ผลการชกมวยคู่เอก ระหว่างอาหารคีโตกับอาหารเมดิเตอเรเนียน ออกมาแล้ว
(ภาพวันนี้: เยี่ยมบ้านหลังหนึ่งที่ปากช่อง)
วันนี้ผมงดตอบคำถามหนึ่งวันนะเพื่อเล่าถึงผลวิจัยทางโภชนาการที่น่าสนใจงานหนึ่ง เป็นการวิจัยเพื่อจะตอบคำถามว่าระหว่างอาหารคีโตที่ดีๆ กับอาหารเมดิเตอเรเนียนที่ดีๆ อย่างใหนจะมีผลต่อการลดน้ำหนัก เบาหวานและผลด้านอื่นๆของสุขภาพดีกว่ากัน เป็นงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งหาใด้ยากในสาขาโภชนาการ เพราะงานวิจัยทางโภชนาการระดับดีๆนั้นทำได้ยาก ใช้เงินมาก และไมมีสปอนเซอร์ ผมจึงให้ความสนใจงานวิจัยชิ้นนี้เป็นพิเศษ
ก่อนอื่นมารู้จักอาหารคีโตก่อน อาหารคีโตหมายถึงอาหารที่ได้พลังงานจากไขมันทุกชนิด ลดคาร์โบไฮเดรตลงเหลือน้อยที่สุด (25-50 กรัมต่อวัน) เพื่อบังคับให้ร่างกายต้องหันไปใช้คีโตนซึ่งเป็นโมเลกุลให้พลังงานของอาหารไขมันแทน (ketosis) อาหารชนิดนี้เป็นที่นิยมในการลดน้ำหนักและรักษาโรคเบาหวาน มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งบ่งชี้ว่าอาหารคีโตสัมพันธ์กับการลดน้ำหนักได้ดี และควบคุมน้ำตาลในคนเป็นเบาหวานได้ดี เป็นอาหารน้องใหม่มาแรงในหมู่ผู้ชอบกินเนื้อสัตว์และของมันๆ
ที่ผมว่างานวิจัยนี้ใช้อาหารคีโตแบบดีๆนั้นหมายความว่าปกติคนทั่วไปคิดกันง่ายๆว่าอาหารคีโตคืออาหารเนื้อสัตว์จึงกินแต่เนื้อ นม ไข่ ไส้กรอก เบคอน ที่มีแต่ไขมันอิ่มตัวแบบไม่บันยะบันยังซึ่งล้วนเป็นตัวก่อการอักเสบและโรคเรื้อรัง แต่งานวิจัยนี้ใช้อาหารคีโตแบบได้ดุล คือจำกัดโปรตีนไม่ให้สูงเวอร์จนเกิดปัญหากับร่างกายและจัดอาหารพืชที่ไม่มีแป้งสูงให้กินอย่างหลากหลายครบถ้วนด้วย
ส่วนอาหารเมดิเตอเรเนียนนั้นเป็นแชมป์เก่า เป็นอาหารที่มีกำเนิดมาจากเกาะครีต ประเทศกรีก ซึ่งเป็นชุมชนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังน้อยกว่ายุโรปทั่วไป เป็นอาหารที่อาศัยพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตจากพืชในรูปของธัญพืชไม่ขัดสี หัวใต้ดิน ถั่ว งา นัท และเมล็ดต่างๆ เป็นหลัก กินผลไม้และผักรวมทั้งสมุนไพรและเครื่องเทศแยะ กินเนื้อสัตว์เช่นปูปลากุ้งหอยเป็ดไก่บ้าง กินน้ำมันมะกอกมาก ดื่มไวน์แดงมาก มีงานวิจัยทางการแพทย์จำนวนมากบ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างอาหารเมดิเตอเรเนียนกับการลดความเสี่ยงเบาหวาน ไขมันสูง สมองเสื่อม มะเร็งเต้านม ลดน้ำหนัก ทำให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้น สุขภาพหัวใจดีขึ้น และอายุยืนขี้น
งานวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีให้อาสาสมัครซึ่งมีน้ำตาลในเลือดสูงระดับเป็นเบาหวานหรือใกล้จะเป็นเบาหวานแล้วทุกคนมาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งส่งปิ่นโตอาหารคีโตให้กินทุกมื้อทุกวัน อีกกลุ่มหนึ่งส่งปิ่นโตอาหารเมดิเตอเรเนียน ทำวิจัยอยู่นานรอบละสามเดือน ครบรอบแล้วก็สลับข้างกัน กลุ่มที่เคยกินคีโตเปลี่ยนมากินเมดิเตอเรเนียนแบบแลกที่กัน (cross over) ผลวิจัยขั้นสุดท้ายออกมาพบว่าอาหารทั้งสองแบบให้ตัวชี้วัดต่างๆ ดังนี้
ตัวชี้วัด | กลุ่มกินอาหารคีโต | กลุ่มกินอาหารเมดิเตอเรเนียน |
การลดน้ำหนักได้ดี | ไม่ต่างกัน | ไม่ต่างกัน |
การควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี | ไม่ต่างกัน | ไม่ต่างกัน |
ไขมันเลว (LDL) ในเลือด | เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม 10% | ลดต่ำลงกว่าเดิม 5% |
วิตามิน B1,B6, C, D, E ธาตุฟอสฟอรัส | ได้รับน้อยกว่า | ได้รับมากกว่า |
อาหารมีกาก (fiber) | ได้รับน้อยกว่า | ได้รับมากกว่ามากๆ |
สรุปว่าอาหารทั้งสองแบบต่างก็ลดน้ำหนักและควบคุมเบาหวานในระยะสั้นได้ดีพอๆกัน แต่อาหารคีโตทำให้ไขมันเลวในเลือดสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดในระยะยาวมากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ได้รับอาหารกากน้อยซึ่งจะมีผลต่อชุมชนจุลชีวิต (microbiomes) ในลำไส้ในทิศทางที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆมากขึ้นในระยะยาว
แฟนบล็อกหมอสันต์ที่กินอาหารคีโตอยู่ ผมแนะนำว่าหากยังไม่อยากเลิก ก็ควรกินไปแค่พอให้น้ำหนักลงพอให้เกิดกำลังใจพอควรแล้วควรจะค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (PBWF) หรืออาหารรูปแบบอื่นที่มีส่วนประกอบของพืชผักผลไม้ถั่วงานัทและธัญพืชไม่ขัดสีมากๆ เพราะนอกจากจะลดน้ำหนักและคุมน้ำตาลได้ดีไม่แตกต่างจากอาหารคีโตแล้ว ยังมีผลดีกว่าในระยะยาวในแง่ที่ช่วยลดการป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆลงได้อีกด้วย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Gardner CD, Landry MJ. Effect of a ketogenic diet versus Mediterranean diet on glycated hemoglobin in individuals with prediabetes and type 2 diabetes mellitus: The interventional Keto-Med randomized crossover trial. The American Journal of Clinical Nutrition 2022, nqac154, https://doi.org/10.1093/ajcn/nqac154