หมอสันต์เล่าถึงงานอาชีวเวชกรรม
(ภาพวันนี้:ลูกจิก)
หลายวันที่ผ่านมานี้ผมหายหน้าไปเพราะได้รับปากว่าจะไปช่วยโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งทำสิ่งที่เรียกว่า “การเดินสำรวจประเมินความเสี่ยงสุขภาพ” หรือ “health risk assessment (HRA) walk through” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระบบดูแลสุขภาพผู้คนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรมแบบนี้ผมเคยทำอยู่เป็นประจำช่วงประมาณปี พศ. 2530-2545 โดยสมัยนั้นผมเข้าไปรับผิดชอบการจัดระบบดูแลคนทำงานในการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันเชลลฺฺ์และคาลเท็กซ์ซึ่งมีคนทำงานอยู่ประมาณเกือบหมื่นคน ตอนนั้นเป็นยุคสมัยที่เมืองไทยยังไม่มีการแพทย์ในสาขาอาชีวเวชกรรมและตัววิชาอาชีวเวชกรรมเองก็ยังไม่มีอยู่ในสาระบบของการเรียนการสอนระดับแพทยศาสตร์บัญฑิต ผมต้องอาศัยเรียนรู้เอาจากพวกหมอฝรั่ง และบริษัทเชลล์เองก็ขยันส่งผมไปฝึกงานดูงานกับเชลล์ในต่างประเทศผมจึงเอาตัวรอดมาได้ ปัจจุบันนี้ในเมืองไทยมีการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีวเวชกรรมแล้ว แต่ก็ยังมีแพทย์และพยาบาลเป็นจำนวนมากซึ่งทำงานนอกเวลาหรือวันหยุด รับจ๊อบดูแลสุขภาพพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรม โดยยังไม่มีโอกาสเข้าฝึกอบรมเฉพาะทางด้านอาชีวเวชกรรม ผมจึงขอใช้เนื้อที่ของวันนี้เขียนเล่ากิจกรรมที่ผมเพิ่งไปทำมาสัปดาห์นี้ เผื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์และพยาบาลเหล่านั้นบ้าง สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปที่เห็นว่าตนเองจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องการดูแลสุขภาพของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมก็ผ่านบทความนี้ไปได้เลยครับ
หมอสันต์พูดกับทีมผู้บริหารของโรงงานวันเริ่มต้นสำรวจ
HRA walk through ที่เราจะทำกันในสัปดาห์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพเพื่อการดูแลสุขภาพระยะยาวของพนักงานทุกคน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่เขาทำอยู่
ในการสำรวจนี้ เราจะทำ
ขั้นที่ 1. เราจะกำหนดขึ้นมาก่อนจากการสัมภาษณ์พนักงานที่สุ่มมาเป็นตัวแทนกลุ่มว่างานที่เธอทำนี้เราจะเรียกมันว่าเป็นงานประเภทไหน (job type)
ขั้นที่ 2. ให้เธอเล่าให้ฟังว่าในการทำงาน job type นี้ เธอต้องทำงานที่แตกต่างกัน (task) กี่แบบ เช่นงาน job type แม่บ้านต้องทำงาน 3 task คือ (1) ทำความสะอาดห้องน้ำ (2) ทำความสะอาดผ้าม่านและเปลี่ยนม่านส่งซัก (3) ทำความสะอาดพื้นห้องทำงาน เป็นต้น
ขั้นที่ 3. จากนั้นเราก็จะเดินตามไปสำรวจดูขณะที่เธอทำงานจริงว่าแต่ละ task มีภยันตรายต่อสุขภาพ (health hazard) อะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น
task1. ทำความสะอาดห้องน้ำ มี health hazard คือ (1) การสัมผัสกับสารเคมีกลุ่มระคายเคือง (irritative) (2) สารเคมีกลุ่มกัดกร่อน (corrosive) (3) ท่าร่างในการทำงานที่ต้องก้มทำซ้ำซาก
task2. ทำความสะอาดผ้าม่านและเปลี่ยนม่านส่งซัก มี health hazard คือ (1) การต้องปีนบันได (work with ladder) (2) การยกย้ายของหนักในระดับเหนือศีรษะ (3) การสุดดมฝุ่นละอองและสปอร์ เป็นต้น
ขั้นที่ 4. จากนั้นเราก็จะทำการประเมินดีกรีของการสัมผัสซึมซับ (exposure) ว่าในการทำงาน task นั้นๆ เธอต้องสัมผัสซึมซับต่อภยันตรายสุขภาพนั้นๆมากน้อยระดับใดจากระดับ 1-3 โดยพิจารณาทั้งแง่ความเข้มข้นของการได้สัมผัสซึมซับ และความยาวนานของการสัมผัสซึมซับ ในการนี้ หากเป็นภยันตรายสุขภาพชนิดที่สมควรตรวจวัด เราก็จะตรวจวัดไปด้วยในการสำรวจคราวนี้ เช่นเสียงดังเราก็จะวัดเดซิเบลของเสียง อุณหภูมิสูงเราก็จะวัดอุณหภูมิ เหม็นกลิ่นแก้สไข่เน่าเราก็จะติดเซนเซอร์วัด H2S เป็นต้น
ขั้นที่ 5. จากนั้นเราก็จะประเมินผลตามหลังการสัมผัสซึมซับ (consequence) ของภยันตรายสุขภาพแต่ละตัว โดยแบ่งเป็นสามระดับ ถ้าผลตามหลังรุนแรงมากจนเรารับไม่ได้เลย เช่นการขาดออกซิเจนในการลงไปทำงานในที่อับอากาศมันถึงตาย เราก็ให้คะแนน consequence เป็น 3 แต่ผลตามหลังความเครียดจากการถูกคาดหวังจากงานที่ทำ ถือว่าไม่รุนแรงเราก็ให้คะแนน consequence เป็น 1 เป็นต้น ขณะสำรวจพบภยันตรายต่อสุขภาพแต่ละตัวเราก็จะให้คะแนน consequence แก่ภยันตรายสุขภาพที่สำรวจพบทุกตัวไปด้วยเลย
ขั้นที่ 6. เมื่อสำรวจจบแล้ว เราก็เอาข้อมูล exposure และ consequence มาจัดทำเป็นตารางผสมบอกความเสี่ยง (health risk matrix) โดยเอาตัวเลขค่า exposure และตัวเลขค่า consequence คูณกันออกมาเป็นสัดส่วนความเสี่ยง (risk ratio) โดยเรียงให้เห็นจากมากไปหาน้อย กล่าวคือหากได้คะแนน 6-9 นี่ถือว่ามากต้องแก้ไขทันทีและติดตามผลไม่ลดละ ถ้าได้คะแนน 3-4 ก็ถือว่าเป็นปัญหาระดับกลางๆ สมควรลงมือแก้ไขไม่ช้าก็เร็ว แต่ถ้าคะแนนต่ำกว่า 3 ก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรงหรือต้นทุนสูงในการแก้ไข
ขั้นที่ 7. จากนั้นเราก็จะจัดทำคำแนะนำให้แก้ไข (corrective measure) โดยจัดทำคำแนะนำเป็นข้อๆ เรียงคำแนะนำตามคะแนนสัดส่วนความเสี่ยงจากมากไปหาน้อย เพื่อให้ทางฝ่ายท่านนำไปพิจารณาแก้ไข
หมอสันต์พูดกับผู้บริหารโรงงานวันสิ้นสุดการเดินสำรวจ
ผมได้ส่งมอบตารางข้อมูลที่ได้จากการเดินสำรวจรวมทั้งสิ้น 4 ตาราง แก่ฝ่ายบุคคล (HR) เพื่อเชื่อมโยงตารางทั้ง 4 นี้เข้ากับฐานช้อมูลพนักงานของฝ่ายการบุคคล คือ
ตารางที่ 1. Job type-task-hazard ซึ่งเชื่อมโยง job type ทุกจ๊อบเข้ากับงานแต่ละแบบ (task) ที่จ๊อบนั้นต้องทำ และเชื่อมโยงต่อไปถึงภยันตรายสุขภาพทุกตัวที่เกิดจากการทำ task นั้นๆ ซึ่งเมื่อเชื่อมโยง job type ของตารางนี้เข้ากับตำแหน่งงาน (position) ของตารางการบุคคล ก็จะสามารถรายงานได้ทันทีว่าพนักงานคนหนึ่งที่ทำงานในตำแหน่งหนึ่งมีความเสี่ยงสุขภาพในเรื่องใดบ้าง
ตารางที่ 2. Health Risk Matrix ซึ่งแสดงระดับชั้นของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับภยันตรายสุขภาพทุกตัว อันเป็นผลจากการประเมินความหนักของผลที่จะเกิด (consequence) ร่วมกับดีกรีของการสัมผัสซึมซับ (exposure) ภยันตรายสุขภาพนั้นๆ ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงภยันตรายสุขภาพ (health hazard) ของตารางนี้เข้ากับภยันตรายสุขภาพในตาราง job type-task-hazard ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลการบุคคลไว้แล้ว ก็จะสามารถรายงานได้ทันทีว่าความเสี่ยงสุขภาพในการทำงานของพนักงานแต่ละคนมีในเรื่องใดบ้าง และแต่ละเรื่องมีสัดส่วนความรุนแรงเท่าใด
ซึ่งข้อมูลนี้ เมื่อนำไปรวมกับข้อมูลผลการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงานแต่ละคนในปีที่ผ่านมา ก็จะทำให้สามารถวางแผนการตรวจสุขภาพประจำปีครั้งหน้าแบบแยกตรวจตามความจำเป็นของแต่ละคน (customized health surveillance) ซึ่งมีประสิทธิผลดีกว่าการตรวจทุกคนเหมือนกันหมดแบบเหมาโหล
ตารางที่ 3. Corrective measure (คำเสนอแนะให้แก้ไข) ซึ่งรวบรวมข้อเสนอให้แก้ไขความเสี่ยงทั้งหมดที่ตรวจพบจากการเดินสำรวจครั้งนี้เรียงลำดับจากความรุนแรงมากไปน้อย เฉพาะบางเรื่องที่ผมยังไม่สามารถสรุปให้ได้แน่ชัดเช่นเรื่องที่ยังต้องรอผลวิเคราะห์ซึ่งผมได้เก็บตัวอย่างไว้แล้ว ผมจะส่งไปวิเคราะห์ในแล็บโดยเร็ว และจะแจ้งผลและคำเสนอแนะกลับมาทันที่ที่ได้ผลแล็บ
ตารางที่ 4. Categorization of health hazards (ตารางจำแนกกลุ่มภยันตรายสุขภาพ) ความจริงตารางนี้ไม่จำเป็นหากเราทั้งสองฝ่ายถือการจำแนกภยันตรายสุขภาพที่ตรวจพบทั้งหมดในโรงงานนี้ (48 ตัว) ออกเป็น 6 กลุ่มตามสถาบันอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสุขภาพสหรัฐฯ (OSHA) แต่ผมจัดทำเพิ่มเติมเข้ามาเพราะผมเองได้แบ่งภยันตรายสุขภาพแตกต่างออกไปเป็นเจ็ดกลุ่ม คือ
กลุ่มที่1. ภยันตรายสุขภาพด้านชีวภาพ เช่นเชื้อโรคที่มาทางอากาศ อาหาร เป็นต้น
กลุ่มที่2. ภยันตรายสุขภาพด้านกายภาพ เช่นเสียง อุณหภูมิ
กลุ่มที่ 3. ภยันตรายสุขภาพทางด้านเคมี ได้แก่สารพิษและสารเคมีต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิต รวมถึงแก้สพิษที่เกิดขึ้นด้วย
กลุ่มที่ 4. ภยันตรายสุขภาพทางด้านท่าร่างในการทำงาน (ergonomic) เช่นนั่งผิดท่า ยืนผิดท่า การเคลื่อนไหวซ้ำซาก เป็นต้น
กลุ่มที่ 5. ภยันตรายสุขภาพทางด้านจิตวิทยา
กลุ่มที่ 6. ภยันตรายสุขภาพทางด้านความปลอดภัยทั่วไป (safety hazard)
กลุ่มที่ 7. ภยันตรายสุขภาพทางด้านอาหารและเครื่องดื่ม
ที่ไม่เหมือนของ OSHA คือผมเพิ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็น hazard อีกกลุ่มหนึ่ง เพราะเห็นว่าโรงงานของเราทำงาน 24 ชั่วโมง พนักงานจำนวนมากต้องกินต้องดื่มอยู่ในนี้มากกว่าอยู่ที่บ้านเสียอีก และผลตรวจสุขภาพในปีที่ผ่านมาก็บ่งชี้ว่าโรคส่วนใหญ่ที่พนักงานของเราป่วยนั้นเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากอาหารและเครื่องดื่ม
ข้อมูลทั้งหมดที่ผมส่งมอบนี้อาจจะผิดเพี้ยนไม่ตรงก็เป็นได้ เพราะมันเป็นผลจากการสำรวจในช่วงสั้นๆไม่กี่วันขณะที่พนักงานที่ทำงานมีเป็นพัน แผนกงานต่างๆก็มีหลายสิบ หากพบว่าผิดท่านสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ทันทีเพื่อให้ท่านใช้ประโยชน์จากมันได้เต็มที่ เพราะการสำรวจครั้งนี้ทำเพื่อปรับปรุงให้สุขภาพพนักงานดีขึ้น ไม่ใช่ทำเพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐานอะไร ผมขอขอบคุณที่ไว้วางใจให้ผมและทีมงานเข้ามาช่วยทำงานนี้ หากท่านมีคำถามและข้อเสนอเพิ่มเติมก็เชิญตอนนี้ได้เลยครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์