30 มิถุนายน 2566

หมอรุ่นใหม่ถามเรื่องการฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิต

(ภาพวันนี้: ผลกระบองเพชร)

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

ผมเป็นพชท2 อยู่ที่ … จังหวัด … ผมติดตามอาจารย์มาตั้งแต่จบแพทย์ มีความเห็นว่าการแพทย์แบบ specialty แก้ปัญหาให้ผู้ป่วยได้น้อย เมื่อได้เป็นหมอแล้ว ผมอยากจะทำอะไรก็ตามที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้นจริงๆ ผมจะปรีกษาอาจารย์ว่าตอนนี้กรมอนามัยเขาเปิดฝึกอบรมเวชศาสตร์วิถีชีวิตขึ้นมาเป็นสาขาใหม่ที่แพทยสภายอมรับและกระทรวงสธ.ยอมรับให้เอาวุฒิบัตรมาปรับเงินเดือนได้ ผมจะไปสมัครเทรนนิ่งนี้แทนการเข้าเทรน med ในโรงพยาบาลดีไหมครับ ที่ผมถามเพราะผมเองไม่เข้าใจว่าแท้จริงแล้วเวชศาสตร์วิถีชีวิตมันคืออะไร เขาฝึกอบรมกันอย่างไร ในอเมริกาซึ่งอาจารย์บอกว่าเป็นต้นแบบเขาฝึกอบรมกันอย่างไร ในเมืองไทยเขาฝึกอบรมกันอย่างไร แล้วเวชศาสตร์วิถีชีวิตนี้มันต่างจากเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างไร การที่เป็นสาขาเปิดใหม่ คนเรียนมีน้อย คนสอนไม่มีประสบการณ์ทางด้านนี้เลย ผมจะเสียเวลาไปเปล่าๆอีกสามปีหรือเปล่าครับ

ถ้าอาจารย์มีอะไรจะชี้แนะเพิ่มก็ขอความกรุณาด้วยครับ

…………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. คุณหมอถามว่าเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) คืออะไร ตอบว่าคือการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (เช่นโรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น) ด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการใช้ยาให้ได้มากที่สุด โดยมีเสาหลักของวิชานี้ 6 เรื่อง คือ (1) อาหารพืชเป็นหลักแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (WFPB) (2) การออกกำลังกาย (3) การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับหรือหลับไม่พอ (4) การจัดการความเครียด (5) การหลีกเลี่ยงสารพิษจากนอกร่างกาย (6) การสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับคนรอบตัว โดยทั้งหมดนี้ยึดแนวทางการแพทย์แบบอิงหลักฐาน

2.. ถามว่าการฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิตในอเมริกาเขาทำกันอย่างไร ตอบว่าวิทยาลัยเวชศาสตร์วิถีชีวิตอเมริกัน (ACLM) เป็นผู้จัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและออกวุฒิบัตร วิธีเข้าฝึกอบรมเข้าได้สองทาง (pathway) คือ

Experiential pathway ต้องจบอเมริกันบอร์ดเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาใดสาขาหนึ่งมาแล้วอย่างน้อยสองปีแล้วมาเข้าเรียนและสอบเอาอเมริกันบอร์ดเวชศาสตร์วิถีชีวิต (ABLM) เนื้อหาของเรื่องที่ต้องเรียนต้องสอบหาอ่านได้ในเว็บไซท์ของ ACLM

Educational pathway เป็นการเข้าฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน 3 ปี หลังจากจบอินเทอร์น มีสถาบันที่เปิดฝึกอบรมประมาณ 25 แห่งทั่วสหรัฐฯ เนื้อหาของหลักสูตร (LMRC) ประกอบด้วยภาคทฤษฏีตามเนื้อหาที่กำหนดไม่ต่ำกว่า 100 ชม. และภาคปฏิบัติกับผู้ป่วยอย่างน้อย 400 เคส และปฏิบัติ intensive therapeutic lifestyle change program (ITLC) ไม่ต่ำกว่า 20 ชม. และฝึกอบรมผ่าน group facilitation อีก 20 ชั่วโมง ผมทราบรายละเอียดบ้างพอควร เพราะมีเพื่อนหมออเมริกันที่ยังทำงานให้ ACLM อยู่บ้าง

3.. ถามว่าการฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิตในประเทศไทยทำอย่างไร ตอบว่า ผมสารภาพว่าผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก ทราบแต่ว่ากรมอนามัย โดยสถาบันปัณณฑัต (ซึ่งก็คืออาคารชั้น 6 กรมอนามัยที่ใช้ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกันนั่นแหละ) เป็นผู้ให้การฝึกอบรม โดยฝึกอบรมอยู่กับกรมอนามัยใน 2 ปีแรก แล้วไปเรียนป.โทในสาขาที่เกี่ยวข้องอีก 1 ปี รูปแบบของการฝึกอบรมก็มีทั้ง

(1) การนั่งฟังการสอนโดยอาจารย์

(2) การสัมนาวิชาการเช่น journal club เป็นต้น

(3) การเรียนรู้จากสถาบันสมทบเช่น การดูงานในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงค์โปร์ และจีน เป็นต้น สถาบันในประเทศก็คงเป็นสถานพยาบาล (ศูนย์อนามัย) ในสังกัดกรมอนามัยนั่นแหละ

(4) การเรียนวิชาเลือกเช่น อาชีวเวชศาสตร์ที่รพ. นพรัตน์ฯ และเวชศาสตร์ป้องกันคลินิกที่รพ.ศิริราช และวิชาเลือกเสรี เป็นต้น

(5) ทำวิจัยขณะอยู่ปี 2 หนึ่งเรื่อง และวิทยานิพนธ์ป.โทขณะอยู่ปี 3 อีกหนึ่งเรื่อง

รายวิชาขั้นละเอียดตามที่สถาบันปัณณฑัตเปิดเผยออกมามีดังนี้

4.. ถามว่าเวชศาสตร์วิถีชีวิตต่างจากเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างไร นี่ผมตอบตามคำนิยามของผมเองซึ่งเห็นจากพัฒนาการของทั้งสามสาขานี้ในอเมริกานะ ว่ามันต่างกันดังนี้

4.1 เวชศาสตร์วิถีชีวิต เน้นการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังโดยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการใช้ยา

4.2 เวชศาสตร์ป้องกัน เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และควบคุมโรค ทั้งในระดับชุมชน (เช่นการสุขาภิบาล การสอบสวนโรค) และระดับบุคคล (เช่นการฉีดวัคซีน การปฏิบัติตามหลักอนามัยส่วนบุคคล เป็นต้น)

4.3 เวชศาสตร์ครอบครัว เน้นการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิคือเป็นหมอคนแรกของคนไข้ ด้วยวิธีเอาตัวผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา ไม่ได้เอาโรคเป็นศูนย์กลางอย่างระบบเฉพาะทางของแต่ละอวัยวะ

5, ถามว่ามีความสนใจที่จะช่วยให้คนป่วยมีสุขภาพดีแต่ขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าระบบ specialty ช่วยอะไรได้น้อย จะไปฝึกอบรมเวชศาสตร์วิถีชีวิตดีไหม ตอบว่าแค่ (1) คุณยอมรับว่าระบบการรักษาตาม specialty ในโรงพยาบาลช่วยผู้ป่วยได้น้อยและ (2) คุณมีความอยากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีอย่างแท้จริง แค่คุณมีสองอย่างนี้คุณจะไปเรียนต่อหรือไม่เรียน หากเรียนจะเรียนอะไร หากไม่เรียนจะไปทำอะไรต่อไป ตราบใดที่คุณการเอาสองอย่างนี้เป็นแรงผลักดัน มันดีทั้งนั้นแหละครับ คุณจะเอาแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น ผมสนับสนุนหมด คือผมสนับสนุนการที่คุณหันหลังให้ระบบการรักษาโรคแบบ specialty ในโรงพยาบาล และสนับสนุนการที่คุณอยากช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้นอย่างได้ผลจริงๆ

คุณอย่าไปสนใจประเด็นจิ๊บจ๊อยอื่นๆ เช่น โปรแกรมเกิดใหม่ มีคนเรียนน้อย อาจารย์ไม่มีชื่อเสียง อาจารย์ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย สิ่งเหล่านั้นไม่สำคัญเท่าสองอย่างที่คุณมีอยู่ในกระเป๋าแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวชศาสตร์วิถีชีวิตนี้ เนื้อหาวิชาจริงคือการรักษาโรคเรื้อรังโดยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนยา มันยังไม่มีใครรู้จริงสักคนว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตได้สำเร็จอย่างแน่นอน ตัวผมเองซึ่งทำเรื่องนี้อย่างเดียวมาตลอด 15 ปีหลังมานี้ ผมก็ยังไม่รู้จริงเลย ความรู้จริงในเรื่องการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตมันมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างหลากหลายฝังอยู่ในตัวคนไข้แต่ละคน ต้องขุดเอาความรู้นั้นออกมาขยายและเรียนรู้ทีละแง่ทีละมุม วิธีขุดก็คือการวิจัยทางคลินิกนั่นแหละ ผู้ขุดก็คือแพทย์ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ทางด้านนี้อย่างคุณอย่างผมนี่ไง มันไม่ใช่วิชาที่จะเอาอาจารย์ระดับเทพมาบรรยายให้คุณฟังแล้วคุณจะเอาคำบรรยายนั้นไปเสกให้คนไข้เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตได้สำเร็จ ดังนั้นแค่โปรแกรมฝึกอบรมเขามีที่นั่งให้คุณเปิดคอม มีทุนให้คุณทำวิจัย ให้โอกาสคุณได้ไปทดลองรักษาคนไข้ด้วยวิธีเวชศาสตร์วิถีชีวิตในสถานพยาบาลของเขา จบแล้วมีบอร์ดที่คุณเอาไปปรับวุฒิปรับเพิ่มเงินเดือนในระบบราชการได้ แค่นี้ชาติก็ช่วยคุณแยะแล้วนะ ที่เหลือเป็นเรื่องที่คุณจะต้องช่วยชาติบ้างละมังครับ

6. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ กรณีที่คุณจะไปฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิต อย่าลืมว่าสาขานี้คือการรักษาโรคเรื้อรังด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตแทนยา สมควรที่คุณควรจะทำสองอย่างก่อน คือ (1) คุณเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวคุณเองให้สำเร็จก่อน (2) คุณควรจะหาความเจนจัดเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง และเกี่ยวกับยารักษาโรคเรื้อรังให้ลึกซึ้งถึงกึ๋นก่อนให้ได้มากที่สุดยิ่งดี วิธีหาความเจนจัดก็คือขยันออกโอพีดี. ขยันออกอีอาร์ ขยันราวด์วอร์ด ที่รพ.ของคุณหมอนั่นแหละ มองโรคของคนไข้ให้เห็นอย่างลึกซึ้ง คือพูดง่ายๆว่าคุณควรเป็น clinician ที่รักษาคนไข้ด้วยยาอย่างเจนจัดมาก่อน มองเห็นประสิทธิผลและข้อจำกัดของยามาแล้วอย่างทะลุปรุโปร่ง อธิบายตอบคำถามคนไข้ได้ละเอียดยิบ คุณจึงจะช่วย motivate คนไข้ให้เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการกินยาได้สำเร็จ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

29 มิถุนายน 2566

แพทย์เกษียณ ฝากลูกซื้อวิตามิน

(ภาพวันนี้: พยับหมอก)

เรียน อาจารย์หมอสันต์ ที่เคารพ

หนูเป็นแฟนบล็อกอาจารย์มาพอสมควรค่ะ ตัวหนูจบทางด้านบัญชี วันนี้มีเรื่องอยากปรึกษาอาจารย์ค่ะ ข้อมูลเบื้องต้น คุณพ่อกับคุณแม่หนูเป็นแพทย์เกษียณอายุแล้ว ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ คุณแม่อายุ 64 ปี หยุดทำงานมาตั้งแต่เกษียณ ทีนี้ท่านก็มีเวลาในการดูและฟังคลิป youtube คลิปที่เพื่อนๆท่านส่งต่อกันในกลุ่มไลน์มากขึ้น แทบจะตลอดเวลาเลยค่ะ เช่น หลังตื่นนอน ตอนรับประทานอาหาร ขนาดเข้าห้องน้ำ ท่านใช้วิธีเปิดเสียงลำโพงดังๆจะได้ได้ยินถึงในห้องน้ำ ก่อนหน้าเกษียณไม่ติดyoutube เลยค่ะ จะเป็นดูข่าวมากกว่า การดูแลตนเอง อาหารการกิน-ทานอาหารที่แม่บ้านทำให้เมนูแล้วแม่บ้าน เดินรอบๆบ้าน วันละ 30นาที (เช้า 15นาที เย็น 15นาที ขณะเดินก็เปิดคลิปฟังไปด้วยแบบเปิดลำโพง) เข้านอนเร็วประมาณ 21.00น. แต่ท่านบ่นว่านอนหลับยาก และตื่นบ่อย เคยไปตรวจสุขภาพประจำปีที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่งแบบชุดใหญ่จัดเต็ม ผลคือปกติทุกอย่างค่ะ

ขอเข้าเรื่องเลยนะคะ ปัจจุบัน ท่านติดหนึบกับyoutube เพจ อย่าง … เท่าที่หนูไปลองดูคลิปบ้าง (ท่าน forwardในกลุ่มไลน์ครอบครัว) หนูก็รู้สึกว่าคุณหมอในเพจนั้น เค้าก็แนะนำการดูแลสุขภาพดี พอเข้าใจได้ แต่ติดที่ว่า ท้ายๆคลิปคุณหมอจะกึ่งๆแนะนำให้ทานวิตามินอาหารเสริม เป็นชื่อผลิตภัณฑ์มา พร้อมทิ้งท้ายว่าถ้าหาซื้อไม่เจอให้ inbox เข้าไปหา หนูรู้สึกแปลกๆ ทีนี้คุณแม่เนื่องจากเป็นแฟนคลับไปแล้ว อยากได้วิตามินทุกตัว ที่คุณหมอพูดในคลิป แต่กลัวการสั่งของออนไลน์สั่งไม่ชำนาญ จึงให้หนูช่วย พอหนู search หาชื่อตามที่จดมา ก็มีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ ยี่ห้อ … และ ยี่ห้อจากเพจคุณหมอเอง พอ inbox ไป แอดมินก็แนะนำให้ไปตรวจสุขภาพชุดตรวจราคาหมื่นกว่าๆ (ยังไม่ได้ไป แต่มีแนวโน้มมากๆ) ซึ่งรายการที่ตรวจก็เหมือนกับที่ตรวจเมื่อต้นปี 2566 และรายการวิตามินรวมๆน่าจะเป็นหมื่น ซึ่งคุณแม่พร้อมจ่าย

รายละเอียดวิตามินที่คุณแม่ต้องการให้หนูสั่งซื้อ (ถ้าไม่สั่งให้ มีงอนแน่ๆค่ะ) มีดังนี้ ยาวหน่อยนะคะ

Armour Thyroid 60mgL-Arginine 1,000mg
สารสกัด flax seed, celeryVitamin A 10000 IU
Fish oil omega 9 EPA DHAVitamin D3
Chelated magnesium , zincVitamin E (Tocopherol 180mg) 400iu
Co Q10 100 mgVitamin C 1000 mg sustained release
สารสกัดบล็อคโคลี่ กะหล่ำปลีVitamin B100
ProbioticsVitamin K2 mk7
SeleniumFemale Hormone แบบทา

คำถาม คือ พวกวิตามินพวกนี้ มันจำเป็นต้องรับประทานไหมคะ มันอันตรายไหม หนูเป็นห่วงท่านค่ะ ตัวหนูเองความรู้ไม่ได้มีมากเท่าท่าน และยังไม่ได้เป็นแพทย์ (พูดไป ท่านก็ไม่เชื่อ55) 

ขอความกรุณาอาจารย์หมอสันต์ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ จักเป็นพระคุณอย่างสูง

………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าวิตามินที่ให้รายชื่อมาจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุทั่วไปไหม ตอบตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันว่าไม่จำเป็นครับ

อย่างไรก็ตาม มีบางตัวที่หลักฐานอาจจะก้ำกึ่งว่า “อาจจะ” มีประโยชน์ เช่น

1.1 วิตามินรวม (multivitamins) งานวิจัยสุขภาพแพทย์ที่ทำโดยฮาร์วาร์ดพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดหลังการติดตามดู 15 ปี ว่าวิตามินรวมไม่มีประโยชน์อะไรมากไปกว่ายาหลอก แต่งานวิจัยใหม่ชื่อ COSMOS – Mind ได้เอาผู้สูงวัยจำนวน 2,262 คน อายุเฉลี่ย 73 ปี มาสุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่ม1 ให้กินวิตามินรวมวันละเม็ด (มีวิตามินและแร่ธาตุ 27 ชนิด) กลุ่ม2 ให้กินสารสกัดโพลีฟีนอลจากโกโก้วันละ 500 มก. กลุ่ม3 ให้กินยาหลอก ทำอย่างนี้ไปสามปี แล้ววัดผลความจำเปรียบเทียบกันพบว่ากลุ่มที่กินวิตามินรวมวันละเม็ดได้คะแนนความจำดีกว่าอีกสองกลุ่มที่เหลือ ดังนั้นผู้สูงอายุหากจะกินวิตามินรวมบ้างผมก็เห็นว่า “อาจจะ” มีประโยชน์ในการลดความจำเสื่อมได้บ้าง

1.2 วิตามินดี. งานวิจัยโรคเรื้อรังเกือบทุกโรคและโรคโควิดแบบรุนแรงพบว่าผู้ป่วยมักจะมีวิตามินดีต่ำกว่าคนทั่วไป แม้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากินวิตามินดีแล้วโรคเรื้อรังจะดีขึ้นหรือไม่ ประกอบกับงานวิจัยในคนไทยพบว่าประมาณ 1 ใน 3 มีระดับวิตามินดีต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ (20ng/ml) ประกอบกับอีกหนึ่งประกอบกับผู้สูงอายุไทยไม่ค่อยได้ออกแดด ดังนั้นหากผู้สูงอายุจะกินวิตามินดีเสริมบ้างผมก็เห็นว่า “อาจจะ” มีประโยชน์

1.3 วิตามิน บี 12 งานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุไม่ว่าจะกินอาหารแบบไหน จะมีจำนวนหนึ่ง (20%) มีระดับวิตามินบี.12 ต่ำกว่าคนทั่วไป วิตามินบี12 นี้จำเป็นในการทำงานของระบบประสาท การสร้างเม็ดเลือด และการป้องกันการเป็นโรคหลอดเลือด(ชนิดที่เกิดจากการคั่งของสารโฮโมซีสเตอีน) การขาดวิตามินบี12 อาจเป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุจำนวนหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นนักมังสวิรัติที่ไม่กินเนื้อสัตว์เลยยิ่งมีโอกาสขาดวิตามินบี12 มากขึ้น แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่าการกินวิตามินบี 12 ในผู้สูงอายุทั่วไปจะลดการเกิดสมองเสื่อมและโรคหลอดเลือดได้หรือไม่ ผมก็ยังมีความเห็นว่าหากผู้สูงอายุกินวิตามินบี12 บ้างก็ “อาจจะ” มีประโยชน์

อนึ่ง ทั้งวิตามินดี และวิตามินบี12 มีอยู่แล้วในวิตามินรวม ดังนั้นการกินวิตามินรวมอย่างเดียววันละเม็ดแบบกินบ้างลืมบ้างก็ “อาจจะ” มีประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ วิตามินรวมถ้าอยากกินก็ซื้อเอาเองได้ ไม่ต้องไปหาหมอให้หมอตรวจแต่อย่างใด

2.. ถามว่าวิตามินที่ให้รายชื่อมามีอันตรายไหม ตอบว่าไม่มีอันตรายครับ ยกเว้น Armour Thyroid หากไม่ได้เป็นโรค hypothyroism ก็ไม่ควรกินยานี้ เพราะการกินยาตัวนี้ในภาวะมีฮอร์โมนไทรอกซินปกติอยู่แล้วอาจจะทำให้กลายเป็นโรค hyperthyroidism แล้วนอนไม่หลับ และน้ำหนักลด

3.. ถามว่าการที่ผู้สูงอายุย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับวิตามินอาหารเสริมเป็นปัญหาไหม ตอบว่าไม่เป็นปัญหาหรอกครับ เพราะงานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุจะมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตดี มีความยืนยาวของชีวิตดีขึ้น หากมีอะไรทำ ดังนั้นมันจำเป็นที่ผู้สูงอายุต้องได้ทำอะไรสักอย่าง หรือพูดแบบบ้านๆว่าต้องได้ “บ้า” อะไรสักอย่าง การที่ผู้สูงอายุบ้าวิตามินหรืออาหารเสริมผมไม่เห็นมีอะไรเสียนอกจากจะเสียเงินบ้างซึ่งคุณก็บอกว่าท่านพร้อมจะเสีย ข้อดีก็คือการบ้าวิตามินอาหารเสริมจะพลอยทำให้บ้าการดูแลสุขภาพในประเด็นอื่นๆตามไปด้วย เช่นการออกกำลังกาย การจัดการความเครียด เป็นต้น ท้ายที่สุดก็จะทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพดีขึ้นมาจริงๆ

4.. ถามว่าการจะกินวิตามินต้องไปตรวจร่างกายซ้ำไหมเพราะเป็นรายการตรวจเดียวกันกับการตรวจสุขภาพประจำปีที่ผ่านมา ตอบว่าไม่จำเป็นหรอกครับ ไม่เคยมีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ว่าการตรวจร่างกายประกอบการขายวิตามินแร่ธาตุและอาหารเสริมจะทำให้สุขภาพโดยรวมของผู้คนดีขึ้น แม้กระทั่งการตรวจสุขภาพประจำปี ก็ไม่มีหลักฐานว่าจะทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น การตรวจสุขภาพที่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์มีไม่กี่อย่าง คือ

4.1 ผู้สูงวัยหญิง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปีจนอายุ 75 ปี ช่วยลดอัตราตายจากมะเร็งปากมดลูกได้

4.2 ผู้สูงวัยหญิง การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเอ็กซเรย์เต้านมปีเว้นปีจนอายุ 75 ปี ชวยลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านมได้

4.3 ผู้สูงวัยทั้งสองเพศ หากได้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 10 ปี จะช่วยลดอัตราตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

นอกจากการตรวจสามรายการนี้แล้ว หากไม่มีอาการอะไรผิดปกติ การไปหาหมอตรวจสุขภาพจะประจำปีหรือประจำครึ่งปี ล้วนไม่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์อะไร

แต่สิ่งที่มีประโยชน์จริงแท้แน่นอนคือหากผู้สูงวัยดูแลตัวเองให้ตัวชี้วัดสุขภาพแปดตัว (Essential-8) ต่อไปนี้ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะลดอัตราตายก่อนเวลาอันควรได้ถึงระดับ 91% ขึ้นไป ตัวชี้วัดทั้งแปดตัวคือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมัน (LDL) (4) น้ำตาล (5) การกินผักผลไม้ (6) การออกกำลังกาย (7) การไม่สูบบุหรี่ (8) การนอนหลับ

ดังนั้นหากคุณอยากจะดูแลคุณพ่อคุณแม่ คุณช่วยดูตัวชี้วัดทั้งแปดตัวนี้ให้ท่านสักปีละครั้ง ตัวไหนผิดปกติก็ชักชวนท่านลงมือแก้ไข แค่นี้คุณก็จะเป็นลูกกตัญญูเกรดเอได้แล้ว ส่วนท่านจะชอบไปซื้อวิตามินอาหารเสริมหรือไปเที่ยวงานตรวจสุขภาพที่เขาทำขึ้นเพื่อขายสินค้า นู่น นี่ นั่น ช่างท่านเถอะ มันเป็นความบันเทิงในชีวิตของท่าน คุณอย่าไปขัดท่านเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Gaziano JM, Sesso HD, Christen WG, Bubes V, Smith JP, MacFadyen J, Schvartz M, Manson JE, Glynn RJ, Buring JE. Multivitamins in the Prevention of Cancer in MenThe Physicians’ Health Study II Randomized Controlled Trial.  JAMA. 2012;():1-10. doi:10.1001/jama.2012.14641.
  2. Sesso HDChristen WGBubes VSmith JPMacFadyen JSchvartz MManson JEGlynn RJBuring JEGaziano JMMultivitamins in the prevention of cardiovascular disease in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial. JAMA. 2012 Nov 7;308(17):1751-60. doi: 10.1001/jama.2012.14805.
  3. Baker, LD, Manson, JE, Rapp, SR, et al. Effects of cocoa extract and a multivitamin on cognitive unction: A randomized clinical trial. Alzheimer’s Dement. 2022; 1- 12. https://doi.org/10.1002/alz.12767
[อ่านต่อ...]

28 มิถุนายน 2566

ว่าเนื้อนมไข่ไม่ดีแล้วจะเอาอะไรเลี้ยงเด็ก

(ภาพวันนี้: ไม่รู้ดอกอะไร โผล่จากพุ่มไม้รกๆออกมา)

เรียน คุณหมอ

จากที่ตามอ่านและศึกษาจากคุณหมอและบุคลากรท่านอื่น เราจะพบว่าผู้ใหญ่ควรเลี่ยงบริโภคเนื้อ (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)​ นมวัว แป้ง แต่เน้น ผัก ผลไม้ จากที่เคยเป็นนร. เราต้องบริโภคเนื้อ นม ไข่ จะได้เติบโต เราสับสนอยู่มาก เราในฐานะแม่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกให้เติบโตและแข็งแรงและยังคงแข็งแรงและแก้ไขให้น้อยในวันที่เราไม่อยู่แล้ว เราเป็นคนเลือกและสอนเค้าในวันนี้ จึงขอคำชี้แนะจากคุณหมอคะว่าเราควรจะดูแลเด็กๆ เรื่องอาหารอย่างไรคะ และเมื่อไหร่ที่เราจะให้เค้าเลี่ยงหลายสิ่งที่เค้าอาจบริโภคอยู่ รบกวนคะ

ขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูงคะ

ด้วยความเคารพ

……………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าคำแนะนำปกติที่ให้เด็กกินเนื้อนมไข่จะได้โตเร็วนั้น ใช้ไม่ได้แล้วหรือ ตอบว่า สำหรับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กก่อนวัยเรียน เนื้อนมไข่ไม่ได้เป็นของแสลง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นจนไม่มีอย่างอื่นทดแทน ดังนั้น อย่าไปโฟกัสที่จะว่ากินเนื้อนมไข่ได้หรือไม่ได้ นั่นแล้วแต่คุณชอบ ให้โฟกัสที่ปัญหาสำคัญทางโภชนาการในเด็กสูงสุดสามอย่างแรกในปัจจุบันนี้ คือ

(1) เด็กกินน้ำตาลมากเกินไป น้ำตาลถูกใส่เข้ามาในนมผงเลี้ยงเด็กที่ใช้แทนนมวัว (ซึ่งเอาน้ำตาลฟรุ้คโต้สเป็นตัวให้แคลอรี่) ในเครื่องดื่มของเด็กทุกชนิดรวมทั้งน้ำผลไม้ ในขนม และในอาหารเบเกอรี่ ทั้งหมดนี้เป็นน้ำตาลที่ไม่มีกากร่วมด้วย น้ำตาลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นฟรุ้ตโต้สซึ่งหากร่างกายได้รับเข้าไปมากโดยไม่มีกากช่วยชลอการดูดซึม ฟรุ้คโต้สจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันแทรกไว้ในเซลตับและเซลกล้ามเนื้อ ทำให้เด็กอ้วนและพัฒนาไปสู่การดื้อต่ออินสุลินซึ่งเป็นปฐมเหตุของโรคเบาหวานตั้งแต่อายุน้อยๆ

(2) อาหารสำเร็จรูปเป็นกล่องเป็นถุง (ultra-processed food – UPF) ทั้งเค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ ซึ่งส่วนใหญ๋ไม่มีกาก (เพราะอาหารที่มีกากวางขายบนหิ้งได้ไม่นาน) และเต็มไปด้วยสารเคมีที่ไม่ใช่อาหารธรรมชาติ เช่นสารกันบูด สารแต่งรส สารทดแทนความหวาน เป็นต้น สารเหล่านี้ไปลดความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ซึ่งจะกลายเป็นปฐมเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ

(3) เด็กกินอาหารมีกากน้อยเกินไป ถามผมว่าอะไรคืออาหารที่ดีที่สุด ตอบว่าอาหารที่ดีที่สุดที่คนทุกเพศทุกวัยขาดกันมากที่สุดทั่วโลกคืออาหารกากใย (fiber) ซึ่งมีแต่ในพืช คือ ผัก ผลไม้ ถั่ว นัท ธัญพืชไม่ขัดสี ดังนั้นต้องกินอาหารกลุ่มพืชนี้ให้มากเข้าไว้

ถ้าคุณแก้ปัญหาโภชนาการทั้งสามประการนี้ได้ก็ถือว่าคุณได้ทำหน้าที่ของคุณแม่อย่างดีที่สุดแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องไม่สำคัญ จะให้เด็กกินอาหารแบบไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ จะให้กินเนื้อนมไข่ก็ได้ หรือจะให้กินมังสวิรัติก็ได้ หรือกินปนๆกันก็ได้ อาหารทั้งสองแบบนี้งานวิจัยพบว่าให้การเจริญเติบโตที่ปกติและไม่ต่างกัน แต่อาหารแนวมังสวิรัติเมื่อโตขึ้นเด็กจะมีไขมันเลว (LDL) ในเลือดต่ำกว่าเด็กที่กินอาหารแนวเนื้อนมไข่ การมีไขมันเลวในเลือดต่ำเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดทั้งที่สมอง หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ

2.. ปัญหาทางโภชนาการอีกอย่างคือการที่เด็กผอมเกินไป ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับอาหารให้พลังงาน (calories) ไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุ เช่น (1) เด็กกินไม่อิ่ม คือ กินอาหารไม่เต็มกระเพาะแล้วหยุด (2) เด็กอิ่มเร็วเกินไปเพราะกินอาหารน้ำตาลสูง ซึ่งจะไปกระตุ้นการเพิ่มอินสุลินซึ่งจะเป็นตัวแจ้งสมองให้เกิดความอิ่ม (3) เด็กได้อาหารกากเส้นใยมากเกินไปทำให้อาหารเต็มกระเพาะและอิ่มก่อนที่จะได้อาหารให้พลังงานเพียงพอ

วิธีแก้คือ (1) ต้องฝึกเด็กไม่ให้ทำกิจกรรมอื่นขณะกินอาหารเพราะจะหันเหความสนใจจนกินไม่อิ่ม (2) ไม่ให้เด็กกินน้ำหวาน ของหวาน หรือกินน้ำตาลมาก (3) กรณีเด็กกินมังสวิรัติแล้วผอมต้องลดอาหารกากใยลงเช่นเปลี่ยนข้าวกล้องเป็นข้าวผสมหรือข้าวขาว ลดปริมาณผักลง เพิ่มอาหารแป้งและอาหารไขมันสูงเช่น อะโวกาโด ถั่วต่างๆ งา นัทต่างๆ น้ำมันมะกอก (4) ให้เด็กได้ออกกำลังกายมากนอนหลับมากซึ่งนอกจากจะเพิ่มมวลกล้ามเนื้อแล้วยังจะเพิ่มความอยากอาหารด้วย

3.. ปัญหาในเรื่องโภชนาการของเด็กอีกประเด็นหนึ่งที่คุณไม่ได้ถาม คือความจริงที่ว่าพ่อแม่ไม่ได้มีอิทธิพลต่ออาหารของเด็กมากเท่าสังคมและโรงเรียนซึ่งตะลุมบอนให้อาหารขยะแก่เด็กเพื่อประโยชน์ทางการค้า พอพ่อแม่จะให้เด็กได้กินของดีๆที่มีกากเส้นใยเช่นผักผลไม้ถั่วนัทเพิ่มขึ้นบ้าง เด็กไม่กินเพราะมันไม่อร่อยเท่าอาหารขยะ ครั้นพ่อแม่บังคับก็ยิ่งไม่กิน ตรงนี้เป็นปัญหาของพ่อแม่จำนวนมาก วิธีแก้ผมแนะนำว่าให้แบ่งหน้าที่กันระหว่างพ่อแม่ข้างหนึ่ง กับลูกอีกข้างหนึ่ง

พ่อแม่มีหน้าที่หาอาหารดีๆมาไว้ในบ้าน และเอาอาหารขยะหรืออาหารที่ก่อปัญหาทางโภชนาการสามอย่างข้างต้นออกไปเสียจากบ้าน นี่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ เปิดตู้เย็นต้องมีแต่อาหารดีๆ มีพืชผักผลไม้ถั่วนัทแยะ ไม่มีอาหารใส่น้ำตาลหรือใส่แต่น้อย และไม่มีอาหารกล่องอาหารถุงที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบ UPF อยู่ในบ้าน นี่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่

ส่วนลูกหน้าที่ของเขาคือกินหรือไม่กิน ตรงนี้เป็นเขตอำนาจของเขา พ่อแม่ไม่ต้องไปบังคับ วางของดีไว้ให้แล้วหากเขาไม่กินก็ช่างเขา จริงอยู่เมื่ออยู่นอกบ้านเขาอาจกินแต่อาหารขยะ เมื่ออยู่ในบ้านหากไม่หิวมากเขาอาจไม่กินอาหารที่พ่อแม่เตรียมไว้ให้ก็ช่างเขา แต่หากหิวมากเขาจะกินเอง การเลี้ยงลูกสมัยนี้อย่าโลภมาก เอาแค่มีอาหารดีๆไว้ในบ้านให้เขาได้กินหากเขายอมกิน แต่นี้ก็พอแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. O’Connell JM, Dibley MJ, Sierra J, Wallace B, Marks JS, Yip R. Growth of vegetarian children: The Farm Study. Pediatrics. 1989 Sep; 84(3):475-81.
2. Nathan I, Hackett AF, Kirby S. A longitudinal study of the growth of matched pairs of vegetarian and omnivorous children, aged 7-11 years, in the north-west of England. Eur J Clin Nutr. 1997 Jan; 51(1):20-5.
3. Sabaté J1, Lindsted KD, Harris RD, Sanchez A. Attained height of lacto-ovo vegetarian children and adolescents. Eur J Clin Nutr. 1991 Jan;45(1):51-8.
4. Yen CE1, Yen CH, Huang MC, Cheng CH, Huang YC. Dietary intake and nutritional status of vegetarian and omnivorous preschool children and their parents in Taiwan. Nutr Res. 2008 Jul;28(7):430-6. doi: 10.1016/j.nutres.2008.03.012.

[อ่านต่อ...]

27 มิถุนายน 2566

ฟังพระสวดในงานศพแล้วอยากเข้าใจความหมาย

(ภาพวันนี้: รักแรกพบ)

คุณหมอครับ

ผมไปงานศพ พยายามฟังพระสวด เปิดเน็ทดูคำแปล แต่ไม่เข้าใจเลยเพราะแปลแล้วเหมือนไม่ได้แปล คำแปลแต่ละเพจก็แปลไม่เหมือนกัน ต่างกันแบบคนละเรื่องเลยและทุกคำแปลอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ทั้งๆที่วางต้นฉบับซึ่งเหมือนกันไว้คู่คำแปล แต่แปลไม่เหมือนกัน ผมรู้สึกว่าบทสวดนี้มันจะต้องมีความหมายดี ไม่งั้นจะเอามาให้สวดกันทุกงานศพทำไม คืนหนึ่งผมตัดสินใจเดินจี้ตามหลวงพ่อที่นำสวดแล้วเดินไปยิงคำถามท่านไป ท่านตอบว่าเรื่องมันยาวให้ผมเข้ามาเรียนปริยัติธรรม (ที่วัดนี้มีโรงเรียนปริยัติธรรม) ผมต้องเรียนหนังสือคงไปเข้าไม่ได้ แต่ผมอยากรู้จริงๆว่าในงานสวดบทที่พระสวดซ้ำๆซากๆทุกงานนั้นมันมีเนื้อหาสอนเรื่องอะไร ผมค้นในเน็ทแล้วชื่อของคุณหมอขึ้นมาเป็นผู้สอน Spiritual Retreat ผมจึงตามอ่านการตอบจดหมายของคุณหมอ อ่านแล้วผมเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คุณหมอพูดถึงเนื้อหาของธรรมจักรกัปวัตตนสูตร และอัตตลักขณสูตร ผมอ่านแล้วเข้าใจทันที

ผมขอรบกวนขอให้คุณหมอช่วยตอบคำถามของผมด้วยนะครับ

………………………………………………………………

ตอบครับ

จดหมายของคุณท่าจะมาผิดที่เสียแล้วกระมัง แต่ถามมาผมก็จะตอบให้

บทสวดในงานศพมีสองส่วนนะ

ส่วนที่ 1. ที่พระสวดตอนที่หยิบเอาผ้านุ่งห่มออกมาจากศพ ที่เรียกแบบบ้านๆว่าชักผ้าบังสุกุล เป็นบทสวดสั้นๆ ผมฟังบ่อยเสียจนจำภาษาบาลีได้จึงลงให้ดูด้วย

คำสวดจริงว่า.. “อนิจฺจา วต สังฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสมโม สุโข”

หมอสันต์แปลว่า… “ความคิด เป็นของไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นธรรดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดความคิดเมื่อไหร่ ก็เป็นสุขเมื่อนั้น”

ผมแปลแบบถอดความคำต่อคำ แต่ถอดออกมาแล้วอาจไม่เหมือนคำแปลที่คุณเคยเห็นทั่วไป แต่ไม่ว่าใครจะแปลเพื้ยนหรือไม่เพี้ยน เนื้อหาของบทสวดนี้ตรงๆง่ายๆและมีประโยชน์ ผมแนะนำว่าทุกครั้งที่ฟังพระสวดบทนี้ ให้คุณคิดถึงเนื้อหาที่ผมแปลนี้ไปด้วย เพื่อเตือนตัวคุณเองไม่ให้ลืมที่จะฝึกหัดวางความคิดในชีวิตประจำวัน

ส่วนที่ 2. เป็นบทสวดเป็นชุด ที่คณะสงฆ์นั่งสวดเป็นแถวพร้อมกันหน้าศพให้ญาติโยมที่ไปอยู่เป็นเพื่อนศพฟัง ส่วนใหญ่จะสวดกันคืนละสี่รอบ เนื้อหาแต่ละรอบเหมือนเดิม คำสวดแต่ละรอบมี 7 ตอน แต่ละตอนเป็นการย่อเอาบางส่วนของหนังสือ “อภิธรรม” มาสวด จะว่าย่อก็ไม่เชิง เพราะบางบทเหมือนฉีกเอามาอ่านให้ฟังแค่ครึ่งหน้า ดังนั้นจะหวังให้ฟังบทสวดแล้วเข้าใจหนังสือคงไม่ได้

อีกอย่างหนึ่งอภิธรรมนี้เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยคนรุ่นหลัง แต่ถูกมัดรวมเป็นหนึ่งก้อนในสามก้อนของพระไตรปิฎกโดยที่อีกสองก้อนเป็นคำสอนตรงของพระพุทธเจ้า หนังสือประวัติศาสตร์ศาสนาบางเล่มเล่าว่าก่อนที่กองทัพเผ่าเตอร์กจะรุกเข้าไปในอินเดีย ศาสนาพุทธแตกออกเป็นถึง 18 นิกาย แต่ละนิกายก็มี “อภิธรรม” ของตัวเองซึ่งไม่เหมือนกัน เรียงหัวข้อก็ไม่เหมือนกัน ผมจึงจะจับเอาแต่ใจความใหญ่ ว่าในอภิธรรมนี้เขาเจาะจงพูดถึงแต่สิ่งที่เป็นของจริง (ปรมัตถ์) โดยแบ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นหมวดหมู่สี่หมวด คือ

(1) ความรู้ตัว ของปัจเจกบุคคล (individual consciousness) ที่เกิดขึ้นในลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของใจ (mind) ของคนเรา หมวดนี้จัดอยู่ในฐานะผู้สังเกต (the observer) ที่มองออกไปจากสำนึกว่าเป็นบุคคล

(2) ส่วนประกอบอื่นๆของใจ (mind) ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้ตัวและเกิดในที่เดียวกับความรู้ตัวนั่นแหละ เช่น ความรู้สึก (feeling) ความจำ (memory) ความคิด (though) หมวดนี้จัดอยู่ในฐานะของสิ่งที่ถูกสังเกต (the observed)

(3) สิ่งที่จับต้องมองเห็นบอกเรือนร่างรูปทรงได้ เป็นเป้าของการสังเกตได้ หมวดนี้ก็จัดอยู่ในฐานะของสิ่งที่ถูกสังเกต (the observed) เช่นกัน

(4) ความรู้ตัวที่ปลอดส่วนประกอบอื่นๆของใจ (universal consciousness) หมายถึงความรู้ตัวที่ไม่มีความคิดไม่มีความรู้สึกใดๆของปัจเจกบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง หมวดนี้จัดอยู่ในฐานะของผู้สังเกต (the observer) ที่เป็นอิสระจากสำนึกว่าเป็นบุคคล

สี่อย่างนี้คือ scope หรือกรอบเนื้อหาของหนังสืออภิธรรม การตีความเนื้อหาผมจะตีความภายใต้กรอบนี้

เอาละทีนี้มาฟังสวด เวลาคุณฟังพระสวด ท่านจะสวดไปทีละบทๆ รวม 7 บท ซึ่งตัดมาจากอภิธรรม 7 คัมภีร์ ดังนี้

บทที่ 1. (พระสังคิณี) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา… ฯลฯ”

เนื้อหาผมแปลว่า “ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในใจมีหลายแบบ แบบคิดดีก็มี คิดไม่ดีก็มี คิดชนิดจะว่าดีก็ไม่ใช่ไม่ดีก็ไม่เชิงก็มี ให้เน้นที่คิดดีว่าเป็นอย่างไร ในแต่ละขณะให้มีปัญญารู้ทันสิ่งเร้าที่ความรู้ตัวเข้าไปรับรู้อย่างยอมรับมัน (กามาวจรกุศลจิต = consciousness of the sense) ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือความคิดที่เกิดขึ้น ในขณะนั้นอย่าฟุ้งสร้านไปตามสิ่งเร้า แค่เห็นมันเป็นกระแสของสิ่งหนึ่งก่อให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งต่อๆกันไปตามธรรมชาติ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าคิดดี”

บทที่ 2. (พระวิภังค์) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า.. “ปัญจะขันธา รูปักขันโธ เวทนากขันโธ… ฯลฯ”

เนื้อหาผมแปลว่า ชีวิตนี้ประกอบขึ้นมาจากองค์ประกอบ 5 อย่าง คือ (1) สิ่งที่จับต้องมองเห็นได้ (รูป) (2) ความรู้สึก (3) ความจำ (4) ความคิด และ (5) ความรู้ตัว (consciousness)

รูป หมายถึงสิ่งจับต้องมองเห็นได้ ทั้งในอดีตปัจจุบันอนาคต ทั้งในกาย นอกกาย ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ทั้งที่ทราม ทั้งที่ปราณีต ทั้งไกล ทั้งใกล้ ทั้งหมดนี้จัดเป็นรูปที่จับต้องมองเห็นได้

บทที่ 3. (พระธาตุกถา) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า… “สังคะโห อสังคะโห สังคะหิเต อสังคะหิตัง… ฯลฯ

เนื้อหาผมแปลว่า สิ่งที่ปรากฏขึ้นในใจเรานี้ บางอย่างมันจัดเข้าเป็นหมวดเดียวกันได้ บ้างจัดเข้าเป็นหมวดเดียวกันไม่ได้เลย บ้างเข้ากับอย่างหนึ่งได้แต่เข้ากับอีกอย่างไม่ได้ บ้างเข้ากับอย่างหนึ่งได้แล้วยังเข้ากับอย่างอื่นได้อีกด้วย บ้างเข้ากับอย่างหนึ่งไม่ได้แถมยังเข้ากับอย่างอื่นไม่ได้เลยด้วย บ้างประกอบกันได้ (เกิดดับเหมือนกัน) บ้างประกอบกันไม่ได้ บ้างประกอบสิ่งที่เกิดดับเหมือนกันเข้ากับสิ่งที่เกิดดับไม่เหมือนกันได้ บ้างประกอบสิ่งที่เกิดดับไม่เหมือนกันเข้ากับสิ่งที่เกิดดับเหมือนกันได้ ทั้งนี้ไม่ควรเอาสิ่งที่เข้าหมวดหมู่ไม่ได้มาจัดเข้าหมวดหมู่

(บทสวดนี้เป็นแค่การตัดเอาบทเกริ่นนำของเนื้อหาหนังสือซึ่งจะสอนการจัดหมวดหมู่สิ่งต่างๆ โดยเพิ่งพูดถึงแค่หลักการจัดหมวดหมู่สรรพสิ่ง ยังไม่ได้ลงไปจัดหมวดหมู่จริงๆเลย จึงอย่าแปลกใจที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง)

บทที่ 4. (พระปุคคะละปัญญัติ) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “ฉะ ปัญญัตติโย ขันธะปัญญัตติ อายะตะนะ ปัญญัตติ… ฯลฯ” ส่วนนี้เป็นความพยายามของผู้หวังดีรุ่นที่หลังเขียนขึ้นเพื่ออธิบายบทที่ 3 (พระธาตุกถา) ซึ่งผมแปลแบบจับความว่าให้จำแนกหมวดหมู่ของสิ่งต่างๆออกเป็น 6 หมวด คือ

หมวดที่ 1. ส่วนประกอบของชีวิตห้าอย่าง

หมวดที่ 2. อายตนะ (ตัวกลางสื่อการรับรู้ เช่นตา หู จมูก )

หมวดที่ 3. ธาตุ (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ)

หมวดที่ 4. สัจจ (ถ้าเป็นสิ่งที่คนรวมหัวกันตั้งขึ้นเช่น ดีชั่ว ถูกผิด เรียกว่า “สมมุติสัจจ” ถ้ามันมีของมันอยู่ก่อนแล้วเช่น “ความรู้ตัว” เรียกว่าปรมัตสัจจ)

หมวดที่ 5. อินทรีย์ (คืออำนาจครอบงำ เช่นศรัทธามีอำนาจครอบงำความไร้ศรัทธา ความขยันมีอำนาจครอบงำความขี้เกียจ เป็นต้น)

หมวดที่ 6. บุคคล (เช่นอย่างนี้เรียก “ปุถุชน” อย่างนี้เรียกว่า “อริยบุคคล” เป็นต้น)

บทที่ 5. (พระกถาวัตถุ) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “ปุคคโลอุปะลัพภะติ สัจฉิกัตถะปะนะมัตเถนาติ … ฯลฯ” มีเนื้อหาเป็นเหมือนคำวินิจฉัยความเข้าใจผิด (ของนิกายย่อยต่างๆ) อันไหนถูกอันไหนผิดไปจากคำสอนหลัก (เถรวาท) มีประเด็นวินิจฉัยเป็นร้อยๆประเด็น แต่ที่ตัดมาสวดในงานศพเป็นประเด็นการวินิจฉัยว่าการเข้าใจว่าความเป็นบุคคลเป็นความจริงที่ถาวร (ปรมัตถ์) นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด โดยสวดเป็นบทถามตอบ ประมาณว่า

“..(ผู้ถาม) : ความเป็นบุคคลนี้เป็นของจริงแท้ถาวร(ปรมัตถ์) หรือ
(ผู้ตอบ) : ใช่
(ผู้ถาม) : ถ้าอย่างนั้นเราก็หาสิ่งที่จริงแท้ถาวร (ปรมัตถ์) ได้ในความเป็นบุคคลสิ
(ผู้ตอบ) : อย่าพูดอย่างนั้น
(ผู้ถาม) : อ้าว ท่านผิดแล้ว เพราะท่านยอมรับแต่หลักการแห่งตรรกะในข้อแรก แต่ไม่ยอมรับหลักการแห่งตรรกะในข้อหลัง ทั้งๆที่มันเป็นหลักการเดียวกัน คำกล่าวของท่านจึงผิด..”

บทที่ 6. (พระยะมะกะ) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “เย เกจิ กุสะลา ธัมมา กุสะละมูลา… ฯลฯ” มีเนื้อหาเป็นการสอนโดยวิธีถามย้อนแย้งให้คิดวิเคราะห์ในแต่ละเรื่องแบบเป็นคู่ๆในทางกลับกัน ซึ่งในหนังสืออภิธรรมจริงๆมี 10 เรื่องหรือ 10 คู่ แต่ที่ตัดมาสวดในงานศพมีคู่เดียว คือถามให้วิเคราะห์ว่ากุศลธรรม (การทำดี) เป็นกุศลมูล (รากเหง้าของการทำดี เช่น ปัญญา เมตตา ไม่โลภ เป็นต้น) หรือว่าในทางกลับกัน กุศลมูล เป็นเหตุให้เกิดกุศลธรรม

บทที่ 7. (พระมหาปัฏฐาน) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “เหตุปัจจะโย อารัมะณะปัจจะโย… ฯลฯ” มีเนื้อหาเล่าถึงกลไกธรรมชาติที่เมื่อมีสภาวะที่เป็นเหตุเกิดขึ้นก็จะนำไปสู่ผล โดยยกตัวอย่างว่าผลที่เกิดขึ้นในใจมันเกิดขึ้นจากเหตุต่างๆอะไรได้บ้างเยอะแยะผมขอไม่แปลละเอียดแล้วนะ..เพราะง่วง

สรุป คอนเซ็พท์ใหญ่ของหนังสือ “อภิธรรม” คือ ในหนึ่งชีวิตนี้ มันมีสองอย่างเท่านั้น ได้แก่

(1) ความรู้ตัวหรือความสามารถในการรับรู้ (consciousness หรือ the observer) กับ

(2) สิ่งที่ถูกรับรู้ (the observed)

โดยกลไกที่โลกและชีวิตดำเนินไปก็คือการที่ the observer ไปรับรู้ the observed ถ้ารับรู้ให้เป็นหรือรับรู้ให้เท่าทันก็จะไม่ทุกข์

บทสวดงานศพทั้งเจ็ดบทตัดตอนมาจากหน้าแรกๆของแต่ละคัมภีร์ของชุดหนังสืออภิธรรม ไหนๆต้องไปนั่งฟังสวดอยู่แล้วก็ให้ถือเป็นโอกาสที่จะทบทวนสาระในภาพใหญ่ของหนังสืออภิธรรมตามไปด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

25 มิถุนายน 2566

ทำไมคนอายุ 90 up จึงหย่าเมีย

(ภาพวันนี้: ภาพวาดติดผนังหน้าห้องครัว เป็นอภินันทนาการจากเพื่อน วาดโดยมือสมัครเล่นซึ่งวาดรูปเป็นงานอดิเรก ผมเห็นว่าสวยกว่าอีกหลายภาพที่ได้ติดในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆในยุโรป)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมน่ะอยากถามเพราะสงสัยจริง ๆ แต่อาจารย์คงไม่ตอบหรอกครับ

คนอาย 90 up ทำไมถึงหย่าเมีย ทั้ง ๆ ที่คุณวุฒิท่านคนยกย่องเสมอปราชญ์ในต่างประเทศ

ผมล่ะไม่เข้าใจจริง ๆๆๆครับ
……………………………………………………….

ตอบครับ

ผมหยิบจดหมายอาจารย์มาตอบเพราะตอบเรื่องการเจ็บป่วยติดๆกันมากๆกลัวแฟนบล็อคเครียด

ผมแยกตอบเป็นสองกรณีนะ คือ (1) เหตุที่ผู้ชายหย่าเมียในวัยทั่วไป (2) เหตุที่ผู้ชายสว.หย่าเมีย

กรณีคนทั่วไปนั้น มีงานวิจัยที่เขาทำไว้ดิบดีแล้วเป็นจำนวนมาก ผมยกเอางานวิจัยของมหาลัยเพ็นซิลวาเนียซึ่งผมเห็นว่ามีกระบวนการวิจัยที่ดี ผลวิจัยของเขาสรุปสาเหตุท็อปที่ทำให้ผู้ชายยื่นขอหย่าเมียไว้ 6 สาเหตุ คือ

(1) เพื่อหนียายเพิ้ง กล่าวคือ ม. เมื่อแต่งกับ ผ. แล้วต้องรับภาระต่างๆมากมายจึงไม่สนใจเมคอัพตัวเอง สามีซึ่งไม่ชอบมลภาวะทางสายตาก็จึงตัดสินใจย้ายที่เปลี่ยนวิว

(2) สามีไม่ได้ priority หมายความว่าได้ลำดับความสำคัญน้อย กล่าวคือ ม. ให้ความสำคัญกับคนอื่น เช่น ลูก ญาติ เพื่อน หรืออย่างอื่นเช่น งานอาชีพ งานอดิเรก มากกว่าตัวเอง เมื่อตัวเองไม่มีความสำคัญ แล้วจะอยู่ด้วยกันไปอีกทำไม เพราะก้นบึ้งของหัวใจผู้ชายคือการอยากมีความสำคัญ

(3) สามีเป็นโรค “แพ้ความหวังดี” กล่าวคือภรรยาพยายามปรับปรุงแก้ไขความบกพร่องของสามีมากเกินไป

(4) เพื่อหนีจากโรค “เฉาปากตาย” หิ หิ โรคนี้ผมตั้งชื่อให้เอง งานวิจัยเขาหมายถึงการที่ภรรยาพูดมาก บ่นมาก

(5) เพื่อหนี “หญิงแก่บ้าอำนาจ” กล่าวคือ ม. ชอบทำตัวเป็นเจ้านาย หรือเป็นแม่ สองอย่างนี้เป็นของแสลงสำหรับผู้ชาย ซึ่งเป็นเพศที่มีสิ่งที่ค้ำจุนชีวิตเหลืออยู่อย่างเดียวคือ..อัตตาของเขา

(6) เพื่อหนีเมียประเภทติดสามี ไม่ใช่ตามคุมหรือตามหึงนะ ไม่ใช่แบบนั้น แต่หมายถึงเมียประเภทอ่อนแอเกินไป (dependent) ถ้าไม่มี ผ. ฉันต้องฆ่าตัวตายเพราะฉันอยู่โดยไม่มี ผ. ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ศาลฝรั่งบางรัฐถือว่าเป็นข้ออ้างสำหรับการหย่าได้ เพราะการแต่งงานเป็นสัญญาประเภท inter-dependent ต่างฝ่ายต่างพึ่งกันช่วยกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาก็บอกเลิกสัญญาได้

กรณีผู้สูงอายุ เนื่องจากอัตราการหย่าร้างต่ำมาก จึงไม่มีใครทำวิจัยสาเหตุไว้ ในทางการแพทย์หากเป็นโรคหายากที่ข้อมูลวิจัยไม่มีหากยังอยากรู้ก็ต้องไปศึกษาเอาจากรายงานผู้ป่วยรายคนหรือ case study ผมจะยกบางเคสให้ท่านฟังพอเป็นไอเดีย

เคสที่ 1. เมื่อปีกลาย เป็นข่าวในยุโรปครึกโครม ชายอิตาลีชื่อ อันโตนิโย อายุ 99 ปี ฟ้องหย่าภรรยาซึ่งอยู่กินกันมาได้ 77 ด้วยสาเหตุว่า ผ. ไปโละของเก่าทำความสะอาดอพาร์ตเมนท์แล้วพบจดหมายรักเก่าฝุ่นจับจนหมึกเลือนแล้ว เขียนเมื่อหกสิบกว่าปีมาแล้ว เนื้อหาคือภรรยาเขียนหาชู้ คุณปู่อันโตนิโยให้การว่าเขาทนไม่ได้ เขารับไม่ได้ เขารู้สึกว่าตัวเองถูกทรยศ ศาลนัดสืบพยานใน 3 เดือน หลังจากนั้นผมไม่ได้ยินข่าวคดีนี้อีกเลย เข้าใจว่าศาลจะปิดเคสเพราะคู่ความย้ายกลับบ้านเก่าก่อนศาลอ่านคำพิพากษา (หิ หิ นี่ผมเดาเอาเองนะ)

เคสที่ 2. ชายชาวไต้หวันชื่อ เชา อายุ 90 ปี ฟ้องหย่าเมียที่อยู่ด้วยกันมาห้าสิบกว่าปี โดยบรรยายฟ้องว่าเมียของเขา “ดูแลหมาข้างถนนดีกว่าดูแลตัวเขาเสียอีก” โดยอธิบายต่อศาลว่า

“ทุกเช้าเมียต้องไปที่สะพานเกาปิงเพื่อให้ข้าวหมาจรจัด กว่าจะกลับบ้านก็สาย ตัวผมอายุ 90 ผมต้องการการดูแล แต่เมียผมกลับมีเจตคติที่เย็นชากับผม แถมเธอยังขี้เกียจอาบน้ำอีกต่างหาก”

ข้างฝ่ายจำเลยคือภรรยา ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เธอบอกศาลว่า

“ตัวฉันไปเลี้ยงหมาแล้วก็กลับมาอาบน้ำทุกวัน ตัวฉันไม่เหม็น แต่ตัวเจ้า ผ. นั่นแหละเหม็น เพราะเขาไม่ดูแลตัวเอง เป็นคนเจ้าอารมณ์ บางครั้งโกรธฉันและงอนฉันไม่พูดกับฉันนานหลายปี (โปรดสังเกตว่าหน่วยนับเวลาของผู้สูงวัยระดับนี้มีหน่วยเดียว คือ..ปี) อีกอย่างหนึ่งลูกสะใภ้ก็อยู่ในบ้านกับเราและช่วยดูแลเขาอยู่ จะหาว่าเราไม่ดูดำดูดีได้อย่างไร”

ศาลเห็นว่านายเชาคงแค่งอนเมียเพื่ออยากให้เมียง้อ จึงพยายามไกล่เกลี่ย แต่ไม่สำเร็จ เพราะนายเชายืนกรานจะใช้สิทธิพลเมืองฟ้องหย่าเมียลูกเดียว ศาลจึงนั่งบัลลังก์ไต่สวนแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องด้วยเหตุว่า “ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเมียเป็นอย่างที่นายเชากล่าวหาแต่อย่างใด” ข่าวไม่ได้บอกว่าศาลดมกลิ่นโจทก์และจำเลยหรือเปล่า แต่ผมเดาใจศาลว่าท่านคงคิดว่าคนอย่างนายเชาจะหนีเงื้อมมือของแม่ผัวกับลูกสะไภ้คู่นี้ไปไหนรอด จึงพิพากษายกฟ้อง..จบข่าว

ก่อนจบผมขอให้ความเห็น ไม่ใช่ข้อมูลที่จะตอบคำถามนี้นะ ว่าการฟ้องหย่าเมียที่มักเกิดจาก 6 สาเหตุที่มหาลัยเพ็นซิลวาเนียได้ทำวิจัยไว้นั้น เป็นเหตการณ์ของคู่สมรสก่อนวัยชรา เมื่อเข้าสู่วัยชราแล้ว มันจะเกิดการฝ่าข้าม (trancendent) การมองเห็นคู่ชีวิตจากเดิมที่เคยมองว่าเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นจากร่างกายและความคิด มันมองเข้าไปเห็นได้ลึกกว่านั้น เมื่อมีสาเหตุอะไรที่เป็นเรื่องระดับร่างกายและระดับความคิดมันจะไม่มีพลังอะไรอีกต่อไปแล้ว เพราะทั้งคู่มองอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปลึกจนเห็นหรือจนแชร์เนื้อในของชีวิตกันได้ เนื้อในนั้นก็คือความรู้ตัว (awareness) หรือสัมปชัญญะ หรือวิญญาณ (consciousness) ของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในที่ลึกระดับนี้ พูดแบบเมตาฟิสิกส์ก็คือมันเป็นคลื่นความสั่นสะเทือนที่สอดผสานกัน พูดแบบบ้านๆก็คือมันเป็นเมตตาธรรม แต่ไม่ว่าจะพูดแบบไหน หากเปรียบเสมือนเป็นสิ่งของมันก็เป็นสิ่งของชิ้นเดียวที่ผ่าแบ่งแยกเป็นหลายๆชิ้นไม่ได้และไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าของ นั่นน่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมอัตราการหย่าร้างในวัยชราจึงต่ำมาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

24 มิถุนายน 2566

เคมีบำบัดรักษามะเร็ง ช่วยยืดอายุได้มากแค่ไหน

(ภาพวันนี้: บ้านเล็กนอกบ้านใหญ่)

กราบเรียนคุณหมอ

ผมอายุ 56 ปี เป็นมะเร็งตับอ่อนระยะที่ 4 หมอ onco แนะนำให้ใช้ยาเคมีบำบัดชื่อ Erlotinib มารักษาควบกับยาตัวอื่น โดยหมอบอกว่าผลวิจัยยานี้เพิ่มอัตรารอดชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่เนื่องจากราคา และผมเองก็ไม่รู้จริง พยายามถามหมอ onco ถึงตัวเลขว่ามันเพิ่มอัตรารอดชีวิตจากเท่าไหร่ไปเป็นเท่าไหร่ท่านก็ตอบลึกขนาดนั้นไม่ได้ จึงหวังพึ่งคุณหมอครับ ประเด็นที่ผมอยากถามคือ 1. ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งชนิดต่างๆนั้นมันเพิ่มอัตรารอดชีวิตได้กี่เปอร์เซ็นต์ หรือกี่เดือน กี่ปี 2. เจาะลึกเฉพาะยา Erlotinib จะเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผมออกไปได้กี่เดือนกี่ปี

หวังพึ่งคุณหมอครับ

……………………………………………………

ตอบครับ

ผมไม่อยากตอบคำถามคุณเลยโดยความสัตย์จริง

ผมมีความเห็นใจผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัวเพราะรอบตัวของผมก็มีคนเป็นมะเร็งอยู่ไม่น้อย คำตอบของผมจะส่งผลด้านลบต่อขวัญและกำลังใจของผู้ป่วยมะเร็ง เพราะถึงแม้จะไม่มีงานวิจัยในประเด็นนี้แต่ผมสรุปเอาจากความเห็นส่วนตัวของผมเองว่าในบรรดาวิธีพยุงทางจิตวิทยา (psychotherapy) แก่ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอยู่ทั้งหมดในยุคนี้ การให้ยาเคมีบำบัดเป็นวิธีพยุงทางจิตวิทยาที่ให้ผลดีที่สุด คำตอบของผมจะทำให้ประโยชน์อันนี้ของยาเคมีบำบัดเสียไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย แต่คุณถามหาข้อมูลความจริงจากหลักฐานทางการแพทย์ ถ้าแพทย์ไม่ตอบให้ แล้วคุณจะไปเอาข้อมูลนั้นจากไหนละครับ ผมจึงตอบให้

1.. ถามว่ามะเร็งในภาพรวมที่ให้ยาเคมีบำบัดยาล็อคเป้ากันอยู่ทุกวันนี้ มันได้ผลแค่ไหน ตอบว่างานวิจัยสรุปผลของยาเคมีบำบัดทั้งหลายที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ที่ผ่านมา ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร JAMA Otolaryngo -Head & Neck Surgery สรุปผลว่ายาเคมีบำบัดในภาพรวมเพิ่มอัตรารอดชีวิต (mean survival) ได้เฉลี่ย 2.1 เดือนครับ

2. ถามว่ายา Erlotinib ที่แพทย์บอกว่าหากนำมาร่วมรักษามะเร็งตับอ่อนจะเพิ่มอัตรารอดชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญนั้น มันเพิ่มอัตรารอดชีวิตได้แค่ไหน ตอบว่ามันเพิ่มอัตรารอดชีวิตจาก 5.91 เดือนในกลุ่มผู้ใช้ยาหลอก ไปเป็น 6.24 เดือนในกลุ่มผู้ใช้ยา Erlotinib แปลไทยให้เป็นไทยว่าเพิ่มอัตรารอดชีวิตได้ 0.33 เดือน แปลไทยให้เป็นไทยอีกทีได้ว่ามันเพิ่มอัตรารอดชีวิตเฉลี่ยได้ 9.9 วัน หิ หิ ไม่ใช้ 99 วันนะ มีจุดทศนิยมด้วย 9.9 วัน ก็ตีเสียว่า 10 วันละกัน

ถ้าคุณถามว่าก็ถ้าอัตรารอดชีวิตมันเพิ่มน้อยแค่สิบวันอย่างนี้ทำไมงานวิจัยกลับบอกว่าเพิ่มอัตรารอดชีวิตได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญละ ผมก็จะตอบว่าคำว่า “มากกว่ากันอย่างมีนัยสำคัญ” นั้นมันเป็นภาษาสถิติ ซึ่งผมขออนุญาตไม่เจาะลึกเพราะมันดึกแล้ว เอาเป็นว่างานวิจัยนี้สามารถทำความแตกต่างกันที่มีนิดเดียวให้มีนัยสำคัญขึ้นมาได้ก็เพราะเขาใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ (569 คน) จึงเห็นนัยสำคัญของความแตกต่างได้ง่ายแม้จะต่างกันนิดเดียว ตรงนี้รายละเอียดเอาไว้ก่อนนะ เพราะการจะอธิบายวิชาสถิติการแพทย์ให้คนไข้ฟังมันเป็นเรื่องที่ไม่อยากเซด เพราะเซดแล้วปวดเฮด

3.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ ว่างานวิจัยพบว่า 76% ของยาเคมีบำบัดปัจจุบันได้รับอนุม้ติให้ออกมาใช้โดยไม่ได้ใช้ผลวิจัยที่วัดด้วยอัตรารอดชีวิต (survival rate) หรือคุณภาพชีวิต (quality of life) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานของการรักษาโรคทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็ง แต่เขาเลี่ยงไปใช้ตัวชี้วัดอุปโลกน์ (surrogate endpoint) เช่นอัตราการสนองตอบต่อการรักษาที่วัดการลดขนาดของก้อนเนื้องอก (tumor shrinkage) แทน โดยที่ตัวชี้วัดอุปโลกน์นี้มีความสัมพันธ์กับอัตรารอดชีวิตน้อยมากเพราะมันมีปัจจัยกวนมาก ยกตัวอย่างเช่นเช่นพิษของยาเคมีบำบัดเองก็เป็นปัจจัยกวนที่เพิ่มอัตราตายได้แม้ก้อนเนื้อจะลดขนาดลง เป็นต้น สาเหตุที่มีการใช้ตัวชี้วัดอุปโลกน์แทนตัวจริงมีเหตุผลเดียว คือเพื่อร่นเวลาการวิจัยทางคลินิกซึ่งหากจะใช้อัตรารอดชีวิตซึ่งเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานต้องทำวิจัยนาน 7.3-8.2 ปีหรือนานกว่านั้น แต่หากใช้ตัวชี้วัดอุปโลกน์ทำวิจัยเฉลี่ยนานแค่ 11 เดือนก็เอายาออกมาขายได้แล้ว

4.. การตอบคำถามนี้ผมไม่ได้มีอคติอะไรกับยาเคมีบำบัดนะ ในฐานะแพทย์แผนปัจจุบันคนหนึ่งผมลุ้นอยู่ทุกวันให้วงการแพทย์พบยารักษามะเร็งที่ได้ผล แต่ความจริงเท่าที่ผ่านมา ผลของมันก็อย่างที่ผมตอบไปข้างต้นนั่นแหละครับ จากข้อมูลนี้ คุณจะใช้ยา หรือจะไม่ใช้ยา นั่นเป็นดุลพินิจของคุณเอง ผมขอไม่เข้าไปยุ่งด้วย

     ส่วนคำแนะนำวิธีรักษาแบบการแพทย์ทางเลือกอื่นๆผมก็แนะนำให้ไม่ได้เพราะแพทยสภาเขาห้ามไม่ให้แพทย์แผนปัจจุบันไปยุ่งกับวิชาแพทย์แผนอื่นที่ตัวเองไม่ได้เรียนมา จึงเหลือที่ผมจะแนะนำคุณได้อยู่อย่างเดียว คือเมื่อเป็นมะเร็งแล้วควรจะกินจะอยู่อย่างไร ซึ่งผมขอแนะนำคุณตามสมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS)ซึ่งได้ออกแนวปฏิบัติ (guidelines) การรักษามาเร็งโดยใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ ให้ผู้ป่วยมะเร็งกินอยู่ดังนี้

     (1) จำกัดการทานเนื้อสัตว์ในรูปแบบไส้กรอก เบคอน แฮม (processed meat) และจำกัดการทานเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat) เช่นเนื้อหมู เนื้อวัว 

     (2) กินผักและผลไม้ให้มากๆเข้าไว้

     (3) กินธัญพืชไม่ขัดสี (เช่นข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีท) แทนธัญพืชขัดสี 

     (4) กินอาหารในปริมาณพอดีไม่ทำให้อ้วน ถือหลักผอมไว้เป็นดี เพราะความอ้วนสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่ก็อย่าถึงกับผอมมากเกินไป เพราะจะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง  

     (5) ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

     นอกจากนี้ ผมแนะนำเพิ่มเติม อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเอง ว่าให้หาพืชที่หลากหลายมากินเป็นยาด้วย เช่นหาผักพื้นบ้านแปลกๆหาทานยากๆอย่างละนิดอย่างละหน่อยรวมทั้งเห็ดต่างๆตามฤดูกาลมากินสดบ้างปั่นบ้างตามสะดวก พืชอะไรที่เขาว่าดีก็เอามากินได้อย่างละนิดอย่างละหน่อย เพราะการได้ธาตุที่หายากและที่ร่างกายใช้น้อย (trace element) ซึ่งมักมีอยู่แต่ในพืชเท่านั้นจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งมีหน้าที่กำจัดมะเร็งทำงานได้ดีขึ้น จะทำผ่านกลไกการเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ หรือผ่านกลไกการลดอนุมูลอิสระก็แล้วแต่ เอาเป็นว่าอาหารพืชที่หลากหลายทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นแน่นอนก็แล้วกัน

ดังนั้นในอีกด้านหนึ่งคุณต้องปลดปล่อยระบบภูมิคุ้มกันให้หลุดจากความเครียดทั้งมวลด้วย เพราะความเครียดเป็นตัวกดระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวไม่ขยันจับทำลายเซลมะเร็ง ความเครียดเกิดจากความคิด โดยเฉพาะความคิดลบ ซึ่งมักมาสองทาง คือ

     (1) การยึดติดถวิลหาหรืออยากได้สิ่งดีๆที่เคยได้ (attachment) ในรูปของความหวัง หรือความอยากได้

     (2) การอยากหนีสิ่งเลวๆที่กลุ้มรุมอยู่ตอนนี้ (non-acceptance) ในรูปของความกลัว

     การจะปลดความคิดลบทั้งสองให้เหลือศูนย์มีวิธีเดียว คือจะต้องยอมรับ (acceptance) หรือยอมแพ้ (surrender) ต่อทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้อย่างไม่มีเงื่อนไขให้ได้ก่อน

     ความกลัวนั้นแน่นอนว่าเป็นสิ่งเลวร้าย ความกลัวพาจะคุณออกจากปัจจุบันไปอยู่กับอะไรที่ร้ายๆน่ากลัวๆในอนาคตซึ่งไม่มีอยู่จริง ความกลัวเป็นความคิดลบที่บงการคุณได้ ความกลัวทำให้เครียด ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะยังไม่เวอร์คหรอกหากคุณยังอยู่กับความกลัว

     การอยู่กับความหวังก็เป็นการแสดงถึงการไม่ยอมรับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเรายอมรับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ 100% เราก็ไม่ต้องไปตั้งความหวังอะไร เพราะที่มีอยู่ที่เป็นอยู่เรายอมรับได้หมดแล้ว ดีแล้ว พอแล้ว ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ดังนั้นความหวังก็ไม่ต้องไปสร้างหรือฟูมฟักมันไว้หรอก เพราะความหวังเองก็เป็นตัวร้ายคอยพาเราลี้ภัยหนีออกจากปัจจุบันไปอยู่กับลมๆแล้งๆในอนาคตเช่นกัน

     ให้คุณวางความคิดทั้งหมดลงเสีย วิธีวางก็ด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆที่ผมเขียนไปแล้วบ่อย เช่น แอบสังเกตดูความคิดแบบไม่เข้าไปคิดต่อยอด เมื่อถูกสังเกต มันจะฝ่อไปเอง

นอกจากวางความคิดทั้งหมดลงแล้ว ผมแนะนำว่าให้ทิ้งตัวชี้วัดใดๆไปให้หมดเสียด้วย ไม่ต้องตามดู อยู่ห่างๆหมอไว้ หันมาอยู่กับความรู้ตัวที่นี่ เดี๋ยวนี้ ทีละช็อต ทีละช็อต ยอมรับทุกอย่างที่มาถึง ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ แบบสดๆซิงๆ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ทิ้งความจำในอดีตทั้งมวลไปเสีย ทิ้งอนาคตไปเสียด้วย แล้วรับมือกับทุกอย่างซึ่งๆหน้า ตรงๆ ทีละช็อตในปัจจุบัน ในรูปแบบของความตื่นเต้นที่จะได้พบกับความท้าทายใหม่ๆที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะในชีวิตหนึ่งนี้ใครจะไปรู้ได้ว่าช็อตต่อไปของชีวิตอะไรจะมา นี่แหละคือความท้าทายในชีวิต และนี่แหละคือการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆสดๆ ทีละลมหายใจ ถ้าความตายจะมาถึงเวลาใดก็ยอมรับมันที่ ณ เวลานั้น ไม่วิ่งหนีอะไร ไม่วิ่งหาอะไร แค่ที่มีอยู่ เป็นอยู่ ณ เดี๋ยวนี้ มีอากาศหายใจ มีน้ำให้ดื่ม มีอาหารให้กิน มีความรู้ตัว ก็เพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพและมีความหมายในช็อตนี้ได้แล้ว หากทำได้อย่างนี้ ใจจะนิ่ง ตื่นตัวอยู่ แต่สงบเย็น ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะทำงานได้ดีระดับท็อปฟอร์ม สำหรับโรคมะเร็งไม่ว่ามะเร็งที่อวัยวะไหน หากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกลับมาทำงานดี อะไรดีๆก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Moore MJ, Goldstein D, Hamm J, Figer A, Hecht JR, Gallinger S, Au HJ, Murawa P, Walde D, Wolff RA, Campos D, Lim R, Ding K, Clark G, Voskoglou-Nomikos T, Ptasynski M, Parulekar W; National Cancer Institute of Canada Clinical Trials Group. Erlotinib plus gemcitabine compared with gemcitabine alone in patients with advanced pancreatic cancer: a phase III trial of the National Cancer Institute of Canada Clinical Trials Group. J Clin Oncol. 2007 May 20;25(15):1960-6. doi: 10.1200/JCO.2006.07.9525.
[อ่านต่อ...]

19 มิถุนายน 2566

หมอสันต์สอนวิธีประเมินตัวเองเมื่อออกกำลังกาย

ภาพวันนี้: แก้วเจ้าจอม (ขออภัย ภาพสลับกันมั่ว)

ชั่วโมงนี้ผมจะโฟกัสเฉพาะเรื่องการประเมินตนเองในการออกกำลังกาย ก่อนอื่นใครที่ไม่ได้ใส่เสื้อยืดมาผมจะพักเบรคให้ห้านาทีให้กลับห้องไปเปลี่ยนเป็นเสื้อยืดเสียก่อน เพราะเราต้องเรียนเรื่องการประเมินท่าร่างซึ่งจะประเมินยากหากใส่เสื้อใส่กางเกงหลวมเพราะดูไม่ออกว่าท่าร่างเป็นอย่างไร ต้องแก้ไขอะไร โอเค. อีกห้านาทีเจอกัน

เนื้อหาที่เราจะใช้วัดหรือประเมินตนเองนี้ทำขึ้นมาโดยวิทยาลัยเวชศาสตร์การกีฬาอเมริกันหรือ ACSM ผมรับเอามาใช้เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่สั้นกระชับแต่ก็ครอบคลุมเรื่องจำเป็นได้หมด โดยจะเจาะลึกใน 8 ประเด็นคือ (1) องค์ประกอบของร่างกาย (body composition) (2) ท่าร่าง (posture) (3) พิสัยของข้อ (range of motion) (4) การเคลื่อนไหว (movement) (5) การทรงตัวและความแข็งแรงของแกนร่างกาย (balance and the core) (6) ความอดทนของกล้ามเนื้อ (endurance) (7) ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength) (8) ความฟิตของร่างกาย (fitness)

ในชั่วโมงนี้เราจะฝึกประเมินตัวเองไปทีละรายการจนครบ 8 รายการ เป้าหมายคือเมื่อท่านกลับไปบ้านแล้วให้ท่านสามารถประเมินตัวเองในทั้ง 8 ประเด็นนี้ได้เอง

1. Body Composition องค์ประกอบร่างกาย

สาระหลักก็คือการวัดว่าเรามีไขมันในร่างกายมากเกินไปหรือเปล่า เพราะการมีไขมันมากทำให้ป่วยง่าย วิธีวัดที่เราจะทำความรู้จักในวันนี้มีสี่วิธี คือ

(1) ดัชนีมวลกาย (BMI) ทุกคนชั่งน้ำหนักมาแล้ว วัดส่วนสูงมาแล้ว คราวนี้ให้ทุกคนคำนวณเอาจากสูตร

ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กก.) หารด้วยส่วนสูง (ม.) สองครั้ง

เช่นน้ำหนัก 63 กก. สูง 165 ซม.ก็เท่ากับสูง 1.65 ม. เอา 63 ตั้ง เอา 1.65 ไปหาร หารครั้งที่ 1 ได้ 38.12 เอาตัวเลข 38.12 นี้ตั้งอีกแล้วหายด้วย 1.65 อีกครั้งได้ 23.1 นั่นคือดัชนีมวลกายเท่ากับ 23.1 กก./ตรม. ให้ทุกคนคิดดัชนีมวลกายของตัวเอง ค่าปกติคือ 18.5-25 ใครมากกว่า 25 ก็คืออ้วน ต่ำกว่า 18.5 ก็คือผอม ข้อมูลแค่นี้ก็มีประโยชน์มากมายแล้วในการบอกทิศทางว่าตัวเราควรจะดูแลตัวเองอย่างไรต่อไป

(2) เส้นรอบพุง (waist circumference)

วัดที่ระดับสูงกว่าขอบกระดูกสะโพกแต่ต่ำกว่าขอบกระดูกซี่โครง (ประมาณสะดือ) ให้สายวัดขนานพื้น ในท่าหายใจปกติ ไม่รัดสายวัดจนตึงเกินไป ค่าปกติในคนเอเซีย ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้ว (90 ซม.) หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว (80 ซม.)

สัดส่วนระหว่างเส้นรอบพุงหารด้วยเส้นรอบสะโพก (waist to hip ratio) ก็ช่วยบอกความเสี่ยงของชนิดการลงพุงได้ละเอียดขึ้น คือยิ่งเสี่ยงมากหากอ้วนที่พุงมากกว่าอ้วนที่สะโพก สัดส่วนปกติชายไม่ควรเกิน 0.9 หญิงไม่ควรเกิน 0.8

ให้ทุกคนวัดเส้นรอบพุงและสัดส่วนระหว่างพุงกับสะโพกของตัวเอง แล้วบันทึกลงแบบประเมินตัวเอง

(3) การใช้เครื่องชั่งที่บอกองค์ประกอบร่างกายได้

อาจใช้เครื่องชั่งหรือเครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกายก็ได้ แค่ขึ้นยืนบนเครื่องมันก็จะบอกองค์ประกอบของร่างกายมาเสร็จว่ามีไขมันกี่เปอร์เซ็นต์ โดยสัดส่วนของไขมันปกติชายไม่ควรเกิน 25% หญิงไม่ควรเกิน 31% แต่การเรียนในวันนี้ผมไม่เน้นการใช้เครื่องวัด เพราะท่านกลับไปบ้านแล้วท่านอาจจะไม่มีเครื่อง

2.. Posture  ท่าร่าง

2.1 ท่าร่างเมื่อมองด้านหน้า ให้ทุกคนยืนกางขานิดหนึ่งเท่าช่วงไหล่ มองตัวเองในกระจก แล้วมองท่าร่างของตัวเองจากกระจกในประเด็นความเท่ากันหรือความสมมาตรไม่เอียงซ้ายเอียงขวา โดยมองไล่ขี้นไปทีละระดับให้ครบห้าระดับ คือ (1) ข้อเท้า (2) ข้อเข่า (3) สะโพก (4) ลำตัวและไหล่ (5) ศีรษะและคอ

2.2 ท่าร่างเมื่อมองจากด้านข้าง คราวนี้ให้หันข้างให้กระจก ชำเลืองมองตัวเองจากด้านข้าง โดยใช้เส้นจินตนาการผ่ากลางตัว (plumb line) ไม่ให้มีช่วงใหนของร่างกายหลุดออกไปนอกเส้นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีรษะ คอ และสันหลังตอนล่าง ถ้าอยู่ที่บ้านจะใช้วิธียีนหลังพิงผนังแล้วให้ร่างกายทุกส่วนชิดผนังก็ได้

เสร็จแล้วคราวนี้จับคู่กันผลัดกันประเมินให้เพื่อนโดยมองกันจากด้านข้าง แล้วบันทึกความผิดปกติที่ตรวจพบ เน้นความผิดปกติที่พบบ่อยสองจุด คือหน้ายื่น(หลังค่อม) กับพุงแอ่น ซึ่งต้องแก้โดยการตั้งใจ (1) เก็บคาง (2) ผึ่งไหล่ (3) แขม่วพุง (4) ขมิบก้น (เก็บหาง)

2.3 ท่าร่างเมื่อมองจากด้านหลัง คราวนี้ให้จับคู่ประเมินกันและกัน การมองจากด้านหลังเน้นความสมมาตรเช่นเดียวกับการมองจากด้านหน้า

เมื่อประเมินว่าท่าร่างของตัวเองมีปัญหาตรงไหน ก็ให้ฝึกท่าร่างใหม่ให้ร่างกายตั้งตรง คางไม่ยื่น ไหล่ไม่เอียง หลังไม่ค่อม พุงไม่แอ่น ฝึกทุกนาทีที่คิดขึ้นได้ ไม่ว่าขณะนั้นจะอยู่ในท่านั่งหรือท่ายืนก็ฝึกได้ เวลาทำงานก็หลีกเลี่ยงการก้มโดยยกจอคอมพิวเตอร์ขึ้นมาไว้ในระดับสายตา

(3) พิสัยของข้อ (range of motion)

ข้อทุกข้อมีพิสัยปกติของการเคลื่อนไหวของมัน เราจะประเมินเฉพาะข้อสำคัญไปทีละข้อ

3.1 ประเมินพิสัยข้อเท้า (ankle) มือเท้าสะเอว ยกเท้าขวาขึ้น ยื่นเท้าออกมา ประเมินการกระดก (dorsiflexion) แบบนี้ การเหยียด (plantarflex) แบบนี้ การแบะ (supinate) แบบนี้ และการงุ้ม (pronate) แบบนี้ ใครที่เคลื่อนไหวท่าไหนไม่ได้ให้ยกมือ คราวนี้ก็เปลี่ยนไปประเมินข้างซ้ายบ้าง

3.2 ประเมินพิสัยข้อเข่า (knee) มือเท้าสะเอว ยกเข่าขวาขึ้น ประเมินการเหยียดเข่า (extension) ต้องให้ได้ 180 องศา แบบนี้ การงอเข่า (flexion) แบบนี้ คราวนี้ก็เปลี่ยนไปประเมินข้างซ้ายบ้าง

3.3 ประเมินพิสัยข้อสะโพก (hip) ยืนมือเท้าสะเอว ยกขาขวาขึ้นจากพื้นนิดหนึ่ง ประเมินการอ้า (abduction) ต้องให้ได้ 45 องศา แบบนี้ การหุบขา (adduction) แบบนี้ การงอ (flexion) โดยเตะขึ้น แบบนี้ การเหยียด (extension) โดยตอกส้นไปข้างหลัง แบบนี้ คราวนี้ก็เปลี่ยนไปประเมินข้างซ้ายบ้าง อ้า หุบ งอ เหยียด

3.4 ประเมินพิสัยข้อกระดูกสันหลัง (spine) ยืนเท้าสะเอว ข้อสะโพกนิ่ง ไม่งอ แล้วก้มให้กระดูกสันหลังงอ (flexion) ไปข้างหน้าช้าๆแบบนี้ จนก้มได้สุด แล้วประเมินการเหยียด(extension) โดยการค่อยๆเงยไปข้างหลังแบบนี้ คือกระดูกสันหลังต้องสามารถเด้งหน้าเด้งหลังได้เหมือนลำไม้ไผ่ นอกจากนั้นยังเอียงซ้าย เอียงขวา ได้ข้างละนิดหน่อยด้วย แล้วยังต้องสามารถหมุน (rotation) ไปทางซ้ายและขวาโดยต้องสามารถหมุนจนมองทั้งข้างซ้ายข้างขวาสามารถมองเห็นจุดเดียวกันที่ข้างหลังได้โดยไม่ขยับเท้า

3.5 ประเมินพิสัยของข้อไหล่ (shoulder) ประเมินสองข้างพร้อมกันเลยก็ได้ เริ่มด้วยการอ้า (abduction)ข้อไหล โดยกางแขนออกจากตัว แบบนี้ ต้องได้เกิน 90 องศา การหุบ (adduction) โดยเหวี่ยงแขนเข้าหาตัวแบบนี้ ต้องได้น้อยกว่า 0 องศา การงอไหล่ (flexion) โดยยกมือไปหน้า แบบนี้ การเหยียดไหล่ (extension) โดยวาดมือลงไปข้างหลังแบบนี้ต้องได้ราว 30 องศา แล้วทดสอบพิสัยการหมุนไหล่ (rotation) แบบนี้ ทั้งหมุนไปหน้า หมุนกลับหลัง ต้องหมุนได้รอบทิศ 360 องศา ไม่ติดตรงไหน

(3.6) ประเมินพิสัยข้อศอก ดูการงอศอก (flexion) อย่างนี้ แล้วเหยียดศอก (extension) อย่างนี้

(3.7) ประเมินพิสัยข้อมือ โดยการหมุน (rotation)คว่ำหงาย งอ (flexion) คือกวักมือลงอย่างนี้ และเหยียด (extension) คือกระดกมือขึ้นอย่างนี้ นอกจากนี้ข้อมือยังเคลื่อนไหวในแนวระนาบหน้าหลังได้ด้วยคือการอ้า (abduction)ไปทางหัวแม่โป้งอย่างนี้ และหุบ (adduction) ไปทางนิ้วก้อยอย่างนี้

(3.8) ประเมินพิสัยข้อนิ้วมือมือ โดยการงอหรือกำ(flexion) แล้วเหยียดหรือแบ (extension) ข้อนิ้วมือยังเคลื่อนไหวในแนวระนาบหน้าหลังได้ด้วยคือการอ้า (abduction)อย่างนี้ และหุบ (adduction) อย่างนี้

4. Movement การเคลื่อนไหว

เป็นการประเมินว่าเมื่อร่างกายเราเคลื่อนไหว ทั้งกล้ามเนื้อและข้อต่างๆ มันมีการประสานกันดีหรือเปล่า มีกล้ามเนื้อไหนข้อไหนไม่ยอมทำงานจนทำให้กล้ามเนื้ออื่นข้ออื่นต้องมาทำงานชดเชยมากผิดปกติ มาตรฐานที่ใช้ประเมินคือให้ทำท่าชูมือนั่งยอง (overhead squat) และท่านั่งยองขาเดียว (single leg squat) โดยผู้ประเมินตั้งใจดูขณะผู้เรียนทำท่า ผมจะทำท่าให้ดู ให้ทุกคนทำท่าตาม ขณะเดียวกันก็ประเมินการเคลื่อนไหวของตัวเองในกระจก

เริ่มด้วยท่าชูมือนั่งยองก่อน อย่างนี้ ทำหลายๆครั้งจนสรุปผลการประเมินได้ว่าเคลื่อนไหวปกติหรือผิดปกติ

คราวนี้มาประเมินด้วยท่านั่งยองขาเดียว อย่างนี้ ทำหลายๆครั้ง คราวนี้ไปทำข้างซ้ายบ้าง ทำจนสรุปผลประเมินการเคลื่อนไหวในภาพรวมได้

(5) การทรงตัวและความแข็งแรงของแกนร่างกาย (balance and the core)

ระบบการทรงตัวของร่างกายซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของห้าส่วน คือ (1) สติ (2) สายตา (3) หูชั้นใน (4) กล้ามเนื้อ และ (5) ข้อ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการฝึกออกกำลังกายในผู้สูงวัย เพราะจะช่วยให้การเคลื่อนไหวทำกิจวัตรทำได้ดีขึ้น และช่วยป้องกันการลื่นตกหกล้มซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพเมื่ออายุมาก การฝึกการทรงตัวมีหลายแบบซึ่งเราจะไปฝึกกันในวันต่อไป แต่ตอนนี้เอาเรื่องการประเมินการทรงตัวก่อนว่าใครทรงตัวได้ดีแค่ไหน วิธีประเมินที่ใช้เป็นสากลคือให้ทำท่านกกระสายืนขาเดียว (standing stork test) ว่าจะทำได้กี่วินาที วิธีทำให้ทำอย่างนี้ ให้ทุกคนทำตามผมแล้วประเมินตัวเองโดยนับช้าๆ 1, 2, 3… นับตามเสียงเม็ทโทรโนม นับไปจนถึง 60 จึงหยุด หากทำแล้วล้มให้เริ่มทำใหม่นับใหม่ จนหมดเวลา ให้เอาเวลาช่วงที่นับได้ยาวที่สุดเป็นคะแนนของตัวเอง

วิธีทำคือยืนเท้าสะเอว ยกเท้าซ้ายขึ้นมาเหยียบไว้ใกล้กับเข่าขวา เป็นการยืนด้วยขาขวาข้างเดียว ย่อเข่าขวาลงนิดหนึ่ง ตามองไปที่อื่นที่จุดใดจุดหนึ่งไกล ไม่ต้องคิดอะไร ปล่อยให้ร่างกายทำงานของเขาเอง แล้วค่อยๆเขย่งให้ส้นเท้าหลุดจากพื้นแล้วเริ่มนับ 1, 2, 3 … ไปจนถึง 60 ถ้าล้มตรงไหน ก็เอาการนับครั้งสุดท้ายเป็นคะแนน นับหนึ่งครั้งคือหนึ่งวินาที ค่าปกติผู้ชายควรได้อย่างน้อยข้างละ 31 วินาที ผู้หญิงควรได้อย่างน้อยข้างละ 16 วินาที ทำข้างหนึ่งจบแล้ว ก็สลับขาไปทำอีกข้างหนึ่ง แล้วบันทึกผลประเมินไว้

(6) ความอดทนของกล้ามเนื้อ (endurance)

หมายถึงการประเมินว่ากล้ามเนื้อของเรามีความอึดที่จะทำอะไรได้นานแค่ไหน ผมจะวัดกล้ามเนื้อแค่สามกลุ่มนะ คือท่อนบน ท่อนล่าง และกลางตัว

6.1 เริ่มด้วยท่อนบนก่อน มันมีสองส่วนคือดัน (push) กับดึง (pull) เอาดันก่อนนะ ให้ทุกคนทำท่าวิดพื้น กางมือบนพื้นกว้างเสมอช่วงไหล่ เท้าชิดกัน ขาเหยียดตรง ตัวตรงเป็นไม้กระดาน งอศอกลงไปจนหน้าเกือบจรดพื้น แล้วเหยียดแขนดันตัวขึ้นมาเต็มที่แบบนี้แล้วนับหนึ่ง แล้วก็ทำซ้ำนับ สอง สาม สี่ ห้า… ทำไปจนทำต่อไม่ไหวแล้วก็บันทึกว่าวิดพื้นได้กี่ครั้ง

6.2 แล้วก็มาดึงบ้าง ทุกคนโหนบาร์ห้อยตัวเองต่องแต่ง แล้วค่อยๆดึงตัวเองขึ้นไปเท่าที่ทำได้ ดึงขึ้นทีก็นับเป็นหนึ่ง แล้วหุบช้าๆ นับหนึ่ง ทำซ้ำนับ สอง สาม สี่ ห้า นับไปจนหมดแรงทำต่อ บาร์แบบนี้ซื้อมาติดขอบประตูที่บ้านตัวเองได้ ราคาไม่กี่ร้อยบาท

6.3 คราวนี้มาทดสอบกล้ามเนื้อท่อนล่างของร่างกายบ้าง ด้วยการทำท่ายืนแล้วนั่งยองหรือ squat แบบนี้ แล้วลุกขึ้นช้าๆจนยืนตรงได้อีกครั้ง นับหนึ่ง แล้วทำซ้ำ นับไป สอง สาม สี่ ห้า จนหมดแรงทำต่อ

6.4 คราวนี้มาทดสอบกล้ามเนื้อกลางตัวด้วยการทำท่าลุกนั่งหรือ sit up นอนหงายบนเสื่อ ยกหน้าอกขึ้นมาโดยไม่ต้องก้มหน้าก็ได้ ให้มือเลื่อนไปบนหน้าขาน้อยสิบซม. อย่างนี้ นิ่งอยู่สักพัก นับเป็นหนึ่ง แล้วนอนหงายลงไปใหม่ ทำซ้ำ นับ สอง สาม สี่ ห้า ไปจนหมดแรงหน้าท้อง

ในการฝึกความอดทนของกล้ามเนื้อจะฝึกไปหลายๆท่าก็ได้ แต่ในการประเมินควรประเมินด้วยสี่ท่านี้เป็นอย่างน้อยเพราะมันเป็นท่าประเมินมาตรฐานที่นิยมใช้กันทั่วไป

(7) ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength)

เป็นการประเมินว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงแค่ไหน วิธีประเมินมาตรฐานก็คือใช้เครื่องออกกำลังกายโดยให้ยกน้ำหนักว่ายกได้มากที่สุดกี่กก. ให้ดึงน้ำหนักว่าดึงได้มากที่สุดกี่กก. ให้ถีบน้ำหนักว่าถีบได้มากที่สุดกี่กก.

แต่เนื่องจากในชั้นเรียนนี้ไม่ใช่คนออกกำลังกายเป็นประจำ การประเมิน strength ด้วยการยกน้ำหนักและดึงน้ำหนักสูงสุดจะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ผมจึงให้ประเมินด้วยวิธีนั่งแล้วลุกห้าครั้งว่าใช้เวลาเร็วที่สุดได้กี่วินาที เรียกว่า sit to stand หรือ STS test ให้ทุกคนนั่งในเก้าอี้ของตัวเอง ทันทีที่นกหวีดดังให้กดนาฬิกาจับเวลาแล้วลุกขึ้นยืนตรงแล้วนั่งลง ลุกขึ้นยืนตรงแล้วนั่งลง ทำซ้ำจนครบห้าครั้ง แล้วกดจับเวลา ค่าปกติไม่ควรใช้เวลานานกว่า 11.4 วินาที

(8) ความฟิตของร่างกาย (fitness)

หมายถึงการประเมินว่าระบบหัวใจหลอดเลือดของร่างกายมีความฟิตที่จะเคลื่อนไหวได้แค่ไหน วิธีที่ผมเลือกมาให้ประเมินนี้เรียกว่าการเดินหกนาที (six minute walk test) เป็นการเดินบนพื้นราบ ทุกคนเดินเร็วที่สุดแต่ไม่วิ่ง ถือนาฬิกาจับเวลาของใครของมัน พอเดินได้ครบหกนาทีแล้วให้หยุดแล้วนับระยะที่เดินได้ว่าเดินได้กี่เมตร ค่าปกติควรเดินได้ 484–820 ม. โดยหญิงจะเดินได้น้อยกว่าชายราว 60 ม.

ประเด็นใช้ประโยชน์จากค่านี้คือความฟิตนั้นฝึกฝนให้ดีขึ้นได้ถึง 30% ในเวลาแค่สามเดือน ดังนั้นการหมั่นประเมินความฟิตของตัวเองบ่อยๆด้วยการวัดระยะที่เดินได้ใน 6 นาทีก็จะทำให้ทราบผลการฝึกว่าตัวเองฟิตขึ้นแล้วแค่ไหน

บทสรุป

ในการออกกำลังกาย ควรขยันประเมินตัวเองในแปดประเด็นนี้บ่อยๆ ได้แก่ (1) องค์ประกอบของร่างกาย (body composition) (2) ท่าร่าง (posture) (3) พิสัยของข้อ (range of motion) (4) การเคลื่อนไหว (movement) (5) การทรงตัวและความแข็งแรงของแกนร่างกาย (balance and the core) (6) ความอดทนของกล้ามเนื้อ (endurance) (7) ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength) และ (8) ความฟิตของร่างกาย (fitness) ประเมินแล้วก็ปรับการออกกำลังกายไปตามผลการประเมินแต่ละครั้ง ประเด็นไหนอ่อนก็ฝึกให้มากขึ้นจนประเมินซ้ำแล้วได้ผลปกติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

17 มิถุนายน 2566

หลอดเลือดหัวใจตีบที่โคนข้างซ้าย (LM) มีข้อมูลใหม่ช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นแล้ว

(ภาพวันนี้: มุมหนึ่งบนเนินเขาในมวกเหล็กวาลเลย์)

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

กระผม นพ. … อยู่ที่รพ. …. คุณพ่อของผมอายุ 56 ปี ป่วยเป็น stable angina มีอาการรุนแรงขณะปั่นจักรยาน ได้ทำ CAG ที่รพ. …. พบว่ามี stenosis of LM (ผมส่งผลมาด้วย) พี่ที่เป็น cardiologist ได้แนะนำให้ทำ PCI โดยเหตุผลว่าเป็นแค่สองเส้นการทำ PCI ให้ผลดีกว่าการทำ CABG ผมโทรศัพท์คุยกับเพื่อนที่เป็น CVT เขาไม่เห็นด้วยและแนะนำให้ผมถามอาจารย์สันต์ดู ผมเห็นว่าไม่ใช่เรื่อง emergency จึงพักการทำ PCI ไว้ก่อน จึงขอรบกวนความเห็นจากอาจารย์ด้วยครับ

ขอบพระคุณครับ

………………………………………………………

ก่อนจะตอบคำถามของคุณหมอ ผมขอนิยามศัพท์เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั่วไปได้ตามเรื่องทันก่อน

Stable angina หมายถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดมีอาการเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน คือเจ็บไม่เกิน 20 นาทีแล้วหายไปเอง

Cardiologist หมายถึงแพทย์อายุรกรรมหัวใจ ซึ่งยังแบ่งออกเป็นสองแขนงย่อยคือแขนงไม่รุกล้ำ (non invasive) รักษาโรคแบบจ่ายยา กับแขนงรุกล้ำ (invasive) รักษาโรคด้วยการสวนหัวใจใช้บอลลูนขยายและใส่ลวดถ่าง (stent)

CAG ย่อมาจาก coronary artery angiography แปลว่าการตรวจสวนหัวใจแล้วฉีดสีดู

Stenosis of LM แปลว่ามีรอยตีบที่โคนหลอดเลือดข้างซ้าย (left main coronary artery)

PCI ย่อมาจาก percutaneous cardiac intervention แปลว่าการรักษาโรคหัวใจแบบรุกล้ำด้วยการใช้บอลลูนขยายแล้วใส่สะเต้นท์

CABG ย่อมาจาก coronary artery bypass grafting แปลว่าการผ่าตัดซ่อมแซมหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการต่อหลอดเลือดใหม่ข้ามหัว (bypass) หลอดเลือดเก่า

CVT ย่อมาจาก cardiovascular and thoracic หมายถึงแพทย์ที่ฝึกอบรมมาเฉพาะด้านการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจและทรวงอก

emergency แปลว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนที่หากไม่ได้รับการรักษาทันทีจะมีผลเสียหายรุนแรงต่อผู้ป่วย

เอาละ นิยามศัพท์แล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณหมอท่านนี้

ถามว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน (stable angina) สวนหัวใจแล้วพบว่าเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบหนึ่งเส้นบ้าง สองเส้นบ้าง สามเส้นบ้าง โดยมีจุดตีบสำคัญอยู่ที่ส่วนโคนของหลอดเลือดข้างซ้าย ระหว่างการรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดก็ดี หรือว่าด้วยการผ่าตัดบายพาสก็ดี อย่างไหนดีกว่ากัน ตอบว่า มาถึงวันนี้ผมสามารถตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำแล้วว่าควรรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาส ดีกว่ารักษาด้วยการใช้บอลลูนและใส่ลวดถ่างแน่นอน

คำตอบของผมมีพื้นฐานอยู่บนผลวิจัยครั้งใหม่ที่ชื่อ SWEDEHEART registry ตีพิมพ์ในวารสารหัวใจยุโรปเมื่อต้นเดือนนี้เอง งานวิจัยนี้เขาเอาผู้ป่วยที่มีรอยตีบอยู่ที่โคนหลอดเลือดข้างซ้ายจำนวน 11,137 คนมาลงทะเบียนแล้วติดตามดูผู้ป่วยซึ่งได้รับการรักษาสองแบบ (ไม่มีการสุ่มตัวอย่าง) คือ

กลุ่มแรกรักษาแบบผ่าตัดบายพาส จำนวน 9364 คน

กลุ่มที่สองรักษาแบบใช้บอลลูนขยายแล้วใส่ลวดถ่าง (stent) จำนวน 1773 คน

ทำวิจัยติดตามดูอยู่นาน 10 ปีแล้วพบว่ากลุ่มที่ทำผ่าตัดบายพาสมีอัตราตายต่ำกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยการใช้บอลลูนขยายและใส่สะเต้นท์ 2 เท่า และมีจุดจบที่เลวร้ายของโรค (MACCE) ต่ำกว่า1.5 เท่า

คำนวณออกมาเป็นความยืนยาวของชีวิตเฉลี่ย (mean survival) มากกว่ากัน 3.6 ปี ทั้งนี้ได้ปรับแยกปัจจัยกวนต่างๆที่เป็นสาเหตุร่วมของการตายออกไปหมดแล้ว

นี่เป็นผลวิจัยที่ใหม่ที่สุด ใหญ่ที่สุด และมีระดับชั้นสูงที่สุดเท่าที่วงการแพทย์มีในเรื่องนี้ ซึ่งช่วยเปรียบเทียบให้เห็นว่าการรักษาทั้งสองวิธีคือบายพาสกับบอลลูนสำหรับโรคของ LM นั้นบายพาสดีกว่าแน่

ก่อนหน้านี้นานมาแล้วซึ่งเป็นสมัยที่ยังไม่มีบอลลูน มีงานวิจัยเก่าชื่อ CASS study ได้วิจัยเปรียบเทียบการรักษาโรคของ LM ระหว่างผ่าตัดบายพาสกับการไม่ผ่าแล้วพบว่าการผ่าตัดลดอัตราตายได้มากกว่าไม่ผ่า

สรุปว่าโรคของโคนหลอดเลือดข้างซ้าย (LM) การทำผ่าตัดบายพาสเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด ดีกว่าการทำบอลลูนใส่สะเต้นท์ และดีกว่าการอยู่เฉยๆโดยไม่รักษาอะไรรุกล้ำ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Persson J, Yan J, Angerås O, Venetsanos D, Jeppsson A, Sjögren I, Linder R, Erlinge D, Ivert T, Omerovic E. PCI or CABG for left main coronary artery disease: the SWEDEHEART registry. Eur Heart J. 2023 Jun 8:ehad369. doi: 10.1093/eurheartj/ehad369.
  2. 1. Caracciolo EA, Davis KB et. al. Comparison of Surgical and Medical Group Survival in Patients With Left Main Coronary Artery Disease. Long-term CASS Experience. Circulation 1995,  1;91(9):2325-34. doi: 10.1161/01.cir.91.9.2325.
[อ่านต่อ...]

16 มิถุนายน 2566

ตั้งมั่นว่าตัวเองจะเป็นผู้สังเกตเท่านั้น ..ช่วยด้วยค่ะ

ภาพวันนี้: (หวายขี้เป่อ)

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์

ดิฉันเคยเป็นแพนิคค่ะ แต่ด้วยความเพียรพยายามฝึกสมาธิ เรียนรู้การวางความคิด การผ่อนคลาย จากคุณหมอมาหลายปี ทําให้หายจากอาการแพนิคค่ะ แต่ว่ายังมีอาการเวียนหัวเหลืออยู่เป็นประจําแทบทุกวัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่วันค่ะ (ดิฉันอายุ64 ตรวจสุขภาพแล้วไม่มีโรคใดๆค่ะ) 

ในระยะหลังนี้จะรู้ตัวมากขึ้น จะเห็นเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น มีความวิตกกังวลเกิดขึ้น บางครั้งรู้สึกเหมือนเราเป็นอีกคนมองดูความโกรธ มองดูความคิดกังวลอยู่ค่ะ ซึ่งจะมองเฉยๆหรือ feel เฉยๆ จนมันดับไปเองได้หลายครั้งบ่อยขึ้นค่ะ แต่บางครั้งก้อยังต้องอาศัยวิธีการบอกตัวเองว่า ความคิด ปรุงแต่งเป็นอนัตตาๆๆไม่ใช่ตัวเราๆๆ จนอารมณ์พลุ่งพล่านดับค่ะ …ไม่แน่ใจว่าวิธีหลังนี้เป็นการบังคับจิตมากไปหรือป่าวคะ….แค่กลบปัญหาไม่ได้แก้ปัญหามั้ยคะ

แต่บางครั้งที่มีความวิตกกังวลเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว จะเวียนหัวมากขึ้น ใจสั่น ลมขึ้น ตาพร่า จะเกิดอาการทางร่างกายต่างๆ จนกว่าจะหาสาเหตได้ว่าความกังวลนั้นมาจากคิดอะไรกังวลอะไร แล้วทําความเข้าใจกับความคิดนั้นที่ทําให้กังวล อาการต่างๆถึงจะดีขึ้นค่ะ ถ้าหาสาเหตไม่ได้อาการก้อจะไม่หายค่ะ …มันผิดปกติมั้ยคะที่จะต้องมาหาสาเหตทุกครั้งแบบนี้ มีวิธีการแก้ปัญหานี้ยังไรคะ

ไม่กี่วันนี้ไม่ทราบว่าเป็นอะไรมีความวิตกกังวลอะไร หาสาเหตไม่ได้ค่ะ อยู่ๆเกิดเวียนหัวหนักมาก ตาพร่า ลมขึ้น และยังมีใจสั่นมาก ใจเต้นแรงมากตุุ้บตั้บเหมือนจะออกมานอกอก เป็นหลายวันจนบางครั้งแทบจะทนไม่ไหว ไม่ว่าจะอยู่กับลมหายใจ ผ่อนคลายใดๆก้อหายแป๊บเดียวแล้วกลับมาอีก บางครั้งรู้สึกเหมือนว่าสติกําลังจะแตก จากอาการเวียนหัวและใจสั่น ใจนึงเหมือนอยากพูดว่าทนไม่ไหวแล้ว สติจะแตกแล้ว แต่รู้สึกได้ว่ามีเราอีกคนที่กําลังมองสติที่กําลังจะแตกนั้นอยู่ ดูมันเฉยๆไม่มีความรู้สึกใดๆ ดูไปเรือยๆจนอารมณ์ทนไม่ไหวนั้นหายไป….

อาการครั้งนี้เกิดขึ้นรุนแรงมาก ปกติไม่เป็นขนาดนี้ค่ะ ……เป็นไปได้มั้ยคะอาจจะมาจากความคิดหนึ่งคือ….. 

อยู่ดีๆนั่งคิดขึ้นมาว่า เราไม่ได้ป่วยเป็นอะไร ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่มีปัญหาครอบครัวใดๆ ความซึมเศร้า ความวิตกกังวลต่างๆของเราหลายปีมานี้ เกิดขึ้นมาจาก out of thin air ทั้งนั้นเลย……ใจลึกๆเองแล้วอยากให้เป็นยังนั้นจริงๆค่ะจะได้หายจากการเวียนหัว……. …เป็นไปได้มั้ยคะว่าความคิดนี้เป็นการบังคับและฝืนจิตใจเรามากเกินไป เลยทําให้เกิดอาการทางร่างกายมากผิดปกติขนาดนี้

ขอรบกวนคุณหมอแนะนําว่าดิฉันควรจะฝึกวิธีไหนต่อไปดีคะ อยากหายจากอาการเวียนหัว วิตกกังวลเกินเหตูค่ะ

ดิฉันได้พยายามฝึกตัวเองให้เป็นผู้สังเกตตามคุณหมอแนะนําด้วยค่ะ เคยฟังคุณหมอพูดว่าคุณหมอรู้ทันความคิดได้ด้วยวิธีนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าที่ทํามาถูกมั้ย หรือกลายเป็นเผลอคิดวนไปด้วย กรูณาแนะนําให้ด้วยค่ะขั้นตอน การฝึกตัวเองจะเป็นผู้สังเกตเท่านั้น ทํายังไรบ้างคะ

กราบขอบคุณมากค่ะ

……………………………………………………………

ตอบครับ

ผมเอาจดหมายของคุณมาลงเพื่อให้ผู้ป่วยโรค panic disorder ทั่วไปได้เห็นจากตัวอย่างผู้ป่วยตัวเป็นๆว่าอาการแพนิกนี้หายได้ด้วยตัวผู้ป่วยเอง ด้วยการฝึกสมาธิ ฝึกวางความคิด ฝึกผ่อนคลายร่างกาย เป็นหลักฐานเพิ่มเติมจากหลักฐานวิจัยทางการแพทย์ที่พบว่าโรคนี้ดีขึ้นได้จากการใช้ meditation ในการร่วมรักษา

เอาละ ทีนี้มาตอบคำถามของคุณ

1.. ถามว่าตั้งมั่นสังเกตความคิดและฝึกวางความคิดแล้ว แต่มีอาการเวียนหัวขึ้นมาจะทำอย่างไร ตอบว่าคุณเคยสังเกตเห็นไหมว่าความกังวลเรื่องอาการเวียนหัวก็เป็นความคิด ที่คุณต้องวางมันลงทันทีที่มันโผล่ขึ้นมา นั่นแหละคือสิ่งที่คุณจะต้องทำ

2.. ถามว่าหากหาสาเหตได้ว่าความกังวลนั้นมาจากคิดอะไรกังวลเรื่องอะไรแล้วทําความเข้าใจกับเรื่องนั้น อาการต่างๆจึงจะดีขึ้น ทำอย่างนี้ดีไหม ตอบว่าการพยายามหาสาเหตุและทำความเข้าใจคือความคิด ตัวมันนั่นแหละที่จะผสมโรงเป็นต้นเหตุของอาการทางร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่มีความคิดกังวลเกิดขึ้น คุณไม่ต้องหาสาเหตุ แค่รับรู้แล้ววางมันลงไป แค่นั้นพอ

3.. ถามว่าอยู่ดีๆนั่งคิดขึ้นมาว่าความกังวลต่างๆของเราหลายปีมานี้ เกิดขึ้นมาโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยทั้งนั้น อย่างนี้เป็นการบังคับฝืนจิตใจจนทําให้เกิดอาการทางร่างกายไหม ตอบว่าความสงสัยว่าคิดอย่างนี้จะมีผลอย่างนั้นหรือเปล่า ก็เป็นความคิดอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ความสงสัย” แท้จริงแล้วความสงสัยนี้เป็นสุดยอดของความคิดที่เป็นกรงอันแข็งแกร่งที่ขังมนุษย์ผู้คิดว่าตัวเองฉลาดเอาไว้ไม่ให้หลุดออกไปไหน ดังนั้นเมื่อเกิดความสงสัยอะไรขึ้นมา ให้ “ยอมรับ” ว่าเราโง่ เราไม่รู้ แล้วทิ้งความสงสัยนั้นไปเสีย ยอมเป็นคนโง่ดีกว่าเป็นคนขี้สงสัย อย่าไปพยายามใช้ความฉลาดปราดเปรื่องของตัวเอง (intellect) ประเมินคาดการณ์ตีความ เพราะการทำอย่างนั้นจะเกิดปรากฏการณ์ผีกับโลงที่เต้นแทงโก้กันไม่เลิกขึ้นในหัวของคุณ ผีก็คือความสงสัย โลงก็คือความชอบคิดวิเคราะห์ แต่ละฝ่ายก็เต้นท่าใหม่ต่อยอดท่าเต้นของอีกฝ่ายหนึ่งไปไม่รู้จบ ผลก็คือคุณไม่ต้องไปไหน หมุนวนเป็นลูกข่างอยู่ในความคิดนั่นแหละ

4.. ถามว่าจะฝึกวิธีไหนต่อไปดี ตอบว่าก็คุณยังไม่ได้วางความคิดตัวเบ้งๆที่ทำให้คุณเป็นทุกข์ลงไปเลย จะไปหาวิธีฝึกใหม่ๆไปทำไมละครับ วางความคิดลงไปก่อน อย่างน้อยก็สองความคิดคือ (1) ความกังวลว่าร่างกายนี้มันจะเป็นอะไรไป และ (2) ความสงสัยโน่นนี่นั่น วางสองเรื่องนี้ลงไป ทำแค่เนื้ยะพอ

อนึ่ง ความกังวลเกี่ยวกับร่างกายของคุณจะเบาลงถ้าคุณ “ยอมรับ” ว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่คุณ มันไม่ใช่ของคุณด้วย คุณใช้งานมันได้ระดับหนึ่งแต่คุณบังคับมัน 100% ไม่ได้ มันจะเป็นอะไรไปก็ช่างมัน หากคุณ “ยอมรับ” เสียอย่างเดียว คุณก็จะไม่ทุกข์กับมันมาก

อนึ่ง สำหรับคนขี้สงสัยอย่างคุณ ผมแนะนำเทคนิคในการวางความคิดสองเทคนิคให้คุณไปลองฝึกเพิ่มเติมจากวิธีที่ใช้อยู่นะ

เทคนิคที่ 1. เป็นคำแนะนำของโยคีชื่อ รามานา มหารชี มีหลักง่ายๆว่า “ฆ่าทุกความคิดเสียทันทีที่มันโผล่ขึ้นมา” และ “เมื่อความคิดทุกความคิดถูกฆ่าซ้ำๆซากๆจนมันไม่กล้บมาอีกเลย คุณก็บรรลุธรรม”

เทคนิคที่ 2. เป็นเทคนิคที่ผมเองทดลองใช้กับตัวเองในบางระยะของการฝึกในอดีตในช่วงที่ผมยังมีความคิดแยะเต็มหัว ผมเรียกมันว่า “ตะปบความคิด” วิธีทำคือคุณทำท่ากางมือไว้เหมือนเสือจะตะปบเหยื่อ แล้วเตือนตัวเองให้ตื่นตัวรอดูความคิดใหม่ที่จะโผล่เข้ามา คุณไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้ว่าความคิดแรกที่จะโผล่เข้ามานับจากโมเม้นต์นี้ไปมันจะเป็นความคิดเรื่องอะไร มันจะมาเมื่อไหร่ หน้าที่ของคุณคือตื่นตัวเฝ้ารออย่างจดจ่อเหมือนแมวรอตะครุบหนูที่ปากรู เมื่อมันมาคุณตะปบมันด้วยมือที่กางเล็บรอไว้แล้วนี้ทันที ตะปบได้แล้วก็ทิ้งมันไป ตั้งท่ารอตะปบความคิดใหม่ต่อไปอีก ทำอย่างนี้ตั้งแต่ตื่นนอนเช้าจนกลับเข้านอนตอนกลางคืน กางอุ้งมือรอไว้บนหมอนจนหลับไป

คุณไม่ต้องห่วงว่าเมื่อความคิดหมดไปจากหัวแล้วในหัวคุณจะเหลืออะไร ไม่ต้องกังวลว่าถ้าหัวกลวงโบ๋ไม่มีความคิดที่เป็นอัตลักษณ์ของคุณ…แล้วคุณจะเป็นใครกันละทีนี้ คุณอย่าไปพยายามตั้งคำถามและอย่าพยายามตอบว่าคุณเป็นใคร (Who am I?) เหมือนอย่างที่ครูทางจิตวิญญาณทั่วโลกจำนวนมากชอบแนะนำให้ทำเลย ในทางตรงกันข้าม ผมแนะนำคุณเสียอีกแบบว่าในการจะหลุดพ้นจากความทุกข์นี้ คุณอย่าไปเสียเวลาคาดคั้นเอาคำตอบจากความคิดของคุณเลยว่าคุณเป็นใคร เกิดมาทำไม แล้วจะไปไหนต่อ..ไม่ต้องเลย แค่รู้ว่าคุณไม่ได้เป็นใคร ผมหมายถึงรู้ว่าคุณไม่ใช่ความคิด คุณไม่ใช่ร่างกาย แค่นี้คุณก็หลุดพ้นจากความคิดที่ทำให้คุณเป็นทุกข์ได้แล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

15 มิถุนายน 2566

ทุกประเด็นเกี่ยวกับมะเร็งสมองกลิโอบลาสโตมา (Glioblastoma - GBM)

(ภาพวันนี้: คุณปลูกปาล์มกระถางแบบนี้ได้แมะ โชว์เห็ด ราก และตอ ที่เป็นลายเส้นสวยงาม)

กลิโอบลาสโตมา คืออะไร

โรคมะเร็งสมองชนิดกลิโอบลาสโตมา (glioblastoma – GBM) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สมองปกติที่มีอยู่แล้วในสมองของเราทุกคนชื่อเกลียเซลล์ จัดว่าเป็นมะเร็งสมองชนิดที่ร้ายแรงที่สุด

สาเหตุของมะเร็งชนิดกลิโอบลาสโตมา

วงการแพทย์ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งสมองชนิดนี้

ได้แต่สงสัยและคาดเดากันไปต่างๆนาๆว่าอาจเกิดจากพันธุกรรมบ้าง ได้รับรังสีชนิดก่อมะเร็งได้ (ionizing radiation) ซึ่งใช้ในการวินิจฉัยหรือรักษาโรค หรือได้รับรังสีอีกชนิดหนึ่ง (non ionizing radiation) จากโทรศัพท์มือถือ หรือได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน หรือได้รับสารพิษกลุ่ม N-nitroso compound หรือสารพิษอื่นจากการทำงานอาชีพ หรือเคยเข้าไปอยู่ในสนามแม่เหล็ก โดยที่ทั้งหมดนี้ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้แม้แต่ชิ้นเดียวว่าสิ่งที่สงสัยและคาดเดาเหล่านี้อันไหนที่ทำให้เกิดมะเร็งสมองชนิดกลิโอบลาสโตมาได้จริงๆ

สิ่งที่วงการแพทย์รู้แน่ชัดคือมีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม (ยีน) ขึ้นในเกลียเซลล์ปกติทำให้เซลล์นั้นกลายเป็นมะเร็ง และรู้ว่าปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีหรือโมเลกุลต่างๆในร่างกายได้รวมทั้งปัจจัยเช่นความเครียดล้วนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมของยีนของเซลล์ได้ทั้งสิ้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะระบุสาเหตุได้อย่างจำเพาะเจาะจงว่ามะเร็งที่เกิดขึ้นในร่างกายแต่ละครั้งนั้นเกิดจากอะไร  

อาการของมะเร็งสมองชนิดกลิโอบลาสโตมา

อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ (1) อาการชักและ (2) ความจำเสื่อม

ที่พบบ่อยรองลงไปคืออาการทางสมองอื่นๆเช่น (3) กล้ามเนื้ออ่อนแรงไปบางส่วนที่ค่อยๆมีอาการชัดขึ้นๆ  (4) สูญเสียการรับความรู้สึกที่บางส่วนของร่างกาย  (5) มีปัญหากับการใช้ภาษา ทั้งการพูดและการฟัง (6) มีปัญหากับการมองเห็น ตามัว เห็นอะไรไม่ชัด (7) มีอาการความดันในสมองสูงขึ้น เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียนพุ่ง บุคลิกภาพเปลี่ยนไป  

การวินิจฉัยกลิโอบลาสโตมา

เมื่อมีอาการทางสมอง แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กหรือเอ็มอาร์ไอ. (Magnetic Resonance Imaging – MRI) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการรักษาโรคนี้ จึงสมควรพูดถึงให้ละเอียดสักหน่อยไว้เป็นความรู้สำหรับอ่านผลเอ็มอาร์ไอ.

คือเครื่องเอ็มอาร์ไอ.นี้มันทำงานโดยสร้างภาพของอวัยวะในร่างกายขึ้นมาบนจอคอม ด้วยวิธีให้คนมุดเข้าไปนอนในอุโมงซึ่งมีสนามแม่เหล็กอย่างแรง สนามแม่เหล็กนี้จะดูดให้โมเลกุลเล็กๆในอวัยวะที่จะตรวจเช่นน้ำซึ่งมีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กขนาดจิ๋วอยู่แล้วให้หมุนตัวหันหน้าไปทางเดียวกันคือตามแรงดูดของแม่เหล็กใหญ่ จากนั้นก็ปล่อยคลื่นวิทยุเข้าไปเขย่าให้โมเลกุลน้ำเหล่านั้นเกิดพลังงานจนพากันหันหน้าบิดไปจากเดิม พอหยุดส่งคลื่นวิทยุเข้าไปเหล่าโมเลกุลน้ำก็จะคายพลังงานออกมาขณะที่ค่อยๆกลับหลังหันไปยังทิศทางของแม่เหล็กใหญ่ที่เคยอยู่ก่อนถูกเขย่า แล้วเครื่องก็รับเอาพลังงานที่คายออกมานั้นมาสร้างเป็นภาพอวัยวะบนจอขึ้นมา ที่ตรวจตรงไหนมีน้ำมากก็จะคายพลังงานออกมามาก ภาพที่ได้ก็ออกไปทางสีขาว ตรงไหนมีน้ำน้อยก็คายพลังงานออกมาน้อย ภาพที่ได้ก็ออกไปทางสีดำ แล้วก็ให้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพอวัยวะนั้นขึ้นมาว่าตรงไหนดำตรงไหนขาว เป็นภาพที่เหมือนมองเห็นอวัยวะภายในนั้นด้วยตาเปล่าและใช้วินิจฉัยโรคของอวัยวะนั้นได้ค่อนข้างแม่นยำ

ในการวินิจฉัยด้วยเอ็มอาร์ไอ.นี้ต้องอาศัยการนับเวลาประกอบซึ่งที่สมควรรู้จักมีสองเวลาคือ T1 เป็นเวลาที่นับจากเครื่องหยุดส่งคลื่นวิทยุเข้าไปกระตุ้นโมเลกุลแล้วโมเลกุลเริ่มปล่อยพลังงานออกมาจนถึงเมื่อปล่อยพลังงานได้หมดเกลี้ยง พลังงานนี้เมื่อนำมาสร้างเป็นภาพมันจะตรงกับภาพของเนื้อเยื่อที่เป็นไขมันล้วนๆ ส่วน T2 นั้นเป็นเวลาที่สนามแม่เหล็กจิ๋วของโมเลกุลแต่ละตัวตีกันหรือหักล้างกันเองได้ผลออกมาเป็นพลังงานอีกส่วนหนึ่งซึ่งเมื่อวัดและนำมาแสดงเป็นภาพบนจอแล้วมันจะตรงกับภาพของเนื้อเยื่อไขมันบวกกับน้ำ(หรือเลือด) เมื่อเอาภาพที่สร้างขึ้นจากพลังงานทั้งช่วง T1 และ T2 มาดูประกอบกันก็จะทำให้บอกได้แม่นยำว่าตรงไหนเป็นไขมันอย่างเดียว ตรงไหนมีน้ำหรือเลือดด้วย ถ้าเขาอ่านว่าตรงจุดนั้นจุดนี้มี hypersignal T2 change ก็หมายความว่าตรงนั้นเห็นสัญญาณช่วง T2 ชัดมากนั้นแสดงว่ามันเป็นไขมันบวกน้ำหรือเลือด เพราะเลือดก็คือน้ำ ซึ่งจะเป็นตัววินิจฉัยว่าก้อนนั้นน่าจะเป็นมะเร็งเพราะก้อนมะเร็งมีเลือดเข้าไปเลี้ยงมากกว่าเนื้อปกติ

ไหนๆก็พูดถึงเอ็มอาร์ไอ.แล้วควรพูดถึงเอมอาร์เอส. ( MR spectroscopy – MRS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถจับสัญญาณการปล่อยสนามแม่เหล็กจิ๋วของโมเลกุลแต่ละชนิดได้ละเอียดจนแยกสัญญาณจากโมเลกุลต่างชนิดกันเช่นกรดอามิโนต่างๆ แล็คเตท เอ็นอาเซติลแอสพาร์เตท โคลีน ครีอาทีน ออกจากกันได้ ทำให้บอกชนิดของเนื้องอกหรือมะเร็งสมองก้อนนั้นได้ทั้งๆที่ยังไม่ได้ตัดชิ้นเนื้อเลย ตัวอย่างเช่นมะเร็งกลิโอบลาสโตมานี้วินิจฉัยได้จากการที่มันมีโมเลกุลแอสพาร์เตทต่ำกว่าปกติแต่มีโคลีนและไขมันสูงกว่าปกติ ทั้งหมดนี้บอกได้จากเครื่องเอมอาร์เอส.โดยไม่ต้องทำการตัดชิ้นเนื้อเลย

การรักษากลิโอบลาสโตมา

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษากลิโอบลาสโตมาให้หาย การรักษาที่ถือว่าเป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือการผ่าตัดเอาเนื้องอกแล้วเลือกวิธีรักษาร่วมด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด โดยตัดสินใจเลือกจาก (1) อายุ (2) ความสามารถใช้ชีวิตก่อนการรักษา (Karnofsky Performance Status – KPS) และ (3) คุณสมบัติของเซลล์เนื้องอกในการสนองตอบต่อเคมีบำบัด (MGMT methylation status)  

การพยากรณ์โรคกลิโอบลาสโตมา

กลิโอบลาสโตมา มีอัตรารอดชีวิตเฉลี่ย (mean survival rate) ประมาณ 3 เดือน หากไม่ให้การรักษาเลย หรือประมาณ 15-18 เดือนหากรักษาเต็มที่ จึงจัดว่าเป็นมะเร็งที่รุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งของมนุษย์เรา   

การรักษาตนเองเมื่อเป็นมะเร็ง

ตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อหลังการผ่าตัดฉายแสงและจบคอร์สเคมีบำบัดก็คือจบการรักษาแล้ว ที่เหลือเป็นการติดตาม สิ่งที่เหลืออยู่นอกจากการรักษาของแพทย์ มันมีอยู่สองแบบ คือ

แบบที่ 1. พยายามลองรักษาด้วยวิธีที่อยู่นอกขอบเขตของวิชาแพทย์แผนปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรและการบำบัดแบบทางเลือกต่างๆ ยามด ยาหม้อ หมอผี หมอพระ ใครว่าอะไรดีก็พยายามหามาลองให้หมด กับ

แบบที่ 2. ก็คือการยอมรับว่าเป็นมะเร็ง และยอมรับว่ามะเร็งอาจจะอยู่กับเราไปจนตาย ยอมรับที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็ง และดำเนินชีวิตไปแบบเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติโดยไม่ไปแทรกแซงหรือพยายามอะไรมากไปกว่าการสัมผัสธรรมชาติตามปกติเช่นแสงแดด น้ำ ดิน และอาหารพืชที่หลากหลาย และฝึกวางความคิดให้ใจสงบเย็น โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะหาย ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะตายแบบนั้นแบบนี้ แค่ใช้ชีวิตแต่ละวันไปอย่างเป็นสงบเย็นและสร้างสรรค์ให้มากที่สุด

ในแง่ของอาหารว่าจะกินอาหารแบบไหนดี ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์แม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบ่งชี้ว่ากลิโอบลาสโตมาจะลดขนาดลงหรือหายไปได้หรือไม่ด้วยอาหารชนิดใด แต่มีข้อมูลหลักฐานจากมะเร็งชนิดอื่นเช่นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก ว่าอาหารพืชเป็นหลัก (วีแกน) สัมพันธ์กับการลดขนาดของมะเร็งและลดระดับสารชี้บ่งมะเร็งลงได้ ดังนั้นผมแนะนำโดยหลักฐานเท่าที่มีว่าเมื่อจบการรักษามาตรฐานผ่าตัดฉายแสงเคมีบำบัดแล้ว หากจะทำการทดลองกับตัวเองด้วยการกินอาหารพืชแบบวีแกนโดยกินให้หลากหลายไม่กินเนื้อสัตว์เลย ก็เป็นสิ่งที่ควรลอง หากจะลองจริงๆไม่ว่าใครก็ลองได้ทั้งนั้น เพราะการเสพย์ติดอาหารเช่นการติดอาหารเนื้อนมไข่ไก่ปลาเมื่อหยุดกินอาการลงแดงก็จะมีอยู่อย่างมากแค่ 3-4 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นการกินอาหารวีแกนก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากไม่อยากลองก็ไม่ต้อง มันเป็นแค่การทดลอง หลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับการป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ยังไม่มี

แถม..เรื่องความพอดีในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

ทุกคนรู้ว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายต้องรักษาแบบประคับประคองไม่ให้ทุกข์ทรมาน แต่ว่าไม่ให้ทุกข์ทรมานนั้นควรทำแค่ไหนตรงนี้แหละที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปและเป็นปัญหาเสมอ สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่คุณภาพชีวิตหมดโอกาสที่จะกลับมาดีได้แล้ว มันมีประเด็นที่ต้องตัดสินใจ 6 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1. จะให้อาหารทางสายยางไหม คนอยากให้ก็กลัวว่าการปล่อยให้คนไข้หิวเป็นความทรมาน ส่วนคนที่ไม่อยากให้ก็อ้างงานวิจัยว่าระยะสุดท้ายของชีวิตการได้อยู่ในภาวะขาดอาหาร (starvation) ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมาทำให้มีความรู้สึกสบายและได้เสียชีวิตอย่างสงบ การตัดสินในประเด็นนี้หากผู้ป่วยยังรู้ตัวโต้ตอบได้ก็ง่ายมาก แค่ถามผู้ป่วยว่าจะเอาไหม ถ้าผู้ป่วยไม่เอาก็จบ

แต่หากผู้ป่วยไม่รู้ตัวหรือตอบเองไม่ได้แล้ว การตัดสินใจก็ต้องตกอยู่กับผู้ถืออำนาจตัดสินใจ (power of attorney) แทนผู้ป่วย ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีคิดวินิจฉัยแตกต่างกันออกไป สูตรที่ผมแนะนำสำหรับผู้ตัดสินใจแทนผู้ป่วยก็คือถ้าตัวเองเป็นผู้ป่วยอยากได้ไหม ถ้าตัวเองยังอยากได้การให้สิ่งนั้นแก่ผู้ป่วยก็น่าจะใกล้เคียงกับที่ผู้ป่วยอยากได้มากที่สุด วิธีตัดสินใจแบบนี้ใช้ได้กับทุกประเด็นปัญหารวมทั้งประเด็นอื่นๆที่จะกล่าวต่อไปด้วย

ประเด็นที่ 2. จะให้น้ำเกลือไหม หมายถึงการให้สารน้ำทดแทนที่ผู้ป่วยดื่มไม่ได้หรือไม่ยอมดื่มน้ำ ซึ่งการให้น้ำเกลือแบบนี้จะช่วยยืดการเจ็บป่วยออกไปได้อีกนานมาก

ประเด็นที่ 3. จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแทรกซ้อนไหม ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ป่วยเรื้อรังเข้าไอซียู ย่อมจะจะติดเชื้อแทรกซ้อนเสมอ เพราะไอซียูเป็นแหล่งรวมของเชื้อแรงทุกชนิดไม่เฉพาะแบคทีเรีย แต่รวมถึงรา และไวรัสด้วย ถ้ายอมรับว่าจะรักษาภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน ก็ต้องมีการใช้ยาแพงๆ มีการปรึกษาข้ามสาขาความเชี่ยวชาญ มีการติดตามรักษาผลข้างเคียงของยาต่ออวัยวะสำคัญ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ตกเป็นภาระของครอบครัวอีกมาก โดยท้ายที่สุดแล้วผู้ป่วยก็ยังจะเสียชีวิตด้วยการติดเชื้อแทรกซ้อนอยู่ดี เพราะผู้ป่วยระยะสุดท้ายเมื่อพลังชีวิตแผ่วลง ภูมิคุ้มกันไม่มี ยาอะไรก็ไม่มีทางจะรักษาการติดเชื้อแทรกซ้อนได้

ประเด็นที่ 4. จะให้ยากระตุ้นระบบหัวใจหลอดเลือดไหม หมายถึงการให้ยายื้อให้หัวใจที่เต้นแผ่วแล้วให้เต้นแรงและเร็วขึ้น หรือรักษาภาวะช็อกซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในตอนสุดท้ายของชีวิต เพื่อยืดเวลาเสียชีวิตออกไปให้นานขึ้น

ประเด็นที่ 5. จะใส่ท่อช่วยหายใจไหม การเสียชีวิตตามธรรมชาติก็คือเกิดการหายใจล้มเหลว จะล้มเหลวด้วยหมดแรงหายใจหรือด้วยทางเดินหายใจอุดกั้นก็แล้วแต่ เพราะชีวิตนี้อยู่ได้ตราบใดที่ยังมีลมหายใจเข้า เมื่อใดที่หายใจออกแล้วไม่มีลมหายใจเข้า ชีวิตก็จบลงเมื่อนั้น การใส่ท่อช่วยหายใจด้านหนึ่งคือการยื้อชีวิตที่จะจบตามธรรมชาติไม่ให้จบ แม้ส่วนใหญ่การใส่ท่อช่วยหายใจจะใส่ด้วยความตั้งใจจะลดความทรมานก็ตาม โดยนิยามเอาเองว่าอาการหอบเหนื่อยและเสมหะอุดกั้นเป็นความทรมาน แต่ว่าตัวท่อช่วยหายใจเองก็เป็นความทรมานอีกแบบหนึ่งซึ่งยืดเยื้อเรื้อรังกว่า ปัญหานี้จะจบง่ายๆหากยอมรับว่ากลไกการตายตามธรรมชาติคือการหายใจล้มเหลว ซึ่งในกรณีที่ไม่มีเอ็นดอร์ฟิน (ที่จะออกมาตามธรรมชาติเมื่ออดอาหาร) หรือมอร์ฟีน (ที่หมอฉีด) ก็จะมีอาการหอบเหนื่อยหรือทางเดินหายใจอุดกั้นให้เห็นเป็นธรรมดา

ประเด็นที่ 6. จะปั๊มหัวใจ (CPR) ไหม เมื่อเกิดหัวใจหยุดเต้นขึ้น อันนี้เป็นความพยายามที่จะฟื้นคืนชีพ (resuscitate) หัวใจซึ่งหยุดส่งเลือดไปแล้วให้กลับมาทำงานใหม่ คือไม่แค่จะยื้อชีวิตให้ยาวออกไปเท่านั้น แต่พยายามยื้อชีวิตที่จบลงไปแล้วให้กลับมา การยอมรับ CPR นี้ถือว่าเป็นการยอมรับการใส่ท่อช่วยหายใจด้วยโดยปริยาย เพราะในกระบวนการปั๊มหัวใจด้วยวิธีปฏิบัติช่วยชีวิตการขั้นสูง (ACLS) ต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องหรือใช้มือบีบช่วยการหายใจด้วยเสมอ

ทั้งหกประเด็นนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหมอฝ่ายหนึ่งกับครอบครัวผู้ป่วยอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ

การป้องกันปัญหาทั้ง 6 ประเด็น

1.. สำหรับตัวผู้ป่วยที่สติยังดีอยู่ ควรเขียนเจตนาไว้เสียหน่อยว่าในทั้ง 6 ประเด็นข้างต้นนั้นตัวเองอยากให้คนที่อยู่ข้างหลังทำอย่างไรให้ตัวเอง เขียนในกระดาษ A4เป็นข้อๆจบในหน้าเดียว เรียกว่า advance directive มอบให้ผู้ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจแทนตัวเองไว้ คนอยู่หลังก็มีหน้าที่เพียงยื่นกระดาษนี้ให้แพทย์ แพทย์ก็จะเสียบไว้ที่ชาร์ตผู้ป่วย กฎหมายไทยบังคับให้แพทย์ต้องทำตาม advance directive ของผู้ป่วยอยู่แล้ว คนอยู่หลังจะได้ไม่ต้องเสียเวลาทะเลาะกัน

2.. สำหรับผู้ได้รับมอบอำนาจตัดสินใจแทนผู้ป่วยที่ติดเตียงและไม่อาจตัดสินใจอะไรเองได้แล้ว ต้องตัดสินใจในทั้ง 6 ประเด็นด้วยตัวเองอย่างหนักแน่นเฉียบขาด โดยใช้ข้อมูลคำพูดหรือเจตนาที่ผู้ป่วยเคยแสดงไว้ ถ้าไม่มีข้อมูลเลยก็ต้องวินิจฉัยเองสรุปเอง โดยถามตัวเองง่ายๆว่าถ้าตัวเองเป็นผู้ป่วยอยากจะได้อย่างไร แล้วเขียนสรุปเป็นข้อๆใส่กระดาษ A4 (เพราะมันเป็นขนาดที่เสียบชาร์ตเวชระเบียนได้) ยื่นให้แพทย์โดยแจ้งว่าเป็นเจตนารมณ์ของผู้ทำการแทนผู้ป่วย โดยกฎหมาย หากไม่มีวาระซ่อนเร้นที่แพทย์เห็นว่าผิดสังเกต แพทย์จะถือปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยหรือผู้ทำการแทนเสมอ และโดยจริยธรรมวิชาชีพ แพทย์จะปฏิบัติการในเรื่องพวกนี้อย่างนุ่มนวลไม่ให้ครอบครัวเสียความรู้สึก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………………..

[อ่านต่อ...]

13 มิถุนายน 2566

การให้อภัย คือการถอยออกมาจากการจมลึกอยู่ในอารมณ์ลบซ้ำซากของตัวคุณเอง

(ภาพวันนี้: บวบเพื่อนบ้าน อุ๊บ..พูดผิด มะระ ไม่ใช่บวบ)

กราบเรียนคุณหมอสันต์

คุณหมอสอนเรื่อง ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา หนูทำได้แค่ขอบคุณ ขอโทษ เมตตา แค่นี้จะโอเค.ไหมคะ

……………………………………………………

ตอบครับ

ผมเข้าใจคุณ

คุณไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นอีกมากมายดอก ที่ถูกกระทำย่ำยีอย่างไม่เป็นธรรมแล้วมีความขุ่นข้องแค้นเคืองไม่เคยลืม ปานประหนึ่งว่าหากลืมแล้วไปภายหน้าจะมีคนเดิมหรือคนอื่นมากระทำย่ำยีเราแบบนั้นอีก ซึ่งมันเป็นสามัญสำนึก หรือเป็นธรรมดา ที่ว่าคนเราต้องปกป้องและเชิดชูตัวตนของเราให้ปลอดภัยและสูงเด่น หรือจะให้ดีกว่านั้น ถ้าสบโอกาสก็ต้องแก้เผ็ดหรือสั่งสอนกลับไปบ้างก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้สังคม ตรงนี้ผมเข้าใจ

มุมมองแบบนั้นเป็นการมองประสบการณ์ชีวิตว่าเป็นเรื่องราวภายนอกที่เป็นผลงานของคนอื่นที่บางเรื่องมามีผลกระทบต่อตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบในทางลบ อย่างเช่นการดูหมิ่นเรา หรือย่ำยีเรา หรือโกงเอาทรัพย์ของเราไป หรือแม้กระทั่งทำร้ายร่างกายเรา เป็นต้น ถ้ามองชีวิตจากมุมนี้การให้อภัยก็ดูจะเป็นความโง่เขลา หรืออย่างเบาะๆก็เป็นความประมาท หรือเป็นการมีส่วนสร้างสังคมไม่เท่าเทียมด้วยการยอมเสียเปรียบให้คนเลวที่ชอบเอาเปรียบได้โอกาสคอยเพิ่มการเอาเปรียบอยู่ร่ำไป..นั่นเป็นมุมมองของคุณ

ส่วนมุมมองของผมนั้น เป็นการเปลี่ยนมุมการมองไปอย่างสิ้นเชิง คุณค่อยๆทำความเข้าใจนะ คือเป็นการมองว่าประสบการณ์ชีวิตทุกอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่เราตื่นขึ้นมาจนนอนหลับไปในแต่ละวันเป็นเรื่องราวในใจเราที่เราสร้างขึ้นเองทั้งสิ้น หรือที่เราเลือกการสนองตอบเองทั้งสิ้น

จริงอยู่ภายนอกมีสิ่งต่างๆเกิดขึ้น คนนั้นพูดว่าอย่างนี้ คนนี้ทำอย่างนััน แต่จริงๆแล้วสิ่งภายนอกเหล่านั้นไม่ใช่ตัวกำหนดประสบการณ์ชีวิต ตัวกำหนดประสบการณ์ชีวิตคือวิธีที่เราจะสนองตอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นที่ภายนอก ว่าเราสนองตอบอย่างไร ทีละช็อต ทีละช็อต ถ้าเรารู้วิธีสนองตอบที่ชาญฉลาด ชีวิตเราก็จะสงบเย็นและสร้างสรรค์และดำรงอยู่ได้โดยเป็นอิสระต่อสิ่งที่เกิดขึ้นที่ภายนอก แต่ถ้าเราไม่รู้วิธีสนองตอบอย่างชาญฉลาด ชีวิตเราก็จะเป็นทุกข์และถูกกำหนดกะเกณฑ์โดยสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกตัวเราตลอดไป

โปรดสังเกตว่าผมไม่พูดถึงเหตุภายนอกหรือคนอื่นที่ทำให้คุณขุ่นข้องหมองใจเลยนะ ว่าเขาทำถูกหรือทำผิด ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม เพราะไม่ว่าคุณจะให้อภัยหรือไม่ให้อภัยเขา เขาก็ไม่เดือดร้อน ไม่อินังขังขอบ ไม่สะดุ้งสะเทือนทั้งสิ้น เขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ หรือถึงรู้เขาก็อาจไม่แคร์ เปรียบเหมือนเขายื่นยาพิษให้คุณ คุณรับมา แล้วก็กินเข้าไปอีกต่างหาก ด้วยความหวังว่าเมื่อคุณกินยาแล้วเขาจะตาย เปล่า ตัวคุณต่างหากที่จะตายเพราะยาพิษนั้น ที่ผมไม่พูดถึงเขาไม่ใช่ว่าผมไปยอมรับพฤติกรรมแบบนั้น แต่เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะมันไม่เกี่ยวกับการที่เราจะสุขหรือทุกข์ในกาลข้างหน้าจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แถมมันไม่ใช่ปัจจัยที่เราจะไปควบคุมได้อีกต่างหาก แต่การที่ใจเราจะให้อภัย หรือการที่ใจเราจะไม่ให้อภัย มันเกี่ยวกับการที่เราจะสุขหรือทุกข์ในภายหน้าจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และตรงนี้เป็นส่วนที่เราควบคุมได้

มองจากมุมของผม การไม่ให้อภัย คือการบ่มตัวเองให้จมลึกอยู่ในความคิดลบและอารมณ์ลบอย่างซ้ำซากวกวนไม่รู้จบไม่รู้สิ้น ขณะที่การให้อภัยคือการทิ้งความคิดลบที่เคยเกิดขึ้นแล้วไปเสียทันที แล้วเริ่มต้นช็อตใหม่ของชีวิตต่อไปอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วคุณคิดว่าสองแบบนี้ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไปภายหน้า การใช้ชีวิตแบบไหนมันจะทำให้คุณเป็นสุขหรือเป็นทุกข์มากกว่ากันละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

12 มิถุนายน 2566

ยิงเลเซอร์เจาะรูม่านตา (PLI) เพื่อป้องกันต้อหินแล้วมองเห็นแสงประหลาด

เรียน คุณหมอที่เคารพรัก
เรื่อง ผลจากการเลเซอร์ มุมตาแคบ

ดิฉันได้ตรวจสุขภาพตา คุณหมอแจ้งว่าคุณมุมตาแคบ อาจเกิดต้อหินเฉียบพลันได้ หลังจากนั้นคุณหมอก็นัดยิงเลเซอร์ค่ะ
แต่หลังจากยิงเลเซอร์มา เวลาเจอแสงพระอาทิตย์แม้แต่เป็นแสงยามเช้า ดวงตาจะเห็นเงาเส้นๆสีขาวขวางลูกตาทั้งสองข้างค่ะ เกิดความกังวล เวลาเข้าในอาคารก็หายค่ะ ใส่แว่นดำก็ไม่เป็นค่ะ รอจนครบวันที่คุณหมอนัดดูผลเลเซอร์ ซึ่งใช้เวลา 1 เดือน ก่อนถึงวันนัด ตลอด 1 เดือน อาการเวลาเจอแสงพระอาทิตย์เป็นเส้นขาวๆขวางลูกตาตลอดทุกวันค่ะ ได้แจ้งคุณหมอผู้ทำเลเซอร์ คุณหมอแจ้งว่าไม่เกี่ยวกับการทำเลเซอร์ ซึ่งดิฉันรู้ตัวดีว่าหลังจากเลเซอร์ถึงเป็น การนัดตรวจครั้งนั้นก็จบที่ผลการเลเซอร์มุมตาแคบเรียบร้อยดี แล้วอาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นมันคืออะไรค่ะคุณหมอ ในเมื่อคุณหมอท่านนั้นแจ้งแค่นั้น

……………………………………………….

ตอบครับ

ถามว่าไปทำผ่าตัดด้วยเลเซอร์เพื่อป้องกันต้อหินเฉียบพลัน หลังทำมีอาการเห็นเส้นสีขาวขวางลูกตาเมื่อเจอแสงอาทิตย์ เกิดจากอะไร ตอบว่าแสงจรจัดทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นหลังยิงเลเซอร์เจาะรูม่านตา มันเป็นผลข้างเคียงของการทำเลเซอร์นั่นแหละครับ มันมีโอกาสเกิดโดยรวมประมาณ 4% ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่อยู่ที่มันเกิดจากอะไร แต่อยู่ที่มันเกิดขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี

การยิงเลเซอร์ที่คุณเล่านั้นทางการแพทย์เรียกว่า peripheral laser iridotomy (PLI) แปลว่าการใช้เลเซอร์เจาะรูม่านตาตรงใกล้ๆขอบนอกของม่านตา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้น้ำในช่องหน้าเลนส์ของคนที่ช่องหน้าเลนส์แคบมีทางไหลออกเพื่อป้องกันการไหลติดขัดแล้วเกิดความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน วันนี้เราจะไม่พูดถึงในประเด็นที่ว่าการยิงเลเซอร์แบบนี้มันต้องทำในกรณีไหนบ้าง ทำแล้วมันจะป้องกันการเกิดต้อหินเฉียบพลันได้ไหม ถ้าได้จะป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะผมเคยพูดไปแล้ว วันนี้เราจะคุยกันในประเด็นเดียวคือเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนคือเห็นแสงจ้า (glare) หรือแสงประหลาด (ghost images) หรือเห็นเป็นเงา (shadow) หรือเห็นเป็นเส้น (lines) หรือเห็นแสงทรงกลด (halos) ขึ้นมาหลังการทำ PLI แล้วมันไม่หายไปสักที เราจะแก้ปัญหาอย่างไร

ในแง่ของกลไกการเกิด ก่อนอื่นให้นึกภาพเปรียบเทียบลูกตาเราเหมือนกล้องถ่ายรูป แสงสะท้อนจากภาพจากภายนอกจะเข้าไปในลูกตาไม่ได้เพราะมีม่านตา (iris) ปิดกั้นไว้เหมือนม่านหน้าต่างปิดแสงดวงอาทิตย์ไม่ให้เข้าบ้าน แสงจะมีทางเข้าที่เดียวคือที่รูม่านตา (pupil) ซึ่งเปรียบเหมือนรูหน้ากล้อง (aperture) ของกล้องถ่ายรูป แสงที่เข้าไปในลูกตาทางรูม่านตาจะไปตกกระทบที่จอประสาทตา (retina) ซึ่งเปรียบเหมือนฟิลม์ถ่ายรูปหรือแผงรับแสงซึ่งจะส่งสัญญาณให้สมองสร้างภาพขึ้นมาได้ เมื่อเราไปยิงเลเซอร์เจาะรูม่านตาให้เป็นรูเหมือนภาพที่ผมแสดงไว้ข้างบนด้วยเจตนาให้น้ำในช่องหน้าลูกตาไหลสะดวก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดรูให้แสงเข้าไปในลูกตาได้อีกหนึ่งรู มันจึงมีโอกาสที่แสงจรจัดจากข้างนอกที่เราไม่ได้ตั้งใจมองจะเล็ดลอดเข้ามาถึงจอประสาทตาได้ โอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อเกิดแล้วจะทำให้เราเห็นแสงจ้า หรือเห็นภาพแปลกๆได้

ในแง่ของการจัดการปัญหา เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว การที่จะไปคาดคั้นเอาอะไรกับหมอไม่ใช่สิ่งที่คุณพึงทำ เพราะการผ่าตัดหรือทำหัตถการทุกชนิดที่แม้จะทำไปตามวิธีการมาตรฐานปกติมันก็ยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งนั้น ทั่วโลกจึงถือกฎกติกาเดียวกันว่าหากแพทย์ตั้งใจทำไปตามวิธีการมาตรฐานปกติแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นทุกฝ่ายอยู่ในสภาพจำต้องยอมรับมันโดยดุษฎี ศาลทุกแห่งก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ในการยุติข้อพิพาทระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะทุกฝ่ายได้ชั่งน้ำหนักก่อนหน้านั้นแล้วว่าความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าประโยชน์ที่จะได้จากการผ่าตัดหรือการทำหัตถการจึงได้ตัดสินใจทำ เรื่องที่คุณพึงทำจากนี้ไปจึงเหลือเรื่องเดียวคือจะทำอย่างไรเมื่อเกิดแสงจ้าหรือภาพประหลาดหลังทำ PLI ขึ้นแล้ว ซึ่งผมแนะนำว่าสิ่งที่พึงทำคือ

  1. ยอมรับมันก่อน ใจเย็นๆก่อน ทอดเวลาไปนานๆก่อน ไม่ต้องไปสนใจมันมาก นานไปสมองจะค่อยๆปรับตัวเพิกเฉยต่อสัญญาณที่เกิดจากแสงจรจัดได้เอง แม้จะยังมีแสงอยู่ แต่มันจะค่อยๆรบกวนเราน้อยลงไป น้อยลงไปจนเราไม่รู้สึกอะไรเลยหากไม่ตั้งใจดูมัน
  2. เมื่อต้องออกไปในที่มีแสงมาก เช่นกลางแดด ให้ใช้แว่นกันแดด
  3. เมื่อเวลาฉุกเฉินเช่นขณะขับรถ หากเกิดแสงจรจัดเข้ามามากให้หรี่ตา เพราะงานวิจัยพบว่าแสงจรจัดจะก่อปัญหามากก็เฉพาะเมื่อตำแหน่งรูเจาะทำ PLI ไม่ได้ซ่อนอยู่ใต้หนังตาหรือไม่ได้ถูกปิดบังไว้โดยหนังตาเท่านั้น แสงจรจัดจึงจะเข้ามาได้ การหรี่ตาทำให้หนังตาคลุมป้องก้นหรือตัดแสงจรจัดที่จะเข้ามาทางรูที่เจาะโดย PLI ได้มากขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Spaeth GL, Idowu O, Seligsohn A, Henderer J, Fonatanarosa J, Modi A, Nallamshetty HS, Chieh J, Haim L, Steinmann WC, Moster M. The effects of iridotomy size and position on symptoms following laser peripheral iridotomy. J Glaucoma. 2005 Oct;14(5):364-7. doi: 10.1097/01.ijg.0000177213.31620.02.
[อ่านต่อ...]

11 มิถุนายน 2566

ถ้าคุณเผลอลืมไปว่าคุณกำลังมีชีวิตอยู่ คุณก็พลาดความเบิกบานจากการใช้ชีวิต

(ภาพวันนี้: ทับทิมอินเดีย ผลผลิตจากสวนในบ้านมวกเหล็ก ยังไม่รู้ว่าผ่าเข้าไปจะเจออะไร)

กราบเรียนคุณหมอ

ผมมีปัญหากับภรรยารุนแรงจนต้องแยกกันอยู่ (ลูกสองคน เธอเอาไปหมด) ตัวผมนั้นมีความมุ่งมั่นปกป้องสิ่งที่ถูกต้อง เธอกล่าวหาว่าผมบ้าการเมืองและทนผมไม่ได้ ผมอยากถามคุณหมอว่าการที่ผมมีความอุทิศตนมุ่งมั่นปกป้องสิ่งที่ดีให้สังคม มันมีอะไรไหมครับ

………………………………………………….

ตอบครับ

ถามว่าการอุทิศตน มีอุดมการณ์มุ่งมั่นจะปกป้องสิ่งที่ถูกต้อง จะมีอะไรไหม ตอบว่าก็ไม่มีอะไร นอกเสียแต่ว่าคุณอาจเสียโอกาสที่จะใช้ชีวิตของคุณไป แต่นั่นก็เป็นเรื่องของคุณ ขณะที่ภรรยาของคุณเธอไม่อยากจะเสียโอกาสที่จะใช้ชีวิตของเธอ นั่นก็เป็นเรื่องของเธอ ก็ไม่มีอะไรเช่นกัน

ญาติของผมคนหนึ่งเขาเป็นอัยการ สมัยหนุ่มๆเขาไปรับราชการที่จังหวัดสงขลา ท่านเล่าว่าบ้านพักอัยการเป็นบ้านไม้แบบโบราณ มีต้นไทรร่มครื้ม มีอัยการหนุ่มคนหนึ่งเกิดความคิดอุตริ เอาผ้าเหลืองมาพันรอบต้นไทรต้นที่อยู่ริมถนนหน้าบ้านไว้ ตั้งแต่นัันมาก็มีชาวบ้านที่ผ่านไปมา มากราบไหว้ต้นไทร เมื่อบางคนขออ้อนวอนผีต้นไทรขออะไรแล้วเกิดได้ขึ้นมาจริงๆก็จึงมีศาลเพียงตามาวางบ้าง ปักหลักตั้งเสาอย่างเป็นกิจลักษณะบ้างอยู่รอบๆต้นไทร ทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก มีมาลัยดอกไม้ และมีตุ๊กตาเครื่องเซ่นไหว้เต็มไปหมด ชาวบ้านต่างเล่าลือกันว่าผึต้นไทรต้นนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก จนอัยการหนุ่มท่านนั้นท่านเล่าว่าแม้ตัวท่านเองมาในระยะหลัง เวลาเดินผ่านยังไม่กล้าที่จะไม่ยกมือไหว้ ทั้งๆที่ผีต้นไทรต้นนั้นตัวท่านเป็นคนอุปโลกน์มันขึ้นมาเองแท้ๆ

อุปมาอุปไมยเหมือนความคิดที่คุณคิดขึ้นมาในหัว เอาความจำที่รับรู้มาในอดีตบ้าง การคาดการณ์ปั้นเป็นเรื่องราวขึ้นในอนาคตบ้าง มาคิดผสมปนเปกัน กลายเป็นหลักยึดถือประจำใจ หรือตัวตน หรืออีโก้ ขึ้นมา ทั้งหมดนี้คุณปั้นมันขึ้นมาเองนะ มันเป็นแค่ความคิด แต่นานไปมันกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แม้แต่คุณเองก็ยังไม่กล้าที่จะไม่ยกมือไหว้ ผลก็คือตัวตนหรืออีโก้นี้ทำให้คุณมีธุรกิจวุ่นวายสองอย่างตามมา คือการต้องปกป้องตัวตนนี้ไม่ให้ได้รับอันตราย กับการต้องเชิดชูตัวตนนี้ให้สูงเด่นเป็นที่มองเห็นหรือยอมรับของคนอื่น ภาระกิจอันวุ่นวายทั้งสองอย่างนี้ทำให้คุณลืมไปว่าคุณกำลังมีชีวิตอยู่นะ และทำให้คุณลืมใช้ชีวิต

การใช้ชีวิตผมหมายถึงการที่คุณได้นั่งหายใจเข้าออกลึกๆ สบายๆ ผ่อนคลาย ยิ้มได้ สูดเอาพลังชีวิตจากรอบตัวคุณเข้ามา แล้วแผ่มันออกไปช่วยจรรโลงร้อยเรียงชีวิตอื่นซึ่งแท้จริงแล้วเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตคุณ นี่มันเป็นความเบิกบานของการได้มีชีวิตอยู่ในแต่ละลมหายใจ ณ ที่เราใช้ชีวิตอยู่นี้ ไม่มีถูกไม่มีผิด ไม่มีดีไม่มีชั่ว ไม่มีเขาไม่มีเรา ไม่มีตัวตนหรืออีโก้ที่จะต้องปกป้องเชิดชู ผมอยากให้คุณได้มีโอกาสมาอยู่ตรงนี้บ้าง ได้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตบ้าง

หากคุณปล่อยให้อีโก้ที่แต่เดิมคุณแค่ปั้นมันขึ้นมาเล่นๆแต่ท้ายที่สุดมันกลายเป็นนายของคุณมาสั่งการคุณไปตลอดชีวิตเสียฉิบโดยที่คุณไม่รู้ตัว คุณก็พลาดโอกาสที่จะได้สัมผัสความเบิกบานจากการใช้ชีวิต เท่านั้นเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

10 มิถุนายน 2566

ฝีมีหนองทะลักจากในเต้านม กินยาจนท้องร่วงทุกวันก็ยังไม่หาย

(ภาพวันนี้ : แค่ดอกหางนกยูงแดงร่วงลงมาเกลื่อนหลังคา ก็ก่อให้เกิดความสวยงามได้)

เรียนคุณหมอ

หนูอาย41ปี พอก้อนในเต้านมที่เคยให้นมลูก(ข้างเดียว) ข้างขวาแต่หยุดให้นมมา2ปีกว่าแล้วค่ะ(ให้นมลูกแบบเข้าเต้าข้างนี้ที่เกิดฝีมา3ปี) โดยพบก้อนตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และคิดว่ามันจะยุบไปเองเหมือนเวลาคัดเต้า แต่เวลาผ่านไปก้อนใหญ่ขึ้นจนเกือบครึ่งเต้าค่ะ และเริ่มเจ็บๆค่ะ เลยไปตรวจเมมโมแกรม ซาวน์และเจาะชิ้นเนื้อ ผลไม่พบเชื้อมะเร็งค่ะ คุณหมอแนะนำให้ตัดต่อมน้ำเหลืองไปตรวจและเจาชิ้นเนื้อซ้ำ ใจไม่อยากตัดต่อมน้ำเหลือง เลยย้ายไปอีกหมอนึงค่ะ หมออีกท่านให้ทานยาฆ่าเชื้อ Clindamycin และยาสเตียรอยด์ dexamethazone ทานแล้วก้อนสงบลง พอทานได้1สัปดาห์ ไม่อยากทานต่อแล้วค่ะ เพราะกลัวผลข้างเคียงเลยหยุดยาไป3สัปดาห์ ระหว่างหยุดยา ก้อนเริ่มบวม แดง อักเสบ พอผ่านไป2สัปดาห์กว่า หนองแตกออกมาบนผิวนมค่ะ จึงรู้ว่าเป็นฝี คล้าายฝีฝักบัว เลยกลับไปกินยาฆ่าเชื้อและสเตียรอยด์ตัวเดิม

พอทานมาได้เกือบ3เดือน เริ่มไม่ไหวค่ะ กลางคืนถ้าตื่นมาเข้าห้องน้ำตี2,3 จะนอนไม่หลับถึงเช้า และกลางวันก็ไม่ง่วงค่ะ แต่จะรู้สึกอึนๆบอกไม่ถูก เป็นแบบนี้สัปดาห์ละ1-2ครั้ง และช่วงเข้าเดือนที่3จะถ่ายเหลวและเป็นน้ำทุกวันค่ะ พอบอกหมอ หมอเลยให้หยุดยาทั้ง2ไปก่อนค่ะ  ตอนนี้หยุดยาได้ 2สัปดาห์แล้ว อาการบวมแดงเริ่มมาแล้วค่ะ คุณหมอมีวิธีแนะนำการรักษามั้ยคะ 

ปล.ปกติไม่เคยสูบบุหรีและไม่ทานแอลกอฮอล์ค่ะ

สาเหตุไม่ทราบเลย แต่ก่อนหน้าลูกจะนอนทับแขนและไหล่ขวาตลอด ท่าเดียวกับตอนนอนให้นมเค้าค่ะ ให้นมลูกมา3ปีค่ะ และก่อนที่จะมีก้อน ลูกมีมาดูดนมเล่นด้วยค่ะ ไม่แน่ใจว่าร่างกายคิดจะมีลูกรึเปล่าอาจสร้างน้ำนมมา แต่ไม่ได้ระบายเลยอุดตันค่ะ 

ยาวหน่อยนะคะ ตอนนี้ไม่อยากทานยาฆ่าเชื้อและสเตียรอยด์เลยค่ะ พยายามทานโยเกิร์ต กิมจิ ผัก ถั่วเยอะๆตามคลิปคุณหมออยู่ค่ะ ยังไงรบกวนคุณหมอช่วยแนะนำด้วยนะคะ 

กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

……………………………………………………………..

ตอบครับ

จากหลักฐานที่คุณเล่ามา มีการอักเสบมีของเหลวคล้ายหนองไหลออกมา ได้ยาปฏิชีวนะควบสะเตียรอยด์แล้วดีขึ้น กินยาแล้วนอนไม่หลับและท้องร่วง หยุดยาแล้วเต้านมกลับอักเสบใหม่ ตัดชิ้นเนื้อเต้านมตรวจแล้วไม่พบมะเร็ง ผมสรุปการวินิจฉัยว่าคุณเป็น

1.. เต้านมอักเสบเรื้อรังไม่ทราบชนิดและไม่ทราบสาเหตุ

2.. นอนไม่หลับจากผลข้างเคียงของยาสะเตียรอยด์

3.. ลำไส้อักเสบและท้องร่วงจากการให้ยาปฏิชีวนะนาน

การรักษาที่ได้ทำไปแล้วคือหมอหยุดยาปฏิชีวนะและสะเตียรอยด์แล้ว ตัวคุณก็ตั้งใจกินอาหารทั้งพรีไบโอติก โปรไบโอติกเพื่อฟื้นฟูจุลินทรีย์ในลำไส้ นั่นก็เป็นวิธีที่ดีแล้ว

คำถามของคุณคือพอหยุดยาปฏิชีวนะ ฝีเรื้อรังที่เต้านมก็กำเริบขึ้นมาอีก จะทำอย่างไรดี

ก่อนจะตอบคำถามนี้ผมขอให้ข้อมูลกว้างๆก่อนว่ากลไกการเกิดเต้านมอักเสบแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรวงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบ ได้แต่เดาเอาว่ากลไกหลักมันคงเกิดจากการที่สารเคราตินจากเซลเยื่อบุผิวท่อน้ำนมไปอุดตันรูท่อน้ำนมก่อน ทำให้น้ำนมคั่ง และนมคัด ตามมาด้วยอาการอักเสบ หลังจากนั้นผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจึงเกิดการติดเชื้อร่วม หรือไม่ก็มีอีกกลไกหนึ่ง คือมีการแตกเป็นร่องขึ้นที่หัวนมก่อน จะด้วยจากสาเหตุนมคั่งหรือนมคัดหรือจากลูกซึ่งโตและมีฟันคมแล้วมาดูดก็ตาม แล้วมีบักเตรีติดเชื้อตามหลัง

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเต้านมอักเสบชนิดพิศดารอีกชนิดหนึ่งซึ่งวินิจฉัยจากการตรวจชิ้นเนื้อ เรียกว่า Idiopathic granulomatous mastitis (IGM) ซึ่งไม่รู้สาเหตุจริงๆ ไม่รู้วิธีรักษาจริงๆ รู้แต่ว่าส่วนหนึ่งหากได้สะเตียรอยด์แล้วจะดีขึ้น

เมื่อไม่รู้สาเหตุแน่ชัด วิธีการรักษาที่ชะงัดจึงยังไม่มี การใช้ยาปฏิชีวนะวงการแพทย์ก็ยังไม่รู้เลยว่าเป็นการเกาถูกที่คันหรือไม่ เพราะงานวิจัยหนึ่งที่เยอรมันได้รักษาผู้ป่วยเต้านมอักเสบ 1,826 รายโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลย ผู้ป่วยหายทุกราย แม้ในแง่ที่จะใช้ยาปฏิชีวนะอะไรนั้นก็ไม่มีหลักฐานว่าจะได้ผลแตกต่างกัน กล่าวคือยาอะไรก็แปะเอี้ย ส่วนการใช้สะเตียรอยด์นั้น หลักฐานวิจัยในคนไข้จริงพบว่าหากเป็นชนิด IGM จะช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง

ในท่ามกลางความไม่รู้นี้ ลำดับการรักษาของแพทย์จึงจะเป็นประมาณนี้คือ

ขั้นที่1. ลองให้ยาปฏิชีวนะดูก่อน โดยเดาเอาว่ามันเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีไข้สูงร่วมด้วยหรือเพาะเชื้อได้จากหนองที่ดูดออกมา

ขั้นที่ 2. หากไม่ดีขึ้นก็คงต้องใช้เข็มตัดชิ้นเนื้อออกมาเพื่อวินิจฉัยว่าเป็น IGM หรือไม่ หากเป็นก็ตั้งใจรักษาด้วยสะเตียรอยด์ควบกับยาต้านฤทธิ์ฮอร์โมนหลั่งน้ำนมชื่อยา bromocriptine อย่างจริงจังดูเป็นเวลาหลายเดือน

ในขั้นนี้ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะมาควบกับสะเตียรอยด์ เพราะสมมุติฐานที่ว่ามันเกิดจากแบคทีเรียไม่เป็นจริงตั้งแต่ในขั้นต้นที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างเดียวแล้วไม่ได้ผล การควบยาแบบยาชุดจะทำให้เอาดีไม่ได้สักอย่าง จะใช้สะเตียรอยด์นานก็ไม่ได้เพราะพิษของยาปฏิชีวนะจะทำให้ต้องหยุดยา การควบยาจึงได้ไม่คุ้มเสีย

ขั้นที่ 3. หากไม่ดีขึ้นอีก โดยเฉพาะถ้าอุลตร้าซาวด์พบของเหลวอยู่ข้างใน ก็ต้องใช้วิธีระบายของเหลวออกด้วยวิธีทางศัลยกรรมซึ่งมีอยู่สองวิธี คือ

วิธีที่ 1 ใช้เข็มเจาะระบายหนองออกสลับกับฉีดน้ำเกลือเข้าไปล้างแล้วดูดทิ้งแบบถี่ๆทุกสองชั่วโมง เข็มเบอร์เล็กดูดไม่ออกก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นเบอร์ใหญ่ขึ้นๆ ถ้ามีน้ำนมก็ปั๊มออกทิ้งเสียด้วย สมัยนี้มักใช้อุลตร้าซาวด์นำปลายเข็มทำให้เข้าถึงหนองได้ไม่ค่อยพลาด และสมัยนี้มีตัวช่วยอีกตัวคือระบบตัดชิ้นเนื้อด้วยการดูดสุญญากาศ (vacuum-assisted breast biopsy -VABB) ซึ่งระบายหนองได้ดีกว่าหายเร็วกว่าการดูดแบบธรรมดา

วิธีที่ 2 ผ่าตัดเอามีดเจาะรูเข้าไปในเต้านมหลายทิศทางแล้วเอาสายระบายของเหลวยัดใส่คาไว้ (open drainage) จนกว่าของเหลวนั้นจะไหลออกมาหมด

ทั้งสองวิธีได้ผลพอๆกันแต่ และมีโอกาสเกิดเกิดเต้านมอักเสบซ้ำ (recurrent) ทั้งสองวิธี

ขั้นที่ 4. เมื่อหมดหนทางไปแล้ว ก็เหลือไม้สุดท้ายคือการผ่าตัดเอาเต้านมบางส่วนหรือทั้งหมดออก (mastectomy) ซึ่งเป็นปลายทางที่ไม่มีใครอยากไปถึง

ดังนั้นในกรณีของคุณ การรักษาจึงควรจะโฟกัสที่

(1) การตัดชิ้นเนื้อซ้ำอีกครั้ง จะได้ประโยชน์ทั้งการวินิจฉัย IGM และการวินิจฉัยมะเร็งที่อาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดก้อนได้ด้วย

(2) หากผลตรวจชิ้นเนื้อพบว่าเป็น IGM ก็ต้องใช้สะเตียรอยด์กินรักษาให้นานพอและจริงจัง โดยยอมรับผลข้างเคียงของสเตียรอยด์ขณะรักษา และโดยไม่ต้องควบยาปฏิชีวนะเพราะโรคนี้ไม่ได้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

(3) ขณะใช้สะเตียรอยด์กิน ควรกินยา bromocriptine เพื่อกดการหลั่งน้ำนมในระหว่างใช้ยาสะเตียรอยด์ด้วย งานวิจัยพบว่าการควบยาโบรโมคริปตินกับสะเตียรอยด์ทำให้โรค IGM ชนิดดื้อด้านหายได้เร็วขึ้น ทำอย่างนี้ไปอย่างน้อยสักหลายเดือน

ผ่านไปแล้วหลายเดือนถ้ามันยังไม่หายอีกก็ค่อยมาว่ากันอีกทีว่าจะทำไงต่อ เพราะในการทำอาชีพแพทย์นี้ ตัวช่วยที่ผมชอบใช้มากที่สุดคือ “เวลา” ความจริงตัวช่วยที่แท้จริงที่ผมแอบใช้คือกลไกการซ่อมแซมตัวเองของร่างกายมนุษย์ (homeostasis) แค่ทอดเวลาให้เขา เขาก็จะค่อยๆซ่อมแซมตัวเองได้ โดยที่ผมในฐานะหมอทำแค่อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องทำอะไรรุนแรงเลย โรคก็มักจะหายของมันเอง

ในส่วนที่ว่าตัวคุณเองจะทำอะไรได้บ้างนั้น การที่คุณตั้งใจกิน prebiotic และ probiotic นั้นก็ดีแล้ว เพราะงานวิจัยการรักษาเต้านมอักเสบที่สเปญ เปรียบเทียบกันระหว่างการให้กินบักเตรีแลคโตบาซิลลัสซึ่งเป็นบักเตรีที่พบปกติในน้ำนม กับการให้กินยาปฏิชีวนะ พบว่ากลุ่มที่กินบักเตรีแลคโตบาซิลลัส มีการเพิ่มจำนวนบักเตรีแลคโตบาซิลลัสในน้ำนมได้มากกว่า มีอาการที่นับโดยคะแนนความปวดดีขึ้นเร็วกว่า และมีอัตรากลับเป็นเต้านมอักเสบซ้ำต่ำกว่ากลุ่มที่กินยาปฏิชีวนะ นอกจากอาหารแล้วคุณก็ต้องดูแลสุขภาพโดยรวมของตัวเองด้วย เน้นที่การนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายทุกวัน ขยันใช้ชีวิตกลางแจ้ง ขยันออกแดดทุกวัน สัมผัสกับธรรมชาติ ต้นไม้ สายลม สายน้ำ แสงแดด บ่อยๆ จัดการความเครียดด้วยการฝึกวางความคิด แล้วก็รอ….ไป ให้ร่างกายเขาเยียวยาตัวเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Jahanfar S, Ng CJ, Teng CL. Antibiotics for mastitis in breastfeeding women. Cochrane Database Syst Rev. 2013 Feb 28. 2:CD005458.
2. Martín R, Olivares M, ndez L, Xaus J, guez JM. . Probiotic potential of 3 lactobacilli strains isolated from breast milk. J Hum Lact 2005;21:8-17.
3. Arroyo R, Martín V, Maldonado A, Jiménez E, Fernández L, Rodríguez JM. Treatment of infectious mastitis during lactation: antibiotics versus oral administration of Lactobacilli isolated from breast milk. Clin Infect Dis. Jun 2010. 50(12):1551-8. .
4. Thirumalaikumar S, Kommu S. Best evidence topic reports. Aspiration of breast abscesses. Emerg Med J. 21(3). May 2004:333-4.
5. Leborgne F, Leborgne F. Treatment of breast abscesses with sonographically guided aspiration, irrigation and instillation of antibiotics. AJR Am J Roentgenol2003;181:1089–91.

6. Yu H, Wang Q. Severe idiopathic granulomatous mastitis treated with systemic medication; A case report. J Int Med Res. 2020 Jan;48(1):300060519895685. doi: 10.1177/0300060519895685. 

[อ่านต่อ...]

09 มิถุนายน 2566

สามีเสียชีวิตกะทันหัน ลูกสอง ตัวเองเพิ่งรักษามะเร็งเสร็จ

(ภาพวันนี้ : มีแต่รูปฝนตกให้ดู)

เรียนคุณหมอ

ดิฉันเป็นแฟนประจำของคุณหมอได้อ่านบทความดีๆ หลายบทความ แต่วันหนึ่งดิฉันได้เจอเหตุการณ์สูญเสียสามีที่รัก เขาเป็นสโตกที่สมอง กับปอดและติดโควิทเมื่อเดิอนธค.65  เขาเป็นทุกอย่างให้ดิฉันและลูกๆทั้งสองดิฉันเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและหัวใจ เขาพาดิฉันรักษาจนจบคอร์สทุกอย่าง จนถึงวันนี้ดิฉันอยู่ด้วยความเศร้า ดิฉันไม่อยากเศร้าหรือเสียใจให้ลูกเห็น #ดิฉันควรเริ่มตรงไหนก่อน ภาระมันเยอะมากคะ #สุขภาพก็ดูแล เงินก็ต้องหา ลูกก็ต้องเลี้ยง#แนะนำหน่อยคะ อะไรคือทางออกที่ดี
กราบขอบพระคุณหมอคะ

…………………………………………………………..

ตอบครับ

มีจดหมายแบบนี้เข้ามาเยอะมาก แต่ผมไม่ได้ตอบ บ้างอกหัก บ้างตกงาน บ้างนายลดตำแหน่ง บ้างผัวทิ้ง บ้างเมียทิ้ง ผมหยิบจดหมายของคุณขึ้นมาตอบเพราะของคุณมันจะถือว่าสุดๆของจดหมายแนวนี้เลยก็ว่าได้ สำหรับท่านอื่นที่ถามเรื่องคล้ายกันแล้วผมยังไม่ได้ตอบ ก็ขอให้ถือว่าคำตอบนี้เป็นคำตอบสำหรับท่านด้วยก็แล้วกัน

1.. ถามว่า สามีอันเป็นที่พึ่งและที่รักตายไปอย่างกะทันหัน ตัวเองเพิ่งรักษามะเร็งเสร็จ ลูกสองคนกำลังกินต้องหาเงินเลี้ยง สุขภาพตัวเองก็ต้องดูแล จะออกจากตรงนี้อย่างไร ตอบว่า คุณพูดเหมือนกับว่าคุณไปติดกับดักหรือถูกจับขังไว้ที่ไหนสักแห่งจึงดิ้นรนหาทางออก ความจริงเปล่าเลย คุณไม่ได้ติดกับดักหรือถูกจับขัง คุณก็อยู่ของคุณดีๆตรงนี้แหละ แต่มีสิ่งต่างๆผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นช็อตๆ เพียงแต่ช็อตสุดท้ายนี้มันเป็นช็อตเซอร์ไพร้ส์เหมือนจะน็อคคุณให้กลิ้ง แต่..เปล่าเลย ความจริงมันก็เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วมันก็จะผ่านออกไป พูดอีกอย่างว่ามันเป็นเพียง “ประสบการณ์” ที่ทะยอยดาหน้ากันเข้ามา มันเป็นเช่นนี้ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว และจะเป็นเช่นนี้ไปจนกว่าเราจะตาย ดังนั้นคุณไม่ต้องตื่นเต้ล..ล์ แค่อยู่นิ่งๆตรงกลาง ไม่ต้องหาทางออกหรือหาทางหนีไปไหน อยู่ตรงที่คุณเคยอยู่นี่แหละ ยอมรับว่ามันมา ให้มันผ่านเข้ามา ให้มันผ่านออกไป ไม่จำเป็นต้องไปดราม่าหรือเต้นแร้งเต้นกากับมันมาก เพราะทั้งหมดนี้ หรือที่เราเรียกอีกอย่างว่า “สถานะการในชีวิต” แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ชุดของความคิดที่คุณประมวลขึ้นจากสิ่งเร้าต่างๆที่เข้ามาในช่วงนี้ คุณผูกมันขึ้นเป็นคอนเซ็พท์ เป็นเรื่องราว มีที่มาในอดีต และจินตนาการที่ไปในอนาคตได้เป็นตุเป็นตุ แต่แท้จริงแล้วมันก็เป็นแค่ความคิดที่ลอยขึ้นมาในหัวของคุณเอง ถ้าคุณอยู่นิ่งๆไม่แกว่งหนีหรือแกว่งเข้าหาอะไร สิ่งที่เรียกว่าสถานะการณ์ในชีวิตนี้มันทำอะไรคุณไม่ได้ดอก ไม่เชื่อคุณลองสูดหายใจเข้าลึกๆดูสิ เห็นแมะ คุณยังหายใจได้อยู่เลย แสดงว่าคุณยังใช้ชีวิตได้ เพราะชีวิตเราใช้กันทีละลมหายใจ แล้วสถานะการณ์ในชีวิตเหล่านี้จะไปทำอะไรคุณได้เพราะคุณยังใช้ชีวิตของคุณได้อย่างไม่ติดขัดอยู่เลย

2. ถามว่าภาระมันเยอะมาก จะเริ่มต้นตรงไหนก่อนดี ตอบว่าก็เริ่มต้นที่การหายใจเข้าให้เต็มปอด กลั้นไว้สักพัก ยิ้ม..ม แล้วปล่อยลมหายใจให้ออกมาของมันเองพร้อมกับผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายตั้งแต่หัวถึงเท้า เริ่มตรงนี้แหละ

การหายใจเข้า หายใจออก นี่ผมเรียกมันว่าการใช้ชีวิต คุณเริ่มตรงนี้ เริ่มตรงที่การใช้ชีวิต คุณเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียดหรือย่างผ่อนคลาย ก็แค่ยิ้มหรือไม่ยิ้มขณะคุณหายใจแค่นั้นเอง การใช้ชีวิตมันง่ายมาก อย่าไปมัววุ่นวายกับสถานะการณ์ในชีวิต นั่นมันเป็นแค่ละคร แม้จะดูวุ่นวายสับสนอลหม่าน แต่อย่างไรมันก็เป็นแค่ละคร ในส่วนของละคร คุณในฐานะผู้เล่น ผมให้คุณเป็นนางเอกก็ได้เอ้า คุณแค่ทำสิ่งที่บทบาทของคุณควรทำในลมหายใจนี้แค่นั้นพอ หรือหากคุณโลภมากหน่อย ทำเฉพาะสิ่งที่คุณควรต้องทำในวันนี้ แค่นั้นพอ

ผมยกอุปมา ด้วยการแชร์เรื่องของผมเองนะ เมื่อราวปีกว่าสองปีมาแล้ว ผมประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่หล่นลงมาจากหลังคา หลังหัก แขนหักสองข้าง สะโพกหัก นอนแบ็บอยู่บนพื้นดิน กระดิกมือกระดิกเท้าไม่ได้

ถ้ามองในแง่ที่มันเป็นสถานะการณ์ในชีวิต มันเป็นสถานะการณ์ที่แย่มากใช่ไหม แค่เสี้ยววินาทีเดียวผมกลายเป็นผู้ชายอัมพาตแขนขาไปแล้ว แล้วถ้าคุณผูกเรื่องราวไปในอนาคต โห แล้วลูกเมียเขาต้องเดือดร้อนมาคอยเช็ดอึเช็ดฉี่ให้ผมไปอีกกี่ปีไม่รู้กว่าผมจะตาย นี่จัดว่าเป็นสถานะการณ์ในชีวิตที่แย่ที่สุดสถานะการณ์หนึ่งแล้วแหละ เผลอๆอาจจะแย่กว่าสถานะการณ์ในชีวิตของคุณตอนนี้เสียอีก

แต่ผมไม่ได้โฟกัสตรงนั้นเลย ไม่ได้ให้ราคาตรงเรื่องราวเหล่านั้นเลย ผมโฟกัสที่การใช้ชีวิต ผมหายใจเข้าลึกๆ ยิ้ม ผ่อนคลายร่างกาย ผมยังหายใจได้เสียอย่าง ผมก็สบายไปแปดอย่างแล้ว ต่อสถานะการณ์ในชีวิตผมลงมือทำเฉพาะเรื่องที่ควรต้องทำเมื่อเดี๋ยวนั้น ผมบอกลูกชายซึ่งเป็นหมอเหมือนกันว่าประคองคอและหลังของพ่อไว้นะ พ่อรู้สึกว่าหลังของพ่อหัก บอกให้ภรรยาไปโทรเรียกรถ 1669 และบอกให้คนดูแลบ้านไปเฝ้าที่ปากซอยไว้กันรถพยาบาลหลงซอย ผมทำแค่นั้น ทำกิจที่พึงทำจบแล้วจบ แล้วหันมาโฟกัสที่การใช้ชีวิต คือการหายใจเข้าออกอย่างผ่อนคลาย และยิ้มให้กับคนรอบตัว สองเดือนแรกของการป่วยมีเรื่องราวเยอะมากซึ่งผมขอไม่เล่าเพราะมันเยอะเกิน เอาเป็นว่าด้วยการโฟกัสที่การใช้ชีวิต ไม่ไปโฟกัสที่สถานะการณ์ในชีวิต ผลปรากฎว่าไม่มีแม้แต่นาทีเดียวที่ผมจะเป็นทุกข์ จนผมผ่านการผ่าตัด ฟื้นฟูตัวเองสำเร็จ และได้กลับบ้าน มันเหลือเชื่อจริงๆ เหลือเชื่อจนตัวผมเองยังแทบไม่เชื่อว่ามันจะเป็นไปได้

ดังนั้นคุณใช้สูตรนี้ได้แน่ โฟกัสที่การใช้ชีวิตทีละลมหายใจ ในเรื่องสถานะการณ์ในชีวิตก็ทำแค่กิจที่ต้องทำที่เดี๋ยวนี้หรือวันนี้ จบแล้วจบ ไม่ไปคิดเวิ่นเว้อต่อยอดอะไรกับสถานะการณ์ในชีวิต ยอมรับทุกอย่างที่พระพรหมโยนมาใส่ชีวิตเรา อย่าบ่น ยอมรับมันตามที่มันเป็น ไม่ต้องดราม่า ไม่ต้องตั้งแง่กับชีวิตว่า..นี่หรือชีวิต ไม่ต้องไปคิดอะไรต่อยอดสิ่งที่สังเกตพบเห็น แค่รับรู้มันตามที่มันเป็น ไม่ต้องเอาตัวตนของเราเข้าไปพิพากษาตัดสินอะไรทั้งสิ้น ยอมรับลูกเดียว ท่องคาถา “ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา”

ถ้าไม่ยุ่งกับความคิดได้ เป็นดีที่สุด แต่หากจะคิดอะไร ให้คิดบวกเท่านั้น ระวังติดเชื้อคิดลบจากคนอื่นๆรอบตัว ใครที่มีแต่ความคิดลบพูดแต่เรื่องลบๆอย่าไปอยู่ใกล้เขา ถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้ก็อย่าไปมองหน้าเขา เดี๋ยวจะติดเชื้อเขามา เขาพูดอะไรก็อย่าไปคิดตามเออออตาม ให้หันมาสนใจลมหายใจของเราแทนปล่อยให้เขาพล่ามผ่านหูของเราไป

ในการทำงานให้ทำอย่างสุดจิตสุดใจ อย่าไปตั้งแง่เรียกร้องความสนใจว่าเราเป็นแม่หม้ายผัวตายลูกติดทุกคนควรเห็นใจเราบ้าง อย่าทำอย่างนั้น ให้หาความสุขจากการได้ลงมือทำงานอย่างสุดจิตสุดใจ ทำอย่างสุดฝีมือ แน่วแน่ จริงจัง ใส่ใจกระกระบวนการทำหรือขั้นตอนตรงหน้า focus on process อย่าไปว่อกแว่กว่าผลลัพท์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร เพราะการได้ทำอย่างสุดจิตสุดใจทุ่มสุดตัวเป็นการเพิ่มพลังชีวิต แต่การมัวพะวงว่าผลลัพท์จะดีหรือไม่ดี นายจะชอบหรือไม่ชอบ คนอื่นจะเอาเปรียบเราหรือเปล่า นั่นเป็นการบั่นทอนพลังชีวิต ทำงานเล็กๆเสร็จไปชิ้นหนึ่งก็เฉลิมฉลองกับตัวเองเสียหน่อย ชูกำปั้นให้ตัวเองแล้วร้องเย่ ในใจ ก็ได้

ควรหาเวลาออกกำลังกาย ถ้าไม่มีเวลาก็เอาตอนพักกินข้าวเที่ยงนั่นแหละ ออกไปเดินขึ้นลงที่บันไดออฟฟิศสักครึ่งชั่วโมง ถ้ามีเวลาก็ชวนลูกไปออกกำลังกาย ไปออกแดดด้วยกัน การได้ออกกำลังกายให้เหนื่อยเป็นการเพิ่มพลังชีวิต

ควรเลือกกินอาหารที่เสริมพลังชีวิต กินพืชผักผลไม้ถั่วนัทมากๆ ยิ่งอยู่ในสภาพสดยิ่งดี กินเนื้อสัตว์น้อยๆ หลีกเลี่ยงของหวานหรือเครื่องดื่มรสหวานเพราะจะทำให้เกิด sugar dip คือพลังหมดแม้จะกินหวานไปหยกๆ อย่ากินแบบสวาปามเพราะจะบั่นทอนพลังชีวิตคือกินอิ่มเกินไปแล้วอืดเป็นงูเหลือมจนทำอะไรไม่ได้ กินแค่พอใกล้จะอิ่มก็หยุด ไม่ต้องรอให้อิ่ม ปล่อยให้ตัวเองหิวสักนานๆอย่ารีบหาอะไรกิน เพราะความหิวจะทำให้ร่างกายสร้างพลังชีวิตเพิ่มขึ้นจากอาหารที่เก็บตุนไว้เรียบร้อยแล้วในตับ

ใช้คลื่นความสั่นสะเทือนของเสียงช่วยสร้างพลังชีวิต ขับรถก็เปิดเพลงแล้วร้องตาม ไม่มีอะไรทำก็ครางอื้อ อี๋อ อือ สร้างความสั่นสะเทือนให้เขย่าร่างกายเข้าไว้ ถ้าโอกาสอำนวยเช่นทำครัวล้างจานก็ขยับร่างกายเคลื่อนไหวไปตามจังหวะเพลงขณะที่ฮัมเพลงไปด้วย เวลานั่งหรือยืนให้ตั้งร่างกายให้ตรง เวลาเคลื่อนไหวเดินไปมาให้เคลื่อนไหวเร็ว มั่นใจ ฟุบฟับ ฟุบฟับ เวลาพูดให้พูดเสียงดังฟังชัด มีความกังวานอยู่ในเสียง อย่าพูดเสียงแผ่วแบบคนจะขาดใจตาย

เวลาพักให้ออกจากออฟฟิศไปรับแดดรับลมข้างนอกบ้าง ธรรมชาติเช่นต้นไม้ ที่โล่งกว้าง ท้องฟ้า แสงแดด ลมพัด อยู่กลางฝนโปรยปราย เป็นสนามพลังงานในรูปของคลื่นความสั่นสะเทือนอยู่แล้ว แค่เปิดรับเอาพลังงานเข้ามา กางมือออก สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ผ่อนคลาย ยิ้ม พลังก็มาแล้ว

จัดเวลานอนหลับให้พอ อย่าเอางานมาทำที่บ้าน อย่าเปิดดูหน้าจอจนค่ำมืดดึกดื่น หมดกิจประจำวันแล้วรีบอาบน้ำนอน ว่างปุ๊บให้หัดนั่งสมาธิวางความคิดปั๊บ และทำสมาธิวางความคิดก่อนนอนสักห้านาที ถ้าไม่ได้ก็สักหนึ่งนาทีก็ยังดี

ให้คุณเดินหน้ากับชีวิตไปอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ทีละโมเมนต์ ทีละโมเมนต์ ผมเอาใจช่วยคุณอยู่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]