(เรื่องไร้สาระ15) เพราะเล่นของสูง จึงได้บ้านโย้
เมื่อโควิด19 ยังไม่จบ หมอสันต์ก็ยังมีเวลาว่างไม่เลิก พอซ่อมห้องเก็บของ ทำโต๊ะตั่งม้านั่งไปหกเจ็ดตัวจนเกลื่อนลานบ้านไปหมด ก็นึกว่าเศษไม้ที่มีอยู่คงจะถูกใช้ไปหมดเกลี้ยงแล้ว ที่ไหนได้ มีการค้นพบไม้เก่าอีกจำนวนหนึ่งที่ใต้ถุนบ้านคนเฝ้าสวน อ้าว มีวัตถุดิบเพิ่มขึ้นรึ ก็ต้องทำการผลิตเพิ่มขึ้นสิ จึงเกิดโครงการใหม่ คือการบูรณะโรงสูบ (pump house) โรงสูบน้ำแห่งนี้เมื่อมาอยู่ที่มวกเหล็กใหม่ๆผมได้ทำขึ้นอย่างลวกๆเพื่อบังแดดบังฝนให้กับตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำบาดาลที่เรียกภาษาบ้านๆว่าซับเมอร์ส ซึ่งมาจากคำฝรั่งว่า submersible pump ตอนนั้นมีเงินน้อยจึงทำแบบลวกๆ กะว่าซื้อเวลาไปก่อนชั่วคราวสองสามปี ไว้มีเงินแล้วค่อยมาทำใหม่ให้ดีขึ้น แต่นี่ผ่านมาแล้วถึงยี่สิบปี มันก็อยู่ของมันมาได้ ส่วนที่ปลวกกินก็กินไป แต่หลังคายังพอคุ้มแดดคุ้มฝนได้อยู่ นี่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เราคิดว่าเอาเหอะ เอาเหอะ ชั่วคราว เอาเข้าจริงๆแล้วมันมักจะอยู่กับเรานานกว่าที่เราคิด เพราะฉะนั้น ชีวิตนี้อย่าไปดูถูกคำว่าชั่วคราว เดี๋ยวนี้ผมนิยามคำว่าชั่วคราวเสียใหม่ว่าชั่วคราวคือ “ถาวรฉบับมักง่าย” สมัยที่ยังทำงานบริหารธุรกิจอยู่ผมชอบอ่านงานเขียนของกูรูทางธุรกิจชื่อปีเตอร์ ดรั๊กเกอร์ เขาเขียนถึงกฎหมายพรบ.ไปรษณีย์ชั่วคราวของอังกฤษว่ามันบังคับใช้มาได้นานถึง 150 ปี หิ..หิ นั่นเป็นชั่วคราวแบบอังกฤษ ชั่วคราวของหมอสันต์เอาแค่ 20 ปีก็ถือว่าพอสมควรแล้ว
Pump House Project เป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาด 6 ตารางเมตร ต้องเทพื้นคอนกรีตรองรับพื้นอาคาร กรรมกรมีสองคน คือหมอสันต์กับลุงดอน ชัยภูมิที่ตั้งเป็นที่มีความลาดชันสูง ท้าทายต่อการตั้งระดับตั้งดิ่ง เพื่อให้สมกับความยากของงานผมจึงไปขอยืมเครื่องเลเซอร์วัดระดับและตั้งดิ่งของเพื่อนบ้านซึ่งเป็นช่างผู้ชำนาญการสายอุปกรณ์มา ฮี่..ฮี่ รอบนี้ขออนุญาตเล่นของสูง เครื่องนี้เมื่อเอาตั้งไว้กลางลานแล้วมันจะส่งลำแสงเลเซอร์เป็นเส้นราบเส้นดิ่งออกมาให้เราใช้อ้างอิงได้เลยโดยไม่ต้องไปยักแย่ยักยันใช้สายยางวัดระดับน้ำแบบโบราณ ด้วยความเห่อเครื่องเลเซอร์ผมจึงตั้งระดับและตีแบบคอนกรีตอย่างตั้งอกตั้งใจ เรียนรู้วิธีตั้งระดับแล้ว วิธีทำมุมฉากบนพื้นราบละทำไง พยายามทำแล้วทำไม่ได้ จึงโทรไปถามเพื่อนว่าเครื่องเลเซอร์นี้มันวัดมุมฉากบนพื้นราบได้หรือเปล่า เพื่อนบอกว่าทำไม่ได้ แต่เดี๋ยวจะเอาอุปกรณ์วัดมุมฉากบนพื้นราบมาให้เพิ่มเติม ผมดีใจจะได้ลองของเล่นใหม่ เบื่อการใช้สูตรสามเหลี่ยมมุมฉาก 3-4-5 แบบเดิมๆแล้วแหละ แต่แล้วเพื่อนก็เซอร์ไพรส์ผมด้วยการเอากระเบื้องเซรามิกปูพื้นขนาดใหญ่หนึ่งแผ่นมาให้ และสอนว่าให้วางกระเบื้องนี้ไว้ที่มุม แล้วดึงเชือกไปตามขอบกระเบื้องทางนี้ทีแล้วปักหลัก ทางนั้นทีแล้วปักหลัก ก็จะได้มุมฉาก โห..ช่างโลว์เทคซะ แต่ก็ใช้ได้โอเค.มากครับ ขอบพระคุณ
ปักผังตีแบบแล้วก็ผสมคอนกรีต ใช้ปูน ทราย หิน ในสัดส่วน 1 : 2: 4 ไม่มีความรู้มาก่อนหรอก อาศัยเปิดเหน็ดเอา สมัยนี้ไม่รู้อะไรก็หาเอาในเหน็ด ผสมแล้วก็เอาลวดกรงไก่เก่าเหลือใช้ที่มีอยู่คลี่วางเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะกรงไก่ก็คือเหล็ก ส่วนปูนทรายหินที่ผสมกันแล้วก็คือ คอ นก รีต (ขอโทษ ล้อเล่น) แล้วก็เทคอนกรีตลงไป ปาดหน้าไปตามระดับที่ตั้งไม้แบบไว้ ทิ้งไว้ข้ามคืน ก็ได้พื้นคอนกรีตที่ได้ระดับราบ ได้ฉาก พร้อมจะทำการก่อสร้างต่อยอดบนนั้นได้
วันรุ่งขึ้นก็ขึ้นโครงอาคาร แล้วมุงหลังคา สังกะสีเดิมไม่พอมุง แถมผุทะลุเป็นรูเละเทะ ผมจึงไปเสาะหาวัสดุมุงใหม่ๆที่น่าตื่นเต้นกว่าในตลาดมวกเหล็ก ไปสะดุดตาที่กระเบื้องลอนพลาสติกใสขุ่นความยาวสองเมตรครึ่ง ราคาถูกมาก จึงซื้อเลยเจ็ดแผ่น แล้วเอาขึ้นมุง พอมุงเสร็จ ลูกชายซึ่งพาลูกพี่ลูกน้องของเขาจากกรุงเทพฯมากางเต้นท์นอนเล่นได้ลงมาช่วยก่อสร้างอีกแรงหนึ่ง มาถึงแล้วเขาเอียงคอมองแล้วว่า
“ตัวอาคารมันเอียงนะ”
ผมตกใจ เฮ้ย จริงหรือ ไหนรองเช็คซ้ำดูซิ เอาไม้วัดระดับเช็คกับเสาก็ได้ เออ เอียงจริงๆแฮะ ราวสิบองศาได้ แถมเอียงมาทางปลายเขาซึ่งหากดินถมทรุดก็มีหวังล้มได้ นี่มันอะไรกัน มือระดับนี้แล้วสร้างผลงานแบบนี้ได้ไงเนี่ย มีเครื่องมือไฮเทคด้วยนะ ผมมาคิดทบทวนดู คงเป็นเพราะตอนตั้งเสานั้นเลิกเห่อเครื่องมือใหม่แล้ว ผมจึงไม่ได้ตั้งอกตั้งใจตั้งสติเช็คดิ่งให้ดี แล้วขณะตั้งเสาก็เป็นเวลาเที่ยงแดดจัด มองลำแสงเลเซอร์ไม่ค่อยเห็น เพราะเครื่องเลเซอร์นี้เหมาะกับงานในร่มมากกว่า แล้ววิศวดอนผู้ช่วยตั้งเสาก็มีตาที่ใช้การได้ชัวร์ๆอยู่ข้างเดียว ทั้งสามเหตุนี้น่าจะเป็นการประชุมแห่งเหตุที่ทำให้อาคารเอียง แต่เอาเถอะ มันก็เอียงไปแล้ว ขื่อแปก็ตีไปแล้ว หลังคาก็มุงไปแล้ว ทำไงดีละ แกะเอาน๊อตบางตัวออกเท่าที่จำเป็น ดันเสาต้นหลักตั้งตรงคืนให้ได้ก่อน แล้วเอาไม้ค้ำยันเอาไว้ชั่วคราว ตีฝาเสร็จแล้วค่อยมาคิดแก้ไขกันอีกที
ต่อจากก็เป็นการติดประตูหน้าต่าง เอาประตูเก่าที่มีอยู่มา โห มันผุแล้วนะ ตีนประตูผุหายไปเกือบคืบดูไม่ได้เลย ด้านนอกประตูก็ผุ ไม่เป็นไร ยังใช้ได้น่า ตีนผุก็กลับเอาทางหัวลง เอาทางตีนขึ้นสิ ล้างขัดสีฉวีวรรณแล้วด้านหัวยังใหม่เริ่ยมเร้อยู่เลย ด้านนอกผุก็กลับเอาด้านในออกสิ จะได้ผลัดกันรับงานหนักบ้าง โห ประตูอะไรเนี่ย ฮิ ฮิ เอาข้างล่างขึ้นเป็นข้างบน เอาด้านในออกเป็นด้านนอก แต่พอติดเข้าไปแล้วก็..เท่ไปอีกแบบ
หน้าต่างเก่ามีอยู่บานเดียว ผอมยาวอีกต่างหาก จะทำหน้าต่างได้อย่างไร ลองคิดไปทางบวกก่อนอย่าเพิ่งคิดลบ ได้สินา ทำเป็นหน้าต่างแบบเปิดอ้าขึ้นด้านบนแล้วเอาไม้ค้ำแบบบ้านฝรั่ง มีบานเดียวก็เป็นหน้าต่างได้ สวยไปอีกแบบ พอติดหน้าต่างแรกเสร็จลุงดอนเข้าไปอยู่ข้างในแล้วบอกว่ามันจะทึบเกินไปนะ น่าจะต้องมีหน้าต่างด้านข้างอีกสักอัน ผมจึงบอกลุงดอนให้ไปค้นใต้ถุนว่ามีอะไรจะเอามาทำหน้าต่างได้บ้าง ลุงดอนไปดูแล้วบอกว่ามีแต่บานเปิดปิดเคาน์เตอร์ครัวพลาสติกทิ้งไว้อันหนึ่ง เมื่อแกะพลาสติกหุ้มออกแล้วก็เห็นว่ามันทำด้วยพลาสติกสีขาวใหม่เอี่ยมอ่องดูไม่ค่อยเข้ากับอาคารไม้เก่าที่กำลังสร้างเลย เอาเถอะ ของมันมีอยู่แล้วไม่ต้องซื้อ ลองดูก่อน ใหม่กับเก่าก็เป็นการเข้ากันอีกแบบนะ เขาเรียกว่าเข้ากันแบบ contrast เอ้า เอาขึ้นติดเลย
แล้วก็มาตีฝา ไม้ฝาเก่าๆที่มีเหลืออยู่ก็ช่างหลากสีหลากขนาดและความยาว ตีออกมาแล้วลายพร้อยเหมือนรถเมล์ในเมืองการาจี พอตีเสร็จลุงดอนไปถอนตะปูเกลียวจะเอาเสาไม้ค้ำออก อาคารทำท่าโยกเยกขึ้นมา ผมร้องตะโกนลั่น
“เฮ้ย อย่าเพิ่งเอาออก” ลุงดอนบอกว่า
“ก็ตีฝาแล้ว มันน่าจะอยู่ได้แล้วไม่ใช่หรือ” ผมอธิบายว่า
“ยังอยู่ไม่ได้ เพราะอะไรที่จะดึงหัวเสาข้างนี้ไว้ได้ต้องดึงมาจากตีนเสาฝั่งตรงกันข้าม ไม้ฝามันแค่ดึงตีนกับตีน หัวกับหัว มันป้องกันเสาทั้งสองไม่ให้โยกเอียงตามกันไปไม่ได้”
วิธีแก้ปัญหาขั้นสุดท้ายจึงมาจบที่อาคารหลังนี้มีไม้คาดเฉียงสีน้ำเงินโดดเด่น เป็นอาคารแห่งเดียวในประเทศไทยที่ตกแต่งฝาด้วยไม้คาดเฉียงแบบนี้ ฮิ ฮิ นี่เป็นผลแทรกซ้อนจากการชอบเล่นของสูง
เนื่องจากโรงสูบนี้อยู่ในโครงการป่าอาหารซึ่งผมลงมาขุดดินฟันหญ้าเป็นประจำจึงต้องมีที่เก็บจอบเสียมเพื่อความสะดวก ผมมีบานพับแบบที่ใช้กับบานประตูโรงนายุโรปสมัยเก่าอยู่อันหนึ่ง จึงเอามาทำเป็นที่เก็บจอบ มีห่วงโลหะติดยุ้งข้าวเก่าของฝรั่งอีกอันหนึ่ง เอามาทำเป็นที่เก็บเสียม ทำเสร็จ ตกค่ำ ข้างนอกมืดแล้ว ผมเข้าไปข้างในโรงสูบน้ำใหม่นี้ ก็รู้สึกมหัศจรรย์ที่ข้างในมันสว่างนุ่มนวลแบบไม่มีหลอดไฟชนิดไหนทำได้เหมือน ช่างให้อารมณ์โรแมนติกเสียนี่กระไร โอ้ หลังคากระเบื้องลอนพลาสติกใสขุ่นมันให้แสงได้มากขนาดนี้เลยหรือ นี่เป็นความรู้ใหม่ อารมณ์อย่างนี้จึงเกิดความคิดว่าถ้าทำร้านตั้งไว้ที่ข้างหน้า มีกระถางดอกไม้วางเรียงราย ในบรรยากาศแสงแดดรำไรของป่าอาหารอย่างนี้ก็คงจะเป็นจุดนั่งพักระหว่างพรวนดินดายหญ้าที่โรแมนติกไม่มีที่ติ คิดได้แล้วก็ลงมือเอาเศษไม้หน้าสามที่ยังเหลืออยู่หลายท่อนมาประกอบเป็นขาตั้งสองชุด ตั้งห่างกันเมตรกว่าๆ แล้วเอาไม้กระดานยาวพาด ก็ได้ร้านวางกระถางดอกไม้ รอแต่ดอกไม้ที่จะมาวาง
พอดี๊..พอดี วันรุ่งขึ้นหมอสมวงศ์เปรยว่าปีนี้ทำไมกล้วยไม้ไม่ออกดอกเลย ทั้งๆที่ปีทุกปีเคยออกดอกสะเพรั่งทั่วบ้าน เธอถามลุงดอนว่าเอาปุ๋ยอันไหนฉีดให้กล้วยไม้ ลุงดอนตอบว่า
“ปุ๋ยสีขาวมันหมดแล้ว ผมก็เอาปุ๋ยสีแดงที่คุณหมอให้มาใหม่นั่นแหละครับ”
ผมถามภรรยาว่าสีแดงกับสีขาวมันต่างกันอย่างไร เธอบอกว่าสีขาวที่ใช้อยู่ประจำเป็นปุ๋ยเร่งดอก สีแดงเป็นปุ๋ยแก้สภาวะทรุดโทรม ผมจึงหัวเราะและนำเสนอสมมุติฐานกลไกการออกฤทธิ์ว่า
“มันคงเหมือนยารักษาหัวใจล้มเหลวละมัง คนเป็นหัวใจล้มเหลวกินแล้วดีขึ้น แต่ถ้าคนหัวใจดีๆไปกินเข้า หัวใจอาจจะล้มเหลวไปเลย ฮะ ฮ่า ฮ่า แคว่กๆๆ”
ผลพลอยได้จากเรื่องปุ๋ยแดงปุ๋ยขาวก็คือภรรยาชวนผมกับเพื่อนไปหาซื้อกล้วยไม้กันที่เนอร์สเซอรี่แถวเขาใหญ่ ทำให้ผมได้กล้วยไม้ดอกไม้มาประดับหน้า Pump House ในเวลาที่อยากได้พอดี แต่ขณะเดียวกันกลับมาแล้วมีความ “รู้สึกผิด” ค้างอยู่ในใจนิดๆตรงที่เจ้าของสวนกล้วยไม้ไม่ยอมเอาเงิน แถมยังตั้งโต๊ะเลี้ยงน้ำชาตอนบ่ายอีกต่างหาก ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรจริงๆ นอกจาก..ขอให้เจ้าภาพจงเจริญ ฮิ ฮิ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์