COVID-19 กับวิธีกินอาหารเพื่อบำรุงภูมิคุ้มกัน

ซีที.ปอดของผู้ป่วยโควิด19 มีปอดบวมกระจายที่ชายปอดสองข้าง
     สมัยผมหนุ่มๆเป็นเด็กบ้านนอกมากรุงเทพขึ้นรถเมลหลงสายหลงทิศเป็นประจำ คนบ้านนอกสมัยนั้นมีหลักว่าถ้าหลงทางก็ "กลับไปตั้งต้นที่สนามหลวง" เพราะสมัยนั้นรถเมลเกือบทุกสายวิ่งผ่านสนามหลวง

     โควิด19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มียาที่ปราบมันได้สนิท ไม่มีวัคซีน การรับมือกับโควิด19 จึงต้องถอยกลับไปตั้งต้นที่สนามหลวง นั่นคือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเป็นปราการที่แน่นอนที่สุดในการรับมือกับโรคภัยเกือบทุกชนิด

     ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immunity System) มีกลไกการทำงานเป็นสองชั้น คือชั้นแรกเป็นระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่เจาะจง ชั้นที่สองเป็นแบบเจาะจง วันนี้เราคุยกันแต่เรื่องของชั้นแรกที่ว่าเป็นแบบไม่เจาะจง (Innate immune system) ก่อน มันหมายถึงกลไกสกัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมแบบครอบจักรวาลไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคจะเป็นใครมาจากไหนเคยมาแล้วหรือหน้าใหม่ก็สกัดได้หมด ซึ่งยังแยกย่อยออกไปได้เป็นอีกหลายระบบย่อย ได้แก่

     1. ปราการด่านนอก (External barrier) เช่นผิวหนัง แต่ผิวหนังเองไม่ได้ห่อหุ้มและแยกร่างกายออกจากสิ่งแวดล้อมได้ถึง 100% เพราะยังมีจุดเปิดหลายจุด เช่นทางเดินลมหายใจที่พาเอาอากาศจากภายนอกลงไปได้ถึงเนื้อปอด ทางเดินอาหารที่นำอาหารจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายและเดินทางลงไปได้ถึงลำไส้ก่อนที่จะออกไปทางทวารหนัก แก้วตาที่ต้องเปิดผิวหนังออกเพื่อให้มองสิ่งแวดล้อมเห็น ทางเดินปัสสาวะที่แม้จะเป็นช่องที่มีไว้เปิดขับน้ำปัสสาวะออกเป็นทางเดียวแต่ก็เป็นทางเปิดที่ไม่มีฝาปิดจึงมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเดินทางย้อนเข้าไปได้ อวัยวะสืบพันธ์ที่เปิดรับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ร่างกายมีจึงกลไกอย่างง่ายเพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมจะเข้าสู่ร่างกายผ่านจุดเปิดเหล่านี้ เช่น ปากทางเข้าที่จำเป็นต้องเปิดไว้ตลอดเวลาเช่นรูจมูก หรืออวัยวะเพศหญิงก็มีขนคอยดักฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมไว้ มีกลไกการไอ และจาม เพื่อขับไล่เอาเชื้อโรค ฝุ่นละออง และเสมหะ ออกมาจากทางเดินลมหายใจ มีขนพัดโบกของเซลล์เยื่อบุหลอดลมช่วยพัดโบกขับหยดเสมหะให้ออกมาขณะไอ มีกลไกการปล่อยน้ำตาให้ไหลผ่านแก้วตาเพื่อคอยชะล้างเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ มีกลไกสร้างเสมหะออกมาเคลือบทางเดินลมหายใจเพื่อหุ้มห่อเชื้อโรคให้อยู่ในสภาพที่ร่างกายขับออกไปได้โดยง่าย มีกลไกสร้างเมือกออกมาเคลือบเยื่อบุผิวลำไส้เพื่อดักจับและพาเอาเชื้อโรคออกไปทางทวารหนัก ขณะเดียวกันร่างกายก็สร้างสารเคมีทำลายเชื้อโรคใส่ไว้ตามจุดต่างๆเช่นสารดีเฟนซิน (defensins) ที่ผิวหนัง น้ำย่อยไลโซไซม์ที่เจือปนไว้ในน้ำลาย สารต้านบักเตรีในน้ำนม เป็นต้น นอกจากนี้ร่างกายยังมีวิธีปล่อยให้บักเตรีที่เป็นมิตรได้มีโอกาสเติบโตภายในร่างกายเพื่อเอาไว้ถ่วงดุลไม่ให้เชื้อโรคที่มีพิษเติบโตจนก่อโรคต่อร่างกาย เช่นปล่อยให้มีบักเตรีโดเดอรีนเติบโตตั้งบ้านเรือนอยู่ในช่องคลอด ปล่อยให้มีบักเตรีแล็คโตบาซิลลัสตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ลำไส้ เป็นต้น

     เพื่อที่จะช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในส่วนนี้เราใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เช่นหน้ากาก ถุงมือ เสื้อแขนยาวหรือเอี้ยมพลาสติก และฝึกนิสัยไม่แคะแกะเกาจมูกไว้เป็นด่านปราการชั้นนอกไว้อีกชั้นหนึ่ง

     2. กลไกการอักเสบ (Inflammation)
     หากปราการชั้้นนอกล้มเหลว เชื้อโรคบุกเข้ามาชั้นในได้ ร่างกายก็อาศัยการก่อปฏิกริยาการอักเสบเป็นตัวทำลายเชื้อโรค ตั้งต้นจากเซลล์พิเศษที่มีแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อทั่วไปเช่นเซลล์มาโครฟาจ (macrophage) เซลล์พวกนี้มีความสามารถพิเศษที่แยกแยะหน้าตาของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมได้ว่าแตกต่างจากเซลล์ร่างกายอย่างไร เมื่อมันพบเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม มันจะปล่อยสารก่อการอักเสบออกมาหลายชนิด สารเหล่านี้บางตัวเช่นพรอสตาแกลนดินจะทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัวและมีอาการเป็นไข้ บางตัวเช่นเลียวโคเทรนจะเป็นตัวดึงเอาเม็ดเลือดขาวเข้ามาเก็บกินเชื้อโรค บางตัวเช่นอินเตอร์เฟียรอนมีคุณสมบัติช่วยต้านไวรัสและเซลล์มะเร็งด้วยกลไกที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายสุดท้ายคือขจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมให้หมดไปจากร่างกาย

      3. ปราการระดับเซลล์ (Cellular barrier)

     ด่านนี้คือเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีหลากหลายชนิด แต่ละตัวทำหน้าที่ค้นหาและจับกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องรอใครมาช่วยเหลือหรือสั่งการ ปกติเม็ดเลือดขาวจะลาดตระเวนไปทั่วร่างกาย แต่หากได้รับสัญญาณว่ามีการปล่อยสารก่อการอักเสบออกมาที่ไหน เม็ดเลือดขาวจำนวนมากก็จะเฮโลไปออกันที่นั่น

     ระบบของร่างกายมีเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งชื่อ “เซลล์นักฆ่าโดยธรรมชาติ” (natural killer cell หรือ NK) มันทำงานด้วยตัวเองตัวเดียวโดดๆแบบนักสู้ผู้รักชาติไม่ต้องรอรับคำสั่งจากใคร โดยวิธีเที่ยวลาดตระเวนมองหาว่าเซลล์ร่างกายเซลล์ไหนที่มีลักษณะไม่สมประกอบหรือถูกเชื้อโรคเจาะเข้าไปอยู่ข้างใน เมื่อพบเซลล์อย่างนั้นก็จับกินทำลายเซลล์นั้นเสีย

     4. ระบบช่วยฆ่า (Compliment system)

     ระบบนี้ประกอบด้วยโมเลกุลวัตถุดิบ (pro-protein) ที่ผลิตออกมาจากตับและมีล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดอยู่ตลอดเวลาก่อนแล้วเป็นจำนวนสามสิบกว่าชนิด ทันทีที่ถูกกระตุ้นโดยเชื้อโรค หรือโดยปฏิกิริยาระหว่างเชื้อโรคกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย โมเลกุลวัตถุดิบตัวแรกจะถูกกระตุ้นให้กลายเป็นโปรตีนที่ออกฤทธิ์ได้เองและไปกระตุ้นโมเลกุลวัตถุดิบตัวที่สอง ตัวที่สองกระตุ้นตัวที่สามเป็นทอดๆไปอีกหลายทอด แล้วโมเลกุลที่ออกฤทธิ์ได้ทุกตัวจะมารุมเคลือบผิวเซลล์ของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม ด้านหนึ่งช่วยกันเจาะให้เซลล์แตก อีกด้านหนึ่งก็ทำตัวเป็นกาวเชื่อมผิวเซลล์เชื้อโรคเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวและโมเลกุลภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อให้การจับทำลายเซลล์เชื้อโรคทำได้ง่ายขึ้น (กาวเชื่อมนี้จะไม่เวอร์คถ้าบรรยากาศรอบๆมีไขมันมาก นั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่ไขมันในเลือดสูงและคนอ้วนภูมิคุ้มกันโรคถึงไม่ดี)
     การทำงานของระบบช่วยฆ่าเป็นสงครามระดับล้างผลาญ เหตุการณ์เกิดขึ้นที่อวัยวะไหนอวัยวะนั้นก็อ่วมอรทัย ในกรณีของโควิด19 เหตุการณ์เกิดที่ปอด ผมเอาภาพซีที.ปอดของผู้ป่วยที่หวู่ฮั่นมาให้ดูจะเห็นว่าเกิดปอดบวมรุนแรงกระจายไปทั่วชายปอดทั้งสองข้าง ทั้งหมดนี้เป็นผลจากสงครามที่ระบบช่วยฆ่าก่อขึ้น แพ้หรือชนะก็ตัดสินกันที่สนามรบที่ปอดนี่แหละ

     เราจะช่วยระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ชนะได้อย่างไร

     ระบบภูมิคุ้มกันทำงานด้วยตนเองอย่างอิสระก็จริง แต่แท้จริงแล้วมันอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบอื่นของร่างกายและวิธีที่เราใช้ชีวิต ซึ่งนอกจากการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนตัวแล้ว ยังมีอย่างอื่นที่เราจะช่วยระบบภูมิคุ้มกันได้ กล่าวคือ

     (1) สมอง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากขึ้นหรือน้อยลงได้โดยสมองส่งโมเลกุลข่าวสาร (cytokines) ซึ่งเป็นข่าวสารที่ส่งถึงเม็ดเลือดขาวได้โดยตรงผ่านไปทางกระแสเลือดโดยไม่ต้องอาศัยเส้นประสาทใดๆ เหมือนเราเขียนข่าวสารในรูปอีเมลปล่อยเข้าอินเตอร์เน็ท โมเลกุลที่ผลิตออกมานี้มีสองชนิด ยามใดที่จิตใจร่าเริงแจ่มใสมีชีวิตชีวาสมองก็จะผลิตไซโตไคน์ชนิดที่สั่งให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานมากขึ้น แต่ยามใดที่จิตใจหดหู่ซึมเศร้าก็จะผลิตไซโตไคน์ชนิดที่สั่งให้เม็ดเลือดขาวทำงานน้อยลง ดังนั้นในยุคโควิด19 ต้องวางความคิดลบใดๆลงไปเสีย หากจะติดให้คิดแต่ทางบวก แจ่มใส ไม่หดหู่

     (2) การออกกำลังกาย เพิ่มภูมิคุ้มกันผ่านการผลิตสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งทำให้ให้จิตใจร่าเริง

     (3) การนอนหลับ งานวิจัยพบว่าการผลิตโมเลกุลข่าวสารเกี่ยวกับการอักเสบชนิดสั่งให้เม็ดเลือดขาวทำงานมากขึ้นจะผลิตได้ดีช่วงนอนหลับฝัน ดังนั้นการอดนอนจึงทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง การอดนอนนอกจากจะทำให้ภูมิคุ้มก้นลดลงแล้วยังทำให้ป่วยเป็นโรครุนแรงได้หลายโรคเช่นโรคสมองเสื่อม โรคหัวใจ โรคอ้วน เป็นต้น งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าคนที่นอนน้อยกว่าวันละ 5 ชั่วโมงจะเป็นหวัดบ่อยกว่าคนที่นอนมากกว่าวันละห้าชั่วโมง

     ในกรณีที่นอนหลับยาก นอกจากการฝึกสมาธิ วางความคิดให้หมดเกลี้ยงก่อนนอนแล้ว ลองเปลี่ยนอาหารโดยเพิ่มปริมาณผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว ให้มากขึ้น เพราะงานวิจัยหนึ่งพบว่าอาหารที่มีกากมากโดยมีไขมันต่ำเหล่านี้ทำให้หลับได้ลึกขึ้น

     (4) ระวังฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอย (สะเตียรอยด์) ซึ่งผลิตจากต่อมหมวกไตในภาวะเครียด มันมีฤทธิ์กดหรือระงับการทำงานเซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันโดยรวมโดยตรง ทำให้ติดเชื้อง่าย ฮอร์โมนนี้ออกมาในภาวะเครียด ดังนั้นช่วงนี้อย่าเครียด มิฉะนั้นจะติดเชื้อง่าย

      (5) แสงแดดและวิตามินดี. เม็ดเลือดขาวชนิดที.เซลล์จะทำงานได้ต้องอาศัยวิตามิน ดี. ซึ่งมักจะมีระดับต่ำกว่าปกติในผู้สูงอายุ การขาดวิตามิน ดี.ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง งานวิจัยพบว่าการกินวิตามินดี.เสริมอาจช่วยลดการติดเชื้อไวรัสและติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบนโดยการลดการผลิตสาร pro-inflammatory compound ทำให้การอักเสบลดลง [1,2] งานวิจัยที่ผมทำด้วยตัวเองกับผู้ใหญ่คนไทยที่มีสุขภาพดี 211 คนและตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Bangkok Medical Journal [3] พบว่าคนไทยวัยผู้ใหญ่ประมาณหนึ่งในสามขาดวิตามินดี. เนื่องจากวิตามินดี.มีน้อยในอาหารธรรมชาติแต่ร่างกายได้มาจากแสงแดด ดังนั้นช่วงนี้ต้องขยันออกแดด เปิดแขนเปิดขาอ้าซ่ารับพลังงานจากแสงอาทิตย์ทุกวัน ถ้าไม่มีแดดให้ออกก็ควรกินวิตามินดี.ทดแทน อาจจะกินตามขนาดอาหารแนะนำ (recommended dietary allowance) คือวันละ 400-800 IU แต่บ้างก็มีสูตรการกินของตัวเองเป็นสองเท่าสามเท่าหรือแม้กระทั่งสิบเท่าของ RDA อันนั้นเรื่องของใครของมันแล้วครับ

     (ุ6) อาหารบำรุงภูมิคุ้มกัน เพราะมีหลักฐานวิจัยเหลือเฟือที่บ่งชี้ว่าอาหารดีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นได้ ดังนั้นท่านผู้อ่านควรจะต้องรู้ว่านับถึงวันนี้วิทยาศาสตร์รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับอาหารบำรุงภูมิคุ้มกัน คือ

     ต้องกินอาหารไขมันต่ำที่มีปริมาณพืชมาก (low fat, plant-based) เพราะงานวิจัยพบว่าการกินอาหารไขมันสูงทำให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวเสียไป ทำให้กลไกการเชื่อมกาวให้ผิวเซลเชื้อโรคเชือมติดกับเซลของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสียไป นอกจากนี้ยังพบว่าอาหารมังสะวิรัติมีวิตามินซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมาก ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานดีขึ้น [5,6] และลดระดับตัวชี้วัดการอักเสบในร่างกายลงได้ และทำให้แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้เพิ่มขึ้น [7] ขณะที่การกินอาหารเนื้อสัตว์ทำให้ตัวชี้วัดการอักเสบในร่างกายสูงกว่ากินอาหารพืช [8]

     อาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำยังมีข้อดีที่ช่วยลดน้ำหนักให้คนอ้วน เพราะมันมีกากแยะมีแคลอรี่ต่ำแต่ก็ทำให้อิ่มโดยไม่อ้วนเพราะมันมีปริมาณแยะ เพราะความอ้วนสัมพันธ์กับการเป็นไข้หวัดใหญ่และปอดบวมมากขึ้น และการมีดัชนีมวลกายสูงก็สัมพันธ์กับการมีภูมิคุ้มกันต่ำลง [9]

     พืชผักผลไม้ให้วิตามินเช่นเบต้าแคโรทีน ซึ่งลดการอักเสบและเพิ่มภูมิคุ้มกัน

     วิตามินซี. และ วิตามินอี. เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง วิตามินซีมีมากในส้ม บร็อคโคลี มะม่วง มะนาว ผลไม้อื่นๆ และผัก วิตามินอี.มีมากในนัท เมล็ดพืช และบร็อคโคลี

     งานวิจัยพบว่าการกินวิตามินซี.เสริมไม่ช่วยลดอุบัติการติดเชื้อหวัดในภาวะปกติ แต่การวิจัยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่ในภาวะเครียด เช่นนักวิ่งมาราธอน นักแข่งสกีทางไกล การกินวิตามินซี.เสริมช่วยลดอุบัติการติดเชื้อหวัดลงได้ [10]

     สังกะสีเป็นธาตุรองที่จำเป็นในการช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาว อาหารที่เป็นแหล่งของสังกะสีได้แก่ นัท เมล็ดฟักทอง เมล็ดงา ถั่วต่างๆ
 
     นอกจากนี้อาหารพืชเป็นหลักยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆหลากหลายซึ่งช่วยลด oxidative stress อันเป็นปัจจัยกดภูมิคุ้มกันโรคลงได้ [11]
 
     สรุป

     ในยุคโควิด19 นี้หมอสันต์แนะนำให้บำรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วยการ (1) อย่ากินไขมันมาก (2) อย่าอ้วน (3) อย่าอดนอน นอนหลับให้มากๆ ยิ่งฝันแยะยิ่งดี (4) ขยันออกกำลังกาย (5) อย่าเครียด  (6) ขยันออกแดดหรือกินวิตามินดีเสริม (7) กินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (8) ถ้าร่างกายและจิตใจตกอยู่ในภาวะเครียดมาก แนะนำให้กินวิตามินซี.เสริม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Grant WB, Lahore H,. McDonnell SL, et al. Vitamin D supplementation could prevent and treat influenza, coronavirus, and pneumonia Infections. Preprints. 2020;2020030235;
2. Chung C, Silwal P, Kim I, Modlin RL, Jo EK. Vitamin D-cathelicidin axis: at the crossroads between protective immunity and pathological inflammation during infection. Immune Netw. 2020;20:e12-38.
3. Chaiyodsilp S, Pureekul T, Srisuk Y, Euathanikkanon C. A Cross section Study of Vitamin D level in Thai Office Workers. The Bangkok Medical Journal. 2015;9:8-11
4. Berenbaum, F.; van den Berg,W.B. Inflammation in osteoarthritis: Changing views. Osteoarthritis Cartilage 2015, 23, 1823–1824.
5. McAnulty, L.S.; Nieman, D.C.; Dumke, C.L.; Shooter, L.A.; Henson, D.A.; Utter, A.C.; Milne, G.; McAnulty, S.R. Effect of blueberry ingestion on natural killer cell counts, oxidative stress, and inflammation prior to and after 2.5 h of running. Appl. Physiol. Nutr. Metab. 2011, 36, 976–984.
6. Hutchison, A.T.; Flieller, E.B.; Dillon, K.J.; Leverett, B.D. Black currant nectar reduces muscle damage and inflammation following a bout of high-intensity eccentric contractions. J. Diet. Suppl. 2016, 13, 1–15.
7. Rinninella E, Cintoni M, Raoul P, et al. Food Components and Dietary Habits: Keys for a Healthy Gut Microbiota Composition. Nutrients. Published online October 7, 2019; SoldatiL , Di Renzo L, Jirillo E, Ascierto PA, Marincola FM, De Lorenzo A. The influence of diet on anti-cancer immune responsiveness. J Transl Med. 2018;16:75-93.
8. Ley, S.H.; Sun, Q.; Willett, W.C.; Eliassen, A.H.; Wu, K.; Pan, A.; Grodstein, F.; Hu, F.B. Associations between red meat intake and biomarkers of inflammation and glucose metabolism in women. Am. J. Clin. Nutr. 2014,99, 352–360. [CrossRef] [PubMed]
9. Eichelmann F ,  Schwingshackl L, Fedirko V, Aleksandrova K. Effect of plant-based diets on obesity-related inflammatory profiles: A systematic review and meta-analysis of intervention trials. Obes Rev.
10. Hemila H, Chalker E for Cochrane Acute Respiratory Infections Group.  Vitamin C for preventing and treating the common cold.  The Cochrane Library, DOI: 10.1002/14651858.CD000980.pub4. Accessed at http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/14651858.CD000980.pub4/abstract  on May 21, 2013
11. Tarazona-Díaz, M.P.; Alacid, F.; Carrasco, M.; Martínez, I.; Aguayo, E. Watermelon juice: Potential functional drink for sore muscle relief in athletes. J. Agric. Food Chem. 2013, 61, 7522–7528. [CrossRef] [PubMed];
12. Alwarawrah Y, Kiernan K, MacIver NJ. Changes in nutritional status impact immune cell metabolism and function. Front Immunol. 2018;9:1055-1069.
13. Haddad EH, Berk LS, Kettering JD, Hubbard RW, Peters WR. Dietary intake and biochemical, hematologic, and immune status of vegans compared with nonvegetarians. Am J Clin Nutr. 1999;70(3 Suppl):586S-593S.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67