24 กันยายน 2566

จะรู้ได้อย่างไรว่าความคิดไหนไม่ดี ควรปล่อยไป ความคิดไหนดี ควรจับไว้

ก่อนตอบคำถามวันนี้ขอนอกเรื่องแจ้งข่าวเกี่ยวกับการซื้อหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” นิดหนึ่งว่า ตั้งแต่ 1 ตค 66 เป็นต้นไปทางไลน์เขาจะบังคับใช้ระบบจ่ายเงินใหม่ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต และแอป mobile banking ของไลน์เอง จะไม่อนุญาตให้ผู้ซื้อโอนเงินตรงเข้าบัญชีผู้ขายแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นตั้งแต่ 1 ตค 66 เป็นต้นไป หากท่านจะซื้อหนังสือผมรบกวนให้ท่านทำรายการเองและเลือกวิธีจ่ายเงินที่ไลน์เปิดให้เลือกได้เลย หากสั่งซื้อแล้วมีปัญหาท่านก็ยังสามารถแจ้งไลน์ @healthylife ให้ช่วยแก้ปัญหาได้อยู่เหมือนเดิมครับ

………………………………………………………………….

เรียนคุณหมอ

อ่านเรื่อง space, time และ silence แล้ว เข้าใจอธิบายดีครับ เหมือนเห็นภาพได้ชัด เวลาระหว่างความคิดคือความว่างสงบเย็น อาจเป็นช่วงเวลาแว็บเดียวถ้ารู้สึกได้ก็ยังดี ยิ่งถ้าเราปล่อยไม่จับความคิดระหว่างความว่างที่เหมือนเสาประตูสองเสา ก็จะได้ช่วงความว่างสงบเย็นที่นานขึ้น

ความคิดที่วางน่าจะเป็นประเภทคิดไปก็ไม่ก่อประโยชน์ แต่ถ้าเป็นความคิดเพื่อแก้ปัญหาหรือคิดแนวทางเพื่อสร้างอนาคตจะต้องปล่อยไปหรือจับไว้ดีครับ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนควรจับอันไหนควรปล่อย?

………………………………………………

ตอบครับ

1.. ชื่อว่าความคิดที่โผล่ขึ้นมาในใจเรา มันแบ่งได้เป็น 3 แบบ

แบบที่ 1. Instinct (สัญชาติญาณ) เป็นวิธีสนองตอบต่อสิ่งเร้า (ด้วยการคิด) แบบอัตโนมัติ เป็นวงจรระบบประสาทอัตโนมัติที่ฝังแฝงอยู่ในร่างกายเรามาแต่อดีตอันไกลโพ้นโน่นเลยแหละ เช่นหิวแล้วเรามีความคิดอยากหาอะไรกิน ปวดอึขึ้นมาเราคิดหาที่ขับถ่าย ง่วงเราอยากหาที่นอน เห็นเพศตรงข้ามแล้วเราเกิดพลังขับดันทางเพศ เป็นตัน ข้อดีของมันคือมันทำให้เราเอาตัวรอดและดำรงเผ่าพันธ์มาได้ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เราเป็นสัตว์สังคมต้องรู้บันยะบันยังจึงจะอยู่ร่วมกับคนอื่นเขาได้โดยสงบสุข หากตามสัญชาติญาณไปอย่างไม่บันยะบันยังก็มักพาเราไปสู่ความเดือดร้อน

แบบที่ 2. Intellect (เชาว์ปัญญาหรือความคิดอ่าน) เป็นวิธีการคิดแบบซ้ำซากที่เราผูกขึ้นมาจากการเรียนรู้ในอดีต เป็นการคิดแบบตรรกะ มีเหตุ มีผล เช่นความคิดเชิงคณิตศาสตร์หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง มีคอนเซ็พท์เชิงสังคมประกอบ เช่นดี ชั่ว กตัญญา ยุติธรรม เป็นต้น ข้อดีก็คือมันทำให้เราใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้อย่างเหมาะสม ข้อเสียก็คือความที่มันคาดคำนวณเป็น ทำให้เรามักวาดภาพอนาคตที่น่ากลัวขึ้นในหัวแล้วทำให้ตัวเองเครียดโดยไม่จำเป็น

แบบที่ 3. Intuition (ปัญญาญาณ) เป็นความคิดที่ไม่เคยเกิดกับเรามาก่อน ไม่เคยเรียนรู้เรื่องนี้มาก่อน อยู่ๆก็โผล่เข้ามา แบบปิ๊ง…ง มักมาในจังหวะที่เราว่างจากความคิดสองแบบแรก มักมาในจังหวะที่ใจเราสงบเย็น อยู่เงียบๆกับธรรมชาติหรืออยู่เฉยๆคนเดียวโดยไม่ได้ตั้งใจทำอะไรเป็นพิเศษ มักนำเสนอความรู้ที่เราอยากได้อยู่พอดี ข้อเสียก็คือมันจะโผล่มาเมื่อเราไม่ได้คิดสองแบบข้างต้นอยู่เท่านั้น ซึ่งเป็นโอกาสที่น้อยมากในชีวิตปกติของคนเราที่มักจมอยู่ในความคิดตลอดเวลา

2.. ถามว่าจะมีหลักในการเลือกอย่างไรว่าความคิดไหนเป็นของดี ตอบว่าไม่ต้องห่วงเรื่องจะไม่รู้วิธีเลือก แต่ให้ห่วงเรื่องความผลีผลาม เพราะกลไกการคิดของคนเรามักเป็นแบบอัตโนมัติ เคยคิดแบบไหนก็จะคิดแบบนั้นซ้ำอีกทันทีโดยไม่มีการยั้ง ดังนั้นให้ใส่ใจตรงความสามารถที่จะยั้ง จะนิ่งไว้ก่อน อยู่นิ่งๆ อย่าผลีผลาม อย่าสนองตอบแบบอัตโนมัติ อย่ารีบ ชลอไว้ นิ่งไว้ รอไว้สักพักก่อน ให้แรงขับแบบอัตโนมัติมันสงบลงก่อน แล้วจึงค่อยวินิจฉัย แล้วค่อยสนองตอบ ทั้งนี้เพื่อลดการตกเป็นเบี้ยล่างของสัญชาติญาณและวงจรการคิดแบบอัตโนมัติซึ่งเป็นวิธีดำเนินชีวิตแบบหุ่นยนต์รุ่นโบราณ (automatron) หุ่นยนต์รุ่นใหม่แบบ AI เขาจะมีวงจรทำงานอีกแบบหนึ่ง คือเขาจะนิ่งก่อนแล้ววินิจฉัยอย่างไม่ผลีผลาม ซึ่งเขาจะเหนือกว่ามนุษย์ก็ตรงนี้แหละ

3.. ที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเก็บกดสัญชาติญาณ แต่ขอให้เราเป็นนายของสัญชาติญาณ เราอาจไปตามสัญชาติญาณก็ได้หากเราวินิจฉัยแล้วว่าเราได้มากกว่าเสีย เหมือนเช่นเราเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว ถ้าเราตามใจหมาแมวตลอด มันก็จะกลายเป็นนายเรา การเลี้ยงมันก็มีแนวโน้มจะไม่สนุก ถ้าเราไม่ตามใจมันเลย การเลี้ยงก็ไม่สนุกอีกเช่นกันเพราะมันจะหงอทำอะไรต้องคอยกลัวเราจนเราเองก็พลอยหมดสนุกไปด้วย

4.. เมื่อนิ่งได้แล้วให้รีบใช้เชาวน์ปัญญาวิเคราะห์ตามตรรกะของเหตุและผลแล้วตัดสินใจเลือกทันที ในการพิจารณาเลือกนี้ควรโยงไปถึงคอนเซ็พท์หลักสามประการของชีวิตเสมอ คือ

คอนเซ็พท์ 1. Acceptance การยอมรับว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราคุมไม่ได้ ถ้าไปสำคัญผิดว่าเราคุมมันได้เราเองก็จะเดือดร้อนและเลือกผิด

คอนเซ็พท์ 2. Wrong Identity การเข้าใจเรื่องอัตตาว่าไม่ใช่ของจริง ควรอวยอัตตาแค่พอให้อยู่ร่วมกับคนอื่นเขาได้ แต่ไม่อินกับอัตตามากเกินไปจนชีวิตเราอึดอัดขัดข้อ

คอนเซ็พท์ 3. Focus on Living โฟกัสที่การใช้ชีวิต(Living) คือการหายใจเข้าออกอยู่ที่ปัจจุบันขณะ อย่าไปโฟกัสที่สถานะการณ์ในชีวิต (Life situation)

5. หัดฟังหรือหยั่งดูพลังชีวิตด้วยเสมอ พลังชีวิตปรากฎในรูปของความรู้สึกกระดี๊กระด้าในใจ ความรู้สึกสังหรณ์ในใจ หรือการรับรู้ถึงพลังความเร่าร้อนซู่ซ่าบนร่างกาย ซึ่งพลังชีวิตนี้จะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแต่ละตัวไม่เท่ากันและไม่เกี่ยวกับหลักการเหตุผล จึงต้องหัดตัดสินใจเลือกโดยเชื่อพลังชีวิตแม้บางครั้งจะขัดกับหลักของเหตุและผลหรือคอนเซ็พท์ที่สังคมพร่ำสั่งสอน การตัดสินใจตามพลังชีวิตเป็นวิธีเดียวที่จะวัดว่าความคิดนั้นเป็นปัญญาญาณของจริงหรือของปลอม ปัญญาญาณเป็นความคิดชี้นำที่บ่อยครั้งขัดแย้งกับตรรกะเหตุผล ถ้าเรากล้าหลับหูหลับตาเลือกตามไปก็จะพบว่ามักเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอ ถึงบางครั้งเลือกผิดไปก็ไม่เป็นไร ชีวิตเป็นการลองผิดลองถูก อย่าไปซีเรียส

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์