โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ (Thrombocytosis)
สวัสดีครับคุณหมอ
คุณหมอเป็นอาจารย์ผมทางยูทูป ให้ความรู้ดีมาก ผมเป็นโรคเกล็ดเลือดสูง เคยวูปไปครั้งหนึ่ง แล้วต่อมามึนหัวประจำ ตอนอายุ60ปี ต่อมาไปตรวจเลือด เกล็ดสูง 2.2 ล้าน ผลเลือดอย่างอื่นก็ใช้ได้ ปกติสุขภาพดี แต่เครียดบ่อย และกินน้ำน้อย(น่าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคนี้) ปัจจุปันอายุ66 สูง172หนัก52 (ก่อนป่วย56)ความดันประมาณ90-110 ตัวล่าง65-70หัวใจ55-75 เกล็ดเลือดประมาณ 5 แสนกว่า รักษาทั้งแพทย์ร.พ.และแพทย์ทางเลือก (ผมชอบแพทย์ทางเลือกที่ไม่ใช้ยาเคมีมากกว่า)โรคนี้เป็นกันน้อย หาคุณหมอที่รู้จริงยากมาก กินมังสะวิรัส วิ่งช้าๆ30-50นาที เกือบทุกวัน รำกระบองอีก5-10นาที ยึดหลักอาหารสุขภาพ อารมณ์ดี (ไม่เครียด ลูกเป็นออทิสติก ต้องดูแลด้วย แม่บ้านเสียแล้ว) ออกกำลังกาย ขับถ่ายทุกวัน นอนหลับดี 6-7ช.ม. ถ้าว่างผมจะดูยูทูปสูขภาพ & ธรรมะเสมอ พยายามปล่อยวาง นึกถึงความตายว่าใกล้เขามาทุกวัน ทำบุญให้มูลนิธิตามร.พ.มากกว่าไปวัด ไม่ว่าทุกข์หรือสุข เดี๋ยวมันก็จากไป โควิด19 หรือโรคต่างๆ ผมว่าอาจตายน้อยกว่าอุบัติเหตุทั้งหลายก็ได้ เราไม่ควรทุกข์ร้อนเกินไป จริงไหมครับคุณหมอ ถ้าคุณหมอจะแนะนำเพิ่มเติมเรื่องเกล็ดเลือดสูงด้วยก็ยินดีมากครับ
……………………………………………………………………………..
ตอบครับ
มีอีกสองสามท่านเขียนมาถามเรื่องเดียวกัน บางท่านบอกว่าเจาะไขกระดูกแล้วไม่พบอะไรผิดปกติจึงยิ่งทุกข์กังวล ผมขอรวบตอบพร้อมกันเลยนะครับ
โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ (thrombocythemia) คืออะไร
คือภาวะที่จำนวนเกล็ดเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติ (>450,000 ตัวต่อลบ.มม.) ซึ่งยังต้องวินิจฉัยแยกย่อยออกไปตามสาเหตุอีกสองกลุ่ม คือ
สาเหตุของโรค
โรคเกล็ดเลือดสูงเกินมีได้สองแบบ
- แบบปฐมภูมิ คือเกิดจากการผลิตเกล็ดเลือดในไขกระดูกเพิ่มขึ้นเอง (primary thrombocytosis)
- แบบทุติยภูมิ คือเป็นโรคอื่นแล้วโรคเหล่านั้นทำให้เกล็ดเลือดสูงขึ้น เพราะเกล็ดเลือดนี้เป็นด่านหน้าของการสนองตอบต่อสิ่งเร้าอย่างหนึ่งของร่างกาย พอเกิดโรคเช่น ติดเชื้อ อักเสบ เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว (CLL, CML) ไขกระดูกเสื่อม เม็ดเลือดแดงมากเกิน และโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น ก็จะทำให้เกล็ดเลือดสูงขึ้นแบบทุติยภูมิ เรียกว่า secondary thrombocytosis ปกติแพทย์จะพยายามแยกแยะว่าเป็นแบบไหนก่อนการรักษา เพราะหากเป็นแบบทุติยภูมิก็ต้องไปรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุก่อนแล้วเรื่องถึงจะจบได้
อาการโรคเกล็ดเลือดสูง
30% ของผู้ป่วยโรคนี้มักไม่มีอาการ แต่พบโรคนี้จากการตรวจเลือด สำหรับผู้ที่มีอาการ จะมีอาการได้ 3 แบบ คือ
- อาการจากการอุดตันหลอดเลือดเล็กๆ เช่น ปวดปลายนิ้ว นิ้วเขียว หรือนิ้วปวดแสบปวดร้อนและบวมแดง (erythromelagia) ซึ่งอาการจะหายไปเมื่อกินยาแอสไพริน
- อาการจากการอุดตันหลอดเลือดใหญ่ เช่นอัมพาตเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดปอด เป็นต้น
- อาการเลือดออกง่าย เช่น มีรอยจ้ำเขียวใต้ผิวหนังบ่อยๆ หรือเลือดออกทางปาก จมูก กระเพาะ ลำไส้
- อาการทางระบบประสาท เช่น ปวดหัว ชา อัมพฤกษ์ วิงเวียน บ้านหมุน เป็นลมหมดสติ ตาพร่า ชัก เป็นต้น
การสืบค้นเพื่อช่วยวินิจฉัย
แบ่งเป็นสี่ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1. ตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) หากมีเกล็ดเลือดมากกว่า 450,000 ตัวต่อลบ.มม.ก็วินิจฉัยว่าเป็นเกล็ดเลือดสูง แต่ยังไม่ทราบสาเหตุ
ขั้นตอนที่ 2. เจาตรวจไขกระดูก หากพบเซลตัวแม่ของเกล็ดเลือด (megakaryocytes) เพิ่มมากขึ้นก็แสดงว่าเป็นโรคเกล็ดเลือดเพิ่มสูงแบบปฐมภูมิ
ขั้นตอนที่ 3. ตรวจหายีนผิดปกติ (mutated) ที่ทำให้เกิดโรคนี้ชื่อ JAK2, CALR, หรือ MPL หากพบก็ช่วยบอกว่าเกล็ดเลือดต่ำแบบปฐมภูมิ เพราะ 90% ของผู้ป่วยมักมียีนผิดปกติเหล่านี้
ขั้นตอนที่ 4. ทำการสืบค้นอื่นๆเพื่อหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกล็ดเลือดสูง เช่น ติดเชื้อ อักเสบ เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว (CLL, CML) ไขกระดูกเสื่อม เม็ดเลือดแดงมากเกิน และโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น
การรักษา
- ถ้าพบโรคที่เป็นสาเหตุของเกล็ดเลือดสูงแบบทุติยภูมิ เช่น ติดเชื้อ อักเสบ เลือดออก เป็นมะเร็ง โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก ม้ามโต หรือตัดม้ามมา เป็นต้น ก็ทำการรักษาโรคต้นเหตุก่อน แล้วเกล็ดเลือดจะลดลงมาปกติเอง
- ถ้าไม่มีอาการ และไม่พบโรคอื่น ก็ไม่ต้องรักษาอะไร แค่ติดตามดูเชิงไปด้วยการเจาะเลือดดูทุกปี เฝ้าดูว่าม้ามโตขึ้นหรือเปล่า ยกเว้นถ้าเกล็ดเลือดสูงกว่า 1 ล้านตัวต่อลบ.มม. ก็เป็นประเพณีนิยมว่าควรให้กินแอสไพริน (65 มก.ต่อวัน) เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด ส่วนการให้ยากดไขกระดูกเพื่อลดการสร้างเกล็ดเลือดนั้น ไม่ได้ประโยชน์มากไปกว่าให้แอสไพรินอย่างเดียว
- ถ้าโรคเป็นมากถึงระดับมีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ยากดการสร้างเกล็ดเลือด เช่นยา hydroxyurea และยา anagrelide ยาเหล่านี้มีข้อเสียคือให้กินแล้วมักจะต้องกินกันต่อไปไม่สิ้นสุดและมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มาก ในรายที่รุนแรงมากอาจใช้มาตรการฉุกเฉินเป็นครั้งคราวโดยถ่ายเอาเลือดออกมาแยกเอาเกล็ดเลือดทิ้งแล้วเอาเลือดที่เหลือใส่กลับคืนให้ใหม่ (plateletpheresis)
ในภาพรวมโรคเกล็ดเลือดสูงเป็นโรคที่มีคนเป็นกันน้อยมาก เรียกว่าเป็นโรคลึกลับหายาก และยังไม่มีวิธีรักษาจำเพาะ แต่ผมพอให้ข้อมูลให้อุ่นใจได้อย่างหนึ่งว่างานวิจัยอัตรารอดชีวิตในสิบปีของคนเป็นโรคนี้มีอัตรารอดชีวิตได้ถึง 80% ซึ่งก็ใกล้เคียงกับคนปกติ ดังนั้นคนเป็นโรคนี้ไม่ต้องไปวิตกกังวลถึงอนาคตมากเกินไป
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Tefferi A, Barbui T. Polycythemia vera and essential thrombocythemia: 2017 update on diagnosis, risk-stratification, and management. Am J Hematol. 2017 Jan. 92 (1):94-108.
- Lee HS, Park LC, Lee EM, Lee SJ, Shin SH, Im H, et al. Incidence Rates and Risk Factors for Vascular Events in Patients With Essential Thrombocythemia: A Multicenter Study From Korea. Clin Lymphoma Myeloma Leuk. 2011 Nov 14.
- Shrestha R, Giri S, Pathak R, Bhatt VR. Risk of second primary malignancies in a population-based study of adult patients with essential thrombocythemia. World J Clin Oncol. 2016 Aug 10. 7 (4):324-30.
- Yogarajah M, Tefferi A. Leukemic Transformation in Myeloproliferative Neoplasms: A Literature Review on Risk, Characteristics, and Outcome. Mayo Clin Proc. 2017 Jul. 92 (7):1118-1128.
- Tefferi A, Fonseca R, Pereira DL, Hoagland HC. A long-term retrospective study of young women with essential thrombocythemia. Mayo Clin Proc. 2001 Jan. 76(1):22-8.
- Godfrey AL, Campbell PJ, MacLean C, et al. Hydroxycarbamide Plus Aspirin Versus Aspirin Alone in Patients With Essential Thrombocythemia Age 40 to 59 Years Without High-Risk Features. J Clin Oncol. 2018 Aug 28. JCO2018788414.