OGTT การตรวจคัดกรองเบาหวานในคนตั้งครรภ์

ขอความกรุณาช่วยตอบข้อสงสัย ดังต่อไปนี้ ด้วยนะคะ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ทำไมการตรวจเบาหวาน ต้องดื่มกลูโคส 75 กรัมคะ

ทำไมใน หญิงท้อง ที่ตรวจในไตรมาสที่ 2 ต้องดื่มกลูโคส 100 กรัม แทน 75 กรัมคะ

ถ้าหากว่า หญิง อายุ 75 ปี มีครรภ์ ระดับกลูโคสในเลือดหลังจากดื่มกลูโคส มีค่าดังต่อไปนี้
ที่ 0 นาที >> 90 mg/dl
ที่ 30 นาที >> 155 mg/dl
ที่ 60 นาที >> 193 mg/dl
ที่ 90 นาที >> 198 mg/dl
ที่ 120 นาที >> 184 mg/dl
หมายเหตุ ตรวจโดยใช้ กลูโคส 75 g นะคะ
ไม่ทราบว่า หญิงคนนี้ มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน หรือเป็นปกติคะ

ทำไมการตรวจ OGTT ต้องเจาะทุก 30 นาทีคะ และทำไมจะต้องตรวจทั้งหมดเป็นระยะเวลา 2 ชม.คะ

ขอบพระคุณอย่างสูง ที่จะตอบข้อสงสัยนี้นะคะ

..................................................

ตอบครับ

1. ทำไมการตรวจเบาหวาน ต้องดื่มกลูโคส 75 กรัมคะ ตอบว่ามันเป็นกฎหมาย เอ๊ย.. ไม่ใช่ มันเป็นข้อตกลงที่มี WHO เป็นเจ้าภาพนานมาแล้ว ว่าผู้ใดจะทำการการตรวจหาความทนทานต่อน้ำตาลที่กินเข้าไป (OGTT) เพื่อคัดกรองเบาหวานในคนตั้งครรภ์นั้น ขอให้ใช้โด้สของกลูโคส 75 กรัมแล้วไปเจาะดูน้ำตาลที่ 2 ชม.หลังกินเหมือนกันหมด รูดมหาราช ทุกคน เรียกว่ากฎข้อนี้ว่า one step protocol จะได้ไม่ต่างคนต่างทำแล้วมั่ว

2. ทำไมใน หญิงท้อง ที่ตรวจในไตรมาสที่ 2 ต้องดื่มกลูโคส 100 กรัม แทน 75 กรัมคะ ตอบว่าเนื่องจากได้มีผู้ที่ไม่นิยมทำอะไรตามกฎ คิดดัดแปลง OGTT สำหรับคนตั้งครรภ์ใหม่ เรียกว่า two step protocol เป็นเวอร์ชั่นพิเศษ ที่มีหลักว่าลองให้กินกลูโค้สครั้งแรก 50 กรัมแล้วเจาะดูเมื่อครบหนึ่งชั่วโมงดูก่อน ถ้าน้ำตาลไม่สูงเกิน 135-140 ก็จบแค่นี้ไม่ต้องทำต่อ แต่ถ้าเห็นว่าน้ำตาลสูงเกินค่อยให้กิน 100 กรัมแล้วไปเจาะดูเมื่อครบ 3 ชั่วโมงอีกที่เพื่อวินิจฉัยให้ชัวร์ๆอีกที

3. ถ้าหากว่า หญิง อายุ 75 ปี (25 ปีมังครับ) มีครรภ์ ระดับกลูโคสในเลือดหลังจากดื่มกลูโคส มีค่าดังต่อไปนี้
ที่ 0 นาที >> 90 mg/dl
ที่ 30 นาที >> 155 mg/dl
ที่ 60 นาที >> 193 mg/dl
ที่ 90 นาที >> 198 mg/dl
ที่ 120 นาที >> 184 mg/dl
หมายเหตุ ตรวจโดยใช้ กลูโคส 75 g นะคะ
ไม่ทราบว่า หญิงคนนี้ มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน หรือเป็นปกติคะ

ตอบว่าการวิเคราะห์ค่า OGTT ตามมาตรฐานของ WHO จะดูที่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ในเคสที่คุณยกตัวอย่างมานี้ ที่สองชั่วโมงได้ค่าสูงเกิน 140 แต่ไม่เกิน 200 เรียกว่าเป็นความผิดปกติระดับความทนต่อน้ำตาลผิดปกติ (impair glucose tolerance - IGT) คือทำท่าจะเป็นเบาหวาน แต่ยังไม่ถึงกับเป็นเบาหวาน

4. ทำไมการตรวจ OGTT ต้องเจาะทุก 30 นาทีคะ และทำไมจะต้องตรวจทั้งหมดเป็นระยะเวลา 2 ชม.คะ ตอบคำถามหลังก่อนนะ ต้อง 2 ชั่วโมงเพราะมันเป็นกฎหมาย เอ๊ย ไม่ใช่กฎกติกาของ WHO อย่างที่บอกแล้ว แต่สาเหตุที่เจาะถี่ๆทุก 30 นาทีก็เพราะเผื่อว่ามีคนไข้บางรายที่ผลน้ำตาลใน 30 นาทีแรกๆออกมาต่ำมากแบบปกติแหงๆ แพทย์ก็จะสั่งให้จบการตรวจเสียเลยไม่ต้องรอไปจนครบสองชั่วโมง แต่ในชีวิตจริงแพทย์ท่านไม่ได้มานั่งลุ้นหรอกว่า 30 นาทีแรกๆได้ค่าเท่าไหร่ ท่านก็ไปยุ่งทำอย่างอื่นปล่อยให้พนักงานเจาะเลือดหลับหูหลับตาลุยถั่วเจาะ จึ๊ก จึ๊ก จึ๊ก ไปทุก 30 นาทีจนครบสองชั่วโมง แล้วเอาผลรวมทั้งหมดไปรายงานท่านในคราวเดียว เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้แหละค่าท่านสารวัตร

คุณนี่ชอบถามซอกแซกน่าจะมาเป็นนักเรียนแพทย์นะ เพราะนักเรียนแพทย์ที่ผมสอนมาพวกเธอเล่นเอาแต่สับปะหงกง่วงหงาวหาวนอนทั้งวันและไม่เคยถามอะไรที่ท้าทายปัญญาบ้างเลย ทำให้การสอนเป็นเรื่องน่าเบื่อชะมัด


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี