ยาลดไขมัน statin ลดการเกิดสโตร๊ค (ARR) ได้แค่ 0.4% เท่านั้นเอง
(ภาพวันนี้; เหล่านกน้อยในพงหญ้า ร้องเสียงดังเจี๊ยวขณะเดินผ่าน)
เรียนคุณหมอสันต์
ดิฉันอายุ 50 ปี มีอาการตามืดข้างเดียวอยู่นานหนึ่งนาที เกิดขึ้น 2 ครั้งห่างกัน 6 เดือน ไปหาหมอส่งต่อๆกันไปหลายหมอในที่สุดหมอตาสรุปว่าไม่มีความผิดปกติในจอตา หมอหัวใจบอกว่าไม่มีความผิดปกติในหัวใจ ทำสะแกนหลอดเลือดที่คอก็ปกติ สรุปว่าเป็นโรค amourosis fugax หมอบอกว่าต้องกินยาลดไขมันและยาแอสไพริน ตัวดิฉันไม่อยากกินยาลดไขมันเพราะกินแล้วปวดตามตัว แต่หมอขู่ว่าถ้าไม่กินจะเป็นสะโตร๊กคืออัมพาต และหมอก็อัตตาสูง หากดิฉันเถียงก็จะขึ้นเสียงและโกรธเอา จะไม่กินก็กลัวเป็นอัมพาต จะกินก็กลัวปวดเมื่อยและกลัวผลข้างเคียงอื่นๆ ปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าดิฉันควรตัดสินใจอย่างไรดี
ขอบพระคุณค่ะ
…………………………………………………………………..
ตอบครับ
เรื่องกลุ้มใจเพราะถูกหมอขู่นี้ผมเข้าใจและเห็นใจ ข้างหมอนั้นเขาไม่ได้ตั้งใจขู่ แต่ตั้งใจให้ข้อมูลแบบครบถ้วน เพราะมันเป็นหลักจริยธรรมวิชาชีพข้อหนึ่งที่ว่าต้องซื่อตรงเปิดเผย (truthfulness) แต่เผอิญข้อมูลที่หมอให้มักขาดอุบัติการณ์หรือเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงและเปอร์เซ็นต์ประโยชน์ประกอบด้วย ทำให้ผู้ป่วยประเมินภาพของความเสี่ยงและประโยชน์ผิดไปแบบฟ้ากับเหว
ยกตัวอย่างผมบอกว่าคุณอย่าไปเดินข้ามถนนพหลโยธินที่หน้ารพ.พญาไท2 ที่ผมทำงานอยู่นะ จะถูกรถชนเอา คุณก็กลัวการข้ามถนนตรงนั้นสติแตก เพราะผมลืมบอกไปว่าสถิติการถูกรถชนตรงนั้นตั้งแต่ผมนั่งเป็นผอ.ที่นั่นอยู่ 7 ปีเกิดขึ้นครั้งเดียวในช่วงก่อนการสร้างสะพานเดินข้าม ช่วงนั้นมีคนข้ามถนนตรงนั้นวันละประมาณ 1,000 คน คิดเป็นความเสี่ยงของการถูกชนในเจ็ดปีเท่ากับ 0.00004% หิ หิ ด้วยความเสี่ยงขนาดนี้ มันคุ้มกับที่จะกลัวจนสติแตกไหมละ
ในเรื่องการบอกความเป็นไปได้ของประโยชน์ของยาและความเสี่ยงของโรคก็เช่นกัน แพทย์มักลืมบอกเปอร์เซ็นต์ประโยชน์และเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยง ทำให้คุณสติแตก แต่ไม่เป็นไร เพื่อให้ข้อมูลประกอบกับที่แพทย์ของคุณให้มา ผมจะบอกตัวเลขซึ่งเป็นผลวิจัยวิทยาศาสตร์ให้คุณเดี๋ยวนี้เลย
ประเด็นที่ 1.. ยาสะแตตินมีประโยชน์ในการลดโอกาสเป็นสโตร๊คได้มากแค่ไหน งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่ดีมากงานหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Int Med ซึ่งเอาผลลัพท์จากงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบที่เคยมีมาทั่วโลก 21 รายการรวมคนไข้เป็นเรือนแสนคน มาวิเคราะห์ดูว่าจริงๆแล้วในภาพใหญ่ยาลดไขมัน (statin) ป้องกันการเกิดเรื่องร้ายๆทางด้านหลอดเลือดไม่ว่าจะเป็นสโตร๊ก ฮาร์ทแอทแท็ค หรือการตายได้กี่เปอร์เซ็นต์ สรุปผลวิจัยได้ว่ายา statin หากตั้งใจกินทุกวันนานเฉลี่ยอย่างน้อยสองปีขึ้นไป สามารถลดการเกิดเรื่องร้ายได้อย่างแท้จริง (absolute risk reduction – ARR) ในกรณีเป็นสโตร๊คลดได้ 0.4% เท่านั้นเอง ลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ 1.3% ลดการตายรวมได้ 0.8% ในกรณีของคุณนี้คุณกลัวสโตร๊คและคุณไม่ได้มีโรคทางด้านหัวใจเลย ก็ให้เพ่งเล็งแต่ที่ตัวเลข 0.4% ก็พอ แปลว่าให้คน 100 คนกินยา statin ทุกวันนานสองปีขึ้นไป จะมีอยู่ 0.4 คนที่จะได้ประโยชน์จากการป้องกันสะโตร๊ค แล้วคุณว่า 0.4% มันเป็นประโยชน์ที่มากหรือน้อยละ คุณคิดเอาเองได้นะ
ประเด็นที่ 2.. คนเป็นโรคตามืดนี้มีความเสี่ยงเกิดสโตร๊คหรือตายมากกว่าคนทั่วไปเพียงใด งานวิจัยติดตามดูคนเป็นโรคตามืดที่ใหญ่ที่สุดตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Neurology, Neurosurgery & Psychiatry ซึ่งติดตามดูคนไข้โรคตามืด 110 คนไปนานเฉลี่ย 6 ปี พบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคตามืดมีอัตราตาย 12% เมื่อเทียบกับคนอายุและเพศเดียวกันซึ่งตาย 14% ซึ่งก็ถือว่าหญิงที่เป็นโรคตามืดไม่ได้อายุสั้นกว่าคนอื่นเขา นี่พูดถึงผู้หญิงนะ ไม่เกี่ยวกับผู้ชาย
ส่วนในประเด็นการเป็นสะโตร๊คนั้น เมื่อผ่านไปเฉลี่ย 6 ปีคนกลุ่มนี้ทั้งหญิงชายเป็นสโตร๊ก 13% ซึ่งถือว่ามากกว่าคนทั่วไปที่เป็นสโตร๊กในอัตราประมาณ 1% ต่อปี หกปีก็ประมาณ 6% แต่ประเด็นสำคัญคือในบรรดาคนที่เป็นสโตร๊กในงานวิจัยนี้ คนที่อายุน้อยที่สุดทั้งชายและหญิงคือมีอายุ 57 ปีนะ ต่ำกว่านั้นไม่มีใครเป็นสะโตร๊ค ตัวคุณเองเพิ่งอายุเพิ่ง 50 จึงยังไม่ควรเอาความข้อนี้ไปกังวล
ผมให้ข้อมูลคุณครบถ้วนแล้วนะ ส่วนคุณจะดับความกังวลในใจคุณได้หรือไม่ นั่นอยู่ที่คุณจะใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างไร ความกังวลมีธรรมชาติเป็นการย้ำคิด การดับการย้ำคิดใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ ต้องฝึกวางความคิดด้วยการใช้เครื่องมือเจ็ดอย่างที่ผมพูดถึงบ่อยๆ คือ
attention ความสนใจ,
breathing ลมหายใจ,
relaxation การผ่อนคลายร่างกาย,
body scan การรับรู้พลังชีวิต
observation การสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังเกตความคิด
alertness การตื่นตัว และ
สมาธิ concentration
คุณต้องฝึกใช้เครื่องมือทั้งเจ็ดอย่างนี้ในชีวิตประจำวันด้วยคุณจึงจะพ้นทุกข์จากความกังวลได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Byrne P, Demasi M, Jones M, Smith SM, O’Brien KK, DuBroff R. Evaluating the Association Between Low-Density Lipoprotein Cholesterol Reduction and Relative and Absolute Effects of Statin Treatment: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Intern Med. Published online March 14, 2022. doi:10.1001/jamainternmed.2022.0134
- Poole CJ, Ross Russell RWMortality and stroke after amaurosis fugax.Journal of Neurology, Neurosurgery & Psychiatry 1985;48:902-905.