดินเสร็จก็เห็นบ้านไม้สักเก่าๆผุๆแบบโบราณๆตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขาดินลูกรังโล่งๆ โล้นๆ มองเห็นวิวรอบทิศ ทำถึงตรงนี้แล้วผมก็ทิ้งไปเที่ยวเมืองนอกเกือบเดือน
กลับมาเห็นพื้นที่อีกครั้งแทบลมใส่ คนงานเล่าว่าฝนตกหนักมากชนิดที่แถบนี้ฝนไม่เคยหนักอย่างนี้มาก่อน จึงเกิด landslide อย่างแรง ไม่ใช่ใครชนะเลือกตั้งนะครับ แต่หมายถึงโคลนถล่ม ชะเอาหน้าดินทิ้งลงที่ต่ำไปเหลือแต่เศษหินโผล่ให้ดูต่างหน้า สระเล็กที่ขุดใหม่ที่ตีนเขาซึ่งเดิมกะว่าจะปูพลาสติกไว้เป็นบ่อพักน้ำก็ถูกหินมีคมหลายขนาดปลิวลงมาถมสระจนเต็ม แถมหินเกลื่อนกระจายไปทั่วต้องมาขุดสระกันใหม่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าเรื่องจะปูพลาสตินั้นเลิกคิดได้ เพราะด้วยความคมของหินที่น้ำพามานี้แค่ฝนเดียวพลาสติกก็ขาดกระจุยได้แล้ว
กรมอุตุฯออกข่าวย้ำว่าฝนหนักจะมาอีก แล้วจะตามมาด้วยความแห้งแล้งยาวนาน โห ช่างตรงกันข้ามกับที่ผมอยากได้ ผมทำเกษตรมาหลายสิบปีรู้จักเทวดาดีว่าท่านอาจเก่งเรื่องอื่น แต่เรื่องการเกษตรนี่ ขอโทษ..ท่านไม่รู้เรื่องเลย ดังนั้น แทนที่จะรอลุ้นว่าฝนถัดไปจะก่อความเสียหายอะไรได้อีกสักแค่ไหน ผมตัดสินใจส่องกล้องขุดคลองตามแนวระดับ (contour strip) เป็นการฉุกเฉิน สมัยนี้จะหาช่างสำรวจรังวัดที่ถนัดส่องกล้องแบบนี้ก็ช่างหายากหาเย็นเพราะสมัยนี้เขาปักหมุดโฉนดเอาจากดาวเทียมกันหมด ตาแก่อายุ 70 จึงต้องมาส่องกล้องเอง ให้คนงานที่ไม่เคยทำงานรังวัดเป็นคนถือไม้สต๊าฟ เวลาตั้งไม้สต๊าฟขึ้นคนงานเผอิญดูน้ำตาไก่ที่หลังไม้สต๊าฟไม่ออกเพราะเขาตาเสียไปแล้วหนึ่งข้างครึ่ง ต้องอาศัยอ่านสัญญาณมือของผมแต่เขาก็อ่านสัญญาณมือไม่เป็น โบกมือกันจนเมื่อยไม้สต๊าฟก็ยังตั้งตรงไม่ได้ ต้องใช้คลื่นเสียง คือแหกปากร้องตะโกนแทน จึงทำงานส่องกล้องทำแผนที่ระดับสำเร็จ ได้แนวร่องที่ชาวบ้านเรียกว่า “คลองไส้ไก่” เป็นวงๆลดหลั่นกันลงไปรวมสี่ชั้น
เฉพาะชั้นที่สามด้านหลังบ้านซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ผมให้ขุดแต่งมุมหนึ่งเป็นหลุมขนมครก หมายถึงการทำพื้นที่ต่ำแบบท้องช้างเพื่อให้น้ำในพื้นที่ไหลมารวมกันที่นี่แล้วซึมลงดินตรงนี้ก่อน หากเหลือค่อยให้ไหลบ่าลงคลองไส้ไก่ไป สั่งแล้วผมเข้ากรุงเทพฯไปสามวัน กลับมาอีกทีก็พบว่าหัวหน้าคนงานเขาไม่รู้จักหลุมขนมครก เขาขุดเป็นสระเล็กใหม่ให้ผมอีกหนึ่งสระแทนสระใหญ่ที่เพิ่งถมไปหมาดๆ อะจ๊าก..ก ต้องมาถมสระให้เป็นหลุมขนมครกกันใหม่ พอทำงานเสร็จ คืนนั้นฝนก็ตกอย่างหนักพอดี รุ่งขึ้นผมรีบไปดู อะ ฮ้า ทุกอย่างเป็นไปตามแผน น้ำไหลบ่าไปซึมลงที่หลุมขนมครก ที่เหลือก็ไหลบ่าลงคลองไส้ไก่ตามชั้นของใครชั้นของมัน จากคลองไส้ไก่ซึ่งขุดไว้ลึกและกว้างจึงรับน้ำได้มาก น้ำก็ซึมตรงๆลงใต้ดิน ปัญหากัดเซาะผิวดินเชิงลาดที่รุนแรงลดลงเหลืออยู่น้อยมาก ทั้งๆที่ผิวดินก็ยังโล้นอยู่เพราะยังไม่ทันได้ปลูกพืชคลุม
การชลประทานเพื่อต้อนรับเอลนิโญ่ จะปลูกอะไรบนพื้นที่ 14 ไร่นี้ซึ่งอยู่บนที่สูงไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่เชื่อถือได้นอกจากบ่อน้ำบาดาลที่ไม่มีใครประกันให้ว่ามันจะแห้งเมื่อไหร่ นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง ผู้มีปัญญาย่อมไม่ออกแบบพื้นที่ด้วยความอยากได้ความเขียวขจีแต่ท้ายที่สุดกลายเป็นทุ่งหญ้าซาวันน่าแห้งโกร๋นในหน้าแล้งเพราะไม่มีน้ำจะรด อีกอย่างหนึ่งการทำสนามหญ้าเขียวๆในพื้นที่ 14 ไร่ซึ่งเทียบได้ประมาณสนามฟุตบอลสามสนามโดยมีสปริงเกิ้ลฝังดินแล้วมีหัว pop up โผล่ขึ้นมาพ่นฝอยน้ำเป็นเวลาแบบเท่ๆนั้นใครๆก็ทำได้ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าย่านมวกเหล็ก-เขาใหญ่นี้ในน้ำมีตะกรันแคลเซียมมากจนกลไกป๊อบอัพจะกลายเป็นป๊อบแต่ไม่อัพ เป็นวิบากกรรมให้คนงานต้องคอยถอดล้างแก้ไขกันไม่เว้นแต่ละวัน แล้วลองนึกภาพว่าพื้นที่ขนาดนี้ซึ่งต้องใช้หัวป๊อปแต่ไม่อัพถึงสองร้อยกว่าหัว วันๆหนึ่งคนงานก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ผมจึงออกแบบภูมิสถาปัตย์แหวกแนว คือให้มีแค่ถนนหญ้าอัดแน่นสำหรับเดินและปั่นจักรยานกว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 2 กม.ขดเป็นวงกลมเหมือนขดลวดสปริงสี่ชั้น เลี้ยวและลดหลั่นกันไปตามเนินเขา แล้ววางสปริงเกิ้ลแบบบ้านๆรดน้ำแบบอัตโนมัติคุมด้วยโซลีนอยด์วาวล์ 24 ตัว แต่ละตัวคุมหัวสปริงเกิ้ล 5 หัว แค่ให้พอบำรุงรักษาถนนหญ้านี้เท่านั้น สนองวัตถุประสงค์หลักที่จะใช้เป็นที่ออกกำลังกายให้ได้ก่อน ส่วนพื้นที่ที่เหลือปล่อยให้หญ้าธรรมชาติขึ้นกันไปตามบุญตามกรรม
การคลุมผิวดินผิวดินที่ลาดชันมากถึง 60 องศา จำเป็นต้องมีพืชคลุมที่ดี นี่เป็นหลักวิชาเกษตรพื้นฐาน พึชที่จะทนความชันมากขนาดนี้ได้ก็ต้องเป็นพืชที่มีรากแทงดิ่งลงไปลึก เช่นหญ้าแฝก เป็นต้น แต่หญ้าแฝกที่ไหนจะมาทนแล้งและทนดินลูกรัง ผมจึงหันไปหาถั่วบราซิลเพราะทนทั้งความชัน ความแล้ง และทนดินลูกรังได้ด้วย การเสาะหาถั่วบราซิลทำให้ได้ความรู้ใหม่ว่าแหล่งผลิตต้นกล้าถั่วบราซิลที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยนี้อยู่ที่ อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ เขาทำใส่ถุงพลาสติกขายพร้อมปลูกส่งให้ถึงที่ทั่วประเทศในราคารถ(สี่ล้อ)ละสี่หมื่นบาทต้นๆซึ่งถือว่าถูกมากๆ แต่เมื่อผมดูสินค้าตัวอย่างแล้วก็พบว่ามันเป็นถั่วที่ปลูกด้วยวิธีเพาะชำกิ่งจึงมีแต่รากฝอยไม่มีรากแก้ว ในพื้นที่ที่ทั้งชันทั้งแล้งทั้งเป็นลูกรัง คนมีประสบการณ์เขาเล่าให้ฟังว่ากล้าที่ไม่มีรากแก้วแบบนี้ไม่ทันได้รอดสันดอน คือแห้งตายก่อนจะติดแน่นอน จะหาคนขายต้นพันธุ์ที่เพาะจากรากแก้วก็ไม่มีใครทำขายเพราะช้าไม่ทันกิน การหยอดเมล็ดเองก็ใช่ว่าจะประหยัด เพราะเมล็ดพันธ์มีราคาสูงถึงเมล็ดละ 50 สตางค์โดยโฆษณาว่ามีเปอร์เซ็นต์ความงอกประมาณไม่เกิน 50% ซึ่งก็คือเมล็ดละบาทนั่นแหละ แต่พอทดลองหยอดเมล็ดในพื้นที่จริงก็พบว่ามีอัตราการงอกขึ้นมาได้จริงเพียง 25% เพราะมันมีช่วงแห้งสลับฉากแม้จะเป็นหน้าฝน ก็เท่ากับว่าต้นทุนเมล็ดตกต้นละ 2 บาท นี่เรากำลังพูดถึงการปลูกถั่วบราซิลจำนวนหนึ่งแสนต้นนะ สองแสนบาทค่าเมล็ดนี่ไม่มีใครมาค้ำประกันว่าจะได้เห็นต้นถั่วเป็นๆสักกี่ต้น ผมจึงตัดสินใจผลิตต้นกล้าถั่วบราซิลแบบมีรากแก้วเอง โดยอาศัยเรือนเพาะชำของผมที่แปลงปลูกป่ามิยาวากิที่เขาใหญ่เป็นที่ผลิตแล้วทะยอยขนต้นกล้าที่ผลิตได้มาปลูกที่นี่
ผ่านไปอีกหนึ่งเดือน การแก้ปัญหาภูมิสถาปัตย์ก็เริ่มเห็นเค้ารางว่าจะสำเร็จ คลองไส้ไก่ป้องกันการชะพาหน้าดินบนเชิงลาดได้เกือบเด็ดขาด ถนนหญ้าเขียวขจีพร้อมให้เดิน วิ่ง และปั่นจักรยานได้แล้ว ตัวถนนหญ้าออกแบบเป็นวงแหวนซ้อนกันอยู่สี่ระดับเชื่อมโยงกันอย่างพิศดารทำให้เปลี่ยนเส้นทางและเปลี่ยนวิวได้ตลอดเวลาขณะออกกำลังกายจะได้ไม่เบื่อ สองข้างขอบถนนและบนเชิงลาดถั่วบราซิลที่ลงไว้เริ่มงอก ถั่วชนิดนี้มีอายุราวสิบปีและออกดอกสีเหลืองตลอดปี มันจะเป็นภูมิสถาปัตย์ที่ค่อนข้างถาวรโดยไม่ต้องบำรุงรักษาอะไรมาก งานที่เหลือคือการทำกองหินที่ระเกะระกะบนเชิงลาดบางจุดให้กลายเป็นสวนดอกไม้หลากสีแทรกและสลับไปตามหลืบของสวนหิน นั่นเป็นของเล่นในหน้าฝนปีถัดไป จะได้แค่ไหนก็ต้องรอชมฝีมือกัน
เพื่อเป็นการอนุรักษ์เชิงลาดด้านหลังบ้านในระยะยาวผมปลูกป่าไม้ยืนต้นไว้ ส่วนมุมหน้าบ้านข้างล่างนู้นปลูกป่าเสลาไว้ราวเกือบหนึ่งร้อยต้น เพราะในความเห็นของผมเสลาเป็นดอกไม้ที่สวยเทียบได้กับซากุระแต่ออกออกดอกนานกว่า จึงจินตนาการว่าในอีกสิบปีข้างหน้าเมื่อมันออกดอกสะพรั่งเป็นป่าเสลาสีม่วงอมชมพูแล้ว ยามมองลงมาจากบนบ้านที่อยู่บนเนินเขา มันน่าจะสวยงามมาก
การซ่อมบ้านไม้สักเก่าให้คงความคลาสสิกเป็นงานยากและต้องการความปราณีตบรรจง แทบจะเรียกว่าเป็นงานศิลปะมากกว่างานก่อสร้าง ตัวคานและตงไม้สักชิ้นใหญ่ๆสมัยนี้หาไม่ได้แล้ว ต้องพยายามใช้ของเก่าตัดต่อเข้าลิ้นให้ถึงที่สุดไม่ยอมทิ้งง่ายๆ ไม้เคร่าฝาที่ผุกร่อนที่ปลายล่างก็ต้องบรรจงถอดตะปูแกะไม้ฝากระดานไม้สักออกทีละแผ่นโดยไม่ให้ฝาแตก แล้วเสริมเคร่าใหม่เข้าไปก่อนที่จะเอาไม้ฝากระดานของเดิมบรรจงปิดกลับลงไปอีกครั้ง ตงไม้ที่ผุกร่อนขาดยุ่ยที่ปลายตงก็ต้องเอาตงใหม่สอดเข้าไปประกบแบบอันต่ออันเพื่อให้ตงใหม่ถ่ายน้ำหนักจากตงเก่าลงบนคานได้ ปกติโคนเสาไม้สักที่ฝังดินส่วนใหญ่มักจะขาดกร่อนซึ่งก็ต้องแก้กันโดยขุดดินลงตอม่อคอนกรีตแล้วเทคานพื้นขนาดใหญ่โดยรอบฐานของบ้านใหม่เพื่อรับน้ำหนักหัวตงแทนเสาไม้เดิม สำหรับบ้านนี้โชคดีที่ฐานรากและคานคอดินของเขาเป็นคอนกรีตอยู่ก่อนแล้ว จึงตัดปัญหาเรื่องเสาผุกร่อนไปได้ ส่วนที่ผมต้องตัดใจมากที่สุดคือการรื้อหลังคาไม้แป้นเกล็ดทิ้งแล้วใส่หลังคาใหม่เป็นกระเบื้องชิงเกิ้ล ลังเลอยู่นานแต่พอฝนห่าใหญ่มาทำการทดสอบให้ก็จึงตัดสินใจได้ เพราะมันรั่วจริงจังมาก
พองานซ่อมเดินหน้าไปก็มีมิตรสหายที่เป็น “สะถาปะนึก” แวะเวียนกันมาช่วยออกความเห็น ทุกคนซี้ดซ้าดกับวิวรอบบ้าน แต่ที่ถูกคอมเมนต์มากที่สุดก็คือจั่วหลังคาที่ยื่นออกมาเหมือนหัวเหยี่ยวรอบทิศรวม 9 จั่วว่ามันช่างขัดลูกตา แต่ผมทำหูทวนลมเสียเพราะเห็นว่ามันเป็นของเก่าที่ประหลาดดีจึงอยากเก็บไว้ หมอสมวงศ์บอกว่าบ้านคลาสสิกระดับนี้น่าจะชวนพี่ตี๋ซึ่งเป็นสถาปนิกที่มีประสบการณ์กับบ้านในยุโรปมาช่วยดู ผมและเจ้าของบ้านเห็นดีเห็นงามด้วย พี่ตี๋มาถึงก็ตีแสกหน้าเข้าตรงจั่วทรงหัวเหยี่ยวทั้ง 9 ก่อน
“จั่วบ้านแบบนี้ไม่เข้าท่าและไร้ประโยชน์” ผมแย้งว่า
“มันคงเป็นทรงหลังคาแถบยุโรปมั้ง เพราะเจ้าของเก่าคนสร้างเขาเป็นคนฝรั่งเศส” พี่ตี๋สวนทันทีว่า
“ผมหากินอยู่ในยุโรปยี่สิบกว่าปีไม่เคยเห็นหลังคาแบบนี้สักหลัง นี่มันทรงดิสนีย์แลนด์ ปล่องควันปลอมนี่ก็ไร้สาระ..รื้อออกไปเสียด้วย”
แหะ..แหะ เจอเข้าไม้นี้จั่วหลังคาทรงประหลาดที่ผมตั้งใจจะสงวนไว้ก็ถูกหั่นทิ้งไปตามระเบียบ นอกจากนั้นกันสาดรอบบ้านชั้นล่างก็ถูกรื้อออกหมดด้วย พี่แกบอกว่ามากเกินความจำเป็นเพราะบ้านนี้มีระเบียงชั้นบนเป็นกันสาดให้ชั้นล่างในตัวอยู่แล้ว
จบงานซ่อม เหลืองานแต่ง
เมื่อรื้อฝ้าเพดานที่ห้องครัวออก ก็เห็นตงไม้ซุงขนาดใหญ่และพื้นไม้สักแผ่นบะเร่อบะร่าของชั้นบน เป็นความเท่แบบน่าทึ่ง ผู้ชมท่านหนึ่งบอกว่ามีครัวระดับนี้ต้องหาเชฟมิชลินมาอยู่ประจำสักคนหนึ่งแล้ว ผมยิ้มและตอบว่าไม่ต้อง เพราะลิ้นระดับเราอาศัยเชฟมิชโล้ธรรมดาๆแถวนี้ก็กินกันอร่อยแล้ว
ผมซ่อมบ้านมาถึงจุดที่งานซ่อมพื้นฐานจบแล้ว เหลือแต่งานตกแต่งภายใน บ้านหลังนี้เจ้าของตั้งชื่อว่า “บ้านสรัญญา” ตามชื่อลูกสาว (ก็คือหลานสาวของหมอสันต์นั่นแหละ) ผู้จะมาเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงในอนาคต เธออาสาไปหาทีมนักตกแต่งภายในมารับช่วงทำงานต่อให้ หมอสันต์จึงได้นั่งเอ้เตสบายๆรอให้เขาทำงานตกแต่งภายในกันให้เสร็จ แต่ก็อดสั่งเสียไม่ได้ว่าอย่าลืมที่ตั้งเปียโนในห้องครัวนะ เพราะผมวางแผนไว้แล้วว่าบ้านเสร็จเมื่อไหร่จะชวนพรรคพวกสว.มานั่งดื่มกินเล่นดนตรีกันที่ห้องครัวระดับมิชโล้นี้กันให้สนุกสนานต่อไป
อนาคตของบ้านไม้สักหลังนี้จะเป็นอย่างไร เขาจะใช้มันทำอะไร ยังไม่มีใครรู้ เพราะตัวเจ้าของเองก็ยังไม่รู้เลย ผมรู้แต่ว่าบ้านหลังนี้มันจะเป็นบ้านไม้สักขนาดใหญ่และคลาสสิกบนที่ตั้งที่สุดแสนจะโรแมนติกหวือหวาหาดูที่ไหนได้ยาก นอกจากจะมีที่ให้เดินออกกำลังกายยาวเหยียดวกวนเป็นส่วนตัวแล้ว ขณะออกกำลังกายยังจะได้ทั้งทิวทัศน์ ทั้งสถาปัตยกรรม และทั้งบรรยากาศ..เด็ดขาดมาก ส่วนตัวหมอสันต์นั้นจบจ๊อบนี้แล้วก็จะไปจับโปรเจ็คไร้สาระหนุกๆอื่นๆที่ต่อคิวรออยู่ในท่ออีกแยะทำต่อไป ตามประสาคนแก่ที่ต้องคอยหาเรื่องรักษาสมองเสื่อมให้ตัวเอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์