ทุกประเด็นเกี่ยวกับการทำน้ำให้สะอาดเพื่อดื่ม
เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
กำลังรบกับสามีเรื่องเขารบจะเปลี่ยนเครื่องกรองน้ำ ที่ต้องรบกันก็เพราะนี่เปลี่ยนมาสองครั้งแล้ว ตอนแรกใช้เครื่องกรองมีเรซินสามกระบอก แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเครื่องกรองนาโน คราวนี้เขารบจะเปลี่ยนอีกเป็นเครื่องกรอง RO เอาข้อมูลมาให้ดูว่ามีการทดสอบยืนยันว่าทั้งน้ำประปา น้ำกรองเรซิน น้ำดื่มใส่ขวดขาย ล้วนใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะจุ่มตัวทดสอบแบบสองขาลงไปน้ำที่คิดว่าสะอาดเช่นน้ำประปาหรือน้ำใส่ขวดขายก็กลายเป็นขุ่นคลั่กดำปี๋ มันคือการตรวจอะไรคะ อีกการทดสอบหนึ่งเอาเครื่องวัดสารปนเปื้อนในน้ำจุ่มลงไปก็ขึ้นตัวเลขพรวดๆให้ดูว่าปนเปื้อนมาก มันเชื่อถือได้ตามตัวเลขนั้นไหมคะ ต้องน้ำกลั่นเติมแบตเตอรีหรือน้ำ RO ที่กรองด้วยเครื่องที่เขาอยากซื้อนี้เท่านั้นจึงจะผ่านการทดสอบทุกอย่างฉลุย ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไรคะคุณหมอ ถ้ามันจริงอย่างแฟนเขาว่าคนที่ดื่มน้ำประปามิตายกันไปหมดแล้วหรือ หนูรบกวนขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วย
…………………………………………………………………..
ตอบครับ
ผมไม่ยอมเขียนเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับเครื่องทำน้ำหรือเครื่องกรองน้ำมานานแล้ว เพราะหลายปีมาแล้วผมเคยเขียนเรื่องน้ำด่างแล้วมีแฟนบล็อกท่านหนึ่งซึ่งทำมาหากินด้วยการขายเครื่องทำน้ำด่างเขียนมาโอดครวญกับผมว่าการขายเครื่องทำน้ำด่างเป็นอาชีพสุจริตที่เธอใช้หากินเลี้ยงลูกเลี้ยงสามี บทความของผมทำลายชีวิตของเธอไปเลย ผมรู้สึกไม่ดีเลย เพราะไม่ใช่เจตนาของผมที่จะไปทำให้ใครเดือดร้อน นี่เป็นครั้งที่สองที่ผมยอมตอบเรื่องน้ำ โดยผมจะพยายามไม่เขียนแบบไปทุบหม้อข้าวของใคร
1.. ถามว่าการทดสอบความสะอาดของน้ำด้วยวิธีจุ่มเครื่องทดสอบสองขาลงไปแล้วทำให้เห็นว่าน้ำที่สกปรกจะขุ่นขึ้นมานั้นมันคืออะไร ตอบว่ามันคือการเล่นกลหลอกเด็กที่ยังไม่ได้เรียนวิชาวิทย์ระดับม. 2 วิธีการทำอย่างนั้นเรียกว่าการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (electrophoresis) เพราะขึ้นชื่อว่าน้ำที่มนุษย์ดื่มทุกชนิด (ยกเว้นน้ำกลั่น) ย่อมจะมีคุณสมบัตินำไฟฟ้าได้ เนื่องจากในน้ำดื่มเหล่านั้นย่อมจะมีอิออนที่มีประจุบวกอยู่ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม เป็นต้น เมื่อเอาขั้วไฟฟ้าสองขั้วคือบวกกับลบจุ่มลงไป น้ำนั้นจะนำไฟฟ้าได้ เกิดสนามไฟฟ้าขึ้น ทำให้ประจุอิสระในน้ำพากันวิ่งไปตามแรงของสนามไฟฟ้า กล่าวคือ อิออนประจุบวกก็จะวิ่งไปจับที่ขั้วลบ ตัวน้ำเองก็จะถูกแยกเป็นออกซิเจนไปปุดๆเป็นแก้สที่ขั้วบวกขณะที่ไฮโดรเจนไปปุดๆเป็นแก้สที่ขั้วลบ อยากได้ความขุ่นสีอะไรก็เลือกโลหะที่จะเอามาทำหน้าที่เป็นขั้วไฟฟ้า เช่นหากใช้ทองแดง มันก็จะแตกตัวให้ทองแดงอิออน (Cu++) วิ่งไปจับเป็นสีฟ้าๆที่ขั้วลบ อยากได้สีแดงแบบสนิมเหล็กก็ใช้ขั้วเหล็ก อยากได้สีเทาดำให้สะใจไปเลยก็ใช้ขั้วเงิน เป็นต้น ตัวอิออนที่มีเป็นธรรมชาติในน้ำอยู่แล้วเช่นแคลเซียมแมกนีเซียมก็จะแตกตัวออกจากความเป็นเกลือหรือสารผสมกลายเป็นอิออนอิสระไปจับที่ขั้วไฟฟ้าช่วยสร้างความขุ่นขึ้นมาอีกทาง แต่พอไปเล่นกลแบบเดียวกันนี้กับน้ำกลั่นเพื่อเปรียบเทียบจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะน้ำกลั่นนำไฟฟ้าไม่ได้ สนามไฟฟ้าในน้ำก็ไม่เกิดขึ้น แต่ผู้ชมถูกหลอกไปแล้วเรียบร้อยว่า โอ้ โฮ เฮะ สะอาดต่างกันเลย
ผมขอย้ำว่าทั้งหมดนี้ไม่ว่าน้ำจะขุ่นขึ้นมาแค่ไหน จะเป็นสีอะไร ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความสะอาดความสกปรกหรือความปลอดภัยไม่ปลอดภัยของน้ำดื่มเลยพระเจ้าข้า แต่เกี่ยวกับ (1) กระแสไฟฟ้า (2) ชนิดของอิออนที่มีอยู่เป็นปกติธรรมชาติในน้ำดื่มทั่วไป (3) ชนิดของโลหะที่ใช้ทำขั้วไฟฟ้า
2.. ถามว่าการตรวจด้วยวิธีเอาเอาเครื่องวัดสารปนเปื้อนจุ่มลงไปในน้ำแล้วมันขึ้นตัวเลขพรวดๆบอกปริมาณสิ่งเจือปนในน้ำให้ดูนั้นมันคืออะไรเชื่อถือได้ไหม ตอบว่ามันคือเครื่องวัด TDS meter ย่อมาจาก total dissolved solids แปลว่าการวัดสารที่เป็นอะตอมหรือโมเลกุลในสถานะของแข็งที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ ไม่ได้เป็นการวัดความสอาด (จากเชื้อโรค)หรือความปลอดภัย (จากสารพิษ) ของน้ำแต่อย่างใด อย่าลืมว่าเกลือแร่ในน้ำดื่มที่ใสสะอาดตามธรรมชาติเช่นแคลเซียม แมงกานีส โซเดียม นั้นมันก็เป็นของแข็งนะ วัดเมื่อไหร่ค่ามันก็ขึ้นเมื่อนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำนั้นดื่มไม่ได้ มันคนละเรื่องเดียวกันพระเจ้าข้า แล้วจะวัดไปทำพรื้อ
ตอบคำถามคุณหมดแล้วนะ แต่ไหนๆคุณก็เขียนมาแล้ว ผมขอถือโอกาสนี้ทำหน้าที่หมอป้องกันโรคซะเลย กล่าวคือวิธีป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพที่ WHO บอกว่าทำแล้วคุ้มค่าเงินที่สุดคุ้มกว่าการฉีดวัคซีนเสียอีกก็คือการจัดหาน้ำสะอาดดื่ม ดังนั้นวันนี้เราคุยกันเรื่องนี้หน่อย
ประเด็นที่ 1. ความปลอดภัยของน้ำดื่มเป็นคนละเรื่องกับการมีหรือไม่มีแร่ธาตุต่างๆในน้ำ
น้ำดื่มที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ ต้องมีธาตุต่างๆที่ร่างกายต้องการเป็นประจำอยู่ในน้ำอยู่แล้วในรูปของสารละลายในน้ำ (electrolyte) เช่นโซเดียม แมกนีเซียม แคลเซียม เป็นต้น หลายสิบปีก่อนเมื่อประเทศแถบตะวันออกกลางเริ่มทำน้ำกลั่นให้คนดื่ม ก็พบว่าดื่มแล้วร่างกายมีอาการสะโหลสะเหลเพราะดุลของอีเล็คโตรลัยท์ของร่างกายเสียไป เดี๋ยวนี้หลังจากกลั่นแล้วต้องเอาอีเล็กโตรไลท์บางตัวที่ร่างกายจำเป็นต้องใช่ใส่กลับเข้าไปในน้ำใหม่จึงจะดื่มได้อย่างสุขสบายปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นโซเดียม แมกนีเซียม แคลเซียม ต้องมีในระดับพอควร การเล่นกลเพื่อหลอกว่าอีเล็คโตรไลท์ที่ควรมีในน้ำดื่มตามปกติเป็นของไม่ดีก็ดี การโชว์การวัดปริมาณของแข็งในน้ำว่าสัมพันธ์กับความไม่ปลอดภัยของน้ำดื่มก็ดี ล้วนเป็นการหลอกลวงให้คนเข้าใจผิดเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยที่ไม่มีประโยชน์เพิ่มในเชิงการสร้างความปลอดภัยให้แก่น้ำดื่มเลย
แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ไม่ควรมีในน้ำดื่มคือโลหะหนักที่มีพิษต่อร่างกายเช่น ปรอท สารหนู ตะกั่ว ซึ่งการเล่นกลขายของที่ทำๆกันอยู่ไม่สามารถตรวจหาโลหะหนักเหล่านี้ได้ ต้องส่งน้ำไปตรวจในห้องแล็บขนาดใหญ่และซับซ้อน หากโลหะหนักมีพิษเหล่านี้เหล่านี้มีอยู่ในแหล่งน้ำใดนั่นเป็นปัญหาระดับชุมชนหรือระดับชาติที่ต้องใช้วิธีแก้ไขกำจัดแหล่งปล่อยโลหะหนักร่วมกัน ทุกวันนี้หน่วยงานของราชการหลายหน่วยงานรวมทั้งการประปาและกรมทรัพยากรธรณีก็มีหน้าที่ตรวจเฝ้าระวังโลหะหนักและสารพิษในแหล่งน้ำทั่วประเทศอยู่เป็นประจำทำให้แหล่งน้ำทุกแหล่งในประเทศมีความปลอดภัยจากพิษโลหะหนักอยู่แล้ว (ยกเว้นน้ำทะเล) ไม่ใช่ภาระของประชาชนทั่วไปที่จะต้องเก็บตัวอย่างน้ำไปส่งตรวจหาพิษของโลหะหนักก่อนดื่ม
ประเด็นที่ 2. ความสะอาดของน้ำดื่มวัดกันที่การมีหรือไม่มีจุลชีวิตในน้ำ
ความสะอาดของน้ำดื่มประเมินจากการมีอยู่ของจุลชีวิตเช่นแบคทีเรีย ไวรัส รา ซึ่งการตรวจต้องส่งตัวอย่างน้ำไปเพาะหาเชื้อแบคทีเรีย หรือรา หรือไวรัส ต้องทำในห้องแล็บมาตรฐาน พวกเล่นกลขายของไม่สามารถตรวจในประเด็นนี้ได้ แต่ผู้ผลิตน้ำรายใหญ่เช่นการประปาหรือผู้ทำน้ำดื่มขายต้องส่งน้ำไปตรวจเพาะหาเชื้อเป็นระยะๆตามกฎหมายกำหนด สำหรับผู้บริโภคทั่วไป วิธีที่ดีที่สุดคือการดื่มน้ำที่มาแหล่งน้ำที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อโรค เช่นน้ำประปา (เฉพาะของการประปาที่ประกาศว่าดื่มได้) น้ำดื่มที่ผลิตขายโดยได้รับการตรวจรับรองจากอย. น้ำฝน เป็นต้น ในกรณีที่ไม่สามารถหาน้ำจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ก็อาจจะต้องทำลายเชื้อโรคในน้ำก่อนดื่มด้วยตัวเอง เช่น การต้มให้เดือด การใส่คลอรีน การให้ผ่านรังสียูวี. และการกรอง โดย
หากกรองได้ระดับ 1 ไมครอน (เครื่องกรองทั่วไป) ก็จะกรองไข่พยาธิ สัตว์หลายเซล และราต่างๆได้
ถ้ากรองได้ถึง 0.1 ไมครอนก็จะกรองแบคทีเรียได้
ถ้ากรองได้ถึง 0.01 ไมครอน ก็จะกรองไวรัสได้
แต่การกรองแบคทีเรียกับไวรัสทิ้งได้สำเร็จนี้เป็นคนละเรื่องกับการมีแบคทีเรียหรือไวรัส “แปดเปื้อน” หรือ contaminate ภายหลังการกรอง เพราะเชื้อโรคนี้มันสิงอยู่ทั่วไปรวมทั้งในเครื่องกรองเองด้วย หรือไม่ก็ในหม้อเก็บน้ำที่กรองได้แล้วในกรณีน้ำหยอดเหรียญตามตู้ ดังนั้นการดูแลเครื่องกรองให้สะอาดอยู่เสมอก็จำเป็น
ประเด็นที่ 3. ความกระด้างของน้ำดื่มและความเข้าใจผิดเรื่องนิ่ว
ความกระด้าง (hardness) หมายถึงคุณสมบัติของน้ำที่ทำปฏิกริยากับสบู่ให้เป็นฟองได้ยาก ยิ่งกระด้างยิ่งต้องใช้สบู่มากจึงจะได้ฟอง ทั้งนี้เป็นเพราะน้ำนั้นมีอิออนบวกของโลหะเช่นแคลเซียม แมกนีเซียม อลูมิเนียม เหล็ก สังกะสี แมงกานีส อยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากแคลเซียมเป็นอิออนหลักที่อยู่ในน้ำกระด้าง ในทางวิทยาศาสตร์จึงอาศัยปริมาณของแคลเซียมเป็นตัวบอกระด้บความกระด้าง กล่าวคือ
ถ้ามีแคลเซี่ยมน้อยกว่า 60 มก./ลิตร ถือว่าเป็นน้ำอ่อน ไม่กระด้าง
ถ้ามีแคลเซี่ยม 60-120 มก./ลิตร ถือว่าเป็นน้ำกระด้างปานกลาง
ถ้ามีแคลเซี่ยมมากกว่า 120-180 มก./ลิตร ถือว่าเป็นน้ำกระด้างมาก
ถ้ามีแคลเซี่ยมมากกว่า 180 มก./ลิตร ถือว่าเป็นน้ำกระด้างอย่างแรง ถ้ามีแคลเซี่ยมเกิน 300 มก./ลิตรจะมืรสปร่าเฝื่อนลิ้นจนบางคนไม่ยอมดื่ม
งานวิจัยของ WHO พบว่าคนได้แคลเซี่ยมจากน้ำดื่มประมาณ 5-20% ที่เหลือได้จากอาหาร น้ำดื่มทั่วไปมีแคลเซียมต่ำกว่า 100 มก./ลิตร ความกลัวว่าการดื่มน้ำกระด้างจะทำให้ได้แคลเซียมเพิ่มมากเกินไปเป็นความเข้าใจผิด เพราะแม้ดื่มน้ำกระด้างมากที่สุดที่เฝื่อนจนไม่มีใครเขาดื่มกันก็จะได้แคลเซียมจากน้ำดื่มวันละอย่างมากราว 600 มก.แค่นั้นเอง (หากดื่มน้ำวันละสองลิตร) ยังน้อยกว่ายาเม็ดแคลเซียมที่คนบางคนกินทุกวันเสียอีก(1000 มก.ต่อเม็ด) นอกจากนี้ร่างกายยังมีกลไกเลือกที่จะดูดซึมหรือไม่ดูดซึมแคลเซียมเอาตามความต้องการของร่างกายเองอีกด้วย
ความกลัวที่ว่าการดื่มน้ำกระด้างจะทำให้เป็นนิ่วก็เป็นความเข้าใจที่ผิด หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงที่สรุปได้แล้วมีสาระอยู่สองประเด็น คือ
1. หากร่างกายได้รับแคลเซียมผ่านน้ำและอาหาร “น้อย” เกินไป จะสัมพันธ์กับการเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ “มากขึ้น” แต่ไม่เคยมีหลักฐานเลยว่าแคลเซียมจากน้ำหรืออาหารแม้จะมากเท่าใดจะมีผลทำให้เป็นนิ่วมากขึ้น
2. หากร่างกายได้รับแคลเซียมมากคราวละตูมเดียวในรูปของยาเม็ดแคลเซียมเสริม จนร่างกายได้รับแคลเซียมรวมเกินวันละ 2500 มก.จะสัมพันธ์กับการเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้หลักฐานวิทยาศาสตร์ยังสรุปไม่ได้ งานวิจัยจำนวนหนึ่งบ่งชี้ว่าทำให้เป็นนิ่วมากขึ้น งานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่ทำให้เป็นนิ่วมากขึ้น
ในภาพรวมเท่าที่หลักฐานปัจจุบันมี หากจะให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอโดยไม่เพิ่มโอกาสเป็นนิ่ว การได้แคลเซียมผ่านอาหารและน้ำดื่มเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากน้ำดื่มมีความกระด้างในระดับไม่มากเกินจนปร่าหรือเฝื่อนจนดื่มไม่อร่อย ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ความกระด้างของน้ำก่อนดื่ม เพราะไม่มีอันตรายใดๆจากการดื่มน้ำกระด้างโดยไม่แก้ความกระด้างเสียก่อนอย่างที่คนทั่วไปกลัวกัน
ประเด็นที่ 4. ความสำคัญของต้นกำเนิดของน้ำดื่ม
การเลือกแหล่งของน้ำดื่ม จะช่วยลดภาระในการทำน้ำให้สะอาดและปลอดภัยก่อนดื่ม ในประเทศไทยนี้น้ำดื่มทั้งหมดมาจากแหล่งเดียวกันเพียงแหล่งเดียว คือน้ำฝน จากนั้นจึงไปอยู่ในรูปของแหล่งน้ำอื่น เช่น หนอง บึง คลอง แม่น้ำ น้ำบาดาล น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด เมื่ออยู่ในรูปของน้ำฝน โดยเฉพาะฝนหลังๆที่ไม่ใช่ฝนแรกของปีจะมีความสะอาดและปลอดภัยมากที่สุด จากนั้นก็จะค่อยๆปนเปื้อนมากขึ้นๆเมื่อกลายเป็นแหล่งน้ำในรูปแบบหนอง บึง คลอง แม่น้ำ กลับมาสะอาดอีกครั้งเมื่อกรองผ่านชั้นดินลงไปเป็นน้ำบาดาล หรือเมื่อถูกนำมากรองเพื่อทำเป็นน้ำประปาและน้ำบรรจุขวด ดังนั้นการทำน้ำสะอาดดื่มจะง่ายขึ้นหากตั้งต้นด้วยน้ำจากแหล่งน้ำที่สะอาดอยู่แล้ว คือน้ำฝน หรือน้ำประปา หรือน้ำบาดาล
ประเด็นที่ 5. ความแตกต่างของการกรองแบบต่างๆ
เมื่อได้น้ำจากแหล่งที่สะอาด (น้ำฝน น้ำประปา น้ำบาดาล) มาแล้ว หากน้ำนั้นสะอาดแน่นอน เช่นเป็นน้ำฝนที่ไม่ใช่ฝนแรกที่เก็บในภาชนะมิดชิดไม่มีสัตว์หรือแมลงตกหล่นลงไปได้ หรือเป็นน้ำประปาจากหน่วยประปาที่ผู้ผลิตแห่งนั้นประกาศรับรองให้ดื่มได้ หรือเป็นน้ำบาดาลที่ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจคัดกรองการปนเปื้อนเชื้อโรคและโลหะหนักแล้ว ก็ใช้น้ำนั้นดื่มได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องต้มหรือกรองอีก บางคนไม่ยอมดื่มน้ำประปาเพราะเหม็นคลอรีน วิธีแก้ก็ง่ายนิดเดียวแค่เปิดน้ำใส่ภาชนะที่เปิดฝาตั้งไว้สัก 20 นาทีกลิ่นก็หายหมดแล้ว
แต่หากไม่มันใจว่าน้ำนั้นสะอาดแน่นอน ก็ให้นำน้ำนั้นมาต้มหรือใส่คลอรีนหรือกรองก่อนดื่ม การต้มหรือใส่คลอรีนไม่มีอะไรซับซ้อนไม่ต้องพูดถึง วันนี้ผมจะพูดถึงแต่เรื่องการกรอง ซึ่งมีหลายชนิด ดังนี้
5.1 การกรองแบบทั่วไป
หมายถึงการนำน้ำดิบมากรองผ่านชั้นของทรายละเอียด ทรายหยาบ กรวด หิน อิฐหัก และถ่าน ไปทีละชั้น หรือบางกรณีก็ให้ผ่านแผ่นกรองละเอียดแผ่นเดียว การกรองแบบนี้จะกรองเอาสิ่งแขวนลอยในน้ำที่เล็กถึงขนาด 1 ไมครอนออกมาได้ สิ่งเหล่านั้นได้แก่เชื้อรา สัตว์หลายเซลต่างๆเช่นเชื้อบิดอมีบา พยาธิ และไข่พยาธิ เป็นต้นแต่จะไม่สามารถกรองเอาเชื้อแบคทีเรีย เช่น E. Coli ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องเสียออกมาได้ ดังนั้นน้ำที่ได้จากการกรองแบบนี้จึงไม่เหมาะสำหรับดื่ม ต้องเอาไปต้มให้เดือด หรือใส่คลอรีนฆ่าเชื้อโรคก่อน สมัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อหลายปีก่อนผมออกไปช่วยทำงาน ได้ทำการทดลองเอาคลอรีนมาเจือจางที่ระดับต่างๆ แล้วทดลองใช้มันฆ่าเชื้อในน้ำเน่าที่ตักมาจากบางใหญ่บ้าง จากรังสิตบ้าง ทดลองใช้มันฆ่าเชื้อต่างๆที่เราเลี้ยงไว้ในห้องแล็บบ้าง ในที่สุดก็มาสรุปได้ว่าคลอรีนที่ความเข้มข้น 1 พีพีเอ็ม.เนี่ยแหละ ฆ่าเชื้อตัวเบ้งๆ ที่มากับน้ำท่วมได้เรียบวุธทุกตัว
5.2 การกรองแบบไมโครฟิลเตอร์ (microfilter)
เป็นวิธีกรองโดยอาศัยแรงดันน้ำผ่านเครื่องกรองที่มีใส้กรองเป็นแผ่นบาง (semipermeable membrane) ที่มีรูเล็กละเอียดระดับ 0.1-1.0 ไมครอน การกรองแบบนี้สามารถกรองเอาแบคทีเรียออกได้ แต่กรองไวรัสได้น้อย การกรองแบบนี้จึงใช้กับน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลรีนหรือผ่านรังสียูวี.มาแล้วเพื่อให้กลไกเหล่านั้นช่วยขจัดไวรัสด้วย จึงจะดื่มน้ำที่ผ่านเครื่องกรองแบบนี้ได้เลย ในกรณีที่ใช้เมมเบรนละเอียดขึ้นไปจนกรองไวรัสได้เรียกว่าอุลตร้าฟิลเตอร์ (ultrafilter)
5.3 การกรองแบบนาโนฟิลเตอร์ (nanofilter)
เป็นการกรองฝ่านเมมเบรนเช่นกันแต่มีขนาดรูกรองที่เล็กในระดับนาโน คือ 1-100 nm หรือกรองอนุภาคที่เล็กถึงระดับ 0.01 ไมครอนได้ ใช้กรองแบคทีเรียได้หมดและกรองไวรัสได้ นอกจากนั้นยังกรองโมเลกุลโปรตีน สารเคมี เม็ดสี และมลภาวะต่างๆได้ด้วย ใช้กรองน้ำไว้ดื่มได้ แต่มีข้อแม้ว่าแหล่งน้ำที่จะนำมาผ่านแผ่นกรองแบบนี้ต้องมีความสะอาดระดับหนึ่งแล้วมิฉะนั้นจะทำให้ไส้กรองตันบ่อยจนเป็นภาระต้องมาทำความสะอาดกันซ้ำซาก
5.4 การกรองแบบ RO (reverse osmosis)
เป็นการกรองผ่านเมมเบรนโดยใช้ความดันช่วย ความที่เมมเบรนมีรูเล็กละเอียดมากจนน้ำทั้งหมดไม่สามารถผ่านไปได้หมดในเวลาอันควร กระบวนการกรองจึงจะมีน้ำเหลืออยู่หน้าแผ่นเมมเบรนแยะ แบบว่าบางยี่ห้อใส่น้ำเข้าไป 3 แกลลอน ได้น้ำดีออกมา 1 แกลลอน บางยี่ห้อใส่น้ำเข้าไป 25 แกลลอน ได้น้ำดีออกมา 1 แกลลอน จึงเป็นระบบกรองที่จะมีการสูญเสียน้ำมาก แต่มีข้อดีที่สามารถกรองละเอียดได้ถึง 0.0001 ไมครอน จึงสามารถกรองเอาสิ่งที่เป็นของแข็งที่แขวนลอยในน้ำ (TDS) ออกมาได้เกือบหมด (98%) แต่ก็ไม่หมด โดยเฉพาะอิออนที่น้ำหนักอะตอมเล็กมักจะกรองไม่ค่อยได้ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเขาเพาะกล้วยไม่ส่งขายเมืองนอก ต้นไม้เขาแพงจนต้องกรองน้ำแบบ RO มารด แต่รดแล้วก็ยังไม่วายมีคราบแคลเซียมขาวว่อกจับอยู่ที่ใบ เพราะเครื่องกรองแบบ RO มันกรองอีเล็คโตรไลท์ที่น้ำหนักอะตอมหรือโมเลกุลเล็กๆได้ไม่หมด
5.5 การแก้ความกระด้างด้วยเครื่องกรองมีเรซิน
การใช้เรซินเป็นกระบวนการแก้ความกระด้างของน้ำด้วยการให้น้ำผ่านเรซินซึ่งมีคุณสมบัติจับเอาแคลเซียมอิออนไว้ได้ (ion exchange resin) ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการกรองน้ำ แต่มักจะทำเป็นขั้นตอนหนึ่งก่อนที่จะทำการกรองน้ำเฉพาะในกรณีที่แหล่งน้ำนั้นมีความกระด้างมากจนผู้บริโภคยอมรับไม่ได้ในแง่ที่ทำให้มีคราบปูนชอบจับตามสุขภัณฑ์ทำให้ทำความสะอาดยาก
กล่าวโดยสรุป การจะหาน้ำดื่มที่ปลอดภัยก็น้ำประปานั่นแหละ ดื่มได้เลยไม่ต้องกรองไม่ต้องต้ม แต่ต้องเป็นหน่วยประปาที่ประกาศรับรองว่าน้ำของเขาดื่มได้นะ เพราะประปาชนบท ประปาอบต. ประปากปภ. ประปานครหลวง มันย่อมแตกต่างกันบ้าง ถ้าผมจำไม่ผิด กปภ.ประกาศว่าของเขามีสองร้อยกว่าแห่งที่ผลิตน้ำถึงระดับดื่มได้ น้ำดื่มใส่ขวดหรือใส่ตู้หยอดเหรียญที่อย.รับรองแล้วก็ดื่มได้หมด เพราะเขาล้วนเอาน้ำประปามาทำ แต่ถ้าอยู่นอกเขตประปาก็เอาน้ำฝนหรือน้ำบาดาลมากำจัดเชื้อโรคเสียก่อน จะด้วยการต้มหรือใส่คลอรีนหรือกรองตามแบบไหนที่ท่านชอบก็เลือกเอา ส่วนปาหี่การแยกน้ำด้วยไฟฟ้าและโชว์การจุ่มเครื่องวัด TDS meter ที่คนขายของเขาจัดแสดงนั้น ก็ให้ท่านชมดูได้แบบดูปาหี่เพื่อความสนุก แต่อย่าเอามาเป็นข้อบังคับให้ตัวเองต้องเสียเงินเปลี่ยนเครื่องกรองใหม่เลย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
- Leurs LJ et al. (2010) Relationship between tap water hardness, magnesium, and calcium concentration and mortality due to ischemic heart disease or stroke in the Netherlands. Environmental Health Perspectives, 118(3):414–420.
- National Research Council (1977) Drinking water and health. Washington, DC, National Academy of Sciences.
- Ong CN, Grandjean AC, Heaney RP (2009) The mineral composition of water and its contribution to calcium and magnesium intake. In: Calcium and magnesium in drinking-water: public health significance. Geneva, World Health Organization, pp. 36–58 (http://whqlibdoc.who.int/publications/2009/9789241563550_eng.pdf).
- WHO (2009) Calcium and magnesium in drinking-water: public health significance. Geneva, World Health Organization (http://whqlibdoc.who.int/publications/2009/9789241563550_eng.pdf).
- Sorensen MD, Eisner BH, Stone KL, et al. Impact of calcium intake and intestinal calcium absorption on kidney stones in older women: the study of osteoporotic fractures. J Urol 2012;187:1287-92. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
- Coe FL, Parks JH, Asplin JR. The pathogenesis and treatment of kidney stones. N Engl J Med 1992;327:1141-52.
- Sorensen MD, Duh QY, Grogan RH, et al. Differences in metabolic urinary abnormalities in stone forming and nonstone forming patients with primary hyperparathyroidism. Surgery 2012;151:477-83.
- Worcester EM, Coe FL. Clinical practice. Calcium kidney stones. N Engl J Med 2010;363:954-63. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
- Curhan GC, Willett WC, Rimm EB, et al. A prospective study of dietary calcium and other nutrients and the risk of symptomatic kidney stones. N Engl J Med 1993;328:833-8. [PubMed] [Google Scholar]
- Sorensen MD, Kahn AJ, Reiner AP, et al. Impact of nutritional factors on incident kidney stone formation: a report from the WHI OS. J Urol 2012;187:1645-9. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
- Hess B, Jost C, Zipperle L, et al. High-calcium intake abolishes hyperoxaluria and reduces urinary crystallization during a 20-fold normal oxalate load in humans. Nephrol Dial Transplant 1998;13:2241-7. [PubMed] [Google Scholar]
- Bataille P, Charransol G, Gregoire I, et al. Effect of calcium restriction on renal excretion of oxalate and the probability of stones in the various pathophysiological groups with calcium stones. J Urol 1983;130:218-23. [PubMed] [Google Scholar]
- Borghi L, Schianchi T, Meschi T, et al. Comparison of two diets for the prevention of recurrent stones in idiopathic hypercalciuria. N Engl J Med 2002;346:77-84. [PubMed] [Google Scholar]
- Wallace RB, Wactawski-Wende J, O’Sullivan MJ, et al. Urinary tract stone occurrence in the Women’s Health Initiative (WHI) randomized clinical trial of calcium and vitamin D supplements. Am J Clin Nutr 2011;94:270-7. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
- Taylor EN, Stampfer MJ, Curhan GC. Dietary factors and the risk of incident kidney stones in men: new insights after 14 years of follow-up. J Am Soc Nephrol 2004;15:3225-32. [PubMed] [Google Scholar]