หมอสันต์ออกกฎหมายห้ามขนมหวานเข้าบ้าน
(ภาพวันนี้ ; ดอกลำโพง หรือแตรนางฟ้า)
เมื่อสิบห้าปีก่อน ผมป่วย (ตอนนั้นอายุ 55 ปี) ในการรักษาตัวเอง ผมออกกฎหมายห้ามนำโค้กและเค้กเข้าบ้าน เพราะก่อนหน้านั้นผมดื่มโค้กแทนน้ำ และกินเค้กแทนอาหารมื้อหนักรอบดึกหลังจากผ่าตัดมาเหนื่อยๆใกล้เที่ยงคืน ผมเปลี่ยนอาหารเช้าและกลางวันเป็นผักผลไม้ปั่นและสลัด และลดข้าวที่กินในอาหารเย็นลงเหลือมื้อละ 2 ช้อน จากเดิมที่เคยกินมื้อละสองทัพพี แต่สิ่งหนึ่งที่ยังแอบดอดเข้ามาอยู่ในบ้านผมได้เนียนๆคือ..ขนมหวาน เพราะลึกๆแล้วผมเป็นคนติดขนมหวาน นั่นประการหนึ่ง และผู้มีอำนาจเหนือธรรมนูญ คือพี่สาวของ ม. ผมเอง ชอบซื้อขนมหวานเข้าบ้าน นั่นอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สิบห้าปีผ่านไป การเปลี่ยนอาหารแค่ที่ทำไปก็ทำให้ผมพลิกผันโรคของผมได้สำเร็จ เลิกยาได้หมดโดยความดัน น้ำตาล ไขมัน และน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติดีแบบไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเลยแม้จะจ๊อกกิ้งหรือเดินขึ้นเขาลงห้วยก็ตาม ทำให้ขนมหวานยังคงสิงอยู่ในบ้านผมได้ตลอดมา
สมัยก่อนที่จะป่วย ซึ่งผมทำงานแอคทีฟอยู่ ผมไม่เคยสังเกตร่างกายของตัวเองเลย บางวันเรอเอิ๊ก เอิ๊ก จนเพื่อนหมอด้วยกันคนหนึ่งบรรยายว่า “เรอเหมือนหมูเลยวุ้ย” บางวันสะอีกทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน บางวันนอนท้องอืดเป็นงูเหลือมนานสองสามชั่วโมง ทำอะไรไม่ได้นอกจากดูโทรทัศน์ บางคืนตื่นขึ้นมากลางดึกแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยแล้วหลับต่อไม่ได้ บางวันกลับถึงบ้านแล้วหมดแรงขึ้นชั้นสองไม่ไหวก็นอนมันที่หน้าทีวีนั่นแหละ บางวันหงุดหงิดจนบรรดาเลขาหน้าห้องเข้าหน้าไม่ติด ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แต่ผมไม่เคยใส่ใจ ถือว่านี่เป็นปกติของการมีชีวิตอยู่แบบคนสุขภาพดีพอสมควรคนหนึ่งจะพึงเป็น
มาวันนี้ผมอายุ 70 ปีแล้ว แม้จะยังทำงานแอคทีฟอยู่แต่ก็มีเวลาสังเกตตัวเองมากขึ้น การฝึกปฏิบัติสังเกตความคิดของตัวเองทำให้ผมมองเห็นความคิดของตัวเองได้จริงๆ พอมีความคิดเกิดขึ้น ผมมักจะรู้ทันที พอจิตใจหรืออารมณ์ของผมเปลี่ยนไปแม้เพียงเล็กน้อย ผมจะรู้ทันที เมื่อผมหงุดหงิดผมจะรู้ทันทีว่าผมเริ่มหงุดหงิดแล้ว ทำให้ผมเฝ้าสังเกตมันได้ง่ายและแป๊บเดียวมันก็หายไป พอร่างกายผมเปลี่ยนไปแม้เพียงเล็กน้อย ผมก็จะรู้ทันทีเช่นกัน
จากความไวในการสังเกตตัวเองเมื่อยามแก่นี้ ทำให้ผมรับรู้เหตุการณ์เล็กๆฉิวเฉียดสองสามเหตุการณ์ที่หากเป็นสมัยก่อนผมไม่มีทางรับรู้ได้ คือ
เหตุการณ์แรก สืบเนื่องจากสมัยนี้พวกคนมีเงินล้วนพากันปลูกกล้วยกับมะนาวเพื่อหนีภาษีที่ดินรกร้าง จึงมักมีคนเอากล้วยกับมะนาวมาฝากไม่ขาด หมอสมวงศ์เห็นกล้วยแยะไม่รู้จะทำยังไงดีก็จึงทำกล้วยบวชชีให้ผมกิน ผมก็กินแบบจะช่วยชาติใช้ประโยชน์จากกล้วย แล้วผมก็สังเกตว่าในหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นผมมีอาการ “เปลี้ย” หรือ “เดี้ยง” ถ้าเป็นสมัยก่อนผมจะสังเกตไม่เห็นดอก แต่เดี๋ยวนี้ผมสังเกตตัวเองได้เก่งขึ้น เมื่อนึกย้อนไปก็คิดได้ว่าไม่กี่วันก่อนหน้านี้ที่บ้านกรุงเทพฯผมก็มีอาการแบบนี้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังอาหารเย็นที่ผมกินขนมอร่อยที่พี่เขาซื้อมาใส่ตู้เย็นไว้ จึงตั้งสมมุติฐานว่าผมเกิดอาการ sugar dip หมายถึงการได้น้ำตาลแล้วร่างกายซึ่งแก่และโทรมรับมือกับน้ำตาลแยะๆไม่ทัน ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงปรี๊ด ร่างกายต้องปั๊มอินสุลินออกมาไล่ตามเก็บน้ำตาลเข้าเซลอย่างรวดเร็ว ผลก็คือน้ำตาลลดระดับลงจากสูงปรี๊ดกลายเป็นต่ำผิดปกติเรียกว่า sugar dip จนเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำชั่วคราวขึ้น นี่เป็นลางบอกถึงความเสื่อมของกลไกการเผาผลาญ (metabolism) ของร่างกายว่าไม่ได้เจ๋งเหมือนแต่ก่อนแล้ว การจะพิสูจน์ว่าวินิจฉัยถูกหรือเปล่าก็ไม่ยาก แค่คอยเจาะน้ำตาลในเลือดดูตามจังหวะ แต่ผมขี้เกียจเจาะ จึงหันไปใช้วิธีวินิจฉัยด้วยการรักษาแทน คือเลิกกินขนมหวานแล้วติดตามดูว่าอาการแบบนี้จะหายไปหรือเปล่า ถ้าหายก็ ซ.ต.พ. และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงผมก็จำใจต้องออกกฎหมายห้ามนำขนมหวานเข้าบ้าน ไม่ต้องห่วงว่าคนอื่นจะเดือดร้อนเพราะคนเดือดร้อนจริงๆมีผมคนเดียว ลูกเมียเขาไม่ชอบขนมหวานกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
เหตุการณ์ที่สอง ก็เกิดซ้ำสองสามครั้งเหมือนกัน แต่เป็นอาการท้องอืดหลามทำอะไรไม่ได้หลังการไปกินอาหารเย็นกับเพื่อนบ้าน คือวิถีชีวิตที่มวกเหล็กวาลเลย์ทุกสัปดาห์เพื่อนบ้านจะกินข้าวเย็นสรวลเสเฮฮาด้วยกันบ้านโน้นบ้างบ้านนี้บ้าง ทำอย่างนี้มาร่วมยี่สิบปีแล้ว แต่มาระยะหลังนี้ผมพบว่าถ้าคืนก่อนหน้านั้นไปกินข้าวกับเพื่อนบ้านมา ก่อนนอนท้องยังอืดนั้นเป็นของแน่ แต่วันรุ่งขึ้นร่างกายของผมจะไม่ “ท็อปฟอร์ม” เหมือนอย่างเคย บางครั้งถึงกับไม่มีอารมณ์ขุดดินฟันหญ้าซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เมื่อนึกย้อนหลังถึงของอร่อยๆที่กินกันก็จะหนีไม่พ้นพวกปลาพวกไข่ที่ปรุงแบบง่ายๆบ้านๆเช่นทำเป็นปลาทอดบ้าง ไข่พะโล้บ้าง ทั้งๆที่ตัวเองปวารณาตนเป็น “เจเขี่ย” แต่พอไปเจอของอร่อยก็ “เจแตก” ขณะที่ร่างกายคุ้นกับอาหารพืชมากกว่าอาหารเนื้อสัตว์ พอนานๆเจอเนื้อทีหนึ่งจึงเกิดอาการปั่นป่วนขึ้น
เหตุการณ์ที่สาม สืบเนื่องมาจากสวิสต์ควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติของเครื่องทำน้ำร้อนบนหลังคาที่บ้านกรุงเทพเสีย ทำให้น้ำในระบบท่อประปาร้อนจัดและกลายเป็นไอดันข้อต่อท่อพีวีซีตามจุดต่างๆระเบิดออก ผมกับลูกชายจึงตกลงฟอร์มทีมสองพ่อลูกแก้ไขกันเองแบบยกยวงรวมทั้งถือโอกาสเทคอนกรีตพื้นเพื่อตั้งถังเก็บน้ำที่เอียงกะเท่เร่มาตั้งแต่สมัยน้ำท่วมใหญ่ให้ได้ดิ่งเสียที ผมเริ่มงานแต่เช้าก่อนลูกชายตื่น เขียนแบบการต่อท่อ นับจำนวนข้อต่อที่จะต้องซื้อ แล้วขับรถออกไปซื้อข้อต่อท่อที่กลางซอยหมู่บ้าน พอไปถึงร้านก็พบว่าลืมเอาแบบมา จึงซื้อโดยพยายามนึกเอาซึ่งก็แน่นอนว่าซื้อได้ไม่ครบ ต้องขับออกไปอีกเป็นรอบที่สอง กลับมานั่งลงเริ่มตัดท่อและกำลังจะต่อก็พบว่ากาวในกระป๋องเก่าหมดเพราะไม่ได้ตรวจดูก่อน ต้องขับรถออกไปร้านกลางซอยอีกเป็นรอบที่สาม ทั้งหมดนี้ในเวลาแค่ชั่วโมงเดียวผมต้องเทียวไล้เทียวขื่อไปร้านขายท่อสามรอบเพราะ..เป็นลืม..ม
ทั้งสามเหตุการณ์ เมื่อมาประจวบกับวัยที่ขึ้นเลข 7 ทำให้ผม “ได้คิด” ว่าร่างกายนี้ไม่ได้เจ๋งเหมือนเดิมแล้ว หากไม่มีการวางแผนฟูมฟักดูแลตัวเองให้ดีวันหนึ่งก็จะเดี้ยงถาวร ซึ่งนอกจากจะทำประโยชน์อะไรให้ใครไม่ได้แล้วยัง จะกลายเป็นภาระให้ลูกเมียอีกด้วย จึงคิดว่าโอกาสขึ้นเลข 7 นี้ต้องปรับวิธีใช้ชีวิตให้สมกับวัย แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าควรจะเริ่มตรงไหนก่อน จึงจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองสักสามเดือน โดยวิธีบันทึกข้อมูลในแต่ละวันลงในตารางเอกเซลอย่างละเอียดทีละวันๆไปทุกวันๆ ตั้งแต่อาหารที่ผมกินทุกมื้อ ถ้ากินผักก็นับด้วยว่ากินกี่อย่าง กินผลไม้กี่อย่างก็บันทึกไว้ ออกกำลังกายทำอะไรบ้าง ผลงานทุกชิ้นที่ผมผลิตได้ในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นการสอนในแค้มป์ การสอนคนไข้ที่มาฟื้นฟูร่างกาย การตอบคำถามทางบล็อก การทำคลินิกออนไลน์ และการขุดดินฟันหญ้าปลูกต้นไม้ ก็บันทึกหมด การพักผ่อนทุกรูปแบบรวมทั้งการเดินเล่น การออกแดด การนอนเล่น และการนอนหลับจริงๆ ความเป็นไปของท้องไส้ การขับถ่าย ความเฉียบคมของสมอง (ด้วยการทดสอบง่ายๆเช่นวันนี้วันที่เท่าไร หรือมองเลขโทรศัพท์เบอร์ใหม่ๆแล้วหลับตาท่องจากหลังมาหน้า) และไฮไลท์ของงานวิจัยนี้ก็คือผมจะบันทึกระดับพลังชีวิตในแต่ละวันไว้อย่างละเอียดด้วย พลังชีวิต ผมหมายถึงถ้าวันไหนมีพลังมากก็มีความกระตือรือล้นกระฉับกระเฉงว่าวันนี้อยากทำโน่นทำนี่และเมื่อทำแล้วก็เพลินไม่อยากหยุด ถ้าวันไหนพลังหมดก็เอาแต่นอนลูกเดียว โดยผมจะให้คะแนนพลังชีวิตของตัวเองไว้สามระดับ คือ (1) จ๋อย (2) ทรงๆ และ (3) ซู่ซ่า บันทึกไว้วันละสี่ครั้ง ครั้งแรกหลังตื่นนอน ครั้งที่สองในภาคเช้า ครั้งที่สามในภาคบ่าย และครั้งที่สี่ก่อนนอน ตั้งใจว่าจะทำวิจัยกับตัวเองอย่างนี้ไปสักสามเดือนแล้วเอาทั้งหมดมาประเมินดูว่าอะไรมันสัมพันธ์กับอะไร มีอะไรจะต้องปรับปรุงการใช้ชีวิตเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากวัยเลข 7 มากที่สุดบ้าง
ผมทำตารางเอ็กเซลเตรียมพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว ดีเดย์คือวันนี้ นี่เป็นงานวิจัยไร้อันดับ ภาษาการจัดชั้นหลักฐานเรียกว่า anecdotal เอาไปอ้างที่ไหนไม่ได้ ทำเสร็จแล้วตีพิมพ์ผลได้ที่เดียวคือที่บล็อกหมอสันต์นี่เอง แต่อย่างน้อยแฟนบล็อกที่เป็นสว.ก็จะได้อ่านเล่นๆเป็นอุทาหรณ์
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์