ความคิดจ๋า ให้คุณย้ายไปอยู่ที่อื่นเสียนะจ๊ะ
ดิฉันได้ติดตามอ่านบทความของคุณหมอมาตลอด ชอบการตอบคำถามของคุณหมอเรื่องความคิด ความเชื่อ และ ความรู้ตัว. ดิฉันฝึกสมาธิและฝึกสติในชีวิตประจำวัน โดย การรู้ความคิด รู้การเคลื่อนไหว และรู้อารมณ์ (ทำได้บ้างไม่ได้บ้างนะคะ) จากการที่เรารู้มาว่า ชีวิตประกอบด้วย ร่างกายและจิตใจ ซึ่งไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่จะมีตัวนึงที่ดิฉันเรียกว่า จิตรู้ ที่ไม่ใช่ความรู้สึก ความจำ และความคิดปรุงแต่งนะคะ ซึ่งจิตตัวนี้ เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาโดยตลอด เป็นตัวเรามาตั้งแต่เด็ก ไม่มีอายุ ไม่มีการแก่ ดิฉันรุ้สึกว่า เป็นคนละส่วนกันกับร่างกายและความคิด ความจำและความรุ้สึก
ดิฉันขอถามว่า จิตที่เป็นตัวเราข้างในนี้ เราจะเอาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การหลุดพ้นได้อย่างไรคะ จิตตัวนี้เขาจะเห็นความเป็นจริงของจักรวาลนี้ตามคำสอนของพระพุทธองค์ ได้อย่างไร โปรดช่วยชี้นำให้ด้วยค่ะ
ขอให้คุณหมอมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงนะคะ
ขอขอบคุณอย่างสูงค่ะ
ดิฉันขอถามว่า จิตที่เป็นตัวเราข้างในนี้ เราจะเอาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การหลุดพ้นได้อย่างไรคะ จิตตัวนี้เขาจะเห็นความเป็นจริงของจักรวาลนี้ตามคำสอนของพระพุทธองค์ ได้อย่างไร โปรดช่วยชี้นำให้ด้วยค่ะ
ขอให้คุณหมอมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงนะคะ
ขอขอบคุณอย่างสูงค่ะ
.............................................................
ตอบครับ
ก่อนตอบคำถาม ขอนิยามศัพท์ของคุณให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นรู้ว่าเรากำลังพูดถึงอะไรก่อนนะ
"จิตรู้" ที่คุณพูดถึงนั้น ผมเข้าใจว่าคุณหมายถึง "ความรู้ตัว (awareness)" หรือ "ความตื่น (wakefulness)" ซึ่งเป็นสภาวะที่ความสนใจ (attention) ของเราอยู่นิ่งๆที่นั่นไม่แร่ดไปไหน ตรงนั้นคือที่ก่อนที่จะมีความคิดเกิดขึ้น ตรงนั้นเป็นตัวเรามาตลอด ไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อใดที่เกิดความคิดขึ้น ความสนใจก็ไปขลุกอยู่กับความคิดแทน ในการตอบคำถามของคุณนี้ ผมจะใช้คำว่า "ความตื่น" แทนนะ เพราะผมไม่ค่อยชอบคำว่าจิต มันเหมือนๆจะเป็นโรคจิตพิกล แหะ แหะ
"ความรู้สึก" ที่คุณพูดถึงนั้นผมเข้าใจว่าคุณหมายถึงการรู้ตัวทั่วพร้อม (body sensation) เช่นรับรู้ความรู้สึกซู่ซ่าวูบวาบตามผิวกาย ทั้งนี้เป็นคนละอันกับคำว่า "ความรู้ตัว" ซึ่งผมชอบใช้สลับแทนคำว่า "ความตื่น"
"ความจำ" ที่คุณพูดถึงนั้นผมเข้าใจว่าคุณก็หมายถึงความจำ (memory) ซึ่งเป็นตัวผุดขึ้นมาในใจแล้วเป็นหัวเชื้อให้ก่อตัวเป็นความคิด
"ความคิดปรุงแต่ง" ที่คุณพูดถึงนั้น ผมเข้าใจว่าคุณหมายถึงความคิด (thought) ใดๆ ที่ก่อตัวขึ้นโดยอาศัยความจำเป็นหัวเชื้อมาคลุกเคล้าเข้ากับความเชื่อและคอนเซ็พท์ เช่นการคลุกเคล้าความจำเข้ากับคอนเซ็พท์เรื่องเวลาก็กลายเป็นความกังวลหรือความหวัง เป็นต้น
เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม
1. ถามว่า "จิตรู้" ของคุณตัวนี้เขาจะเห็นความเป็นจริงของจักรวาลนี้ตามคำสอนของพระพุทธองค์ได้อย่างไร..หิ หิ ตอบว่าตั้งแต่เกิดมา หนุ่มจนแก่ ผมยังไม่เคยได้ยินว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องจักรวาลเลยนะ หากผมพูดผิดก็โปรดอภัย เพราะผมเนี่ยไม่ใช่ผู้แตกฉานเรื่องหนังสือหรือคำสอนใดๆ แต่ผมจับความพอได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนแต่เรื่อง "ความทุกข์และการดับไม่เหลือซากของความทุกข์" เท่านั้น ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ก็ไม่ต้องแล่นไปรู้เรื่องของจักรวาลนู้น..น ดอก เพราะท่านว่าเรื่องทั้งหมดนี้มันอยู่ในร่างกายที่ยาวหนึ่งวาหนาหนึ่งคืบที่มีความจำและใจอยู่ด้วยนี่เอง ดังนั้นคุณไม่ต้องไปสนใจว่าจิตแสนรู้ เอ๊ย ไม่ใช่ จิตรู้ของคุณนี้จะเห็นหรือไม่เห็นจักรวาล ถ้าเห็นมันจะเห็นด้วยกลไกอย่างไร ไม่ต้องเลย..หม่ายโต้งเลย คุณเอาแค่ว่าเมื่อคุณเป็นทุกข์คุณรู้ว่าคุณเป็นทุกข์ และคุณรู้ว่าเหตุของทุกข์ก็คือความคิด แล้วคุณก็วางความคิดลงซะเพื่อถอยกลับไปอยู่กับสิ่งที่คุณเรียกว่า "จิตรู้" ของคุณก่อนที่ความคิดจะเกิด ทำแค่เนี้ยะ พอแล้ว
2. ถามว่าจะนำเอา "จิตรู้" หรือ "ความตื่น" นี้ออกมาใช้ให้เกิดการหลุดพ้นได้อย่างไร ตอบว่าไม่ต้องนำอะไรออกมาใช้อย่างไรหรอกครับ แค่คุณวางความคิดแล้วความสนใจของคุณก็จะถอยกลับไปเป็น "ความตื่น" โดยอัตโนมัติ นั่นคุณหลุดพ้นแล้ว หิ หิ พูดจีจี เปล่ากวน ความหลุดพ้นหมายถึงหลุดพ้นจากกรงของความคิดซึ่งเป็นเหตุให้คุณเป็นทุกข์ ตรงที่ใจคุณเคยอยู่สบายๆก่อนที่ความคิดจะเกิดขึ้นมา ตรงนั้นแหละคือความหลุดพ้น คุณซ้อมคุณฝึกถอยกลับไปอยู่ที่ตรงนั้นบ่อยๆจนอยู่ตรงนั้นได้ประจำ คุณก็หลุดพ้น มีแค่นี้แหละ แค่นี้จริงๆ ไม่มีอะไรพิศดารกว่านี้ เชื่อผม
เพียงแต่ว่าในชีวิตจริงเมื่อเราเติบโตมาจนหมาเลียก้นไม่ถึงแล้วอย่างนี้ ป่านฉะนี้ "ความคิด" มันได้งอกรากแตกแขนงใหญ่โตลึกซึ้งถักทอกันขึ้นเป็นขุมข่ายโยงใยแน่นหนารอบทิศไปเสียแล้ว เมื่อความคิดหนึ่งมาถักทอกับอีกความคิดหนึ่ง กับอีกความคิดหนึ่งๆๆๆ มีการคิดตัวเลข ใส่สมการคำนวณ หรือใช้ตรรกะ มันก็กลายเป็น "คอนเซ็พท์" เมื่อถูกกรอกด้วยคอนเซ็พท์ใดๆซ้ำๆซากๆมันก็กลายเป็น "ความเชื่อ" ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็น "ความเป็นบุคคล (identity)" ของเรา
ความคิดว่ามี "ฉัน" ในฐานะที่เป็นบุคคลคนหนึ่งนี้นี่แหละที่เป็นแม่ของความคิดระยำทั้งหลาย เพราะแท้ที่จริงแล้วความเป็นบุคคลที่ชื่อ "หมอสันต์" นี้มีที่ไหนกัน มีแต่ขี้..เอ๊ย ขอโทษ ไม่ใช่ มีแต่ความคิดถักกันขึ้นมาทั้งนั้น มันถักทออยู่รอบๆคุณด้วยคอนเซ็พท์หรือตรรกะของภาษา มองไปทางไหนก็มีแต่สิ่งที่คุณเรียกชื่อได้ บอกรูปร่างได้ คือเป็นโลกของภาษาทั้งหมด นี่คือความคิดทั้งนั้น ภาษาเป็นสิ่งสมมุติขึ้นในความคิด เมื่อใดก็ตามที่คุณมองไปรอบๆไม่เห็นสิ่งที่เรียกชื่อได้ บอกรูปร่างได้ ไม่เห็นภาษาประกอบในสรรพสิ่ง เห็นแต่สิ่งต่างๆตามที่มันเป็นโดยไม่ต้องเรียกชื่อหรือพิพากษาตีความ เมื่อนั้นแหละคุณหลุดพ้น ปัญหามีอยู่แต่ว่าป่านฉะนี้แล้ว เขาใหญ่โตเสียอย่างนี้แล้ว คุณจะล้มเขาได้ไหมละ
ครูของผมท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่าสมัยท่านไปเป็นหมอที่อเมริกา ไปซื้อห้องในแฟลตอยู่ที่บร็องซ์ ต่อมาต้องย้ายไปอยู่ทางแคลิฟอร์เนียแต่ยังไม่อยากขายห้องจึงฝากกุญแจข้างห้องไว้เผื่อเพื่อนฝูงมาจะได้มาแวะใช้ห้องได้ หลายปีต่อมาเพื่อนคนหนึ่งจะไปเที่ยวนิวยอร์ค จึงเขียนจดหมายน้อยให้เพื่อนถือไปหาเพื่อนบ้านห้องข้างเพื่อเอากุญแจเข้าไปใช้ห้องในแฟลตที่บร็องซ์ เพื่อนไปกดกริ่งเรียกตามที่อยู่ที่บอกไว้ในโผ ปรากฎว่ามีขี้ยารูปร่างกำยำสักตัวลายพร้อยสองคนเปิดประตูออกมาจับเพื่อนของอาจารย์โยนออกมานอกแฟล็ต คือขี้ยาได้เข้าไปยึดห้องของอาจารย์เสียนานแล้ว ตัวเองเป็นเจ้าของก็จริง แต่เข้าไปใช้ไม่ได้เสียแล้ว
อุปมาเช่นเดียวกัน ความสนใจของคุณได้ถูกลากให้ไปจมอยู่ในความคิดเสียนานแล้ว คุณจะใช้วิธีง่ายๆแบบเขียนจดหมายน้อยไปหาว่า
" คุณความคิดจ๋า ผู้ถือจดหมายนี้เขาชื่อลมหายใจนะ ฉันอนุญาตให้เขามาอยู่ที่แฟล็ตนี้แทนคุณ ให้คุณย้ายไปอยู่ที่อื่นเสียนะจ๊ะ"
แล้วคุณคิดว่ามันจะเวิร์คเหรอ มันไม่ง่ายอย่างนั้นดอก มันต้องฝึกต้องซ้อมกันอย่างเอาจริงเอาจังคุณจึงจะวางความคิดได้ คือด้านหนึ่งคุณต้องลากความสนใจออกจากความคิดมาจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายบ้าง กับความรู้สึกบนผิวกายบ้าง ให้ความสนใจมันหลุดออกจากความคิดให้ได้ก่อน ฝึกอยู่ซ้ำๆซากๆ คุณถึงจะเอาความสนใจหดกลับไปอยู่ที่ "ความตื่น" อันเป็นที่ที่คุณเคยอยู่ก่อนความคิดจะเกิดได้สำเร็จ
3. อันนี้คุณไม่ได้ถามนะ แต่ผมแถมให้ คำถามข้างต้นของคุณ ถามถึงสิ่งที่ไม่มีภาษาจะตอบได้ การใช้ประโยชน์จากความตื่นทำได้ก็โดยวิธีตื่นเท่านั้น ไม่มีวิธีอธิบายด้วยภาษา ดังนั้นคุณอย่าไปพยายามหาคำตอบจากภาษาเลย ผมประเมินเอาจากคำพูดสี่ห้าบรรทัดของคุณว่าคุณ "จบกิจ" ในเรื่องคอนเซ็พท์พื้นฐานหรือในโลกของภาษาแล้ว คุณรู้หมดแล้วในระดับชั้นที่ใช้ภาษาพูดสื่อสารกัน อย่าพยายามหาคำตอบในโลกของภาษาต่อไปอีกเลย ทำอย่างนั้นมีแต่จะกุความคิดใหม่ต่อยอดความคิดเก่าไม่รู้จบรู้สิ้น ให้คุณหยุดตั้งคำถามเสีย หยุดอ่านหนังสือธรรมะเสีย หยุดฟังเทปหรือดูคลิปธรรมะเสียให้หมด แล้วใช้ทุกเวลานาทีในชีวิตของคุณไปกับการฝึกวางความคิดเพื่อไปเป็นความตื่นอันเป็นสภาพใจของคุณก่อนที่ความคิดจะเกิดขึ้น ทำอย่างที่ผมว่านี้ไป ทุกที่ ทุกเวลา ทุกวัน แล้วคุณจะได้คำตอบแก่คำถามของคุณเอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์