การตรวจ MAU และ Urine albumin ในปัสสาวะ ต่างกันหรือไม่

เรียนอาจารย์สันต์

การตรวจ MAU และ Urine albumin ต่างกันหรือไม่ มีความหมายอย่างไร ใช้ประโยชน์อย่างไรคะ

………………………………………………………………..

ตอบครับ

ทั้ง MAU ซึ่งย่อมาจาก microalbumin และ urine albumin เป็นคำเรียกการตรวจแบบเดียวกันครับ ชื่อ microalbumin เป็นชื่อเก่า ส่วน urine albumin test เป็นชื่อใหม่ วงการแพทย์ก็งี้แหละ มีคนขยันแยะ ไม่มีอะไรทำก็ชอบเปลี่ยนชื่อนู่นเปลี่ยนชื่อนี่แก้เซ็ง พื้นฐานของสองคำนี้เกิดจากการตั้งนิยามระดับอัลบูมินในปัสสาวะว่ามีสองระดับ กล่าวคือหากอัลบูมินในปัสสาวะที่ถ่ายออกมาใน 24 ชั่วโมงวัดได้ 30-300 มก. ก็นิยามว่าเป็นภาวะมีอัลบูมินออกมาในปัสสาวะน้อย (Microalbuminuria) แต่หากมีมากกว่า 300 มก.ก็นิยามว่าเป็นภาวะมีอัลบูมินออกมาในปัสสาวะมากซึ่งมีคำเรียกสามคำคือ Overt albuminuria หรือ macroalbuminuria หรือ proteinuria ทั้งหมดนี้เป็นคำเรียกสิ่งเดียวกัน ดังนั้นบางแล็บถ้าผลตรวจได้ไม่เกิน 300 มก. ก็จะรายงานว่าไมโครอัลบูมินได้ผลบวก แต่ถ้าได้เกิน 300 มก.ก็รายงานว่า proteinuria ได้ผลบวก ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน ต่อมาคนที่คิดว่าตัวเองฉลาดก็มาโวยวายว่าเรียกอย่างนี้มันงี่เง่า ทำให้คนเข้าใจผิดว่าอัลบูมินมีสองขนาดคือเม็ดเล็กเม็ดใหญ่ ทั้งๆที่คำว่าอัลบูมินหมายถึงโมเลกุลชนิดเดียวซึ่งหนักเม็ดละ 2,754.1 g/mol เท่ากันหมด ไม่เอ๊า..ไม่เอา ให้เรียกใหม่ว่า urine albumin test รูดมหาราชเหมือนกันหมด แล้วในวงการแพทย์นี้มีกฎกติกาอยู่ข้อหนึ่งว่า “เด็กที่ร้องเสียงดัง จะได้ดูดนม” (หิ หิ พูดเล่น) ดังนั้น urine albumin test จึงกลายเป็นชื่อใหม่เพียงชื่อเดียวตั้งแต่บัดนั้น เนี่ย..เรื่องมันเป็นยังงี้แหละค่าท่านสารวัตร

ปกติอัลบูมินไม่ควรจะออกมาในปัสสาวะ เพราะมันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ ตัวกรองของไตจะปล่อยออกมาแต่โมเลกุลขนาดเล็กระดับไม่เกินร้อยกรัมต่อโมล ส่วนอัลบูมินนั้นหนักสองพันกว่ากรัมต่อโมลจะเล็ดลอดผ่านตัวกรองของไตออกมาง่ายๆไม่ได้หรอก ถ้ามันเล็ดลอดออกมาได้ก็แสดงว่าไตเกิด “รั่ว” ซะแล้ว ซึ่งสาเหตุมีความเป็นไปได้สี่อย่างคือ

(1) รั่วๆนิดๆหน่อยๆชั่วครั้งชั่วคราวโดยไม่เป็นโรคอะไร

(2) หากเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ก็หมายความว่าเบาหวานกำลังลงไต คือเบาหวานเป็นมากจนไตเริ่มเสียหาย

(3) เป็นโรคไตเรื้อรัง อาจจะระยะเริ่มๆ หรือระยะท้ายๆ ก็แล้วแต่ปริมาณอัลบูมินที่รั่วออกมา

(4) เป็นโรคไตรั่ว หรือโรคนกกระจิบกินลม (nephrotic syndrome)

ประเด็นสำคัญคือคุณจะใช้ประโยชน์จากผลตรวจนี้อย่างไร ประโยชน์ของการตรวจอัลบูมินในปัสสาวะก็คือหากตรวจพบคุณจะได้สำเหนียกว่าไตของคุณกำลังจะเจ๊งแล้วนะ ให้คุณรีบจัดการโรคด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของคุณเสีย ถ้าคุณเป็นเบาหวานอยู่คุณต้องขวานขวายจัดการโรคเบาหวานของคุณให้จริงจังยิ่งขึ้นทั้งการกิน การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก ถ้าคุณไม่ได้เป็นเบาหวานอยู่ก็แสดงว่าคุณกำลังมุ่งหน้าไปสู่การเป็นโรคไตเรื้อรัง คุณต้องรีบปฏิบัติตามมาตรการเพื่อปกป้องไตของคุณเช่น

(1) ต้องระวังไม่ให้ร่างกายตกอยู่ในภาวะขาดน้ำ (dehydration)

(2) อย่าไปรับการฉีดสารทึบรังสี (radiocontrast agents) เพื่อการวินิจฉัยโรคใดๆโดยไม่จำเป็น

(3) อย่ากินหรือฉีดยาที่มีพิษต่อไตโดยไม่จำเป็น เช่นยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่มกลุ่ม non steroidal antiinflammatory drugs (NSAID) และกลุ่ม COX2 inhibitors เช่นยา Voltaren ยา Arcoxia ยาลดการหลั่งกรดเช่น omeprazole และยาปฏิชีวนะในกลุ่ม aminoglycosides เป็นต้น ไปหาหมอทุกครั้งพอหมอจะจ่ายยาต้องบอกหมอว่าไตของอิฉันไม่ดีนะ ยาที่มีผลต่อไตขอไม่เอา เมื่อจะไปส่องตรวจลำไส้ใหญ่ก็ต้องบอกหมอว่าเราเป็นโรคไตเรื้อรัง เพราะยาสวนล้างทวารหนักที่มี sodium phosphate (OSP) ทำให้ไตวายได้ ยาที่ใช้บ่อยอื่นๆที่เป็นพิษต่อไตก็เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากั้นเบต้า (รักษาความดัน) ยากลุ่ม ACE inhibitors (รักษาความดัน) ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycosides ยาต้านไวรัส ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่มี Lithium เป็นต้น

(4) อย่าไปเที่ยวกินยาผงยาสมุนไพรที่ไม่รู้กำพืดเปะปะ เพราะยาสมุนไพรที่ไม่รู้ว่าทำจากอะไรบางสูตรทำให้ไตพังเอาง่ายๆ ถ้าชอบสมุนไพรก็ให้กินสมุนไพรที่ทำจากพืชที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าผู้คนกินกันมานานแล้วไม่มีใครเป็นอะไร

(5) ในแง่ของอาหารปกป้องไต งานวิจัย NHANES III ที่ตีพิมพ์ในวารสารโรคไตอเมริกันทำให้เราได้ความรู้ว่าอาหารพืชเป็นหลัก(มังสวิรัติ) ทำให้คนเป็นโรคไตเรื้อรังมีอัตรารอดชีวิตในระยะ 8 ปีมากกว่าคนกินเนื้อสัตว์เป็นหลักถึง 5 เท่า ดังนั้นถ้าไตเริ่มไม่ดี ควรเพิ่มสัดส่วนพืชผักผลไม้ในอาหารและลดเนื้อสัตว์ลง อย่าไปบ้าจี๊กลัวโปตัสเซียมสูง เพราะการคั่งของโปตัสเซียมเป็นปัญหาของคนเป็นโรคไตระยะสุดท้าย (stage V) ที่ไม่ยอมล้างไต ไม่ใช่ปัญหาของโรคไตระยะต้นๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Chen X, Wei G, Jalili T, Metos J, Giri A, Cho ME, Boucher R, Greene T, Beddhu S.
    The Associations of Plant Protein Intake With All-Cause Mortality in CKD. Am J Kidney Dis. 2016 Mar;67(3):423-30. doi: 10.1053/j.ajkd.2015.10.018.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี