โฟบี้ (Phobe) มนุษย์พันธ์ุใหม่ยุคโควิด
(ภาพวันนี้: สะบันงา)
กราบเรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ
ดิฉันมีลูกสาว วัย 9 ปี และลูกชายอายุ 12 ปี ดิฉันเลี้ยงทั้งคู่มาลำพัง ตั้งแต่เกิดค่ะ (แยกทางกับพ่อเด็กๆตอนคนเล็ก2ขวบ)
หลังจากเรียนออนไลน์มา 2 ปี (มีไปโรงเรียนบ้างไม่กี่วันที่รร.เปิดออนไซท์) ลูกสาววัย 9 ขวบ ตอนนี้มีอาการรักความสะอาด กลัวเชื้อโรคขั้นผิดปกติค่ะ เดิมทีเค้าจะระมัดระวังความสะอาดอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เป็นหนักขึ้น จนกระทบชีวิตประจำวัน โดยมีอาการดังนี้ค่ะ-ไม่ให้จับตัว ถ้าจะจับต้องล้างมือให้เห็น ถ้าจับโดยไม่เห็นเราล้างมือจะวิ่งหนี กรี๊ด หน้าดำหน้าแดง-ไม่ให้ใช้มือปิดก๊อกน้ำ ใช้ขวดครีมอาบน้ำกดปิด ถ้าล้างมือเสร็จแต่เผลอกดปิดหัวก๊อก ต้องเริ่มล้างใหม่-ไม่จับประตูรถเอง ต้องเปิดปิดให้-ไม่ให้โซฟา เฟอร์นิเจอร์ ราวตากผ้าเข็ดตัวชิดผนัง เพราะคิดว่าจิ้งจกจะมาเกาะ-ห้ามจับไอแพดของเค้า รวมถึงสายชาร์จ หูฟัง -ถ้าเอามือไปโดนเสื้อเค้า จะถอดเปลี่ยนทันที โดนอีกเปลี่ยนอีก-ชอบจับสังเกตว่าเราทำอะไร กินอะไร ใช้มือหยิบอาหาร ขนม คือสกปรก แม้เราจะยืนยันว่าล้างมือแล้ว ก็ไม่เชื่อ ห้ามโดนตัว จะโดนได้ต้องไปล้างฟอกสบู่ใหม่-ถ้าเราเกาหน้า เกาคิ้ว ถ้าเราคันเผลอเกาส่วนใดก้อตาม ผิวคนคือสิ่งสกปรก ก้อจะไม่ให้โดนตัว ต้องให้ไปล้างมือฟอกสบู่ จึงจะโดนตัวได้ -เห็นแปรงสีฟันใหม่อยุู่ในห่อยังไม่ได้แกะพลาสติกออก แต่เห็นตกพื้น พอวันหลังจะเปลี่ยนแปรงใหม่ให้ ไม่ใช้ เพราะเคยตกพื้นแล้ว-คอยมายืนเฝ้าหน้าห้องน้ำ พอเราเปิดมาเจอ บอกว่ามารอจ๊ะเอ๋ แต่จริงๆคือมาดูว่าเราล้างมือแบบไหน-ถ้าเราเข้าห้องน้ำออกมาไว จะคอยสังเกต ถามว่า ทำไมออกมาไว -ชอบถามว่า เราเข้าห้องน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่-ชอบมาเปิดดูในครัว ว่าเราทำอะไร นั่งกินอะไร ใช้มือไหม ถ้าเห็นจะคิดว่าเราไม่ล้างมือ บอกจะไม่เชื่อ ต้องล้างให้เห็น-บอกว่าบนก๊อกน้ำ ใช้มือปิดไม่ได้ เพราะมีตัวเชื้อโรคสีเขียว มีขน มีตา มีปาก ต้องเอาขวดครีมอาบน้ำกดปิดก๊อกน้ำ-ไปรร.เพื่อนเล่นเป่าลูกโป่ง แล้วมือไปโดนตรงที่เป่าลูกโป่ง ก็ไปบอกเพื่อนว่า ขออะไรอย่างได้ไหม ช่วยไปล้างมือหน่อย แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร-อยู่บ้านก็พูดประโยคเดียวกัน ขออะไรอย่างได้ไหม ช่วยไปล้างมือหน่อย ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร บางทีเพียงแค่เห็นมือเราไปโดนริมฝีปากนิดๆ ก็มาขอให้ไปล้าง-เวลาเราห่มผ้า ชิดคอก็คอยดึงผ้าห่มลง ไม่ให้ผ้าห่มเราใกล้ปาก โดนปากคือสกปรก-ถ้าเห็นเรานั่งกินอาหารอยู่ จะถามว่ากินอะไร ไม่ได้สนใจอาหาร ถามเพราะไม่อยากเห็นอาหารในปากเราที่แหลกๆ ต้องให้หุบปากเคี้ยวแบบงุ้มปากตลอดเวลา-เวลานอนกับแม่ ให้แม่กางแขนซ้ายเหยียดตรง เค้าจะมานอนตรงไหล่ แต่ห้ามเรางุ้มแขนมากอดเค้า เพราะมือเราสกปรก เหยียดตรงได้อย่างเดียว-ถ้าเห็นเราเกา ตรงไหนก็ตาม บางทีตรงแขน ก็จะมาจับมือเราออก ไม่ให้เกา-ถ้าซื้อน้ำให้ เราแกะหลอด เจาะให้จะเอาหลอดนั้นไปทิ้ง หาหลอดใหม่มาแกะเอง จึงจะกินได้-กับพี่ชาย ไม่ค่อยเป็น เค้าบอก ไม่ได้ใกล้พี่ แต่ใกล้ชิดแม่ เลยต้องจับตาดูแม่
คุณหมอช่วยแนะนำดิฉันด้วยนะคะ ตอนนี้พยายามเข้าใจ ว่าเค้าป่วย จากตอนแรกจะโกรธที่โดนเค้าบอกให้ไปล้างมือบ่อยๆจนตอนนี้สงสารและจะพาเค้าไปพบจิตแพทย์เด็กในเร็ววันนี้ แต่ด้วยความอัดอั้นตันใจ เลยขอเรียนปรึกษาขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยนะคะ ก่อนหน้านี้สองปี ไม่ค่อยได้พาเค้าไปไหน เพราะกลัวโควิด จากแต่ก่อนเคยพาไปเล่นที่นั่นที่นี่ ก็เก็บตัวอยู่บ้านมากเกินไป ไม่ได้ทันนึกว่า จะเกิดผลกับเค้ามากขนาดนี้ ตอนนี้ปิดเทอม เพิ่งจะกลับมากล้าพาเค้าไป สวนสัตว์ ทานข้าวนอกบ้าน ได้สักสัปดาห์นึงแล้ว การได้พบเจอคน หรือไปนอกบ้าน จะช่วยให้เค้าหายไหมคะ ไม่อยากให้เค้าทานยาจิตเวชเลย เพราะอายุยังน้อย
คุณหมอช่วยเมตตาตอบให้ด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ
…………………………………………………..
ตอบครับ
1.. ถามว่าลูกสาวกลัวเชื้อโรคจนสนใจแต่เรื่องการล้างมืออย่างนี้ เธอเป็นอะไร เกิดจากอะไร ตอบเป็นภาษาหมอว่าเธอเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive compulsive disorder – OCD) ส่วนเกิดจากอะไรมีกลไกการเกิดอย่างไรนั้นยังไม่มีหมอคนไหนทราบดอกครับ หมายถึงหมอที่เป็นแพทย์นะ ไม่นับหมอดู
2.. ถามว่าถ้าพาลูกสาวซึ่งอายุเพียง 9 ปี ไปหาจิตแพทย์เด็ก หมอจะให้กินยาไหม ตอบว่าให้กินยาแน่นอนครับ เพราะมาตรฐานวิชาแพทย์แผนปัจจุบันนี้ถือว่าโรค OCD ไม่ว่าในผู้ใหญ่หรือในเด็ก ล้วนเป็นโรคในกลุ่ม neuropsychiatric แปลว่าความผิดปกติของสารเคมีเชื่อมต่อเส้นประสาทส่งผลให้เกิดอาการทางจิตเวช จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้ยาควบกับจิตบำบัด ซึ่งส่วนที่เป็นยาก็หนีไม่พ้นยาต้านซึมเศร้า (SSRI) ก็อย่างที่ผมเคยเล่าในบล็อกนี้ไปหลายครั้งแล้ว ว่าแพทย์รุ่นน้องซึ่งเป็นจิตแพทย์ที่ซี้กันเล่าให้ผมฟังว่ายาต้านซึมเศร้าที่จ่ายๆกันทุกวันนี้ เกือบครึ่งหนึ่งจ่ายให้วัยรุ่นและเด็ก
3.. ถามว่าแล้วควรพาลูกสาวไปหาจิตแพทย์เด็กไหม ตอบว่าควรครับ เพราะเด็กเป็นโรค OCD แล้วจะหาใครที่จะเข้าใจเด็กและมีเวลาคุยกับเด็กได้มากเท่าจิตแพทย์เด็กละครับ ผมยังมองไม่เห็นเลย
4.. ถามว่านอกจะต้องพาไปหาจิตแพทย์แล้ว จะมีวิธีช่วยลูกสาวได้อย่างไร ตอบว่า อย่างที่ผมบอกแล้ววิธีรักษาโรคนี้มีสองส่วนคือยา กับจิตบำบัด ส่วนที่เป็นจิตบำบัดนั้นรูปแบบที่มีหลักฐานว่าได้ผลดีคือวิธี CBT ซึ่งย่อมาจาก cognitive behavior therapy แปลว่าการบำบัดความคิดและพฤติกรรม หากคุณอยากช่วยลูกสาว คุณก็ต้องเรียนวิธีทำจิตบำบัดแบบ CBT ถ้าคุณอยากเรียนจริงๆ ผมสอนหลักการให้คุณไปหัดทำเองได้ สอนกันตรงนี้เลย เดี๋ยวนี้เลย
ก่อนจะเริ่มเรียน ผมขอเกริ่นถึงกลไกในใจของการย้ำคิดย้ำทำก่อน ว่าทุกวันนี้เราสอนเด็กให้ถักทอความคิดหลายๆความคิดขึ้นเป็นมาเป็นคอนเซ็พท์ เช่นคอนเซ็พท์เรื่องความดี ความถูกต้อง ความสะอาด ทั้งหมดนี้เป็นชุดของความคิด พูดง่ายๆว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์เรากุขึ้นเองทั้งนั้น ของจริงไม่ได้มีอย่างนั้นดอก เพราะชีวิตจริงมันเป็นการผสมโรงกันของคลื่นความสั่นสะเทือน มันจะไปเหมือนที่เราใช้ความคิดวาดไว้เป็นคอนเซ็พท์ได้อย่างไร
ทุกคอนเซ็พท์ที่เราสอนให้เด็กเก็ทเราฝึกสอนด้วยวิธีให้ย้ำคิดย้ำทำ เราจ้ำจี้จ้ำไชให้ย้ำคิดย้ำทำว่าแบบนี้ ดี..ดี..ดี แบบนั้นเลว..เลว..เลว ซึ่งในการสอนนี้เราใช้วิธีสอนให้ “กลัว” เป็นเครื่องมือประกอบ เราจงใจทำให้เด็กกลัว กลัวนรก กลัวผี กลัวตำรวจ กลัวหมอ ฯลฯ ทั้งๆที่สิ่งที่สอนให้กลัวเกือบทั้งหมดนั้นแทบไม่มีจริงในชีวิตของเด็กเลย
พูดมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อย สมัยผมจบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางใหม่ๆไปทำงานที่สระบุรี วันหนึ่งรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งอายุน้อยกว่าผม (แต่จบแพทย์ก่อน) เธอบรรยายเหตุการณ์ในชีวิตที่ตื่นเต้นในวันนั้นในห้องพักแพทย์ว่า
“ชั้นขับรถอยู่ดีๆก็เห็นตำรวจโบกชี้ให้ชั้นจอด
ชั้นใจหายแว้บ..บ….บ ลงไปถึงท้องน้อย”
คือให้เห็นว่าความกลัวตำรวจที่ถูกสอนมาตอนเด็กมันได้ผลขนาดไหน ความกลัวอย่างอื่นก็เช่นกัน กลัวนรกอาจจะแผ่วลงไปบ้างเมื่อเข้าวัยรุ่นและฮอร์โมนแรงขึ้น แต่กลัวผีไม่เคยแผ่วเลยตั้งแต่เด็กจนแก่ทั้งๆที่เกิดมาไม่มีใครเคยเห็นผีสักคน พอมีโควิดมาก็มีตัวที่จะต้องสอนให้กลัวเพิ่มขึ้นอีก เช่นกลัวติดโควิด กลัววัคซีนโควิด กลัวเชื้อโรค กลัวอากาศที่จะหายใจเข้าไป เป็นต้น โดยที่ความกลัวที่ถูกสอนให้นี้มีมูลน้อยพอๆกับเรื่องผีนั่นแหละ
กลไกการย้ำคิด (obsession) นี้มันเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ หรือพูดว่ามันเป็นความคิดอัตโนมัติที่บางครั้งเจ้าตัวยังไม่รู้เลยว่ามันเกิดขึ้นแล้ว แล้วมันก็ชักนำให้เกิดการย้ำทำ (compulsion) ความคิดอัตโนมัติมันทำงานคู่กับความกลัวแบบผีคู่กับโลง คือยิ่งคิดก็ยิ่งกลัว ยิ่งกลัวก็ยิ่งคิด ความกลัวก็เป็นความคิดอีกชนิดหนึ่ง ความคิดจึงต่อยอดบนความคิด คิดต่อคิดๆๆๆ มนุษย์ในสังคมทั่วไปเป็นแบบนี้กันทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง ถ้ามากเกินขนาดจนใช้ชีวิตปกติลำบากก็ไปเข้าคอนเซ็พท์ของการเป็นโรคบ้าหนึ่งในห้าร้อยจำพวกที่เรียกว่า OCD นี่แหละ อีกโรคหนึ่งที่อาศัยกลไกผีกับโลงแบบเดียวกันนี้ก็คือโรคกลัวจนขี้ขึ้นสมอง (phobia) คนที่เป็นโรคนี้เรียกว่าโฟบี้ (phobe) ซึ่งสองสามปีมานี้โรคโควิดได้เพาะมนุษย์พันธ์โฟบี้เพิ่มขึ้นมาอีกมาก
ในการจะสอนลูก คุณต้องทำเป็นขั้นๆ
ขั้นที่ 1. คุณต้องฝึกให้เธอวางความคิดด้วยเทคนิคอย่างง่าย เช่นฝึกถอยความสนใจออกจากความคิดมาอยู่กับลมหายใจแทน พูดง่ายๆว่าชวนให้ลูกนั่งสมาธิ หรือฝึกให้ทำ meditation เพื่อให้ได้รู้จักใจของตัวเองยามที่ไม่ความคิดบ้าง และเพื่อให้ได้รู้ว่าเรากับความคิดนี้เป็นคนละอันกันนะ เราก็คือเรา ความคิดก็คือความคิด สองอย่างนี้เราเป็นนาย ความคิดเป็นบ่าว เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมา เรานั่งดูอยู่ห่างๆได้ ไม่จำเป็นต้องลนลานไปทำตามความคิดที่เกิดขึ้นตะพึด การสอนให้รู้จักว่าความคิดไม่ใช่เรานี้สำคัญที่สุด เพราะคนที่เป็นโรคกลัวเกินเหตุจนถึงต้องไปฆ่าตัวตายหนีความกลัวนั้นเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าความกลัวเป็นแค่ความคิด และความคิดก็เป็นแค่ลูกน้องของเรา เราจะหันหลังให้มันไม่ใยดีกับมันเมื่อไหร่ก็ได้
ขั้นที่ 2. ให้คุณวางกรอบกฎกติกามารยาทในการอยู่ร่วมกับคนอื่นว่าต้องไม่ทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อน มิฉะนั้นเขาจะกลับมาทำร้ายเรา ตัวเองอยากล้างมือก็ล้างของตัวเองไปไม่มีใครว่า แต่อย่าไปบังคับให้คนอื่นเขาล้างมือ บอกเธอไปตรงๆว่าคนที่ล้างมือมากผิดแผกจากคนอื่นสังคมเขานับเป็นคนบ้า และเมื่อเธอบังคับให้คุณล้างมือก็อย่าไปทำตาม ไม่ให้กอดก็ไม่ต้องกอด เพราะการให้ลูกรู้ว่าเรารักทำได้ตั้งหลายวิธี บอกเธอว่าแม่ต้องฝึกให้ลูกอยู่ในสังคมกับคนอื่นได้ เพราะวันหนึ่งแม่ก็ต้องตายลูกต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมด้วยตัวเอง ไม่มีใครมาทนอยู่กับคนที่คอยรบกวนคนอื่นด้วยเรื่องไร้สาระได้หรอก
ขั้นที่ 3. คุณค่อยๆสาธิตสอนแสดงให้เห็นว่าคอนเซ็พท์ทั้งหลายที่มนุษย์เรายึดถือกันอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่ความจริงแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ดอก มันแค่เป็นเรื่องแต่งที่ช่วยมนุษย์เราให้ใช้ชีวิตร่วมกันได้ง่ายขึ้นเท่านั้น เราควรจะให้น้ำหนักกับแต่ละคอนเซ็พท์แค่พอดีๆพอให้อยู่กับคนอื่นได้ อย่าเว่อเกินไปจนอยู่กับใครเขาไม่ได้ ค่อยๆสาธิตสอนแสดงให้เห็นว่าแต่ละคอนเซ็พท์มันก็ขัดกันเองเห็นๆอยู่แล้ว มันจะเป็นความจริง 100% ไปได้อย่างไร ตัวอย่างเช่นคอนเซ็พท์ที่ว่าตัวเราต้องสะอาดไม่รับอะไรสกปรกมาจากคนอื่นเลย 100% นั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะคนเราอย่าว่าแต่นั่งอยู่ใกล้ๆกันเลย ถึงนั่งไกลกันเขาหายใจเอาลมออกมาแป๊บเดียวลมนั้นก็กระจายไปทั่วทั้งโถงหรือทั้งลาน แล้วเราก็หายใจเอาลมเก่าของเขาเข้ามาในตัวเรา แปลว่าเราแยกจากคนอื่นเด็ดขาดไม่ได้แล้วใช่ไหม เพราะลมหายใจซึ่งเป็นขยะที่คนอื่นหายใจออกมา เราหายใจเอาเข้ามาสร้างเป็นร่างกายของเราเสียแล้ว นี่แสดงว่าคอนเซ็พท์ที่ว่าทุกชีวิตแยกจากกันได้เด็ดขาดนั้นก็ไม่จริงแล้ว
หรือเช่นอาหารอร่อยๆที่เรากินอยู่นี่ สมมุติว่าเป็นแฮมเบอร์เกอร์ มันมาจากไหน มันมาจากดินนะ ทั้งวัวที่โตมาจากหญ้า และข้าวสาลีที่ปลูกจากดิน แล้วดินมาจากไหน ก็อึและฉี่ของคนและสัตว์ต่างๆนั่นไงที่ประกอบกันเป็นส่วนหนึ่งของดิน พืชดูดเอาไปสร้างเป็นใบดอกผล เราเอามากินเป็นอาหาร แสดงว่าร่างกายของเรานี้ก็มาจากอึและฉี่ของคนอื่นและสัตว์อื่น ดังนั้นคอนเซ็พท์ที่ว่าเรากับคนอื่นเป็นคนละคนกันแบบ 100% ก็ไม่จริง เพราะร่างกายของเรากับของคนอื่นมันมีความเชื่อมโยงกันผ่านอาหารที่เรากิน
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคอนเซ็พท์ที่ว่าตัวเราไม่ควรมีเชื้อโรคเลยก็ไม่จริง เพราะในร่างกายคนทุกคนนับตั้งแต่ผิวหนังเข้าไปจนถึงข้างในมีแบคทีเรีย รา ไวรัส พยาธิ สิงสถิตย์อยู่นับจำนวนแล้วมากกว่าเซลร่างกายของเราเสียอีก ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่เป็นชนิดก่อโรคได้ เพียงแต่มันยังไม่กำเริบเพราะมันอยู่กันแบบสุขสงบได้อยู่เท่านั้น แล้วอย่างนี้จะมาปักหลักยึดมั่นว่าตัวเราต้องไม่มีเชื้อโรคเลย มันจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นต้น
ขั้นที่ 4. พาลูกออกไปใช้ชีวิตในลักษณะที่ต้องผจญกับความจำเป็นเร่งด่วน หรือการต้องร่วมมือพึ่งพาอาศัยกันและกันกับคนอื่นบ่อยๆ เช่นพาลุยฝนลุยโคลนหรือลุยน้ำกระเด็นแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องโดนฝอยน้ำบ้าง ให้หัดปั้นดินเหนียวบ้าง หัดก่อปราสาททรายบ้าง พาไปจ่ายตลาดที่ต้องรับของรับเงินทอนจากมือแม่ค้าบ้าง ไม่รับก็ไม่ได้เพราะไม่งั้นก็ไมได้ของ พากินอาหารในร้านซกมกบ้าง พาเดินทางนอนค้างอ้างแรมในโรงแรมที่ไม่ค่อยสะอาดบ้าง ไม่นอนก็ไม่ได้เพราะไม่มีที่นอนแล้ว ทำแบบนี้ภาษาหมอเรียกว่า desensitization คือค่อยๆสร้างความด้านชาขึ้นมาทีละน้อยๆ
ขั้นที่ 5. แล้วจึงจะมาค่อยๆทำจิตบำบัดแบบ CBT เรื่องนี้มันลึกซึ้งและยากสำหรับคนเป็นครูหรือคนเป็นผู้บำบัด(therapist) เท่านั้น ส่วนสำหรับคนเป็นนักเรียนหรือเป็นผู้ป่วยนั้นมันไม่ยากดอก พูดง่ายๆว่าจะทำได้หรือไม่ได้มันอยู่ที่คุณ ไม่ได้อยู่ที่ลูกที่เป็นผู้รับการรักษา เพราะคนจะเป็น therapist ได้ต้องหัดบำบัดตัวเองให้ชำนาญก่อน ในการบำบัด ผู้บำบัดจะเป็นผู้ชี้นำ ขณะที่ผู้ป่วยเป็นผู้ร่วมมือ สองคนทำงานร่วมกัน ขั้นตอนมันมีหลักการใหญ่อยู่ห้าขั้น ดังนี้
1. Aware of a thought สังเกตความคิดอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในใจให้เป็นก่อน เพราะพฤติกรรมผิดแผกเพื่อนมนุษย์ที่ทำอย่างซ้ำซาก เกิดจากความคิดอัตโนมัติที่โผล่ขึ้นมาเองในหัวเสมอ ความสามารถในการสังเกตเห็นว่ามีความคิดอัตโนมัติเกิดขึ้นมาเองนี่แหละที่เป็นเหตุให้ Aron Beck คิดวิธี CBT ขึ้นมาได้ ทั้งนี้นักบำบัดต้องสอนให้ผู้ป่วยหัดแยกว่าการสังเกตความคิด (aware of a thought) เป็นคนละเรื่องกับการคิด (thinking a thought) คือเราเป็นผู้รู้ว่าเรากำลังคิด ไม่ใช่เราเป็นผู้คิด
2. Conceptualization จับสาระหรือประเด็นของความคิดให้ได้ ว่าประเด็นใดของความคิดที่เป็นปัญหานำไปสู่พฤติกรรมซ้ำซากเกินพอดีจนตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อน เช่นความกลัวเชื้อโรคคือต้นเหตุของการย้ำทำเรื่องการล้างมือ เป็นต้น
3. Thought Inquiry ทำการสอบสวนความคิดน้้น ด้วยตรรกะ ความเป็นเหตุเป็นผล ไล่เลี่ยงกันไปเป็นลำดับเพื่อพิสูจน์ให้ได้ตอนจบว่าความคิดนั้นไม่เป็นความจริง เช่น จุลชีวิตหรือเชื้อโรคมันน่ากลัวขนาดนั้นจริงหรือเปล่า ถ้าจริงทำไมมีจุลชีวิตจำนวนมากอาศัยอยู่ในร่างกายเราแล้วเราไม่เห็นเป็นอะไรเลย จริงหรือเปล่าที่เราล้างมือบ่อยขนาดนี้เราจึงไม่ติดเชื้อ ไปดูคนอื่นที่เขาไม่ได้บ้าล้างมือมากอย่างเราเขาติดเชื้อมากกว่าเราจริงหรือเปล่า
4. Reality testing พิสูจน์ความคิดนั้นในสถานะการณ์จริง อันนี้ก็คือการลงมือทดลองหรือการทำวิจัยเล็กๆ เช่น มาทำการวิจัยดูนะ ลูกล้างมือวันละกี่ครั้ง แม่ล้างมือวันละกี่ครั้ง จดบันทึกไว้ ทำอย่างนี้สักเจ็ดวันนะ แล้วมาดูว่าอัตราการป่วยจากการติดเชื้อของแม่กับของลูกจะต่างกันไหม เป็นต้น
5. Thought dismissal ทิ้งความคิดที่ไม่เป็นจริงนั้นเสีย โดยมีขั้นตอนปฏิบัติย่อยคือขั้นตอนที่หนึ่งคือการลงทะเบียนความคิดที่สอบสวนแล้วว่าไม่เป็นความจริงไว้เป็นข้อๆ และขั้นตอนที่สองคือการทิ้งหรือหันหลังให้ความคิดนั้นทันทีที่ความคิดนั้นโผล่กลับมาอีก ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยทักษะที่ได้จากการฝึกนั่งสมาธิช่วย
จะว่ายากก็ยากใช่ไหมครับ ในเมืองไทยถึงไม่มีใครทำอาชีพนักบำบัดด้วยวิธี CBT กันเท่าไหร่ แต่ว่าคุณเป็นแม่ ความรักลูกจะทำให้คุณทำให้ลูกได้นะครับ ลองดู
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์