คุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ฉายภาพชีวิตใน "ห้องรวม"

(สคริปต์ วิดิโอ)

สว้สดีครับ ผมสันต์ ใจยอดศิลป์นะครับ กำลังอยู่ที่เวลเนสวีแคร์ ที่มวกเหล็ก วันนี้เราคุยกันเรื่องคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ขอว่าไปทีละประเด็นประเด็นที่ 1. คุณภาพชีวิต คือความเป็นเอกเทศและความสามารถพึ่งตัวเองผู้สูงวัยแต่ละท่านต่างก็มีอัตลักษณ์ของตัวเอง มีประวัติศาสตร์ ค่านิยม ความรู้ ประสบการณ์ เจตคติ และสายสัมพันธ์ ของตัวเอง เขาหรือเธอจึงต้องมีอิสระ มีโอกาสเลือก มีโอกาสที่จะได้ตัดสินใจเอง ในภาพใหญ่คุณภาพชีวิตขึ้นกับสองปัจจัยหลัก คือ (1) การเป็นเอกเทศ (autonomy) หมายถึงการสามารถตัดสินใจได้เองและลงมือทำได้เองว่าวันหนึ่งๆจะใช้ชีวิตอย่างไร จะทำอะไรก็สามารถทำได้อย่างที่ใจตัวเองปรารถนา ตัวอย่างของผู้สูงวัยที่ไม่เป็นเอกเทศก็เช่นเพื่อนๆเขาคุยกันว่าจะไปเที่ยวดอยอ่างข่างหน้านี้ดอกไม้สวย ก็อู๊ย..ย อยากไปด้วย พอเพื่อนเขาบอกว่าก็ไปด้วยกันสิ คำตอบก็คือ ไปได้ไงหงะ แล้วใครจะดูหมาสามตัว แมวอีกสี่ตัว คือชีวิตถูกรัดรึงจำกัดด้วยปัจจัยภายนอก หรืออีกตัวอย่างหนึ่งสุดโต่งไปเลย อันนี้เรื่องจริงนะ คนไข้ของผมเล่าให้ฟังว่าผู้สูงอายุที่ข้างบ้านของเขาถูกลูกชายต่อกรงแบบเล้าไก่ให้อยู่แต่ใต้ถุนบ้าน พอปล่อยออกไปเพ่นพ่านนอกบ้านเมื่อไหร่เป็นได้ตามหาตัวกันจ้าละหวั่น คือไปแล้วหาย จึงต้องต่อกรงให้อยู่ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความไม่เป็นเอกเทศ (2) การพึ่งตัวเอง (independence) อันนี้หมายถึงทางร่างกาย หมายถึงความสามารถทำกิจกรรมจำเป็นในชีวิตประจำวันขณะอยู่ในบ้านเช่นอาบน้ำ กินข้าวหรือขณะอยู่ในชุมชนเช่นเดินตามทางเท้าได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาคนช่วยหรือพึ่งน้อยที่สุดประเด็นที่ 2. การนิยามคุณภาพชีวิตด้วยเส้นแบ่งกลุ่มตามระด้บการพึ่งพาวงการแพทย์แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุตามระดับของการต้องพึ่งพาผู้อื่นออกเป็นสามกลุ่ม ซึ่งเป็นตัววัดระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยด้วย คิอ1. กลุ่มไม่ต้องการพึ่งพา (independent living) 2. กลุ่มกึ่งพึ่งพา (assisted living)3. กลุ่มพึ่งพา (dependent living)เส้นแบ่ง 1 ระหว่างกลุ่มไม่ต้องการพึ่งพา (independent living) กับกลุ่มกึ่งพึ่งพา (assisted living) นิยามด้วยกิจกรรม 7 อย่าง เรียกย่อว่า IADL (instrumental activity daily living) คือทุกคนเริ่มต้นเป็นผู้สูงอายุในกลุ่มไม่ต้องการพึ่งพา แต่ถ้าทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 อย่างต่อไปนี้ไม่ได้ แม้เพียงอย่างเดียว ก็ถือว่าตกลงไปอยู่ในกลุ่มกึ่งพึ่งพาแล้ว การรู้จักเส้นแบ่งเหล่านี้สำคัญ เพราะบางครั้งตัวผู้สูงอายุเองเป็นผู้กดตัวเองให้สูญเสียคุณภาพชีวิตเพราะไม่เข้าใจว่าเส้นแบ่งเหล่านี้สำคัญ คือ (1) อยู่คนเดียวไม่ได้ คือเหงาแล้วจะมีอันเป็นไป รวมไปถึงการสื่อสารกับโลกภายนอกไม่ได้ โทรศัพท์ไม่ได้ เป็นต้น (2) ขนส่งตัวเองไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องขับรถหรือขี่จักรยานเองได้ แต่อย่างน้อยก็ขอให้มีปัญญาไปไหนมาไหนเองไม่ได้ ไปขึ้นรถเมล์รสสองแถวเองได้ เป็นต้น (3) จัดการอาหารตัวเองไม่ได้  (4) ไปจ่ายตลาดช้อปปิ้งเองไม่ได้ (5) จัดการที่อยู่ของตัวเองไม่ได้ หมายถึงปัดกวาดเช็ดถูทิ้งขยะ (6) บริหารยาตัวเองไม่ได้ หมอให้กินยาอะไรบ้างไม่รู้ ทำไมถึงต้องกินยาแต่ละตัวไม่รู้ กินอย่างไรไม่รู้ ขนาดเท่าไหร่ไม่รู้ มีผลข้างเคียงอย่างไร..ไม่รู้ (7) บริหารเงินของตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ว่าเงินตัวเองมีเท่าไหร่ ติดลบไปแล้วหรือยัง จ่ายบิลต่างๆเช่นประปา ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ท รับเงิน (ถ้ายังมีรายรับ) โอนเงิน ฝากเงิน ทำไมได้ทั้งนั้นเส้นแบ่ง 2 ระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มกึ่งพึ่งพา (assisted living) กับกลุ่มต้องการพึ่งพา (dependent living) นิยามด้วยกิจกรรมจำเป็นห้าอย่างต่อไปนี้ เรียกย่อว่า ADL (activity daily living) ถ้าทำไม่ได้แม้เพียงอย่างเดียวก็จะถูกจัดไปเข้ากลุ่มต้องพึ่งพา คือ (1) ทำความสะอาดตัวเองไม่ได้ เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ตัดเล็บ หวีผม (2) ใส่เสื้อผ้าเองไม่ได้ (3) กินเองไม่ได้ ต้องป้อนหรือใช้สายยาง (4) ควบคุมการอึฉี่ไม่ได้ หรือเข้าห้องสุขาเองไม่ได้ (5) เคลื่อนไหวเองไม่ได้ ลุกจากเตียงเองไม่ได้ เดินหรือขึ้นรถเข็นเองไม่ได้ เข็นล้อเข็นให้ตัวเองไม่ได้เส้นแบ่ง 7+5 นี้สำคัญตรงที่ผู้สูงวัยทุกคนต้องทำตัวไม่ให้หลุดเส้นแบ่งเหล่านี้ลงมา มิฉะนั้นคุณภาพชีวิตก็จะหลุดลงมาด้วยประเด็นที่ 3. ลางบอกเหตุว่าคุณภาพชีวิตจะแย่ ลางบอกเหตุนี้เรียกว่า Frailty Syndrome (กลุ่มอาการอ่อนแอในผู้สูงอายุ) ตรงนี้เป็นเหมือนหลุม ที่เมื่อตกลงไปแล้วยากที่จะปีนกลับขึ้นมาได้ ลางบอกเหตุว่าท่านจะตกลงไปในหลุมนี้แล้วมีอยู่ 5 อย่าง คือ

(1) น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ (ลดเกิน 5% ในหนึ่งปี)
(2) ขาดพลัง หมดเรี่ยวแรง จากเดิมพลังงานเต็มสิบ ลดลงเหลือน้อยกว่าสาม
(3) มีกิจกรรมน้อยลง
(4) เชื่องช้าลง เดินห้าเมตร ใช้เวลานานเกินห้าวินาที
(5) กล้ามเนื้อหมดแรง หยิบอะไรก็หล่น มือบีบอะไรไม่ลง แรงบีบมือลดเหลือต่ำกว่า 20%

ดังนั้นเมื่อมีลางบอกเหตุอันใดอันหนึ่งในห้าอย่างนี้เกิดขึ้นกับตัวท่าน ให้รีบแก้ไขทันที ด้วยการออกกำลังกายขยันปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาใช้ชีวิต เคลื่อนไหวให้กระฉับกระเฉงรวดเร็วชุบชับ เล่นกล้ามอย่างเอาเป็นเอาตาย แล้วท่านจะปีนขึ้นมาจากหลุมได้ มิฉะนั้นท่านจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ใน “ห้องรวม” อีกนาน..น…น กว่าวันนั้นจะมาถึง  การบำบัดโรคอ่อนแอในผู้สูงอายุด้วยวิธีอื่นเช่นการบำบัดทางโภชนาการโดยไม่มีการออกกำลังกายพบว่าไม่ได้ผล พูดง่ายๆว่าถ้าไม่ออกกำลังกายเสียอย่าง แม้จะตั้งใจกินหรือตั้งใจกรอกอาหารเสริมอย่างไรก็ไม่ได้ผล ต้องเข็นให้ออกกำลังกายให้ได้ก่อน พอมีความอยากอาหาร การบำบัดด้วยอาหารจึงจะมีช่องทางได้ประโยชน์ ส่วนการบำบัดด้วยยา ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมน IGF1 หรือยาต้านการอักเสบ ล้วนมีผลสองด้านคือดีบ้างเสียบ้าง ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าดีมากกว่าเสียหรือเสียมากกว่าดี ดังนั้นผมจึงยังไม่แนะนำ 
ประเด็นที่ 4. การป้องกันสมองเสื่อมงานวิจัย FINGER study ได้เอาคนแก่ที่มีคุณสมบัติอย่างหมอสันต์นี้มา 1260 คน ทุกคนมีคุณสมบัติครบสามข้อต่อไปนี้ คือ (1) มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือด (2) มีอายุมากเกิน 60 ปี (3) ที่เป็นสมองเสื่อมแล้ว เอามาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ     กลุ่มที่ 1. ให้เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตใน 3 ประเด็นคือ (1) กินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (2) ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันโดยควบการออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและเล่นกล้าม (3) ทำกิจกรรมท้าทายสมองทุกวัน     กลุ่มที่ 2. ให้ใช้ชีวิตแบบที่เคยใช้     ทำการวิจัยอยู่ 2 ปี แล้ววัดผลด้วยคะแนนวัดความเสี่อมของสมองทั้งหกด้าน (สติ, ความจำ, การคิดวินิจฉัย, การเคลื่อนไหว, ภาษา, การสังคม) เปรียบเทียบก่อนและหลังการวิจัย พบว่า แถ่น แทน แท้น.. กลุ่มที่เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตมีการทำงานของสมองทั้งหกด้านดีกว่ากลุ่มที่ไม่เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ นี่เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับสูงที่ได้จากการวิจัยกับคนจำนวนมากด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ชิ้นแรก ที่บอกเราว่าโรคอัลไซเมอร์ป้องกันหรือชลอลงได้ด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต     สรุปว่า มาถึงวันนี้แล้ว หลักฐานที่รวบรวมจากทุกทิศทุกทางพอจะสรุปได้ว่าการจะป้องกันและพลิกผันโรคอัลไซเมอร์นั้น จะต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้ครอบคลุม 5 ประเด็น คือ (1) โภชนาการ (2) การออกกำลังกาย (3) การจ้ดการความเครียด (4) การนอนหลับ (5) การกระตุ้นท้าทายสมองอยู่เป็นนิจ ซึ่งผมขอเจาะไปทีละประเด็น     1. โภชนาการ โภชนาการเพื่อการฟื้นฟูสมองโดยเฉพาะกรณีเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นสรุปได้แน่ชัดแล้วว่าต้องเป็นโภชนาการในแนวที่กินพืชผักผลไม้เป็นอาหารหลัก อาหารที่อันตรายต่อสมองที่ต้องลดลงเป็นพิเศษคือน้ำตาล ไขมันทรานส์ และไขมันอิ่มตัว ต้องลดให้เหลือน้อยที่สุด      2. การออกกำลังกาย มีงานวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูสมองว่าซึ่งพิสูจน์ได้แล้วว่ามีประเด็นสำคัญสามประเด็น คือ     ประเด็นที่ 1. การออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับเบา ไม่ดีเท่าการออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควร (moderate intensity) คือต้องให้ได้ความหนักระดับปานกลางขึ้นไป คือยิ่งหนักยิ่งดี อย่างน้อยก็คือต้องมีหอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้ต่อเนื่องไปอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีสัปดาห์ละ 5 ครั้ง     ประเด็นที่ 2. การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างเดียว ฟื้นฟูสมองได้ไม่ดีเท่าการออกกำลังกายควบทั้งแบบแอโรบิกและแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม)     ประเด็นที่ 3. การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว ซึ่งเป็นการประสานสติ ตา หูชั้นใน กล้ามเนื้อ และข้อ เข้าด้วยกัน ลดโอกาสลื่นตกหกล้มในผู้ป่วยที่มีความเสียหายของเนื้อสมองจากเหตุใดๆก็ตามลงได้     3. การจัดการความเครียด     ในขณะที่สมองส่วนหนึ่งเสียหายไปผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการตั้งสติมีสมาธิ แต่ในอีกด้านหนึ่งการมีสติสมาธิก็มีบทบาทสูงมากในการฟื้นฟูสมองของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ดังนั้นจะอย่างไรเสียก็จะต้องทุ่มเทให้กับการจัดการความเครียด ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การฝึกวางความคิด กิจกรรมฝึกวางความคิดที่งานวิจัยพบว่ามีประโยชน์ต่อการชลอการเสื่อมของสมองทั้งหกด้านมีสามกิจกรรม คือ นั่งสมาธิ (meditation) โยคะ และไทชิ (Tai Chi)      4. คุณภาพของการนอนหลับ มีหลักฐานวิจัยแน่ชัดเชื่อมโยงการนอนไม่หลับหรือหลับไม่ดีกับการเป็นสมองเสื่อม ทั้งที่วัดโดยการคั่งของสารอะไมลอยด์ในสมอง หรือวัดโดยการทำงานของสมอง ดังนั้นคนขึ้หลงขี้ลืมจำเป็นที่จะต้องประเมินความจำเป็นของการใช้เครื่องช่วยหายใจขณะหลับ (CPAP) ด้วยการตรวจการนอนหลับ (sleep lab) และหากตรวจแล้วพบว่ามีการหยุดหายใจบ่อยก็ควรใช้ CPAP เพื่อช่วยให้สมองได้ออกซิเจนพอเพียงขณะนอนหลับ     นอกจากนั้นยังต้องฝึกปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับ อันได้แก่ (1) การเข้านอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา (2) การไม่นอนกลางวัน ถ้าจำเป็นก็แค่งีบสั้นๆ (3) การปรับห้องนอนให้สะอาด เรียบง่าย เงียบสนิท มืดสนิท และเย็น (4) การไม่ทำงานในห้องนอน ไม่กินของว่างหรือคุยในห้องนอน (5) ไม่เอาทีวี โทรศัพท์ ไลน์ เฟซ นาฬิกาปลุก ไว้ในห้องนอน (6) เตรียมตัวนอน 30 นาที โดยหยุดกิจกรรมตื่นเต้น หรี่ไฟ ใส่ชุดนอนหลวมๆสบายๆ นั่งพักโดยไม่ทำอะไร หรือนั่งสมาธิ (7) ไม่ทานอาหารมื้อใหญ่ใน 3 ชม.ก่อนนอน (8) ออกกำลังกายหนักพอควรทุกวัน (9) งดกาแฟและยาที่ทำให้นอนไม่หลับ     5. การทำกิจกรรมท้าทายสมอง กิจกรรมท้าทายที่ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อเซลสมองขึ้นมาใหม่มีอย่างน้อยสิบสามกลุ่มกิจกรรม ได้แก่     (1) การค้นหาทางไปหรือถนนหนทาง     (2) การเรียนภาษาที่สอง     (3) ดนตรี     (4) เต้นรำ     (5) การกลับไปเรียนหนังสือใหม่ในสถาบันการศึกษา     (6) การทำงานวิชาชีพที่ซับซ้อน     (7) การเผชิญความท้าทายที่ยากลำบาก     (8) การฝึกภายใต้ระบบจำลอง (virtual reality)     (9) การร้องเพลงหรือคาราโอเกะ     (10) การเล่าเรื่องตลกให้คนอื่นหัวเราะ     (11) เล่นไพ่บริดจ์ รัมมี่ หรือโป้กเกอร์     (12) ทำงานวิชาชีพที่ซับซ้อน หรือสอนวิชาชีพตัวเองให้คนอื่น     (13) วาดรูป แกะสลัก ปั้น เจียรนัย และงานศิลป์อื่นๆ

ประเด็นที่ 5. ฉายภาพชีวิตใน “ห้องรวม” ให้เห็นล่วงหน้า

ผมเคยเดินทางดูกิจการบ้านพักผู้สูงวัยทั่วโลก ซึ่งมีความเหมือนกันมาก คือพวกที่มีเงินจ้างผู้ดูแลส่วนตัวมาดูแลที่บ้านตัวเองนั้นจะมีชีวิตแบบหนึ่ง แต่ว่าแบบนั้นถ้าเป็นเมืองไทยก็ต้องมีเดือนละ 120,000 ถึง 150,000 บาทนะ นี่ผมดูจากเพื่อนๆที่เขาเลี้ยงดูพ่อแม่เขากันอยู่ทุกวันนี้นะ คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีเงินระดับนี้ก็ต้องไปอยู่แบบ “ห้องรวม” ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันทั่วโลก และเมืองไทยต่อไปก็ไม่แคล้วต้องเป็นอย่างนั้น ผมจึงอยากจะฉายภาพให้ดูล่วงหน้าว่าถ้าท่านไม่ตั้งใจออกกำลังกายดูแลตัวเองเมื่อมีลางบอกเหตุว่าชีวิตจะเริ่มไร้คุณภาพ ยังปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นผู้สูงอายุกลุ่มต้องพึ่งพา ต่อจากนั้นท่านจะได้พบกับอะไร กล่าวคือบ้านพักผู้สูงวัยแบบ “ห้องรวม” ทั่วโลกจะมีลักษณะเหมือนกันดังนี้

1. นอนเตียงใครเตียงมันก็จริง แต่ก็อยู่แบบตัวใครตัวมันด้วย มีกลไกหรือหุ่นยนต์ที่ช่วยพลิกตัวเปลี่ยนท่านอนให้ทุกเตียง ซึ่งบางเตียงต้องเปลี่ยนท่านอนทุกหนึ่งชั่วโมง กลไกนี้แขวนลงมาจากเพดานหรือจากหุ่นยนต์ที่เลื่อนไประหว่างเตียง และมีรีโมตคุม กลไกนี้มีประโยชน์มากเพราะหากไม่มีกลไกนี้ ผู้สูงอายุจะถูกปล่อยให้นอนแช่ในท่าเดิมแล้วเกิดแผลกดทับ อย่าไปหวังว่าจะมีมือนิ่มๆจากผู้ดูแลมาคอยพลิกตัวให้ทุกชั่วโมง สมัยนี้ไม่มีแล้ว เพราะผู้สูงอายุมีมาก ผู้ดูแลมีน้อย ค่าจ้างแพง ผู้ดูแลคนหนึ่งต้องวิ่งรอกดูแลผู้สูงวัยหลายเตียง

2. ตัวห้องนอนรวมนั้นบรรยากาศเหนือคำบรรยาย คือหากออกแบบไว้ระบายกลิ่นและความชื้นไม่ดี กลิ่นจะแรงกว่าคอกวัวนมเสียอีก ผมไม่ได้พูดเล่นนะ ติดแอร์ก็ไม่เหมาะด้วย เพราะติดเมื่อไหร่เป็นอบอวลไปด้วยกลิ่นฉี่กลิ่นอึเมื่อนั้น

3. การอาบน้ำต้องถูกพาไปห้องอาบน้ำรวม ไปทีละคน มีหุ่นยนต์หรือกลไกยกตัวผู้สูงอายุให้สูงลอยเท้งเต้งขึ้นไปกลางอากาศ แล้วมีกลไกระดมฉีดน้ำล้างเหมือนเราล้างแม่วัวก่อนจะรีดนม และเมื่อวางผู้สูงอายุลงและเข็นออกมาเช็ดตัวแล้วจากนั้นก็ต้องมีกลไกอัตโนมัติฉีดน้ำล้างห้องนั้นแบบบำบัดสิ่งโสโครกทันทีเพื่อให้บริการรายถัดไป เหมือนกับโรงล้างรถยนต์ตามคาร์แคร์ สถาบันไหนไม่มีระบบอย่างนี้ก็ค่อนข้างแน่ว่าจะทำให้ผู้สูงอายุถูก “ซักแห้ง” ทีละหลายวัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สถาบันจะมีเงินจ้างผู้ดูแลมากพอที่จะอาบน้ำเช็ดตัวให้ผู้สูงอายุทีละคนๆอย่างทั่วถึงได้

4. ญาติจะไม่ได้เข้าเยี่ยมในห้องนอนจริงๆดอก เขาจะมีห้องพบกับครอบครัว (Family meeting room) หมายถึงว่าเมื่อมีลูกหลานมาเยี่ยม ผู้สูงอายุจะถูกเข็นมาพบกับลูกหลานในห้องนี้ จะไม่อนุญาตให้ลูกหลานเข้าไปเยี่ยมในห้องที่ผู้สูงอายุนอนรวมกันเด็ดขาดโดยอ้างความเป็นส่วนตัวหรืออ้างว่าจะป้องกันการติดเชื้อ แต่ความเป็นจริงคือหากให้ลูกหลานเข้าไปเยี่ยมห้องที่ผู้สูงอายุนอนอยู่จริงๆก็จะพากันอาเจียนโอ๊กอ้ากเนื่องจากไม่คุ้นกับกลิ่นของห้อง

ท่านฟังผมพูดแล้วอาจจะสยอง แต่ว่านี่คือชีวิตจริง หากท่านไม่ตั้งใจเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตตัวเอง ไม่ตั้งใจดูแลตัวเองให้ช่วยเหลือตัวเองไปให้ได้นานที่สุดจนชนวันสุดท้าย และหากท่านไม่มีเงินจ้างผู้ดูแลส่วนตัว ท่านจะมีชีวิตตามแบบที่งานวิจัยของรัฐบาลแคนาดารายงานไว้ คือ 50% ของผู้สูงวัยแคนาดา จะใช้ชีวิตใน 10 ปีสุดท้ายอย่างสะง็อกสะแง็กและไม่มีคุณภาพ ซึ่งแน่นอนส่วนใหญ่จะเป็นชีวิตใน “ห้องรวม” ดังนั้น ขยันดูแลตัวเองซะแต่เดี๋ยวนี้ จะได้มีชีวิตอย่างเป็นเอกเทศและไม่ต้องพึ่งพาใครไปให้ได้นานจนชนวันสุดท้าย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี