ซีเรียส.. เรื่องความเบื่อหน่ายชีวิต

ผมผ่านมาพบเว็บบอร์ดตอบคำถามของคุณหมอสันต์โดยบังเอิญ ได้เห็นสไตล์การตอบที่มีสาระลุ่มลึกจึงคิดว่าคุณหมอจะพอช่วยได้ ผมไม่ต้องการแสดงตัวในเรื่องนี้กับใคร ปัญหาคือความเบื่อหน่าย หรืออาจจะเป็น depression มันไม่อยากทำงาน เรื่องที่เคยสนุกก็กลายเป็นน่าเบื่อ ตัวเองเคยเป็นคนพูดอะไรแล้วตลกคนหัวเราะก็กลายเป็นคนพูดอะไรอย่างเสียไม่ได้ พูดออกไปแล้วเหมือนไม่ใช่ตัวเองพูด ทำอะไรก็เหนื่อยไปหมด แม้กระทั่งเรื่องเซ็กซ์ ผมต้องการคำตอบที่ซีเรียสและลึกซึ้งนะครับ
TroubleMan

.......................

ตอบ

อ่านคำถามของคุณผมก็ซีเรียสเรียบร้อยแล้วละครับ

การตอบคำถามของคุณ ผมใช้วิธี “เดาแอ็ก” นะครับ คือการวินิจฉัยโรคของแพทย์ปกติใช้วิธี “ไดแอ็ก” ซึ่งเป็นคำสั้นๆของ diagnosis หมายความว่าเอาข้อมูลที่มีอยู่ค่อนข้างจะครบถ้วนมากกางแล้วคิดวินิจฉัยออกมาว่าเป็นโรคอะไร ส่วนเดาแอ็กนั้นก็ใช้ในยามที่ข้อมูลที่มีอยู่มันกระท่อนกระแท่นจนต้องใช้เวอร์บทูเดาไงครับ คือเดาว่าของคุณมันอาจจะเป็นอะไรสักอย่างในข้อวินิจฉัยแยกโรคต่อไปนี้ คือ

1..เป็นความเซ็งมะก้องด้องธรรมดา หมายความว่าตามหาความสุขแต่หาไม่เจอ
2..วิกฤติการณ์ครึ่งชีวิต หรือ midlife crisis
3.. โรคซึมเศร้า
4.. ภาวะหน่ายสังสารวัฏฏ์ แบบว่าทนความไร้ความหมายของชีวิตไม่ได้

ถ้าเป็นกรณีที่ 1. สิ่งที่ผมพอจะช่วยได้ก็คือเล่าให้คุณฟังว่างานวิจัยทางการแพทย์เขาพบข้อมูลว่าอะไรสัมพันธ์กับความสุขบ้าง ผมจะไล่เลียงหัวข้อตามงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ผลวิจัยที่ได้นี้ ก็สอดคล้องกับผลวิจัยอื่นๆ ซึ่งสรุปว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสุขคือ

หนึ่ง “การได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามความเชื่อในศาสนาของตน” ข้อมูลแยกไม่ออกว่าเป็นเพราะพระเจ้าหรือธรรมะดีจริง หรือเป็นเพราะการได้ไปสมาคมกับคนพันธุ์เดียวกัน แต่ก็สรุปได้แน่ชัดว่าพวกธัมมะธัมโมถือศีล ไม่ว่าจะถือสากด้วยหรือไม่ก็ตาม ล้วนมีความสุขมากกว่าพวกไม่เอาศาสนา

สอง “การมีเพื่อนซี้” หรือญาติสนิท หรือได้แต่งงานกับคนที่รู้ใจ บางงานวิจัยพบว่าถ้ามีเพื่อนที่สุขง่ายหัวเราะง่าย เราก็จะสุขง่ายไปด้วย บางงานวิจัยพบว่าเพื่อนซี้ในที่ทำงานมีผลต่อความสุขมากกว่าคู่สมรส ในประเด็นการแต่งงาน พบว่าคนได้แต่งงานมีความสุขมากว่าคนไม่แต่งงาน แต่โปรดอย่าลืมนะครับว่าเขาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่ง การที่มีความสัมพันธ์ระหว่างการได้แต่งงานกับการมีความสุข จะไปพรวดพราดสรุปว่าการได้แต่งงานเป็นสาเหตุของความสุขยังไม่ได้ มันอาจเกิดจากปัจจัยกวน (confound factors) อย่างอื่น เช่น สมมุติว่าการเป็นคนหยวนๆ (หมายถึงคนแบบเอาไงเอากัน) เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการมีความสุข แล้วคนหยวนๆก็ได้แต่งงานมากกว่าคนโกตั๊ก (หมายถึงคนเรื่องมาก) เมื่อเรามานับดูเห็นว่าคนที่ได้แต่งงานมีความสุขมากกว่าคนไม่แต่งงาน จะสรุปว่าการได้แต่งงานทำให้เกิดความสุขยังไม่ได้ เพราะมันมีปัจจัยกวนซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงซ่อนอยู่

สาม ก็คือการได้ง่วนทำอะไร ยิ่งเป็นอะไรที่ใด้ใช้ความรู้และทักษะของตัวเองเต็มที่ด้วยยิ่งสุขมาก ในประเด็นต้องได้ทำอะไรถึงจะมีความสุขนี้ นายชิคเซนท์เมฮี (Mihaly Csikszentmihalyi) ได้ทำวิจัยไว้อย่างพิสดาร คือสุ่มเพจเข้าไปหาคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างโดยไม่เลือกเวลาแล้วถามว่าตอนนี้คุณทำอะไรอยู่เอ่ย แล้วคุณกำลังรู้สึกยังไง ก็ได้ผลสรุปออกมาชัดเจนว่าถ้ากำลังง่วนทำอะไรอยู่ จะรู้สึกดีมีความสุขมากกว่าถ้าอยู่ว่างๆเฉยๆ ดังนั้นใครที่อยากมีความสุขก็จงอย่าได้ขี้เกียจ ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ หลายงานวิจัยสรุปได้ว่าการได้ง่วนกับอะไรที่ง่ายๆราคาถูกๆ มีความสุขมากกว่าการเล่นของยากๆราคาแพงๆ คนทำสวนเป็นงานอดิเรกมีความสุขมากว่าคนเล่นเรือยอชต์ เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่ไม่สัมพันธ์กับความสุข แทบทุกงานวิจัยล้วนได้ผลตรงกันคือ

(1) การมีรายได้มากขึ้นหรือความร่ำรวย
(2) การมีความรู้สูง
(3) การเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูง
(4) วัย อันทีจริงผลวิจัยบางรายการพบว่าวัยสูงอายุมีความสุขมากกว่าวัยหนุ่มสาวเสียอีก
(5) เชื้อชาติ
(6) เพศ
(7) การมีลูกหรือไม่มี ก็ล้วนไม่ใช่ปัจจัย

กรณีที่ 2. midlife crisis คืออาการที่เป็นกับคนอายุกลางคน คือประมาณสี่สิบปี บวกลบเผื่อไว้ได้เลยสักสิบปี มันมาในรูปแบบของความรู้สึก ไม่พึงพอใจกับวิถีชีวิตหรือแม้กระทั่งกับตัวชีวิตเอง ทั้งๆที่ก็รู้สึกดีๆมาได้ตลอด เบื่อ เบื่อคน เบื่อสิ่งของ หรือสิ่งเร้าใดๆที่เคยท้าทายตนเองเป็นอย่างดีในอดีต อยากไปเสาะหา ไปทำอะไรที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง และสับสนว่า ตัวเราเองนี่เป็นใคร และกำลังจะไปไหนกัน ถ้าเป็นกรณีนี้คำแนะนำคือคุณทำล่องลอยไปตามระยะทั้ง 5 ที่คาร์ล จุง จิตแพทย์ชาวสวิสแบ่งไว้ คือ

• ระยะทำตัวให้กลมกลืน ( accommodation) คือระยะต้นของการทำงานก่อนที่จะมาถึงกลางชีวิต (ก่อนอายุ 30-50 ปี) เป็นระยะที่คนเราทำตัวให้เป็นที่ยอมรับ ให้ประสบความสำเร็จตามมาตรฐานสังคม บางครั้งอาจต้องใส่หน้ากากหรือหัวโขนพรางตัวตนที่แท้จริงของเราไว้บ้าง ทั้งโดยจงใจ หรือโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ถ้าหัวโขนนั้นแตกต่างจากตัวตนที่แท้จริงมาก การปรับตัวสู้กับวิกฤติครึ่งชีวิตก็จะหนักไปด้วย

• ระยะถอดหัวโขน ( Separation) เป็นช่วงเวลาที่เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนนักแสดงที่ออกมาหลังเวทีแล้วถอดหัวโขนออกมองตัวเองในกระจก คำถามที่เกิดขึ้นก็เช่นว่า ตัวตนคนที่สวมหัวโขนนั้นจริงๆแล้วเป็นอย่างไร มันเหมือนหัวโขนนี่หรือเปล่า

• ระยะเคว้งคว้าง ( liminality) ตัวตนเก่าก็ไม่เอา ตัวตนใหม่ก็ยังหาไม่เจอ ชักไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นใคร จะไปทางไหน กลัวที่จะต้องตัดสินใจ

• ระยะสร้างตัวตนใหม่ที่ตัวเองยอมรับได้ขึ้นมา ( reintegration) หลังจากค้นหาตัวเองอยู่พักหนึ่ง ในที่สุดก็จะพบตัวตนใหม่ที่กล้อมแกล้มกลมกลืนกับชีวิตจริง รับได้ชัดขึ้นว่าตัวเองเป็นใครจะไปทางไหน และประเมินตัวเองใหม่เป็นระยะ

• ระยะหันหน้าสู้ความจริงและยอมรับด้านที่ไม่ค่อยเข้าท่าที่ยังอาจมีอยู่ในตัวตนใหม่ ( individuation) ยอมรับว่าโลกนี้คือละคร ชีวิตจริงมันก็ต้องแสดงกันบ้าง ยอมรับวิธีประสานความคาดหวังของคนรอบข้างให้เข้ากับเสียงเพรียกจากก้นบึ้งหัวใจของตัวเอง ตามใจงานบ้าง ตามใจตัวเองบ้าง ทนความโง่ของคนอื่นได้มากขึ้น

กรณีที่ 3. โรคซึมเศร้า อันนี้หลักวิชาแพทย์ต้องอัดยาลูกเดียวครับ ยาแก้ซึมเศร้านี้ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก ใช้กันแบบว่าคนไข้อ้าปากยังไม่ทันเห็นลิ้นไก่หมอก็จ่ายยาแก้ซึมเศร้าแล้ว แต่ว่าผมเป็นพันธ์ไม่ชอบยา ถ้าเป็นกรณีนี้ผมแนะนำให้ทำหลายๆอย่างโดยไม่ใช้ยา ได้แก่

(1) ฝึกให้ร่างกายตอบสนองต่อความผ่อนคลาย (relaxation response) อย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น นั่งสมาธิตามดูลมหายใจเข้าออก รำมวยจีน โยคะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

(2) ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่
(2.1) ออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที การออกกำลังกายทำให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นสารต่อต้านความเครียดโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือด
(2.2) นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ ในการทำงานก็เบรกสั้นๆเพื่อผ่อนคลาย
(2.3) ลด ละ เลิกสารกระตุ้นต่างๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยา กาแฟ หรือแม้กระทั่งน้ำตาล

(3) การหัวเราะ และการทำตัวเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ทำให้สุขภาพดี และต้านความเครียดได้ชะงัด ถ้าตัวเองไม่มีศักยภาพที่จะหัวเราะเองได้ ก็ควรพยายามใกล้ชิดกับคนที่หัวเราะเก่ง

(4) ตากแดดบ้าง อ้าว.. อย่าทำเป็นเล่นไป แสงแดดนี่แก้ภาวะซึมเศร้าได้จริงๆนะครับ

(5) เปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่การคิดบวก สื่อสัมพันธ์คบหากับคนที่คิดบวก ถอนตัวเองออกจากปลักของการชิงดีชิงเด่นเอาชนะคะคานหรือเสริมอัตตาของตัวเอง หันมาสนใจการทำอะไรเพื่อคนอื่นให้มากขึ้น

(6) หันไปทำเรื่องที่ทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจบ้าง เช่น หาเวลาไปเดินเล่น ไปอยู่กับธรรมชาติ จุดเทียนหอม เขียนบันทึก นอนแช่น้ำนานๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำสวน ดมดอกไม้ อ่านหนังสือดีๆ ไปใช้บริการนวดคลายเครียด ฟังดนตรี ดูหนังตลก เล่นเปียโน เขียนภาพ ถีบจักรยาน ดูดาว เป็นต้น

กรณีที่ 4. ภาวะหน่ายสังสารวัฏฏ์ อันนี้หนักหน่อยนะครับ แบบว่าหมออาจจะเอาไม่อยู่ (หิ..หิ พูดเล่น) เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่าจะแก้ได้อย่างไร ผมแนะนำแบบมวยวัดว่ามันต้องเข้าใจลึกซึ้งลงไปถึงใจของตัวเอง ขออนุญาตพล่ามตรงนี้ต่ออีกสักเล็กน้อย เป็นแนวคิดที่ผมมั่วขึ้นมาเองนะครับ

คือใจของเราซึ่งจะทำงานหรือมีกิจกรรมก็ต่อเมื่อเราตื่น หรือมี consciousness นี้ มันมีกิจกรรมอยู่สี่อย่างเท่านั้นเอง คือ
(1) รับรู้สิ่งเร้า (perception)
(2) คิด (think)
(3) รู้สึก (feel)
(4) สังเกตใจตัวเอง (observe)

อนึ่ง ความพิศดารของใจเรามีอยู่สองประการ ประการแรก คือกิจกรรมทั้งสี่อย่างนี้เกิดขึ้นแว่บเดียวก็หยุดไป บางที่หยุดไปแล้วก็เกิดขึ้นใหม่อยู่เนืองๆทำนอง แว่บ แว่บ แว่บ เหมือนกรณีที่เราคิดอะไรซ้ำซากวกวนไม่รู้จบ แต่กลไกพื้นฐานก็ยังเป็นแบบเกิดแล้วหยุด เกิดแล้วหยุด ใจของเราจะไม่มีกิจกรรมอะไรที่เกิดแล้วถูกบังคับว่าต้องคงอยู่ต่อเนื่องอยู่ยั้งยืนยงตลอดไป.. ไม่มี ประการที่สอง กิจกรรมทั้งสี่อย่างนี้เกิดขึ้นได้ทีละอย่างเท่านั้นเอง จะไม่เกิดซ้อนกัน เช่นถ้าเรากำลังสังเกตใจตัวเองว่าเมื่อตะกี้นี้เราคิดอะไร ขณะที่สังเกตใจตัวเองอยู่นั้นความคิดเมื่อตะกี้นี้จะหายไปแล้ว เหลือแต่ความรู้ตัวว่าเราเฝ้าสังเกตอยู่

เรามักคุ้นเคยกับกิจกรรมการรับรู้สิ่งเร้า การสนองตอบต่อสิ่งเร้าด้วยการคิด และการเกิดความรู้สึก ซึ่งเป็นไปแบบธรรมชาติโดยเราไม่ได้ตั้งใจกำหนด แต่เราไม่คุ้นเคยกับการสังเกตใจตัวเอง การสังเกตใจตัวเองนี้หมายถึงภาวะที่เราตามไปดูว่าเมื่อตะกี้นี้ ใจเรารับรู้อะไรมา หรือคิดอะไร หรือรู้สึกอะไร

องค์ประกอบของการสังเกตมีสองส่วน คือ หนึ่ง การระลึกได้ (recall) ว่าเมื่อตะกี้ใจเราไปคิดอะไร หรือมีความรู้สึกอะไร กับ สอง ความรู้สึกตัว (awareness) ว่า ณ ขณะที่เรากำลังสังเกตใจเราอยู่นี้เรารู้ตัวอยู่ไม่ได้เผลอไผลใจลอยไปไหน

การสังเกตใจตัวเองนี้เหมือนกับว่าเราแยกตัวออกมาเป็นคนอีกคนหนึ่ง มานั่งเฝ้ามองใจของเราเฉยๆ ไม่ได้เข้าไปผสมโรง หรือเลยเถิดไปสั่งสอนแนะนำอะไร เช่นเมื่อตะกี้ใจของเราครุ่นคิดเรื่องที่เพื่อนคนหนึ่งเขาทรยศเราอยู่ การสังเกตก็จำกัดอยู่เพียงเฝ้ามองว่าเออ.. เมื่อตะกี้ใจเราคิดเรื่องเพื่อนทรยศ แค่นั้นพอ คือเอาแค่หัวข้อ ไม่ลงลึกไปถึงว่าเนื้อหาสาระที่คิดมีอะไรบ้าง หรือไม่ไปสั่งสอนว่าคิดอย่างนั้นถูกหรือผิดดีหรือไม่ดี ถ้าลงลึกไปกว่าหัวข้อ ก็จะกลายเป็นการผสมโรงคิดไปเสีย ไม่ใช่การสังเกตอีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อมีความคิดอยู่ แสดงว่าไม่มีการสังเกต เช่นเดียวกันเมื่อมีการสังเกต ณ ขณะนั้นก็จะไม่มีความคิด เพราะอย่างที่บอกแล้วว่ากิจกรรมของใจเราจะเกิดได้ทีละอย่างเท่านั้น จะไม่เกิดพร้อมกัน ในทางสรีรวิทยาของระบบประสาทได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยทฤษฎีประตูคุม (gate control theory) ซึ่งมีสาระว่าสมองจะรับสัญญาณต่างๆได้ทีละอย่าง เปรียบเสมือนว่าสัญญาณเหล่านั้นต้องไปแย่งกันผ่านประตูคุมแคบๆซึ่งเข้าไปหาสมองได้ทีละหนึ่งสัญญาณเท่านั้น

เมื่อมามองย้อนไปในอดีตของเราแล้ว ทุกอย่างที่ทำให้เรากลัดกลุ้มไม่มีความสุข ดูเผินๆเหมือนมันมาจากภายนอก ในรูปของสิ่งเร้าหรือความบีบคั้นต่างๆที่เรารับเข้ามา แต่ถ้ามองให้ลึกแล้ว สิ่งที่ทำให้เรากลัดกลุ้ม เหงา ว้าเหว่ หรือไม่มีความสุข แท้จริงแล้วมีอยู่สองตัวเท่านั้นเอง คือ ความคิด (though) และความรู้สึก (feeing) ที่เกิดขึ้นในใจของเราหลังจากที่เราได้รับรู้สิ่งเร้าจากภายนอกแล้ว หมายความว่าส่วนที่ทำให้เราเครียดคือส่วนที่ถูกสร้างขึ้นในใจเรา ไม่ใช่ส่วนที่มาจากภายนอก

ความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเรานี้ มองเผินๆเหมือนกับว่าเราไม่อาจจะไปหยุดยั้งมันได้ เมื่อมันจะเกิดก็ต้องปล่อยให้มันเกิด และเมื่อมันเกิดแล้วดูเหมือนว่าก็ต้องให้มันอยู่ของมันไป เป็นชะตากรรมที่เราต้องยอมรับมัน ทนอยู่กับมัน หรือจมไป หรือตายไปพร้อมกันเลยทีเดียว

แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความคิดของเราก็ดี ความรู้สึกสารพัดเช่นความโกรธ ความแค้น ความเหงา ความรู้สึกไร้ค่า ก็ดี มันก็ล้วนเป็นแค่กิจกรรมอย่างหนึ่งของใจเรา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นแว่บ แว่บหนึ่งแล้วก็หยุด แต่ทีดูเหมือนว่ามันครองใจเราไว้ได้ตลอดเวลาก็เพราะมันเกิดต่อๆกันเป็นแบบแว่บ แว่บ แว่บ... แต่หากพิจารณาประกอบความจริงที่ว่ากิจกรรมของใจเรานี้มีได้ทีละอย่างเดียว ถ้ามีกิจกรรมอย่างอื่นของใจเราแว่บเข้ามาแทรก ก็จะตัดตอนความคิดหรือความรู้สึกในใจเราได้ และถ้ากิจกรรมอย่างอื่นนั้นแทรกเข้ามาถี่ๆแบบแว่บ แว่บ แว่บ บ้าง ความคิดหรือความรู้สึกที่ทำให้เรากลัดกลุ้มไม่มีความสุขนั้นก็เกิดไม่ได้ เมื่อต้นเหตุของความเครียดเกิดขึ้นในใจเราไม่ได้ ความเครียดก็จะหมดไป

สิ่งที่เข้าจะมาแทรกเพื่อยุติความคิดและความรู้สึกได้ชะงัดนักก็คือการสังเกตใจเรานั่นเอง เช่นเรากำลังนั่งซึมเศร้าท้อแท้กับชีวิตอยู่ ตัวความซึมเศร้าคือความรู้สึก (feeling) ถ้าเราสมมุติว่ามีตัวเราอีกคนหนึ่งชื่อ “นายสังเกต” มานั่งมองดูเจ้าความรู้สึกซึมเศร้านี้ เริ่มด้วยการระลึกได้ว่าเออ.. เมื่อตะกี้นี้ ใจเรารู้สึกซึมเศร้าแฮะ แล้วตามด้วยความรู้ตัวว่าตัวเองกำลังนั่งเฝ้ามองอยู่ตรงนั้น ตัวความรู้สึกซึมเศร้าเมื่อถูกเฝ้ามองก็จะเขินอายฝ่อหายไป ธรรมชาติของใจมันเป็นอย่างนี้จริงๆ
ถ้าไม่เคยสังเกตใจตัวเองมาก่อนเลย ก็ไม่เป็นไร ลองหัดดู การสังเกตใจตัวเองเป็นทักษะ (skill) เหมือนทักษะอื่นๆเช่น การใช้ภาษา การว่ายน้ำ การร้องเพลง ถ้าไม่หัดก็ทำไม่เป็น แต่ถ้าหัดบ่อยๆก็ทำได้คล่อง และถ้าเก่งก็จะสามารถสังเกตใจตัวเองได้เนืองๆ จนความคิดความรู้สึกไม่ดีทั้งหลายเข้ามาครองใจเราอย่างแต่ก่อนไม่ได้เลย นั่นก็คือ..หายเศร้าได้

ผมตอบเสียตั้งยาว เพราะ feel guilty ว่าตอบจม.ของคุณช้า หวังว่าคุณยังอยู่ทันได้อ่านนะครับ..(พูดเล่น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67