นพ.สันต์ คุยกับคุณมีชัย วีระไวทยะ
ผมได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับคุณมีชัย วีระไวทยะ ในโอกาสที่ท่านมาพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกายที่เวลเนสวีแคร์ ผมเห็นว่าเรื่องที่คุยกันจะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลัง จึงสรุปความมาเล่าไว้ตรงนี้
คุณมีชัย
ก่อนที่จะพูดคุยอะไรกัน ผมขอพูดก่อนนะ ผมอยากจะขอบคุณน้องๆเจ้าหน้าที่ของเวลเนสวีแคร์ทุกคนที่เอาใจใส่ดูแลผมเป็นอย่างดี และผมอยากจะพูดว่าผมดีใจที่ได้มาพักผ่อนในสถานที่ heavenly beautiful อย่างนี้ และอากาศก็เย็นสบายดีเหลือเกิน
นพ.ส้นต์
ผมจะไม่คุยกับท่านในเรื่องทั่วๆไปดอกนะครับ การได้พบกับท่านนี่เป็นโอกาสดี เรื่องที่เราจะคุยกันมันอาจเป็น legacy หรือเป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ประเด็นแรกผมอยากจะคุยถึง creativity ผมหมายถึง อะไรนะ ..คิดคำไม่ออก
คุณมีชัย
สร้างสรรค์
นพ.ส้นต์
creativity สร้างสรรค์ และนวัตกรรม ใช่..ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม คือผมสงสัยว่ามันเริ่มมาจากไหน เพราะถ้าผมจะพูดว่าในบรรดาคนไทยที่ผมรู้จัก ท่านเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงที่สุด ผมว่าผมพูดไม่ผิดนะ แถมเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้การได้จริงๆเห็นๆในระยะยาวอีกด้วย ผมอยากรู้ว่ามันเริ่มต้นอย่างไร ในกรณีของท่านมันเกิดมาจากไหน แล้วทำไมเด็กไทยของเราจึงขาดสิ่งนี้
คุณมีชัย
ผมไม่รู้เหมือนกัน คงเป็นเพราะการสอนของคุณพ่อคุณแม่กระมัง คุณพ่อคุณแม่ของผมเป็นหมอทั้งคู่ ท่านสอนผมให้เห็นมุมมองของการให้ การที่คนมีมากกว่าจะต้องแชร์ให้กับคนที่มีน้อยกว่า ทุกครั้งที่จะทำอะไรมุมมองนี้มันจะเข้ามาเปิดให้เห็นทางเลือกต่างๆ
นพ.ส้นต์
อย่างเช่นการเริ่มต้นงานวางแผนครอบครัว ซึ่งผมถือว่าเป็น creativity ที่เจ๋งที่สุดในยุคนั้น มันเริ่มต้นอย่างไรหรือ ทำไมท่านถึงเกิดความคิดแบบนี้ขึ้นมาได้
คุณมีชัย
มันเริ่มจากการตั้งคำถาม อะไร ทำไม อย่างไร แล้วพยายามตอบคำถามเหล่านั้น ความคิดใหม่ๆมันจะเกิดขึ้นจากพยายามตอบคำถามที่ตั้งขึ้น ผมจบมาจากออสเตรเลียใหม่ๆ มีคนมาเสนองานให้หลายเจ้า เจ้าหนึ่งเป็นบริษัทน้ำมัน กินเงินเดือนสูง ทำงานครึ่งวัน ตกบ่ายก็ไปตีกอลฟ์ แต่คุณแม่ของผมบอกว่า สำหรับแม่ลูกนี่เป็นยิ่งกว่าเพชรนะ เพราะเงินทองที่แม่ส่งเสียให้เรียนนั้นมากกว่ามูลค่าของเพชรหลายเท่า ถ้าลูกจะเลือกงานที่สบายแต่ไม่เกิดผลดีต่อคนยากคนจน มันก็ไม่คุ้ม ผมก็จึงตัดสินใจไปทำงานสภาพัฒน์ ไปอยู่หน่วยประมวลผลโครงการซึ่งทำให้มีโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศไทย
การทำโครงการสมัยนั้นคนทำก็มุ่งแต่จะทำโครงการให้เสร็จ ไม่รู้หรอกว่าชาวบ้านที่เราไปทำโครงการให้เขาเขาอยากได้อะไร อย่างเขาต้องมีที่ตากข้าว แต่เราพัฒนาไปทำถนนราดยางที่ตากข้าวของเขาหายไปเสียละ ผมเข้าไปในหมู่บ้าน โอ้โฮ มีแต่เด็กยั้วเยี้ย สมัยนั้นเฉลี่ย 1 ครอบครัวมีลูก 7 คน (แต่ตอนนี้อัตราการมีลูกต่อครอบครัวเหลือไม่ถึงสองคนแล้ว) แล้วจะอยู่กันยังไงจะเอาอะไรมากิน ผมจึงเข้าหาผู้ใหญ่เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ท่านทำเรื่องการวางแผนครอบครัว (เอ่ยชื่อรัฐมนตรีในรัฐบาลทหารสมัยนั้น) แต่ท่านไม่เอาด้วย ผมก็ถอยมาตั้งคำถามว่าทำไมท่านถึงไม่เอาด้วย ปรับวิธี แล้วเข้าไปใหม่ ทำอย่างนี้อยู่หลายรอบก็ไม่สำเร็จ ผมก็สงสัยว่าทำไม ในที่สุดผมก็สืบรู้ว่าเพราะท่านมีที่ปรึกษาอยู่คนหนึ่งซึ่งคอยหยอดความคิดให้ท่านถึงทฤษฎีที่ว่าเมื่อทรัพยากรที่มีอยู่งวดลง จำนวนประชากรจะจำกัดตัวมันเองลงอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมาวางแผนครอบครัวอะไรให้ยุ่งยากหรอก ผมก็แอบตามไปศึกษาทฤษฎีที่ว่านั้น อ้อ มันมีอยู่จริงแฮะ แต่มันเป็นทฤษฎีที่พูดถึงการจำกัดประชากรของแพะ ไม่ใช่คน
นพ.ส้นต์
ฮ้า..ฮ่า
แล้วท่านใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ยังไงถึงผ่านตรงนั้นมาได้
คุณมีชัย
ผมถามตอบตัวเองไปหลายๆทางเลือก ในที่สุดก็จบที่ต้องออกมาทำนอกระบบราชการ จึงได้ตั้งสมาคมขึ้นมา ไปเอาเงินฝรั่งมาทำ แต่การจะแจกยาคุมแจกถุงยางเมืองไทยนี้มีตั้งเจ็ดหมื่นหมู่บ้านจะไปเอาใครที่ไหนมาแจก ผมอบรมครูทั่วประเทศ และก็ไปถามชาวบ้านว่าเขาไว้ใจใครมากที่สุดที่จะให้อธิบายวิธีคุมกำเนิดและแจกอุปกรณ์ให้เขา ส่วนใหญ่ก็จะเลือกร้านชำในหมู่บ้าน ก็จึงเป็นจุดกำเนิดของอาสาสมัครวางแผนครอบครัว ซึ่งกลายมาเป็นอสม.ทุกวันนี้ เพราะพอทำไปได้หมื่นกว่าหมู่บ้านองค์กรต่างประเทศเห็นผลงานก็ให้ทำต่อทั่วประเทศผมก็บอกมันไม่ไหวเพราะผมไม่ใช่รัฐบาล เขาก็คุยกับรัฐบาล พอดีคุณหมออมร (นพ.อมร นนทสุต) มาเป็นปลัดกระทรวงสมัยนั้นและรับลูกต่อ ผสส. และอสม.จึงขยายจำนวนขึ้นและขยายบทบาทเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
นพ.สันต์
อ้อ ผมก็เพิ่งทราบนะเนี่ย สมัยผมยังเรียนแพทย์ อาจาร์ยอมรเคยมาบรรยายให้ชั้นเรียนของผมฟังเรื่องผสส. (ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข) และอสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ผมยังนึกในใจว่ามันเป็น creativity ที่จ๊าบมาก ที่แท้จุดกำเนิดของคอนเซ็พท์การสาธารณสุขมูลฐานมันมาจากท่านนี่เอง
แล้วเรื่องการควบคุมโรคเอดส์ละครับ
คุณมีชัย
พอมีเอดส์เกิดขึ้นมาผมร้อนใจว่าเมื่อคนหนุ่มคนสาวต้องมาตายกันมากอย่างนี้สิ่งดีๆที่อุตสาห์ทำกันมาก็จะไร้ความหมาย แต่ขณะนั้นทุกคนในรัฐบาลทุกคนปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีเอดส์อยู่ท่าเดียว ผมวิ่งไปหา … (เอ่ยชื่อรัฐมนตรีรุ่นหลังอีกท่านหนึ่ง) เขาส่ายหัวเดียะว่าไม่ได้ จะทำเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะพังหมด ผมก็ถอยออกมาตั้งคำถามอะไร ทำไม อย่างไร ใหม่ แล้วก็ตัดสินใจเข้าหาบิ๊กจิ๋ว แสดงข้อมูลให้ท่านดู ว่าถ้าไม่ทำอะไรอีกหน่อยทหารเกณฑ์จำนวนมากจะเป็นคนป่วยโรคเอดส์ ท่านตกใจและเห็นคล้อยตามและถามผมว่าจะให้ช่วยอะไร ผมบอกว่าขอยืมสถานีวิทยุของทหารซึ่งมีอยู่สามร้อยกว่าสถานี การให้ความรู้เพื่อป้องกันโรคเอดส์จึงเริ่มได้จากตรงนั้น
นพ.สันต์
สรุปว่าในแง่ของ creativity มันเริ่มด้วยการตั้งคำถาม และพยายามตอบออกมาเป็นทางเลือกที่หลากหลายแล้วก็เลือกทำ แล้วทำไมเด็กไทยของเราจึงไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ละครับ ท่านมองว่าระบบการศึกษาของเรามันบกพร่องตรงไหนจึงสร้างสิ่งนี้ขึ้นในตัวเด็กไม่ได้
คุณมีชัย
ผมไม่ใช้คำว่าบกพร่องนะ เพราะทุกยุคทุกสมัยทุกคนก็พยายามจะทำสิ่งดีๆ เพียงแต่ว่าเด็กของเราไม่ได้ถูกสอนให้ตั้งคำถามและพยายามหัดค้นหาคำตอบให้คำถามนั้น ก็แค่คำถามในการใช้ชีวิตจริงนี่แหละ คำถามเรื่องการทำมาหากินเลี้ยงดูตัวเองนี่แหละ ทำให้พอเด็กเรียนหนังสือจบก็ทำอะไรไม่ได้เลยเพราะไม่รู้ว่าจะทำมาหากินเลี้ยงดูตัวเองอย่างไร เลยต้องวิ่งเข้าเมืองใหญ่ไปขายแรงงาน พอมีลูกก็ส่งมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง แล้วปู่ย่าตายายจะไปมีความสามารถดูแลเด็กในเรื่องต่างๆได้อย่างไรไม่ว่าจะเป็นเรื่องโภชนาการ เรื่องการทำมาหากินพึ่งพาตัวเอง ผมจึงไปทำโรงเรียน สอนให้เด็กตั้งคำถามและพยายามตอบคำถามแล้วลงมือทำ โรงเรียนของผมสอนให้เด็กทำธุรกิจด้วยตนเองเป็นตั้งแต่ปีแรกถึงปีสุดท้ายคือม.1ถึงม.6 ธุรกิจที่ง่ายที่สุดก็คือการเกษตร เริ่มตรงนี้ก่อน แล้วพัฒนาไป เดี๋ยวนี่ที่โรงเรียนของผมเด็กทำ tissue culture ได้ตั้งแต่ก่อนจบม.6 เรื่องแบบนี้เรียนกันในปีสี่มหาวิทยาลัย แต่เด็กมัธยมทำได้ ให้เด็กสร้างระบบไมโครเครดิต ให้กู้เงินมาทำธุรกิจ แล้วผมยังให้เด็กทำธุรกิจแบบปาท่องโก๋ คือให้เด็กที่เก่งแล้วจับคู่เป็นบัดดี้กับผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อทำธุรกิจด้วยกัน คือเมื่อเด็กทำเป็นแล้วก็ไปสอนผู้สูงอายุให้ทำธุรกิจเป็นด้วย เพราะผู้สูงอายุทุกวันนี้มีอายุยืนขึ้น จะนั่งรอให้ใครมาเลี้ยงก็คงไม่ไหวแล้ว ต้องทำธุรกิจเลี้ยงตัวเอง
นพ.สันต์
ให้ผู้สูงอายุทำเกษตร แล้วจะเอาผลผลิตไปขายให้ใครละครับ
คุณมีชัย
ก็ให้โรงเรียนนั่นแหละ เป็นศูนย์กลางรับซื้อ เพราะโรงเรียนมีทุกอย่างที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจในหมู่บ้าน ทั้งอาคาร ที่ดิน กำลังคน อย่างน้อยโรงเรียนทั่วประเทศได้งบอาหารกลางวันปีละสามหมื่นล้าน เอางบนี้แหละมาซื้อวัตถุดิบอาหารที่ผลิตโดยผู้สูงอายุในชุมชนรอบโรงเรียนมาทำอาหารกลางวันให้นักเรียนกิน
นพ.สันต์
มาคุยกันถึงประเด็นที่ 2 นะครับ คือเรื่องจิตใจที่ชอบเป็นผู้ให้ คือชีวิตของท่านมีแต่การทำงานให้กับสังคม และทำได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่สนใจที่จะทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ผมอยากจะรู้ว่าจิตใจที่ชอบเป็นผู้ให้นี้มันมาจากไหน และทำไมมันจึงอยู่กับท่านได้ยั่งยืนไม่เคยเปลี่ยน ทำอย่างไรจะให้เยาวชนของเรามีจิตใจอย่างนี้บ้าง
คุณมีชัย
มันเริ่มต้นด้วยการอบรมสั่งสอนของคุณพ่อคุณแม่ อย่างขับรถไปกันในกรุงเทพ มียายแก่ๆคอนกระบุงหนักเดินข้ามถนนขณะที่รถเก๋งที่มาเลนข้างๆก็บีบแตรไล่ คุณแม่ก็สอนว่านี่เจ้าคนนั้นเป็นคนบาปเห็นไหม คนที่มีเงินซื้อรถเก๋งนั่งสมควรต้องเห็นใจคนแก่หาบกระบุงหาเช้ากินค่ำ ที่ถูกต้องเขาควรจะดับเครื่องรถแล้วลงไปช่วยยายแก่ยกของ ไม่ใช่เอาแต่บีบแตรไล่ หรือเวลามีคนจนมาที่คลินิกของคุณพ่อคุณแม่พวกท่านก็จะให้การดูแลรักษาพวกเขาอย่างมีความสุขทั้งๆที่ไม่ได้เงิน สิ่งเหล่านี้ผมก็ซึมซับมา คือการมีความสุขกับการได้ช่วยคนที่ด้อยโอกาส ยิ่งทำยิ่งมีความสุข ยิ่งมีความสุขก็ยิ่งทำ
อย่างเด็กที่โรงเรียนของผมทุกคนจะต้องมีหนึ่งวันที่เด็ฏแต่ละคนจะต้องผลัดกันนั่งรถเข็น wheel chair ทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าคนที่ด้อยโอกาสยิ่งกว่าเรานั้นเขามีชีวิตที่ลำบากเพียงใด ผมให้เด็กทำโครงการสอนคนหูหนวกให้ปลูกผัก สอนนักเรียนโรงเรียนตาบอดให้รู้วิธีปลูกผัก คือสอนให้เด็กมีความสุขกับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยผมเน้นสอนให้ผู้ด้อยโอกาสพึ่งตัวเองได้ เหมือนสอนให้เขาตกปลาเองให้เป็นแทนที่จะเอาแต่ปลาไปให้เขา
นพ.สันต์
อีกประเด็นหนึ่งที่ค้างคาในใจผมมานาน คือเรื่อง retirement หรือการเกษียณอายุ คือผมสังเกตว่าท่านได้สร้างสรรคผลงานเพื่อสังคมมาต่อเนื่องตั้งแต่การป้องกันปัญหาประชากรมากเกิน การลดการตายจากโรคเอดส์ลงจนเป็นแม่แบบของประเทศอื่นๆทั่วโลก การเอาบริษัทที่ร่ำรวยไปทำงานกับคนจนในชนบท การทำโรงเรียนเพื่อเริ่มวิธีให้การศึกษาแบบให้เด็กคิดเองเป็น ทำเองได้ หลายๆอย่างท่านสร้างสรรค์ขึ้นมาในช่วงวัยเกษียณแล้ว ผมอยากฟังทัศนะของท่านต่อการเกษียณอายุ
คุณมีชัย
สำหรับผมใครมาถามผมว่าเมื่อไหร่จะเกษียณ ผมถือว่าดูถูกผมนะ
นพ.สันต์
อ้าว ฮะ..ฮะ ผมก็เผลอดูถูกท่านเข้าแล้วสิ
คุณมีชัย
คือผมถือว่าผมทำงานได้ผมก็จะทำของผมไปจนวันสุดท้าย สำหรับวันที่ได้ทำงานที่ผมรักวันนั้นคือวันหยุด ทุกวันของผมเป็นวันหยุด holiday ไม่มีคำว่าเกษียณ
นพ.สันต์
ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากถามท่าน คือทั้งผมและท่านต่างก็แก่แล้ว คือผมอยากจะถามเรื่องความตาย ว่าท่านมองมันอย่างไร ท่านกลัวตายไหม
คุณมีชัย
สมัยหนุ่มๆผมกลัวตายนะ ผมกลัวว่าผมตายไปแล้วจะไม่มีใครมาช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศชาติ ฮะ..ฮะ…ฮ่า
แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่คิดอย่างนั้นแล้ว ผมยอมรับว่าความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอไม่มีใครหลบพ้น เดี๋ยวนี้ผมไม่กลัวแล้ว เพียงแค่ตั้งใจว่าจะไม่ทำอะไรที่กลายเป็นภาระให้แก่คนอยู่ข้างหลัง อย่างเช่นผมจะไม่สร้างหนี้สินทิ้งไว้ให้คนข้างหลังเดือดร้อน เมื่อถึงเวลาตายก็ตาย ไม่มีการเตรียมการรอเป็นพิเศษ ก็แค่ทำงานไปจนวันสุดท้าย
……………………………………………………………….
(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)