การร้องเพลงคาราโอเกะรักษาโรคนอนกรนได้จริงหรือ

แฟนนอนกรนเสียงดังมาก หมอบอกให้ไปร้องเพลงคาราโอเกะ การรัองเพลงคาราโอเกะจะรักษาโรคนอนกรนอย่างที่คุณหมอพูดได้จริงหรือ เพื่อนอีกคนแนะนำให้ไปทำผ่าตัดเอาลิ้นไก่ออก การผ่าตัดอย่างที่ว่ามีโอกาสหายได้กี่เปอร์เซ็นต์คะ
พจน์

ตอบ

ร้องเพลงรักษาโรคนอนกรนได้หรือไม่
ไม่ทราบครับ
หมายความว่ายังไม่มีใครทราบ ไม่ใช่ผมไม่ทราบคนเดียว

เท่าที่ผ่านมามีเพียงการวิจัยแบบนำร่องขนาดเล็กซึ่งเอาคนนอนกรนมา 20 คน บันทึกเทปวัดความถี่ของการกรนไว้ 7 วัน แล้วให้ร้องเพลงทุกวันๆละ 20 นาที นาน 3 เดือน แล้วบันทึกเทปซ้ำอีกหลังจากครบ 3 เดือน พบว่าหลังจบการร้องเพลง พบว่าอัตราการนอนกรนโดยเฉลี่ยลดลง แต่เนื่องจากเป็นงานวิจัยเล็กมากและออกแบบไม่ดีนัก จึงยังสรุปอะไรเป็นตุเป็นตะไม่ได้ ต้องรอหลักฐานที่ดีกว่านี้ก่อน จึงจะสรุปได้ว่าการร้องเพลงจะช่วยรักษาโรคนี้ได้หรือไม่

เนื่องจากเมื่อพูดแบบชาวบ้านว่า “โรคนอนกรน” เขามักหมายถึงโรคหยุดหายใจระหว่างหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) ดังนั้นไหนๆถามมาแล้วผมขอเล่าถึงโรคนี้เสียหน่อย ซึ่งตามนิยามของวิทยาลัยอายุรศาสตร์การนอนหลับอเมริกา (AASM) โรคนี้คือภาวะที่ทางเดินลมหายใจส่วนบนยุบตัวลงระหว่างนอนหลับ ทำให้หยุดหายใจไปเลย (apnea) นานครั้งละ 10 วินาทีขึ้นไปแล้วสะดุ้งตื่น (arousal) ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 5 ครั้ง หรือมี “ดัชนีการรบกวนการหายใจ (Respiratory Distress Index, RDI)” ซึ่งเป็นตัวเลขบอกว่าคนคนนั้นต้องสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจแบบใดๆ (respiratory event–related arousals, RERA) มากกว่าชั่วโมงละ 15 ครั้งขึ้นไป ทั้งหมดนี้ต้องร่วมกับการมีอาการง่วงตอนกลางวัน โดยที่ไม่อาจบรรเทาได้โดยการใช้ยาใดๆช่วย

จะเห็นว่าการจะระบุจำนวนการเกิดการหยุดหายใจ (apnea) หรือจำนวนครั้งของการสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจ (RDI) ระหว่างนอนหลับเพื่อวินิจฉัยโรคนี้นั้น จำเป็นต้องทำการตรวจวัดค่าต่างๆในขณะนอนหลับ (polysomnography, PSG) ซึ่งต้องทำในห้อง sleep lab หรือเข้าเครื่องตรวจขณะนอนหลับก่อนเท่านั้น มิฉะนั้นจะไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้

คนเป็นโรคหยุดหายใจระหว่างหลับนี้มักเกิดหยุดหายใจไปเลยคืนละหลายครั้งหรือเป็นร้อยๆครั้ง ทำให้มีเสียงกรนดังในจังหวะทางเดินลมหายใจเปิดและลมที่ค้างอยู่ในปอดถูกพ่นออกมา

คนเป็นโรคนี้จะมีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (EDS, excessive daytime sleepiness) มึนงงตั้งแต่เช้า ความจำเสื่อม สมองไม่แล่น ไม่ว่องไว บุคลิกอารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า กังวล หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นโรคกรดไหลย้อน โรคนี้มักเป็นกับคนอายุ 40-65 ปี อ้วน ลงพุง คอใหญ่ วัดรอบคอได้เกิน 17 นิ้ว หรือมีโครงสร้างของกระดูกกระโหลกศีรษะและหน้าเอื้อให้เป็น เช่นกรามเล็ก เพดานปากสูง กระดูกแบ่งครึ่งจมูกคด มีโพลิพในจมูก หรือมีกายวิภาคของทางเดินลมหายใจส่วนบนผิดปกติ เช่น เป็นไฮโปไทรอยด์ ลิ้นใหญ่ ถ้าเป็นหญิงก็มักหมดประจำเดือนแล้ว กรรมพันธ์ สิ่งแวดล้อมเช่น สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ยานอนหลับ OSA มักเกิดในท่านอนหงาย

ในการนอนหลับปกติจะมีระยะหลับยังไม่ฝัน แล้วจึงจะหลับลึกลงไปถึงระยะหลับฝัน ขณะที่หลับฝันนี้ผู้หลับจะมีการเคลื่อนไหวของลูกตาไปมา จึงเรียกระยะหลับฝันว่า Rapid Eye Movement หรือ REM Sleep การเกิดหยุดหายใจมักเกิดในระยะหลับฝันหรือระยะ REM sleep
โรคนี้มักสัมพันธ์กับโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อัมพาต โรคซึมเศร้า อุบัติเหตุจากง่วงนอน ความจำเสื่อม ประมาณว่า 9% ของผู้ชายและ 4% ของผู้หญิงเป็นโรคนี้

การรักษามาตรฐานสำหรับโรคนี้คือ

1. มาตรการทั่วไป ได้แก่ การลดน้ำหนัก การเลิกบุหรี่ แอลกอฮอล์ และยากล่อมประสาท ยานอนหลับ การหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย

2. การใช้อุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์ที่ดีที่สุดและแนะนำเป็นตัวแรกคือเครื่องเพื่มความดันลมหายใจแบบต่อเนื่องผ่านจมูก (nasal CPAP) ถ้าไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยไม่ชอบ ก็ต้องหันไปใช้อุปกรณ์ตัวที่สองคือ เครื่องครอบช่วยหายใจสองจังหวะ (BiPAP) ซึ่งผู้ป่วยปรับความดันในช่วงให้ใจเข้าและออกให้พอดีได้เอง แต่ว่ามีราคาแพงกว่าและผลการรักษาก็ไม่ได้แตกต่างจาก CPAP ถ้าผู้ป่วยยังทนไม่ได้อีก คราวนี้ก็เหลืออุปกรณ์สุดท้ายคืออุปกรณ์เปิดทางเดินลมหายใจ (OA) ที่นิยมใช้มีสามแบบคือ ตัวกันลิ้นตก (tongue retaining device, TRD) ตัวค้ำขากรรไกร และตัวค้ำเพดานปาก ข้อมูลความสำเร็จของการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในระยะยาวยังมีจำกัดมาก

3. การผ่าตัด วิธีผ่าตัดที่ใช้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการอุดกั้นทางเดินลมหายใจอยู่ที่ระดับหลังเพดานปาก หรือหล้งลิ้น หรือคร่อมทั้งสองระดับ ถ้าการอุดกั้นเกิดที่เพดานปากส่วนหลัง การผ่าตัดก็ทำแค่ยกเพดานปากและลิ้นไก่ (uvulopalatophyarygoplasty, UPPP) ก็พอ การผ่าตัดชนิดนี้มีความสำเร็จ เพียงประมาณ 50% ของผู้เข้าผ่าตัดเท่านั้น (ความสำเร็จนี้วัดจากการลดจำนวนครั้งของการสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจลงได้อย่างน้อย 50%) และมีเหมือนกันประมาณ 31% ที่ทำผ่าตัดชนิดนี้แล้วอาการกลับแย่ลง ถ้าการอุดกั้นเกิดที่ระดับหลังลิ้น ก็อาจจะต้องทำผ่าตัดดึงลิ้น (Genioglossus advancement with hyoid myotomy หรือ GAHM) หรือบางทีก็อาจจะต้องถึงกับเลื่อนกระดูกกรามล่าง (maxillomandibular advancement osteotomy หรือ MMO)ซึ่งมักจะแก้การอุดกั้นได้ทุกระดับ การเลือกผ่าตัดแบบไหนย่อมสุดแล้วแต่ผลการประเมินจุดอุดกั้นว่าเกิดตรงไหน


บรรณานุกรม
1. Ojay A, Ernst E. Can Singing Exercises Reduce Snoring? A Pilot Study. Complement Ther Med 2000; 8(3); 151-156.
2. American Academy of Sleep Medicine. International Classification of Sleep Disorders: Diagnostic and Coding Manual, Second Edition. Westchester, Ill: American Academy of Sleep Medicine; 2005.
3. Young T, Palta M, Dempsey J, Skatrud J, Weber S, Badr S. The occurrence of sleep-disordered breathing among middle-aged adults. N Engl J Med. Apr 1993;328(17):1230-5.

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67