โรคกังวลเกินเหตุ (GAD)

เรียนคุณหมอสันต์

เนื่องจากผมได้เคยปรึกษาทางเว็ปบอร์ดแห่งนี้ เกี่ยวกับการตรวจเลือดของผมที่ผมไปตรวจมา คุณหมอบอกว่า 99.99 % เป็นลบแน่ๆ ผมก็พยายามไม่สนใจหาอะไรอย่างอื่นทำ แต่ก็ไม่วายเอามาคิดในส่วนของ 0.01 % อีกว่าเราจะโชคร้ายในกานติดโรคนี้มัย ผมทำอย่างไงก็ไม่หายจากความกังวลนี้เลยครับ ผมไม่รู้จะทำอย่างไงเหมือนกันเพราะเวลาเราอยู่ว่างๆ เราจะคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา ผมกังวลจนนอนไม่หลับ กลัวว่าถ้า 6 เดือนไปตรวจอีกรอบแล้วผลมันไม่ใช่แบบ 3 เดือนที่ตรวจมาเราจะทำอย่างไง ภาระต่างๆ ของผมมันเยอะ จนผมต้องเอามาเป็นกังวล ไม่กล้าบอกใครรวมถึงที่บ้าน ยิ่งทำให้เราเครียดไปอีก ตอนนี้การเป็นโรคเครียดไปแล้วครับ นอนไม่ค่อยหลับสุขภาพเริ่มเสีย ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไงครับ ยิ่งไปอ่านบทความแปลกว่าไปทานยาต้านฉุกเฉินตรวจ แล้วตรวจ PCR 2 เดือนหลังเสี่ยงไม่เจอ ตรวจ AB ที่ 3 เดือน ไม่เจอไปเจอตอน 6 เดือน เอาเข้าไปใหญ่เลยครับ จิตตกอีก ผมเลยอยากปรึกษาว่าอย่างผมควรทำอย่างไงดีครับ ขอบคุณครับ

สงวนนาม

……………………………………

ตอบครับ

ผมเคยอธิบายไปอย่างละเอียดแล้วถึงความหมายของ window period ความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อในระยะเวลาต่างๆ และผลกระทบจากยาป้องกัน ดังนั้นวันนี้เราจะมาเจาะปัญหาเดียวนะ คือปัญหาความวิตกกังวล

ตามเกณฑ์วินิจฉัยทางการแพทย์ (DSM-IV) โรคนี้ชื่อ GAD (ย่อมาจาก gerneralized anxiety disorder) คือภาวะที่มีความกังวลซ้ำซาก เกินเหตุ ไม่สมจริง และบั่นทอนร่างกายจิตใจ ซึ่งก่ออาการไปทุกระบบเช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ (ใจสั่น เหงื่อแตก ความดันขึ้น) ระบบกล้ามเนื้อกระดูก (เปลี้ยล้า ปวดกล้ามเนื้อ) ระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ ท้องร่วง) ระบบหายใจ (หายใจไม่อิ่ม หอบหืด) จิตประสาท (กลัวเกินเหตุ ตั้งสติไม่ได้ หงุดหงิดโมโหง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า) เป็นต้น เป็นกันตั้งแต่วัยเด็ก ติดมาจนเป็นผู้ใหญ่ ความที่ไม่สามารถคุมความกังวลของตัวเองได้จึงมักกลายเป็นคนเถรตรงเจ้าระเบียบจนทำอะไรก็ไม่ค่อยสำเร็จ มีปัญหาสลึงเดียวก็ร้องกระต๊ากสิบบาทร้อยบาท สาเหตุของโรคนี้ส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ อีกส่วนมาจากการเลี้ยงดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในอดีตแบบช็อกซีเนม่า เช่นพ่อตายกะทันหัน จะเป็นเชื้อปะทุให้โรคนี้ดีนัก

ในทางการแพทย์ การรักษาโรคนี้ที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้ยา เช่นยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้บ้า (antipsychotic drug) ร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัดแบบให้คิดใหม่ทำใหม่ (cognitive behavioral therapy - CBT) แต่งานวิจัยการรักษาแบบอื่นๆที่พิสูจน์ว่าได้ผลแล้วก็มี เช่น การสอนให้ผ่อนคลาย การฝึกสติแบบพุทธศาสนา เป็นต้น

ในกรณีของคุณผมแนะนำให้เริ่มต้นรักษาด้วยยา นั่นหมายความว่าต้องไปหาจิตแพทย์ เพราะการใช้ยาพวกนี้มักมีประเด็นปัญหาแยะ ให้จิตแพทย์เป็นคนให้จะดีที่สุด ขณะใช้ยาก็ทำการรักษาแบบพฤติกรรมบำบัดไปด้วย แล้วก็ค่อยถอนยาทีหลัง วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด

ควบคู่ไปกับการใช้ยา คุณต้องรักษาตัวเองด้วย ซึ่งต้องลงไปให้ถึงรากของปัญหา ผมจะชี้แนะ คุณต้องอ่านอย่างอดทนนะ เพราะมันอาจจะเข้าใจยากอยู่ คือต้องทำความเข้าใจกับสมองของเราก่อน ความกังวลก็คือความคิดนั่นแหละ โดยธรรมชาติเมื่อได้รับสิ่งเร้า (stimulus) สมองจะเอาข้อมูลนี้ไปผสมกับความจำในอดีตแล้วก่อร่างความคิดหรือความรู้สึกใหม่ (though formation) ขึ้นมา สิ่งเร้าที่ว่านี้บางทีก็เป็นข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางอวัยวะรับรู้เช่นตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง บางทีก็เป็นความคิดที่ป๊อบขึ้นมาในสมองเองดื้อๆแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เมื่อก่อเป็นความคิดใหม่ขึ้นมาแล้ว สมองก็จะบันทึกไว้ในความจำ แล้วความคิดนั้นก็ฝ่อไป ถูกแทนที่ด้วยความคิดที่ใหม่กว่าอีกๆๆ โดยที่ความจำที่บันทึกไว้นั้น จะกลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับก่อความคิดครั้งใหม่ๆในอนาคต เป็นเช่นนี้วนเวียนอยู่ไม่รู้จบ คนที่กังวลจึงมักคิดกังวลซ้ำๆซากๆ กลไกการก่อความคิดนี้เกิดขึ้นแทบจะเป็นอัตโนมัติ ความคิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไปมีผลต่อพฤติกรรม นั่นก็คือความคิดนั้นจะเป็นนายเรา จนดูเผินๆคล้ายกับเป็นวงจรการเกิดพฤติกรรมในสัตว์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมใดๆ

แต่อันที่จริงสมองยังมีความสามารถอีกแบบหนึ่งคือสามารถเฝ้ามองการเกิดขึ้นและการฝ่อไปของความคิดที่ก่อตัวขึ้นมาได้ หรือพูดอีกอย่างได้ว่าสมองมีความสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแต่ละครั้งแบบไหน ไม่จำเป็นต้องสนองตอบออกไปแบบอัตโนมัติเสมอไป จิตแพทย์ชาวยิวชื่อวิคเตอร์ แฟรงเคิล ได้อธิบายกลไกนี้ว่าเมื่อมีสิ่งเร้าเข้าสู่การรับรู้ของสมอง ก่อนที่จะมีปฏิกิริยาสนองตอบออกไป จะมีช่องว่างอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ฝึกทักษะความรู้ตัว (awareness) มาดีพอ จะสามารถแทรกเข้าไปในช่องว่างนี้เพื่อเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้านั้นแบบใด เช่นเมื่อตัวเขาเองถูกนาซีทรมาน แทนที่เขาจะสนองตอบด้วยการโกรธแค้น กลัว หรือโศกเศร้า แต่ด้วยการมีทักษะความรู้ตัวที่ดี เขาสามารถเลือกสนองตอบอีกแบบหนึ่ง คือเขาสมมุติว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เขาใช้ประกอบการสอนนักเรียนแพทย์ว่านาซีทรมานเชลยอย่างไร สมมุติให้ตัวเขาออกไปยืนเป็นผู้ยืนบรรยายเหตุการณ์นี้อยู่ที่หน้าห้องสอน ขณะที่ร่างกายของเขากำลังถูกพวกนาซีทรมานอยู่นั้น คือเขาเปลี่ยนสิ่งเร้าเดิมที่เคยทำให้เขาโกรธ กลัวหรือเศร้า ไปเป็นความรู้สึกยินดีที่ได้เผยแพร่ความรู้แทน

การที่เราจะพลิกบทบาทจากการเป็นทาสของความคิดที่ก่อตัวขึ้นในหัวของเราได้นั้น กุญแจสำคัญคือต้องมีทักษะที่จะรู้ตัว (aware) ว่า ณ ขณะนั้นมีสิ่งเร้าใดมากระตุ้นสมอง และสมองก่อความคิดอะไรขึ้นมา เมื่อเราพลิกกลับขึ้นมาเป็นผู้ดูการเกิดความคิดได้สำเร็จ สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนมาเป็นเราคือผู้รู้ทันความคิดนั้น ไม่ใช่เป็นทาสของความคิดนั้นโดยไม่ทันรู้ตัวอีกต่อไป

แดเนียล โกลแมน ได้ตีพิมพ์งานวิจัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักบริหารธุรกิจในหนังสือฮาร์วาร์ดบิสิเนสรีวิว เขาพบว่าการสร้างทักษะความรู้ตัวทำได้ด้วยวิธีกระตุกให้ระลึกได้ (recall) ว่าเมื่อตะกี้คุณคิดอะไรหรือทำอะไรไป แล้วให้ผู้บริหารทำเรื่องนั้นซ้ำอีกทีแต่คราวนี้ทำแบบใหม่ที่ถูกต้อง ในงานวิจัยนี้เขาใช้เลขานุการซึ่งเป็นคนจริงๆเดินติดตามผู้บริหารที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างไปทุกหนทุกแห่ง เมื่อผู้บริหารเผลอทำพฤติกรรมนั้นอีกเลขาก็จะกระตุกทันที ว่า “ท่านคะ ท่านเผลอด่าลูกน้องอีกแล้วค่ะ” เป็นต้น เทคนิค recall หรือการกระตุกให้ระลึกได้ว่าเมื่อตะกี้คิดอะไร จึงเป็นเทคนิคที่มีหลักฐานว่าใช้สร้างความรู้ตัวได้ ซึ่งในชีวิตจริงเราสามารถฝึกสมมุติให้มีตัวเราอีกคนหนึ่งเดินตามตัวเราไปแล้วคอยกระตุกตัวเราเอง โดยไม่ต้องจ้างคนมาเดินตามเหมือนในงานวิจัยนั้นก็ได้
สรุปว่าการจะเอาชนะความกังวลให้ถาวร คุณจะต้องฝึกเทคนิค recall คือกระตุกตัวเองให้ระลึกรู้ว่าเมื่อตะกี้นี้เผลอคิดอะไรไป เมื่อระลึกรู้แล้วก็จะเกิดความรู้ตัว (awareness) อยู่พักหนึ่ง แล้วก็จะเผลออีก เป็นธรรมดา เราก็ต้องคอยกระตุกอีก กระตุกบ่อยๆ ยิ่งรู้ตัวว่า “เผลอบ่อย” เท่าไร ยิ่งดีเท่านั้น เพราะโรคของคุณคือโรค “เผลอนาน” ต้องเปลี่ยนมาเป็น “เผลอบ่อย” เสียก่อน จึงจะไปเป็น “ไม่เผลอ” ได้ ทั้งนี้จำไว้ว่าทั้ง recall และ awareness เป็นทักษะ (skill) เหมือนการว่ายน้ำ ต้องลงมือทำ ทักษะจึงจะเกิด ไม่ใช่เป็นความรู้ (knowledge) ที่อ่านเข้าใจแล้วก็พอ ลำพังคุณอ่านคู่มือการว่ายน้ำแล้วยังว่ายน้ำไม่เป็นตราบใดที่ไม่เคยลงน้ำฉันใด การพัฒนาทักษะก็ฉันนั้น

เอาไปทำดู ได้ผลอย่างไรเขียนมาเล่าให้ผมฟังบ้างนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี