โรคโลหิตจางจากการเสียเลือดไปทางประจำเดือน

เรียนคุณหมอสันต์
ผม... RDBY... นะครับ ลูกสาวอายุ 23 เรียนอยู่ที่อังกฤษ เป็นคนดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดี เข้มงวดเรื่องอาหารการกิน กลับมาคราวนี้มีอาการอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรงแล้วผมดูซีดๆ อยู่บ้านก็ไม่ค่อยกินอะไร กินแต่น้ำแข็ง จึงพาไปตรวจร่างกายประจำปีเจาะเลือด หมอบอกว่าเป็นโลหิตจางเล็กน้อยน่าจะเป็นเพราะมียีนแฝงทาลาสซีเมีย ไม่ต้องรักษาอะไรเป็นพิเศษ ผมรบกวนคุณหมอดูผลเลือดและขอคำแนะนำด้วยครับ

Hb = 8.5 gm%
Hct = 26%
WBC = 9,260
WBC differential
Neutrophils = 72%
Eosinophils = –
Basophils = -
Lymphocyte = 21.0%
Monocyte = 6.0%
RBC = 3,8. ล้าน/microliter
MCV = 59.8 fl
MCH = 19.5 pg
MCHC = 30.5%
RDW = 17.2%
Platelet count = 541.0 พัน/ลบ.ซม.
Platelet smear: Slightly increase
RBC morphology
Anisocytosis = 2+
Macrocyte = few
Microcyte 2+
Hypochromia = 2+
Target Cell = -ve
Ovalocyte = few
Spherocyte = few

..............................................

ตอบครับ

ผลเลือด CBC ที่ให้มาเป็นโลหิตจางระดับรุนแรง ลักษณะที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก (MCV ต่ำ) น่าจะมีสาเหตุจากการขาดธาตุเหล็กหรือไม่ก็จากโรคทาลาสซีเมีย แต่การที่ไม่มีเม็ดเลือดชนิด Target Cell เลย จึงไม่น่าจะเป็นโรคทาลาสซีเมีย ดังนั้นผมเดาเอาว่าเป็นโรคโลหิตจางชนิดขาดธาตุเหล็ก อาการชอบกินน้ำแข็งหรือของเย็นๆเป็นอาการที่เรียกว่า pagophagia ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก 50% ของผู้ป่วยมักมีอาการนี้ แต่ก่อนจะทำการรักษา จะต้องยืนยันด้วยการเจาะดูระดับเหล็กในร่างกาย เพราะถ้าวินิจฉัยผิดแล้วให้กินเหล็กไปทั้งๆที่ผู้ป่วยเป็นโรคที่มีเหล็กมากเช่นทาลาสซีเมียก็จะได้รับพิษของเหล็ก ดังนั้นให้คุณพาลูกสาวกลับไปเจาะเลือดดูระดับเหล็ก โดยเจาะจงให้เจาะหา Ferritin ได้ผลแล้วส่งมาอีกที แล้วผมจะตอบให้

สันต์

................................................

คุณหมอสันต์ครับ 

ได้ผลเลือดกลับมาแล้ว Ferritin 8 ng/ml

...........................................

ตอบครับ

     สรุปว่าการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายคือโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (iron deficiency anemia) ระดับรุนแรง สาเหตุผมเดาเอาว่าคงจะเกิดจากการเสียเลือดไปทางประจำเดือน

     วิธีรักษาให้ไปซื้อยาที่ร้านขายยา ยาวิตามินรวมอะไรก็ได้ที่อ่านฉลากแล้วมีอย่างน้อยต่อไปนี้ (ถ้าเม็ดเดียวมีไม่ครบก็ซื้อหลายเม็ด)

1. มีธาตุเหล็ก (เฉพาะตัวเหล็กนะ ไม่นับรวมธาตุอื่น) 15-20 มก. ต่อวัน แค่นี้ก็พอแล้ว สมัยก่อนการรักษาโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กต้องกิน Ferrous Sulfate 325 mg (มีตัวเหล็ก 65 มก.) วันละสามเม็ด ซึ่งกินแล้วคลื่นไส้ท้องเสีย งานวิจัยใหม่พบว่าเหล็กเพียง 15-20 มก.ต่อวันก็รักษาได้ผลดีเท่ากัน แถมยังลดความเสี่ยงจากพิษของเหล็กอีกด้วยในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นทาลาสซีเมีย

2. มีวิตามินซี.ขนาดประมาณ 500 มก. อยู่ด้วย เพื่อช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กที่ให้

3. มีวิตามินบี.12 แยะๆ ปกติมักจะใส่กันแค่ 1-2 ไมโครกรัม ผมต้องการให้มีแยะๆระดับ 5 - 50 ไมโครกรัมโน่นเลย เพราะวิตามินบี.12 นี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาการดูดซึมถ้าให้ขนาดน้อยก็จะดูดซึมไม่ได้ ขนาด 50 ไมโครกรัมนี้เป็นขนาดสูงที่ใช้รักษาโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี.12 ชนิดที่มีปัญหาการดูดซึมในกระเพาะลำไส้ได้ด้วย

4. มีกรดโฟลิก (folic acid) ประมาณ 400 ไมโครกรัม เพราะกรดโฟลิกหรือโฟเลทนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงเช่นกัน

5. ยาวิตามินที่ซื้อกินเพื่อรักษาโลหิตจางไม่ควรมีแคลเซียมอยู่ในเม็ดเดียวกัน เพราะแคลเซียมจะขัดขวางการดูดซึมเหล็กเข้าสู่ร่างกาย

     ถ้าได้ตามสะเป๊คข้างบน กินวันละเม็ดเดียวก็พอ ถ้าไม่มีวิตามินรวมยี่ห้อไหนมีครบตามที่ผมระบุ คุณก็ซื้อหลายๆชนิดมากินร่วมกันก็ได้ การรักษาจะใช้เวลา 6 เดือน ดังนั้นให้ซื้อยาเผื่อเมื่อกลับไปเรียนหนังสือด้วย

     นอกจากการกินเหล็กและวิตามินเสริมที่จำเป็นข้างต้นแล้ว ในระหว่างการรักษาโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กควรปรับนิสัยการกินไปดังนี้

     1. ควรกินอาหารอุดมวิตามินซี.ปนเข้าไปในอาหารมื้อหลัก เพราะวิตามินซี.เป็นตัวการสำคัญในการช่วยดูดซึมเหล็กจากอาหารพืช

     2. ควรระวังอาหารที่จะรบกวนการดูดซึมเหล็กจากอาหารพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งแทนนินในชาหรือกาแฟ จึงไม่ความดื่มชาหรือกาแฟใกล้มื้ออาหาร ควรแยกให้ห่างกันเช่นหลังทานอาหารได้หนึ่งชั่วโมงไปแล้วค่อยดื่ม เป็นต้น

    3. หลีกเลี่ยงการกินแคลเซียมใกล้กับการกินเหล็ก เพราะแคลเซียมจะรบกวนการดูดซึมเหล็ก ยาบำรุงเลือดหลายชนิดมีแคลเซียมอยู่ด้วย จึงต้องระวังไม่ใช้ชนิดที่มีแคลเซียม

     4. ในระหว่างรักษาโลหิตจางไม่ควรงดเว้นอาหารเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดเกินไป เพราะโมเลกุลฮีมในอาหารเนื้อสัตว์มีข้อดีตรงที่จะนำเหล็กเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรงโดยไม่ถูกรบกวนการดูดซึมจากสารอาหารอื่น ต่างจากเหล็กในพืชที่ต้องอาศัยวิตามินซี.ในการดูดซึม และมักจะถูกรบกวนการดูดซึมโดยสารอาหารอื่นๆเช่นแทนนิน

     ในการกินธาตุเหล็กหรือยาบำรุงเลือดเพื่อรักษาโลหิตจางจากการเสียเลือดประจำเดือนนี้ ผมย้ำอีกครั้งว่ามาตรฐานการรักษาแบบคลาสสิกเลยคือให้กิน Ferrous sulfate 325 มก. (มีเหล็ก 65 มก.) วันละสามเวลาหลังอาหาร แต่เหล็กสูงขนาดนั้นทำให้คลื่นไส้ท้องเสีย และเนื่องจากมีงานวิจัยที่ดียืนยันได้แน่นอนว่าการให้กินแค่ 15-20 มก.ก็ให้ผลดีเท่ากัน ดังนั้นผมจึงแนะนำให้กินเพียงวันละ 15-20 มก.

     นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยใหม่ๆที่แสดงให้เห็นว่าการให้กินเหล็กวันละหลายครั้งมีประโยชน์น้อย เพราะเหล็กที่ให้กินขนาดสูงๆในตอนเช้าจะไปเพิ่มระดับเฮพซิดิน (hepcidin) ในเลือดซึ่งสารตัวนี้จะระงับการดูดซึมเหล็กในมื้อต่อๆไป โดยผลการระงับนี้จะอยู่นานถึง 48 ชั่วโมง ดังนั้นการให้ขนาดต่ำๆวันละครั้งกลับจะดีกว่า

     ก่อนกลับไปเรียนหนังสือ (อย่างน้อย 3 สัปดาห์หลังเริ่มรักษา) ให้กลับไปเจาะเลือด CBC  อีกครั้ง ระดับ Hb ควรจะสูงขึ้น 1-2 gm% ถ้าสูงขึ้นก็แสดงว่ามาถูกทาง ให้รักษาต่อไปให้ครบ 3-6 เดือน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม


1. Hempel EV, Bollard ER. The Evidence-Based Evaluation of Iron Deficiency Anemia. Med Clin North Am. 2016 Sep. 100 (5):1065-75.
2. Hoffmann JJ, Urrechaga E, Aguirre U. Discriminant indices for distinguishing thalassemia and iron deficiency in patients with microcytic anemia: a meta-analysis. Clin Chem Lab Med. 2015 Nov 1. 53 (12):1883-94.
3. DeLoughery TG. Microcytic anemia. N Engl J Med. 2014 Oct 2. 371(14):1324-31.
4. Rimon E, Kagansky N, Kagansky M, et al. Are we giving too much iron? Lowdose iron therapy is effective in octogenarians. Am J Med 2005;118:1142-7.
5. Zhou SJ, Gibson RA, Crowther CA, Makrides M. Should we lower the dose of iron when treating anaemia in pregnancy? A randomized dose-response trial. Eur J Clin Nutr 2009;63:183-90.
6. Moretti D, Goede JS, Zeder C, Jiskra M, Chatzinakou V, Tjalsma H, et al. Oral iron supplements increase hepcidin and decrease iron absorption from daily or twice-daily doses in iron-depleted young women. Blood. 2015 Oct 22. 126 (17):1981-9.
7. Okam MM, Koch TA, Tran MH. Iron deficiency anemia treatment response to oral iron therapy: a pooled analysis of five randomized controlled trials. Haematologica. 2015 Oct 30.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี