การนอนหลับกลางวัน สรุปว่าดีหรือไม่ดี
(ภาพวันนี้ / ค้นพบว่าถูกซุกซ่อนอยู่หลังบ้านเพื่อน)
(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)
เรียนคุณหมอ
มีคนร่อนในไลน์ว่างานวิจัยของฮาร์วาร์ดว่าต้องนอนหลับกลางวันเพื่อลดอัตราตายลงไป 37% เท็จจริงอย่างไรคะ ถ้าจริงดิฉันจะได้นอนบ้าง เพราะปกติไม่เคยนอนกลางวันเลย
…………………………………………………
ตอบครับ
ถามว่านอนกลางวันทำให้อายุยืนปลอดโรคปลอดไข้จริงหรือเปล่า นี่เป็นประเด็นคำถามเรื่องเฟสของการนอนหลับ (sleep phase) ว่าในแต่ละวันหลับครั้งเดียว (กลางคืน = monphasic) หรือหลับสองครั้ง (กลางคืน+กลางวัน = biphasic) จึงจะดี ตอบว่าไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดอกครับ เพราะข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่มันไม่พอตอบ แต่ผมจะแสดงข้อมูลทั้งหมดที่มีให้คุณดูในบทความนี้
งานวิจัยชนเผ่าต่างๆในชุมชนดั้งเดิมในป่าอัฟริกาที่ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมไม่ได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกพบว่าพวกเขานอนหลับวันละสองช่วง (biphasic sleep) คือนอนกลางคืนประมาณ 7 ชั่วโมง และตอนบ่ายอีกประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ขณะที่บางชนเผ่าเช่นชนเผ่า Hadza ประเทศแทนซาเนียนอนหลับแบบสองช่วงเฉพาะในฤดูร้อน แต่พอเข้าฤดูหนาวก็เปลี่ยนมาหลับแบบเฉพาะช่วงกลางคืนช่วงเดียว และในการนอนหลับช่วงกลางคืนนั้น ทุกชนเผ่ามักจะเริ่มนอนหลับหลังจากตะวันตกดินไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง โดยเอาเที่ยงคืนเป็นจุดกึ่งกลางของการนอนหลับ
ปัจจุบันนี้ การนอนหลับวันละสองช่วงยังปฏิบัติกันอยู่ในหลายส่วนของโลก เช่นอเมริกาใต้ แถบทะเลเมดิเตอเรเนียน แต่ส่วนใหญ่ถูกวิวัฒนาการของการผลิตและค้าขายบีบให้เปลี่ยนเป็นนอนเฉพาะกลางคืนเท่านั้นแทน งานวิจัยที่คุณพูดถึงนั้นผมเคยเห็นใน Archive Internal Medicine นานสิบกว่าปีมาแล้ว มันเป็นการวิจัยแบบตามดูกลุ่มคนแบบไปข้างหน้าในยุโรป (prospective cohort) พบว่ากลุ่มที่ได้นอนหลับตอนบ่ายด้วย มีอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้นอนหลับตอนบ่าย 37% นี่เป็นงานวิจัยที่มีคนทำไว้จริง แต่เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่ง ไม่ได้ยืนยันว่ามันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันหรือไม่ การจะแนะนำผู้คนให้ปิดร้านขายของหรือปิดโรงงานมานอนหลับตอนบ่ายกันดีกว่านั้น คงต้องมีหลักฐานระดับสูงมากกว่านี้ ซึ่งผมมั่นใจว่าหลักฐานแบบที่ว่าคงจะไม่มีดอก และคงไม่มีตลอดไป เพราะใครจะมาจ่ายเงินจ้างทำวิจัย
ปัจจุบันนี้ก็ยังมีบางชุมชนที่คงมีวิถีชีวิตงีบหลับตอนบ่ายอย่างเหนียวแน่นเช่นเกาะอิคาเรีย ประเทศกรีซซึ่งผู้ชายที่นั่นมีอัตราอายุยืนเกิน 90 ปีมากกว่าผู้ชายอเมริกันถึงสี่เท่า แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงกลไกให้เกิดความแตกต่างในอัตราตายนี้เพราะมีปัจจัยกวนมากมาย แต่แพทย์บางคนก็สรุปแบบ “เดา” เอาดื้อๆว่าการฝืนไม่หลับตอนบ่ายทั้งๆที่ง่วง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราตายของผู้ชายอเมริกันสูงขึ้น เท็จจริงแค่ไหนยังไม่มีงานวิจัยมายืนยันประเด็นนี้
ที่มีข้อสรุปแน่ชัดกว่าแล้ว คือการนอนหลับได้น้อยมีผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน ปัญหาอยู่ที่ต้องนอนวันละกี่ชั่วโมงจึงจะพอ งานวิจัยในชนเผ่า Hadza ประเทศแทนซาเนียที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมพบว่าอัตราการนอนเฉลี่ยของพวกเขาคือ 6 ชั่วโมงในฤดูร้อน 7.2 ชั่วโมงในฤดูหนาว โดยให้เวลาตัวเองอยู่บนเตียงเพื่อการนอนหลับ 7 ชม.ถึง 8 ชม.ครึ่งต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่มูลนิธินอนหลับแห่งชาติสหรัฐ (NSF) และศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) แนะนำว่าควรให้เวลากับการนอนหลับบนเตียงวันละ 7-9 ชั่วโมงในผู้ใหญ่
ดังนั้นผมสรุปว่า นอนวันละครั้งเดียวหรือสองครั้ง จะเอายังไงก็ได้ครับ เอาแบบที่คุณถนัด แต่ที่แน่ๆชัวร์ป้าดเลยก็คือหากให้เวลาตัวเองบนเตียงนอนน้อยกว่าวันละ 7 ชั่วโมง หรือได้หลับจริงๆน้อยกว่าวันละ 6 ชั่วโมงถือว่าคุณได้หลับน้อยกว่าธรรมชาติที่มนุษย์ปกติพึงได้ ซึ่งน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Naska A, Oikonomou E, Trichopoulou A, Psaltopoulou T, Trichopoulos D. Siesta in ealthy adults and coronary mortality in the general population. Arch Intern Med. 2007 Feb 12;167(3):296-301. doi: 10.1001/archinte.167.3.296. PMID: 17296887.
- Samson DR, Crittenden AN, Mabulla IA, Mabulla AZ, Nunn CL. Hadza sleep biology: Evidence for flexible sleep-wake patterns in hunter-gatherers. Am J Phys Anthropol. 2017 Mar;162(3):573-582. doi: 10.1002/ajpa.23160. Epub 2017 Jan 7. PMID: 28063234.
- Hirshkowitz M, Whiton K, Albert SM, Alessi C, Bruni O, DonCarlos L, Hazen N, Herman J, Katz ES, Kheirandish-Gozal L, Neubauer DN, O’Donnell AE, Ohayon M, Peever J, Rawding R, Sachdeva RC, Setters B, Vitiello MV, Ware JC, Adams Hillard PJ. National Sleep Foundation’s sleep time duration recommendations: methodology and results summary. Sleep Health. 2015 Mar;1(1):40-43. doi: 10.1016/j.sleh.2014.12.010. Epub 2015 Jan 8. PMID: 29073412.