ทำไมกินยาลดไขมันจน LDL ต่่ำกว่า 70 แล้วยังเกิดเรื่องอีก
เรียนคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์
เป็นแฟนใหม่นะคะ อายุ 58 ปี เพิ่งทำบอลลูนไปได้สามวัน นี่เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกหมอบอกตีบสองเส้นทำครั้งที่หนึ่งแล้วกินยา aspirin, plavix, omeprazol, และ crestor 40 mg ตัว crestor นั้นตอนแรกกิน 20 mg แล้วหมอบอกว่า LDL ยังไม่ต่ำกว่า 70 (ตอนนั้นได้ 94) จึงให้เพิ่มขนาด หมอบอกว่าดิฉันมีปัจจัยเสี่ยงตัวเดียวคือไขมันในเลือดสูง เพราะเบาหวานก็ไม่เป็น ความดันก็ไม่สูง บุหรี่ก็ไม่สูบ พ่อแม่พี่น้องก็ไม่มีใครเป็นโรคนี้ ดังนั้นหมอบอกว่าให้ตั้งใจลดไขมันให้ดีก็จะคุมโรคได้ ดิฉันก็เชื่อฟัง แต่ว่าหลังจากคุยกับหมอได้แแค่เจ็ดเดือนก็เกิดเจ็บหน้าอกต้องแวะเข้ารพ.เป็นครั้งที่ 2 หมอสวนหัวใจแล้วทำบอลลูนอีก คราวนี้ใส่ stent ตัวที่ 3 และแก้ไขที่สะเต้นท์ตัวแรกที่อุดตันไป อยากถามคุณหมอว่าทำไมมีปัจจัยเสี่ยงตัวเดียวตั้งใจควบคุมแล้วยังเกิด heart attack ได้อีก แล้วอย่างนี้จะให้ดิฉันทำอย่างไร
........................................................................
ตอบครับ
1. ถามว่าคนอุตสาห์ตั้งใจกินยาลดไขมัน คุมไขมัน LDL ให้ต่ำกว่า 70 แล้ว ยังจะมีโอกาสเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้หรือไม่ ตอบว่าได้สิครับ ยาลดไขมันไม่ใช่กรมธรรมค้ำประกันความเสี่ยงว่าจะไม่เกิดหัวใจวายนะ..แม่คุณ
การเกิดโรคของคนเรานี้มันเป็นการประชุมแห่งเหตุ บ้างเกิดจากน้ำดีเป็นพิษ บ้างเกิดจากอุบัติเหตุ บ้างเกิดจากกรรมเก่า ดังนั้นเอะอะอะไรก็อย่าไปโทษกรรมเก่าตะพึด หิ หิ หมอสันต์เปล่าโยเย นี่เป็นการโค้ดคำพูดของพระพุทธเจ้าเชียวนะ เมื่อไม่มีเหตุเดียวก็อย่าไปหวังว่ากินยาเม็ดเดียวแล้วจะคุมโรคได้อยู่หมัด ต้องเผื่อความเป็นไปได้ให้แก่ความซวยไว้ด้วยเสมอ จึงจะได้ชือว่าใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์เป็น
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Circulation เมื่อไม่นานมานี้ ได้ทำการศึกษาฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคนทั่วไป แล้วคัดเอาคนที่กินยาลดไขมันจนไขมันต่ำได้ที่ดีแล้วแต่ก็ยังไม่วายเกิดหัวใจวาย (heart attack) หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันขึ้นจนได้แบบคุณนี้ จำนวน 3,099 คน เอารหัสพันธุกรรมของคนกลุ่มนี้ไปเปรียบเทียบกับคนอีก 7,681 คน ที่กินยาลดไขมันและไขมันเลือดต่ำดีแล้วเช่นกันแต่ไม่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน พบว่ากลุ่มที่เกิดหัวใจวายมีความผันแปรบนยีน LPA ซึ่งผลิตโมเลกุลชื่ออะโปโปรตีนเอ.ซึ่งเรียกย่อว่า p(a) ไปจับกับไขมัน LDL กลายเป็น bound LDL ซึ่งเรียกย่อๆว่า Lp(a) การมี Lp(a) นี้เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระที่ทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจรุนแรงขึ้นโดยแม้จะกินยาลดไขมันก็บ่มิไก๊ คือกินเข้าไปเหอะ แต่ไม่มีผลอะไรเลย แน่นอนว่าทุกวันนี้บริษัทยาต่างก็พากันหาทางผลิตยามาลด Lp(a) ซึ่งหากทำได้สำเร็จต่อไปคนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดก็อาจจะต้องมียาที่ต้องกินเพิ่มอีกหนึ่งตัว..อามิตตาภะ พุทธะ
2. ถามว่าแล้วอย่างนี้จะให้ดิฉันทำอย่างไร อ้าว..ไหงจะมาเอาเรื่องกับหมอสันต์ซะแล้วละ หิ หิ พูดเล่น เอางี้ ข้อมูลที่จะไขข้อข้องใจให้คนอย่างคุณว่าจะต้องทำอะไรต่อไปในระดับเจาะลึกยังไม่มี หมายความว่าวงการแพทย์ไม่มีข้อมูลนะ ไม่ใช่หมอสันต์ไม่มี มีแต่ข้อมูลในภาพใหญ่ว่าการทบทวนงานวิจัยของสมาคมหัวใจอเมริกันซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Circulation เช่นกันพบว่าขณะที่การตั้งใจกินยา ทำบอลลูน ทำผ่าตัด อย่างที่คุณทำไปแล้วทั้งหมดนั้น สามารถลดอัตราตายก่อนเวลาอันควร (หมายความว่าตายก่อนอายุ 70 ปี) ลงได้ 20-30% แต่หากคนป่วยตั้งใจดูแลตัวเองโดยใช้ดัชนีวัดง่ายๆเจ็ดตัว (Simple 7) แล้วตะล่อมตัวเองให้ดัชนีทั้งเจ็ดตัวนี้อยู่ในร่องในรอย จะลดอัตราตายก่อนเวลาอันควรลงได้ถึง 91% ดัชนีทั้งเจ็ดตัวนั้นได้แก่ น้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และการสูบบุหรี่
ดังนั้นทางไปของคุณก็นี่ไงครับ Simple 7 นี่แหละ ใช่เลย ลุยเลย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
ปล. ถ้ามีเวลาหาโอกาสมาเข้าแค้มป์พลิกผันโรคดัวยตนเอง (RDBY) สิครับ คุณจะได้ประโยชน์จากมันแน่ แต่ต้องสัญญากับผมก่อน..มาแล้วอย่าเฮี้ยวนะ
บรรณานุกรม
1. Wei-Qi Wei, Xiaohui Li, Qiping Feng, Michiaki Kubo, Iftikhar J. Kullo, Peggy L. Peissig, Elizabeth W. Karlson, Gail P. Jarvik, Ming Ta Michael Lee, Ning Shang, Eric A. Larson, Todd Edwards, Christian Shaffer, Jonathan D. Mosley, Shiro Maeda, Momoko Horikoshi, Marylyn Ritchie, Marc S. Williams, Eric B. Larson, David R. Crosslin, Sarah T. Bland, Jennifer A. Pacheco, Laura J. Rasmussen-Torvik, David Cronkite, George Hripcsak, Nancy J. Cox, Russell A. Wilke, C. Michael Stein, Jerome I. Rotter, Yukihide Momozawa, Dan M. Roden, Ronald M. Krauss, Joshua C. Denny. LPA Variants are Associated with Residual Cardiovascular Risk in Patients Receiving Statins. Circulation, 2018; DOI: 10.1161/CIRCULATIONAHA.117.031356