โรคทรุดโทรมจากการเดินทาง (Travel Fatigue)

(ภาพวันนี้ / ลูกตีนเป็ดฝรั่ง)

ฝากคำถามถามคุณหมอดังนี้ค่ะ

ดิฉันอายุ 64 ปีค่ะ มีปัญหาเรื่องนอนไม่ค่อยหลับ แต่อาศัยฟังคุณหมอก็เลยออกกำลังกายออกแดด ก็ถ้าอยู่เมืองไทยจะนอนหลับสบายดี แต่ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศจะต้องใช้ยาช่วยในการนอนหลับ เป็นยาคลายกังวลชื่อยาว่า Amitriptyline ทานทุกคืนที่ค้างต่างประเทศแล้วไปเที่ยวต่างประเทศทุกเดือน เดือนนึงค้างคืนประมาณห้าคืนถึง 10 คืนจะเป็นอันตรายไหมคะ แต่ว่ากลับถึงเมืองไทยแล้วนอนหลับปกติไม่ต้องใช้ยาช่วยเลยค่ะ

……………………………………………………..

ตอบครับ

มันเป็นธรรมดาว่าการเดินทางย่อมจะสร้างความทรุดโทรมให้ร่างกาย (travel fatigue) ทำให้เหนื่อย ปวดหัว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับการเดินทางทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ เครื่องบิน โดยไม่เกี่ยวอะไรกับอาการเมาเครื่องบินหรือ jet lag เลย

โรคทรุดโทรมจากการเดินมักจะแสดงอาการด้วย

  • มีปัญหากับการนอนหลับ หลับไม่ลง หลับไม่สนิท ตื่นเร็ว
  • อ่อนเพลียเปลี้ยล้าในช่วงเวลากลางวัน
  • สมองไม่เฉียบ จดจ่อความสนใจไม่ได้
  • ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ท้องเสีย ความหิวความอิ่มรวน
  • มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังป่วย กำลังไม่สบาย
  • อารมณ์แปรปรวน

ยิ่งถ้าเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบิน ความดันบรรยากาศในเครื่องบินเป็นเหตุร่วมอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการทรุดโทรม ไม่ว่าจะข้าม time zone หรือไม่ การขาดน้ำเพราะอากาศในเครื่องบินแห้งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

ส่วนอาการเมาเครื่องบิน (jet lag) นั้นจะเข้ามาผสมโรงเมื่อเดินทางข้าม 2 time zone ขึ้นไป โดยระยะเวลาเมานานกี่วันคำนวณได้จากเกณฑ์ของ AASM ซึ่งกำหนดมาตรฐานคำนวนว่าจะเมาไปนาน 1-1.5 วันต่อหนึ่ง time zone ที่บินข้าม ยิ่งเป็นการเดินทางจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก (สูญเสียเวลา) อาการจะยิ่งมาก ยิ่งบินบ่อยยิ่งเป็นมาก ยิ่งแก่ยิ่งเป็นมากกว่าและเป็นนานกว่า ดังนั้นถ้ารักจะมาท่องเที่ยวเอาตอนแก่ก็ต้องทำใจกับเรื่องนี้

ถามว่ากินยา Amitriptylene เป็นอันตรายไหม ตอบว่ามันก็ไม่ถึงกับอันตรายมากมายดอก แต่ถ้ากินมากๆนานๆมันทำให้สมองเสื่อมได้

ถามว่าจะป้องกันและรักษาโรคทรุดโทรมจากการเดินทางอย่างไร ตอบว่าให้ทำดังนี้

1.. ก่อนออกเดินทางให้ฟิตตัวเอง ออกกำลังกาย เล่นกล้าม พักผ่อน นอนหลับให้เต็มที่ ห้ามอดนอน

2.. ถ้าวางแผนให้ไปถึงก่อนสักสองสามวันให้เวลาร่างกายปรับตัวแล้วค่อยไปลุยเที่ยวได้ก็จะดี

3.. ค่อยๆปรับเวลานอนก่อนออกเดินทาง ถ้าบินจากตะวันตกไปตะวันออกให้ฝึกเข้านอนเร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมงสองสามวันก่อนการเดินทาง ถ้าเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตกก็ฝึกเข้านอนให้ช้าลงวันละ 1 ชั่วโมงสองสามวันก่อนการเดินทาง

4.. ถ้าไม่ขี้เหนียวจนถึงขนาดไม่ควรเกี่ยงเรื่องราคาค่าตั๋ว เพราะตั๋วจะตั้งราคาตามความทรุดโทรมของร่างกายที่จะเกิดกับผู้เดินทางในเที่ยวบินนั้น หากแม้นเลือกได้ถ้าบินจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ควรเลือกเที่ยวบินที่ไปถึงตอนบ่ายดีกว่าไปถึงตอนเช้า

5.. จงใจออกแดด ถ้าเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก ให้ออกแดดตอนเย็นเพื่อให้สมองปรับตัวกับเวลาที่เลื่อนออกไป ถ้าเดินทางจากตะวันตกไปตะวันออก ให้ออกแดดตอนเช้าเพื่อเตรียมสมองสำหรับเวลาที่จะเลื่อนเข้ามาเร็วขึ้น แต่ถ้าเดินทางข้าม time zone มากถึง 8 zone ขึ้นไป สมองจะแยกไม่ออกระหว่างแดดเช้ากับแดดเย็น ดังนั้นหากเดินทางจากตะวันตกไปตะวันออกควรสวมแว่นกันแดดตอนเช้า หากเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก ควรสวมแว่นกันแดดตอนเย็นในช่วงสามสี่วันแรกที่ร่างกายยังปรับตัวไม่ได้

6.. ถ้าเดินทางระสั้นไม่เกินสามสี่วันควรตั้งนาฬิกาและใช้ชีวิตเสมือนอยู่ที่บ้าน จะได้ไม่ต้องปรับตัวกลับไปกลับมา แต่ถ้าเดินทางระยะยาวควรตั้งนาฬิกาและใช้ชีวิตแบบเมืองปลายทางที่จะไปเสียตั้งแต่สองสามวันก่อนออกเดินทาง ปรับเวลานอนและเวลากินอาหารตามนาฬิกาใหม่ เมื่ออยู่บนเครื่องบิน หากที่เมืองปลายทางเป็นเวลานอนหลับก็ให้นอนหลับ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอลและคาเฟอีนเพราะจะยิ่งทำให้ขาดน้ำและยิ่งทำให้นอนไม่หลับ ใช้จุกยางอุดหู ผ้าปิดตา จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น แต่ถ้าเมืองปลายทางเป็นเวลาตื่น อย่านอนหลับ ให้ถ่างตาตื่นด้วยการดูหนังฟังเพลงเข้าไว้

7.. ขณะเดินทาง ทุกหนึ่งหรือสองชั่วโมงควรลุกขึ้นยืนขึ้นขยับแข้งขาให้ร่างกายได้ทำงานแบบปกติบ้าง เมื่อไปถึงที่หมายแล้วให้รีบไปออกกำลังกายกลางแจ้ง ตัวหมอสันต์เองทำแบบนี้แม้แค่ขับรถจากมวกเหล็กมาบ้านกรุงเทพ มาถึงแล้วจะยังไม่รีบเข้าบ้าน แต่ไปออกกำลังกายที่สนามก่อน

8.. เมื่อไปถึงแล้วหากต้องขับรถ ให้ระวังอุบัติเหตุเป็นพิเศษ สำหรับคนอายุมากการขับรถหลังการเดินทางไกลสมรรถนะร่างกายจะลดลงไปจากเดิมมาก ยังไม่นับกฎจราจรที่ไม่เหมือนกันอีกต่างหาก ตัวผมเองเวลาไปเมืองนอกปกติชอบขับรถเอง แต่ตั้งแต่หล่นจากหลังคาลงมา เดี๋ยวนี้ไปเที่ยวเมืองนอกต้องพาลูกชายไปเป็นพลขับให้ เพราะไม่อยากพลาดท่าเสียทีซ้ำสอง

9.. การตะลอนๆเดินทางไปๆมาๆเป็นว่าเล่น ว่าไปแล้วไม่ค่อยเหมาะกับผู้สูงวัยเท่าไหร่นัก ถ้าเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง แต่หากเป็นงานอาชีพนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามผมขอเล่าไว้เป็นข้อมูล งานวิจัยทางการแพทย์พบว่านักบินหรือลูกเรือมักเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังแม้จะปลดเกษียณแล้ว นอกจากนั้นยังมีอุบัติการป่วยเป็น เบาหวาน ซึมเศร้า และมะเร็ง สูงกว่าคนทั่วไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี