นพ.สันต์ ตอบคำถามที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์

      นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ไปพูดในลักษณะเสวนาร่วมกับ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ในหัวข้อเรื่อง "การใช้ธรรมะเมื่อเจ็บป่วย" บทสนทนาทั้งหมดผู้จัดประชุมจะนำเผยแพร่ทางยูทูป ในบทความนี้ตัดมาเฉพาะที่นพ.สันต์ ตอบคำถามบางตอน

...........................................................

นพ.สันต์

     โอ้โฮ บรรยากาศของที่ประชุมนี้ศักดิ์สิทธิ์มากเลย ผมเข้ามา ผมรู้สึกจ๋อยเลยนะ (ห้องประชุมใหญ่มาก มีพระพุทธรูปตั้งบนเวทีกลางหอประชุม มีผู้ฟังกว่า 1000 คนขึ้นไป นั่งนิ่งเงียบกริบไม่มีเสียงจ๊อกแจ๊กจอแจ)

พิธีกร

     อยากให้คุณหมอพูดถึงประสบการณ์ของคุณหมอ ถึงทำอย่างไรเมื่อป่วย

นพ.สันต์

     ผมต้องออกตัวก่อนนะว่าพอผมกลายเป็นคนแก่แล้วสมองมันกลายเป็นคนไม่มีวาระ พูดง่ายๆว่าผมจำอะไรไม่ได้ อย่างวันนี้จะให้มาพูดเรื่องอะไรผมก็จำไม่ได้แล้ว แต่เมื่อตะกี้ขับรถเข้ามาเห็นป้ายประมาณว่าเรื่องคุณภาพชีวิตเวลาป่วย อะไรทำนองนี้ เราเริ่มตรงนี้นะ

     คุณภาพชีวิตหลังการเจ็บป่วยทุกวันนี้มันเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะการเจ็บป่วยในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่วงการแพทย์ไม่มีปัญญารักษาให้หาย เช่น มะเร็ง หัวใจ อัมพาต เบาหวาน ความดัน โรคไต เป็นต้น คือป่วยแล้วป่วยเลยจนตายคา เมื่อป่วยอยู่นานจึงมีประเด็นคุณภาพชีวิตตามมา ที่ว่านานนี้คือนานมาก งานวิจัยที่แคนาดาพบว่าสิบปีสุดท้ายของผู้สูงอายุแคนาดา ประมาณ 50% มีชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ 50% ของคนสูงอายุทั้งหมดเชียวนะ แล้วนานตั้งสิบปีเชียวนะ

     สาเหตุที่ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดี ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่าจะดูแลตัวเองอย่างไร ผู้ป่วยเกือบทุกคนมีความรู้ที่จะดูแลตัวเองค่อนข้างดี ทั้งอาหารการกิน การออกกำลังกาย การทำใจไม่ให้เครียด ควรทำอย่างไร รู้หมด แต่ปัญหาอยู่ที่รู้แล้วไม่ทำ หรือบางรายพยายามทำแล้วทำไม่ได้

     ภาษาแพทย์เรียกว่าผู้ป่วยขาดแรงบันดาลใจ หรือขาด motivation ทำไมผู้ป่วยถึงไม่มีแรง เอาแรงเอาพลังไปทำอะไรหมด วงการแพทย์ไม่มีคำตอบให้หรอก แต่ผมสรุปเอาจากประสบการณ์ของตัวเองว่าผู้ป่วยขาดพลังเพราะทั้งเวลาและทั้งพลังงานของชีวิตเกือบทั้งหมดของผู้ป่วยได้สูญเสียไปกับการไปอยู่ในความคิด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องวิ่ง อย่างที่หนึ่งก็คือวิ่งหนีความกลัว อย่างที่สองก็คือวิ่งตามความคาดหวัง ทั้งความกลัวก็ดี ความคาดหวังก็ดี ล้วนเป็น "ความคิด" ขึ้นชื่อว่าความคิดย่อมมีฐานรากมาจากประสบการณ์ในอดีตที่ถูกบันทึกจดจำไว้ แล้วถูกฉายเป็นภาพไปวาดอนาคต อนาคตนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็พท์เรื่องเวลา คอนเซ็พท์ก็หมายถึงหลายๆความคิดมาผูกพันถักทอกันด้วยหลักภาษาตรรกะการคำนวณได้ผลออกมาเป็นคอนเซ็พท์ ซึ่งคอนเซ็พท์ใดๆรวมทั้งคอนเซ็พท์เรื่องเวลานี้ด้วยก็ล้วนเป็นเพียงความคิดเช่นกัน ไม่ได้มีอยู่จริง

     "ความกลัว" เป็นการฉายภาพประสบการณ์ร้ายๆในอดีตของเราเองไปวาดอนาคต ว่าสิ่งร้ายๆจะเกิดขึ้นกับเราอีก

     "ความคาดหวัง" เป็นการฉายภาพประสบการณ์ดีๆไปวาดอนาคต ว่าสิ่งดีๆจะเกิดขึ้นกับเรา

     ทั้งความกลัวก็ดี ความคาดหวังก็ดี อดีตก็ดี อนาคตก็ดี ความเชื่อก็ดี ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นความคิด

     คนป่วยเรื้อรังจึงมีชีวิตอยู่ในโลกของความคิดนับตั้งแต่วันที่ล้มป่วยจนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิต เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปพูดถึงคุณภาพชีวิต เพราะคุณภาพชีวิตเกิดจากการได้ใช้ชีวิตจริงๆสดๆที่เดี๋ยวนี้ ชีวิตที่มีคุณภาพหมายถึงชีวิตที่ได้รับรู้สัมผัสความรู้สึกสดๆที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ แต่ผู้ป่วยไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตจริงๆ เพราะผู้ป่วยไปอยู่ในอนาคตหรือในความคิดตลอดเวลา ดังนั้นผมจะสรุปว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเสียไปเพราะไปอยู่ในโลกของความคิด จึงไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้ด้วยวิธีอื่นนอกจากการจะต้องถอยออกมาจากความคิดทั้งหมดนั้นให้ได้เสียก่อน

    การแก้ปัญหาด้วยการสอนให้คิดบวก หรือเอาความคิดใหม่มาแก้ความคิดเก่า ผมสรุปง่ายๆว่ามันไม่เวอร์ค คนระดับศาสดาได้สอนวิธีคิดบวกไว้อย่างแยบคายมากมาย แต่คนไข้ส่วนใหญ่ทำตามไม่ได้ ผมยกตัวอย่างคำสอนของรูมี่ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวตุรกีที่ผมชื่นชอบ ท่านเป็นมุสลิมนะ ยกตัวอย่างคำสอนให้คิดบวกของท่านเช่น

     "..แล้วอะไรหรือที่เป็น "ความกลัว" ในชีวิตเรานี้ 

     ก็การไม่ยอมรับว่าทุกอย่างในชีวิตนี้มันล้วนไม่แน่นอนนั่นแหละ คือความกลัวในชีวิต หากเรายอมรับความไม่แน่นอนในชีวิตได้ ชีวิตก็เป็นเรื่องของการผจญภัยไม่ใช่เรื่องของความกลัวอีกต่อไป

      แล้วอะไรหรือที่เป็น "ความโกรธ" ในชีวิตเรา

     ก็การไม่ยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรานั่นแหละ คือความโกรธในชีวิตเรา ถ้าเรายอมรับได้ มันก็จะกลายเป็นความโอนอ่อนผ่อนปรนไป

     แล้วอะไรเล่าที่เป็น "ความเกลียด" ในชีวิตเรานี้

     ก็การไม่ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นนั่นแหละ คือความเกลียดในชีวิตนี้ หากเรายอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นมันก็กลายเป็นความรัก,."

     ฟังดูดีมาก ฟังแล้วน่าบรรลุธรรมมากใช่ไหม แต่เวลาคนเอาความคิดบวกไปไล่ความคิดลบแล้วมันไม่ค่อยเวอร์ค เพราะความคิดมันไล่ความคิดไม่ได้

     ไหนๆก็พูดถึงตรงนี้ผมขอนอกเรื่องพูดต่อไปอีกหน่อยนะ ถึงประสบการณ์ของผมเองเกี่ยวกับการฝึกวางความคิดเข้าสู่ความรู้ตัวตามแนวทางของชาวพุทธแบบออร์โธด๊อกซ์ (orthodox) ผมหมายถึงพุทธแบบเถรวาทที่พวกเราคุ้นเคยนี่แหละ หลักวิชาการบรรลุความหลุดพ้นแบบคลาสสิกของพุทธออร์โธดอกซ์ก็คือฝึกสมาธิจดจ่ออยู่กับจิตที่ตั้งมั่่นรวมเป็นหนึ่ง จนจิตมีพลังระดับหนี่ง แล้วออกจากสมาธิเพื่อพิจารณาไตร่ตรองความเป็นอนิจจังของความคิด นี่เรียกว่าเป็นเส้นทางคลาสสิก ผมก็พยายามเดินตามนี้นะ บนเส้นทางนี้ผมไม่มีปัญหากับการฝึกสมาธิจนจิตตั้งมั่นรวมเป็นหนึ่ง ผมไม่มีปัญหาเลยตรงนั้น แต่พอถอยออกจากสมาธิมาพิจารณาไตร่ตรองความเป็นอนิจจังของความคิด ผมมีปัญหาทันที ผมไม่อาจใช้ความคิดไตร่ตรองเพื่อวางความคิดได้ ผมพบว่ามันเป็นไปไม่ได้ หลังจากทดลองซ้ำซากอยู่นานร่วมปีผมก็สรุปเองเออเองว่านี่ต้องผิดพลาดอะไรสักอย่างแล้ว ถ้าไม่ผมจับความมาผิดคนเขียนหนังสือก็ต้องเขียนผิด อย่างใดอย่างหนึ่ง

     ความคิดมันไล่ความคิดไม่ได้ มันอยู่ในสนามเดียวกัน มันต้องย้อนออกไปตั้งต้นที่สนามหลวง คือที่ก่อนความคิดจะเกิดขึ้น ถามว่าเราเคยใช้ชีวิตแบบนั้นไหม ตรงที่ก่อนความคิดจะเกิดหนะ ตอบว่าเคยนะ ตอนที่เราอายุประมาณสองเดือน นอนอยู่ในเบาะ พ่อแม่มาเรียกเราว่า

     "จ๊ะเอ๋ หนูหนึ่ง" 

     เราไม่รู้หรอกว่าจ๊ะเอ๋เป็นคำทัก อย่างนี้เรียกว่าพ่อ อย่างนี้เรียกว่าแม่ เราแค่เห็นภาพ ได้ยินแค่เสียง เราไม่รู้จักภาษา แต่รับรู้ได้ มองเห็นภาพ ได้ยินเสียง ไม่มีความคิด นั่นแหละคือชีวิตที่ดำรงอยู่แบบไม่มีภาษานิยามความคิดตัดสินผิดถูกใดๆ อยู่แต่กับความรู้สึก (feeling) สดๆล้วนๆที่เดี๋ยวนี้ทีละแว้บ ทีละแว้บ ผมเรียกตรงนี้ว่าความรู้ตัวก็แล้วกัน เราต้องไปอยู่ตรงนี้ เราถึงจะออกจากความคิดได้

.....................................

     การตัดตอนความคิด

     คุยกันถึงเรื่องการวางความคิดที่ทำให้เป็นทุกข์ นพ.สันต์พูดถึงการตัดตอนความคิด ว่า

     สิ่งที่ผมเรียกว่าการตัดตอนความคิดเนี่ย รากมันมาจากหลักปฏิจจสมุปบาทซึ่งผมเคยอ่านแล้วทิ้งไปเสียหลายครั้ง ครั้งแรกสมัยเรียนมัธยมราวห้าสิบกว่าปีมาแล้ว สมัยโน้นมีวารสารชื่อ "วิญญาณ" ซึ่งผมได้มาอ่านเพราะที่บ้านขายของชำจึงซื้อวารสารเก่ามาทำกระดาษห่อของ ผมก็อ่านหมดทุกอย่างในกระดาษเก่าที่ื้มา ในวารสารนี้ได้อธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทว่าต้องหมุนไปถึงสามชาติเกิดจึงจะครบรอบ ผมพยายามอ่านแล้วแต่ก็ทิ้งไปทันทีเพราะรู้สึกว่ามันไม่เมคเซ้นส์ ต่อมาปีพ.ศ. 2516 สมัยนักศึกษาปฏิวัติ ผมอ่านพบของท่านพุทธทาสที่อธิบายแบบตีโต้งๆเลยว่าการอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธโฆษาจารย์อธิบายไว้ยุคนาลันทะซึ่งต้องอาศัยการเกิดถึงสามชาติจึงจะครบรอบนั้นไม่ใช่ ท่านอธิบายของท่านใหม่ ว่ามันครบรอบในขณะจิตเดียว ผมก็ อ้า..นี่ เข้าท่า ผมก็พยายามอ่านอีก แต่ก็ยังไม่เก็ท เพราะขั้นตอนและศัพท์แสงมัน "เยอะ" เกินไป ต่อมาพอผมมีปัญหาที่ว่าเอาความคิดไล่ความคิดไม่สำเร็จ แต่ผมมานั่งสังเกตพบว่ามีบ่อยครั้งมากที่ผมวางความคิดลงได้ทันที โดยที่ผมไม่ต้องเอาความคิดบวกไปไล่ความคิดลบเลย ผมทำอย่างนั้นได้เพราะผมใช้วิธีสังเกตกลไกการก่อตัวของความคิด คือการสังเกตนี้ก็เกิดจากการได้รู้จักหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ ผมพบว่าทุกๆความคิดที่เกิดขึ้นในใจหากสังเกตให้ดีมันมีกลไกการก่อตัวที่คล้ายๆกัน หากจัดลำดับเป็นขั้นตอนผมสรุปย่อว่ามันน่าจะมีประมาณสี่ขั้นตอนหยาบๆ อย่าเรียกว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทเลยนะ เพราะมันเป็นของมั่วขึ้นมาเอง เรียกว่าเป็นหลักขี้หมาดีกว่า คือกลไกที่ผมสรุปได้มันเป็นอย่างนี้

     ขั้นที่ 1. เมื่อความสนใจวิ่งผ่านตาหูผิวหนังหรือใจของเราเองออกไปคลุกอยู่กับสิ่งที่เป็นเป้าที่ภายนอกเป้าใดเป้าหนึ่งอยู่ มันจะมีกลไกอัตโนมัติสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจแว้บหนึ่งว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร กลไกนี้้จะเปลี่ยนเป้านั้นมาอยู่ในมุมมองของภาษาและรูปภาพ ใช้เวลาแค่แว้บเดียว ไม่สังเกตดีๆจะไม่เห็น อย่างสมมุติผมพูดว่า "ในหลวงร.9" คุณเห็นภาพในหลวงขึ้นมาแว้บเลยใช่ไหม แว้บเดียว หรืออย่างผมพูดว่า "พระปรางค์วัดอรุณ" คุณเห็นภาพแว้บเลยเห็นไหม ผมเรียกว่ามันเป็นมโนภาพก็แล้วกัน

     ขั้นที่ 2. เมื่อเกิดมโนภาพแล้ว มันจะตามมาด้วยเกิดอาการขึ้นบนร่างกาย ดูให้ดีเถอะ ขอผมเล่าอะไรที่ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ก่อนนะ เดี๋ยวผมลืม สมัยก่อนตอนหนุ่มๆจบใหม่ๆมีเพื่อนหมอผู้หญิงคนหนึ่งเธอจะเป็นคนพูดจ๋อยๆๆทั้งวัน วันหนึ่งเมื่อซื้อรถใหม่มาขับ เธอเล่าประสบการณ์ที่ถูกตำรวจจับว่า

     "ฉันเห็นตำรวจโบกมือเรียกฉันแล้วฉันใจหายแว้บ..บ ใจเต้นตึก ตึก ตึก จนรู้สึกแน่นหน้าอกไปหมด คิดตั้งหลักก่อนว่ากูจะเอาไงดีวะ"

     นี่เป็นคำอธิบายกลไกการเกิดความคิดที่ชัดเจนดีมาก เมื่อเกิดมโนภาพในใจแล้ว จะตามมาด้วยอาการบนร่างกาย อาการบนร่างกายนี้ก็มีสองแบบ ถ้าเป็นประสบการณ์ที่ร้อนรนมันจะแน่นขึ้นข้างบนใจเต้นเหงื่อแตก แต่ถ้าเป็นประสบการณ์หวานแหววเช่นเห็นอะไรเซ็กซี่มันจะวาบลงข้างล่างแล้วไปเคาะที่อวัยวะเพศคือเจ้าจุ๊ดจู๋ น็อค น็อค น็อค ดูให้ดีเถอะ มันเป็นอย่างนี้เสมอ

     แล้วก็ตามมาด้วยขั้นที่ 3. คือเกิดความรู้สึกขึ้นในใจ ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีก็เป็นความรู้สึกไม่ชอบ ถ้าเป็นเรื่องดีก็เป็นความรู้สึกชอบ

     แล้วก็ตามมาด้วยขั้นที่ 4. คือการเกิดความคิดใหม่ๆที่เกิดขึ้นต่อยอดความรู้สึกในใจนั้น ถ้าเป็นการต่อยอดความรู้สึกชอบก็เป็นความคิดอยากได้ ถ้าต่อยอดความรู้สึกที่ไม่ชอบก็เป็นความคิดอยากหนี

     ประเด็นของผมคือเมื่อรู้ขั้นตอนของมันอย่างนี้แล้ว เราทันตรงขั้นตอนไหน ให้เสียบความสนใจ หรือ attention ของเราเข้าไปที่ขั้นตอนนั้น เมื่อเสียบเข้าไป กลไกมันจะหยุดกึกแล้วขั้นตอนต่อๆไปจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ มันเหมือนเราใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สมัยเก่า เวลาเปิดเครื่องมันต้องบู้ทตัวเองเป็นขั้นโดยบอกเป็นตัวหนังสือทีละบรรทัด แต่หากเรากดเอ็นเทอร์เมื่อใด ขั้นตอนการบู้ทจะหยุดกึกอยู่ตรงจังหวะนั้นแล้วขั้นตอนต่อๆไปจะถูกยกเลิกทันที นี่เป็นเทคนิคที่ผมเรียกว่าการตัดตอนความคิด

.....................................................

     ความเจ็บปวด

     เมื่อพูดกันถึงความเจ็บปวด นพ.สันต์พูดถึงเรื่องนี้ว่า

     ความเจ็บปวดมีสองส่วนนะ ส่วนที่หนี่ง คืออาการบนร่างกายที่รับรู้ได้ มันเป็นความรู้สึกสดๆ เดี๋ยวนั้น ส่วนนี้เราเรียกว่าตัวความเจ็บปวด หรือ pain

     ส่วนที่สอง คือความคิดที่นำมาก่อนหรือเกิดต่อยอดบนความปวด เช่นความกลัว ความโกรธ ความคาดหวัง ความผิดหวัง การไม่ยอมรับ การดิ้นรนที่จะหนีไปให้พ้น ส่วนนี้เราเรียกว่าความทุกข์ทรมานหรือ suffering

    ตัวความเจ็บปวดหรือ pain นั้นเป็นความรู้สึกสดๆ เป็นรสชาติของชีวิตที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ เป็นสิ่งที่เราเกิดมาเพื่อจะได้ประสบ ได้พบ และรู้จัก เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไป เหมือนศาลาริมถนนที่สี่แยกเดี๋ยวคนนี้มารอรถเมล์แล้วก็ขึ้นรถเมล์ไป เดี๋ยวคนนั้นลงจากรถเมล์มารอมอเตอร์ไซค์แล้วก็ขึ้นมอเตอร์ไซค์ไป การรับมือกับส่วนนี้คือไม่ต้องทำอะไรเลย แค่รับรู้ และยอมรับ วิธีรับรู้ก็ด้วยการลาดตระเวณความสนใจไปทั่วร่างกาย ไปรอบๆพื้นที่ปวดจนคุ้นเคย จนสามารถแทรกความสนใจไปจอดนิ่งอยู่ที่ใจกลางความปวด แบบว่ายอมรับ อยู่ด้วย เป็นเพื่อนกัน ไม่ขับไล่ไสส่ง ความสนใจที่ลาดตระเวณรับรู้ร่างกายนั้น เมื่อละเอียดลงจะเป็นการรับรู้ร่างกายในรูปที่เป็นพลังงาน หมายถึงรับรู้เป็นความรู้สึกวูบวาบซู่ซ่า ไม่ใช่รับรู้เป็นเนื้อตันๆเป็นท่อนๆหรือเป็นก้อนๆ ความปวดเองในระดับละเอียดก็จะถูกรับรู้ในรูปของพลังงาน อาจจะเป็นพลังงานที่ร้อนแรงในเมื่อแรกรู้จัก แต่นานไปก็จะผสานเป็นหนึ่งเดียวกับพลังงานของร่างกายได้ เมื่อนั้นก็จะพบว่าความปวดก็คือพลังงานที่จะเสริมสร้างความสดให้กับชีวิตได้ทางหนึ่ง

     ส่วนความทุกข์ทรมาณหรือ suffering นั้นเป็นความคิด การรับมือกับส่วนนี้ต้องใช้สองเทคนิคคือการวางความคิดและการตัดตอนความคิดที่ผมพูดไปแล้ว คือวางความคิดถอยไปอยู่ที่ความรู้ตัว ที่ความรู้ตัวไม่มีความทุกข์ทรมาน มีแต่ความรู้สึกสดๆที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น

    ที่คนส่วนใหญ่จะเป็นจะตายกับความเจ็บปวดนั้นมันเป็นความกลัวซึ่งก็คือความคิดนี่แหละ กลัวตั้งแต่ความปวดยังไม่มาด้วยซ้ำ ผมจะเล่าประสบการณ์ผมเองให้ฟังนะ เมื่อสี่ห้าปีก่อนผมเกษียณแล้วไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ก็เป็นพุทธออร์โธด๊อกซ์นี่แหละ แต่ว่าออร์โธด็อกซ์นี่ก็มีหลายสายหลายนิกายนะ ที่ผมไปนี่เป็นออร์โธด๊อกซ์สายพม่า ซึ่งมีตีความคำว่า "เวทนา" ว่าเป็นอาการของร่างกายล้วนๆไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับจิตใจเลย ที่จะเล่าก็คือไปฝึกนั่งเข้าวันที่สี่เขาก็ให้นั่งอธิษฐานคือห้ามกระดิกกระเดี้ยนานหนึ่งชั่วโมง แต่ว่าผมเองเป็นคนแก่อายุหกสิบที่ไม่เคยนั่งขัดสมาธิมาหลายสิบปีแล้ว นั่งได้ไม่ถึงยี่สิบนาทีก็ปวดเข่ามาก ปวดเสียจนเวลาเรานั่งสมาธิหลับเราแอบเห็นเข่าของตัวเองแดงเป็นไฟ เวลาปวดมากๆมันถึงกับเป็นสีม่วง ทำยังไงก็ไม่หาย ระฆังก็ไม่ช่วยสักที คือที่นั่นพอครบชั่วโมงแล้วเขาจะตีระฆังหมดยก ต้องกัดฟันทน ทนไปทนมาผมพบว่าร่างกายผมสั่นเทิ้มจนกลายเป็นชักกระตุก ผมแอบลืมตาดูตัวเองมือที่วางอยู่ที่หน้าตักกระตุกขึ้นมาเกือบทถึงคาง ผมยังนึกบอกตัวเองว่าเฮ่ย เบาๆหน่อย เดี๋ยวคนเขานึกว่าเอ็งเหาะเหินเดินอากาศได้มันจะยุ่งกันใหญ่ แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือพอการสั่นจบลงแล้วผมรู้สึกสบายมากเลย อาการปวดหายไปเป็นปลิดทิ้ง คือระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายมันมีวิธีจัดการอาการปวดของมันเอง คือระบบรับรู้ความรู้สึกของสมองเรานี้ความรู้สึกมันต้องต่อคิวเข้า แล้วบรรดาความรู้สึกทั้งหลาย ความรู้สึกสั่นสะเทือนหรือ vibration นี้มันได้ไพรออริตี้ คือมันได้ลัดคิว ส่วนความรู้สึกอื่นเช่นความปวดที่ไม่ได้คิวก็จะถูกเพิกเฉยไปไม่มีการรับรู้ คือผมจะบอกว่าอย่าไปกลัวอาการปวดมาก ร่างกายมันมีวิธีจัดการของมันเอง ยิ่งถ้าเรามีเทคนิควางความคิดประกอบด้วยเราก็จะตัดภาคความคิดซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานทิ้งไปได้ ก็จะเหลือแต่ความปวดซึ่งเป็นพลังงาน เป็นของสดๆ และเป็นรสชาติของชีวิตที่เราควรจะยอมรับและสัมผัสเรียนรู้ในโอกาสที่เกิดมาเป็นคน

     ให้ผมเล่าประสบการณ์ต่ออีกหน่อยนะ คือผมแนะนำคนไข้ให้รับมือกับอาการปวด คนไข้ย้อนผมว่าหมอเคยปวดฟันไหม ผมก็ได้แต่ยิ้ม คือคนไข้เขาปรามาสว่าหมอก็ดีแต่พูด ตัวเองยังไม่เจอของจริงก็สอนคนอื่นได้เป็นฉากๆ ต่อมาผมมีโอกาสได้ไปทำฟัน ผมบอกหมอฟันที่เป็นลูกน้องว่าอย่าใช้ยาชานะ ลูกน้องผมมองหน้าว่าพี่จะเองงั้นเลยหรือ..ได้ จัดให้ แล้วผมก็พบว่าเวลาที่หัวกรอมันโดนปลายประสาทนั้นอาการปวดมันมากจากตัวผมเกร็งแข็งสะดุ้งขึ้นมาจากเตียงคนไข้เหมือนปลาถูกทุบหัวโดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจ ผมรีบถอยกลับไปใช้เทคนิคการวางความคิด วางความคิดมาอยู่กับความรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วสั่งให้กล้ามเนื้อร่างกายผ่อนคลาย คือกล้ามเนื้อแขนขาของเรานี้เราสั่งมันได้ เมื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ความคิดก็หายไป คราวนี้ผมก็ทำฟันได้ต่อจนจบ พอจบแล้วหมอฟันมองหน้าผมราวกับเด็กวัดมองหน้าสมภาร เธอว่า..พี่ทำได้ไงหงะ

     เล่าอีกเรื่องหนึ่ง ผมเคยเห็นคนไข้ซึ่งเป็นหมอเองนะ เป็นมะเร็งตับก้อนขนาด 15 ซม. ซึ่งธรรมดาก้อนใหญ่ขนาดนั้นเราต้องดริปมอร์ฟีนเข้าเส้นต่อเนื่อง แต่ของเธอนี่ยาพาราเซ็ตตามอลเม็ดเดียวเธอก็ไม่ยอมกิน แถมยังสอนธรรมะให้ผมได้ด้วย ดังนั้นการรับมือกับอาการปวดจริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ทำได้หากเราตัดภาคที่เป็นความคิดซึ่งก็คือความกลัวออกไปได้สำเร็จ

..................................................

ผู้ฟัง ถาม

     "ดิฉันเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยซึ่งไม่รู้จักธรรมะและไม่ยอมปฏิบัติธรรม"

นพ.สันต์ ตอบ

     ผมขอตอบเฉพาะส่วนของผู้ดูแลนะ แต่ส่วนที่จะให้คนป่วยปฏิบัติธรรมอย่างไรนั้นผมขอให้ดร.ประมวลตอบ เพราะตรงนั้นมันลึก มันยาก

     ในส่วนของผู้ดูแล กฎข้อแรกของสมาคมผู้ดูแลอเมริกันที่มีไว้ให้สมาชิกถือปฏิบัติคือ "ดูแลตัวเองให้ดีก่อน" ดังนั้นผมแนะนำให้คุณทำตามกฎข้อนี้ข้อเดียวพอ ดูแลตัวคุณเองให้ดี เอาตัวคุณเองให้รอด ไม่ต้องไปสนใจว่าผู้ป่วยที่คุณดูแลจะมีความคิดอะไร จะบรรลุหรือไม่บรรลุ ไม่ต้อง เอาตัวคุณให้รอดอย่างเดียวก็พอ ถ้าคุณเอาตัวรอดได้ ผู้ป่วยที่คุณดูแลอยู่เขาจะได้รับอานิสงเอง

..........................................................

ผู้ฟัง ถาม

     ที่คุณหมอสันต์พูดถึงการวางความคิด อยากให้พูดถึงวิธีปฏิบัติจริงๆอีกครั้ง

นพ.สันต์ ตอบ

     ผมสรุปให้ฟังอีกครั้งนะครับ เริ่มต้นด้วยการหันเหความสนใจของเราออกจากความคิดมาอยู่กับร่างกายให้ได้ก่อน หมายความว่ามาอยู่กับความรู้ตัวทั่วพร้อมหรืออยู่กับลมหายใจก็ได้ เพราะความสนใจของเรานี้สำหรับมือใหม่มันต้องมีอะไรเป็นเป้าให้มัน ไม่งั้นมันต้องแล่นไปอยู่ในความคิดอีก

     ขั้นที่สองก็คือผ่อนคลายร่างกายลง กล้ามเนื้อของร่างกายส่วนนอกคือแขนขาและตัวนี้คุณสั่งได้ ความคิดของเรานี้มีสองขา ขาหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระของความคิด อีกขาหนึ่งเป็นอาการบนร่างกาย ถ้ามีความคิด ร่างกายจะไม่ผ่อนคลาย วิธีเช็คง่ายๆก็คือคุณลองยิ้มที่มุมปากดู คุณยิ้มได้หรือเปล่า ถ้าคุณยิ้มไมได้ แสดงว่าคุณยังไม่ผ่อนคลาย แสดงว่าความคิดยังไม่หมด คุณยังอยู่ในความคิด ให้คุณหายใจเข้าลึกๆ ผ่อนลมหายใจจออกช้าๆพร้อมยิ้มและสั่งให้กล้ามเนื้อทั่วตัวตั้งแต่หัวถึงเท้าผ่อนคลาย ทำซ้ำหลายๆครั้งจนยิ้มได้ผ่อนคลายได้

     ขั้นที่สามก็คือเฝ้ามองความคิดจากข้างนอกความคิด คอยเสียบความสนใจเข้าไปขวางเมื่อพบว่าความคิดเกิดขึ้น มองดูความคิดด้วยความรู้จักกลไกการก่อตัวของความคิด ว่ามันเริ่มต้นจากเกิดมโนภาพก่อน แล้วเป็นความรู้สึกบนร่างกาย แล้วเป็นความรู้สึกในใจ แล้วความคิดใหม่จึงจะก่อตัวขึ้นบนความรู้สึกในใจนี้ คุณสังเกตทันตรงไหน ให้คุณเสียบความสนใจเข้าไปดูตรงนั้น แล้วความคิดมันจะหยุดเอง

..........................................................

ผู้ฟัง ถาม

     หนูตื่นเช้ามาเป็นอัมพาตเฉียบพลันแบบทันทีไม่ทันตั้งตัว หน้าเบี้ยว ความดันขึ้น เข้าโรงพยาบาลฉุกเฉิน กลัวมากจนสั่น พยายามนับหนึ่ง สอง สาม ในใจเพื่อไม่ให้กลัวมากเกินไป ถามว่าจะทำอย่างไรเมื่อเจอเหตุการณ์อย่างนี้อีก

นพ.สันต์ ตอบ (หลังจากดร.ประมวลตอบแล้ว)

     ผมไม่มีอะไรเพิ่มเติมนะ แต่ผมอยากจะชี้ให้ท่านผู้ฟังท่านอื่นเห็นวิธีที่คุณใช้ซึ่งมีประโยชน์มาก เมื่อคุณตื่นกลัวมาก คุณหันไปหาวิธีนับ หรือเคาะ หรือทำจังหวะอะไรก็ได้ คือในยามที่สิ่งเร้ามันยิ่งใหญ่น่ากลัวเหลือเกิน การเผชิญหน้าตรงๆบางครั้งมันสู้ไม่ไหว ต้องเอาแบบหันไปสู้ทีหนึ่ง หลบมาตั้งหลักทีหนึ่ง  แล้วหันไปสู้อีกทีหนึ่ง การนับ การเคาะจังหวะ การดีดนิ้ว ตบโต๊ะตบตั่ง เป็นวิธีสร้างจังหวะให้เราได้แบ่งความแรงของสิ่งเร้านั้นไม่ให้มันเยอะเกินไป

     ผมเคยดูหนึ่งเรื่องหนึ่งนะ เล่าเรื่องการปราบเสือในเกาหลีสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลี เสือตัวนี้ญี่ปุ่นยกทัพมาปราบก็ไม่สำเร็จ ชาวบ้านกลัวมาก พวกญี่ปุ่นต้องไปเอาพรานเกาหลีฝีมือระดับเซียนมาปราบ พรานคนนี้แกไปนั่งทำทีเป็นหลับอยู่ใต้ต้นไม้กลางหิมะ แล้วเสือก็เดินย่องเข้ามาหาแต่ไกล แกหลับตานิ่งทำเป็นไม่รู้ แต่ก็แอบเอานิ้วชี้แตะเคาะเบาๆที่โกร่งไกปืนเป็นจังหวะๆเหมือนเคาะจังหวะดนตรี เพราะแกตื่นเต้นมากจนแทบระงับไม่ไหว จังหวะที่เสือกระโจนขึ้นจะขย้ำแก ซึ่งแกทราบจากเสียงเท้าเสือถึบพื้นหิมะ แกก็ลืมตาขึ้นยิงขณะเสือลอยตัวอยู่กลางอากาศ นี่เป็นตัวอย่างของการใช้การเคาะหรือการนับเวลาที่เรารับมือกับเรื่องที่ใหญ่โตเกินไปจนทำท่าจะรับมือไม่ไหว ซึ่งเป็นเทคนิคที่ดีและเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี