Transcendentalism กับ Transcendental Meditation เหมือนกันไหม
(ภาพวันนี้ / กลุ่มผู้สูงวัย กำลัง slow life อยู่หลังดงดอกไม้แดง)
เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ
ผม ชื่อ นพ. … ตอนนี้จบการเป็นพชท.แล้ว ตัดสินใจไม่ฝึกอบรมต่อแต่อยู่ทำงานที่รพช. … คิดว่าจะหาโอกาสสอบอนุมัติบัตรเวชศาสตร์วิถีชีวิตแทน ผมติดตามอาจารย์มาตลอด ที่เขียนมานี้เพื่อถามนอกเรื่องเพราะอ่านพบเรื่องเกี่ยวกับ Transcendentalism จึงอยากรู้ว่ามันเป็นเรื่องเดียวกับ Trancendental Meditation ไหมครับ
ขอบคุณครับ
…………………………………………………………………
ก่อนตอบขอแสดงความยินดีกับคุณหมอที่อยู่ชนบทได้ ถ้าจะชมว่าเป็นความกล้าหาญสวนกระแสได้ก็คงไม่ใช่คำยอที่เกินจริง
ถามว่า Trancendentalism กับ Transcendental Meditation (TM) เหมือนกันไหม ตอบว่าไม่เหมือนครับ คนละเรื่อง แต่มันอาจมีรากมาจากที่เดียวกันก็ได้
TM เป็นวิธีทำสมาธิโดยใช้เสียงที่ไม่ได้เปล่งออกมาเป็นตัวพาความสนใจให้หลีกหนีจากความคิดเพื่อเข้าสู่ภาวะรู้ตัวซึ่งปลอดความคิด โดยเรียกวิธีเข้าสมาธิแบบนี้ว่าเป็นการ transcend เป็นเทคนิคซึ่งเผยแพร่ในอเมริกาโดยโยคีอินเดียตนหนึ่งชื่อ มหาริชชี มาเหศ โยคี ซึ่งดังมากในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1960-1970
ส่วน Transcendentalism เป็นปรัชญาแขนงหนึ่ง ซึ่งหัวหอกก็คือนักเขียนใหญ่อเมริกันคนหนึ่งชื่อ Emerson ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงย้อนยุคไปถึงราวปี ค.ศ. 1800 นู้น โดยมีหลักคิดว่ามนุษย์ไม่ควรไปหลงเชื่อสิ่งหลอกลวงที่รัฐบาลหรือศาสนาปั้นแต่งขึ้นมาว่าเกิดมาเป็นคนแล้วต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะสิ่งเหล่านั้นมองย้อนไปในประวัติศาสตร์แล้วมันมีแต่เรื่องสั่วๆทำลายและกดขี่มนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น แบบที่เชอร์ชิลเรียกว่า “เรื่องระยำเรื่องแล้วเรื่องเล่า (one damn thing after another)” ที่ถูกที่ควรคือมนุษย์ควรจะทิ้งตรรกะเปลือกนอกเหล่านี้ไปให้หมดแล้วเข้าไปหาส่วนลึกในตัวเองซึ่งนอกจากจะทำให้ชีวิตสงบเย็นแล้วยังเป็นแหล่งของศักยภาพ (insight) ที่จะทำให้คนๆหนึ่งมีชีวิตที่สงบเย็นและสร้างสรรค์ได้ แน่นอนว่าความคิดของอีเมอร์สันถูกแบนโดยนักปกครองและนักบวชสมัยนั้นจนต้องแอบสุมหัวกันใต้ดินแบบสมาคมลับ
ที่ผมบอกว่ามันอาจจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันนั้นก็เพราะหัวหอกตัวเอ้อีกคนหนึ่งของลัทธินี้คือนักเขียนใหญ่อเมริกันอีกคนหนึ่งในยุคเดียวกันชื่อ Thoreau เขาเคยมาอินเดียและอ่านหนังสือเวดะไปหลายรอบ โดยเฉพาะคัมภีร์อุปนิษัทนั้นเขาแทบจะพูดออกมาด้วยปากเปล่าได้ทีเดียว
คุยกับคุณหมอซึ่งสนใจสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิต เขียนมาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกถึงหมอรุ่นก่อนผมคนหนึ่งชื่อ Travis สมัยเขาเป็นแพทย์ประจำบ้าน (เวชศาสตร์ครอบครัว) เขาเป็นคนแรกที่ตั้งคำถามว่าจริงหรือที่ว่าถ้าหากเราทำให้คนหายป่วยมีสุขภาพดีเป็นปกติแล้วเขาจะมีความสุข มันไม่จริงเสมอไป เพราะการจะมีความสุขนั้นการมีสุขภาพดีมันเป็นแค่ครึ่งทาง มันยังต้องเดิบโตทางจิตวิญญาณต่อไปอีกจึงจะมีความสุขแท้จริงได้ พอจบการเป็นแพทย์ประจำบ้าน (รู้สึกจะจบที่จอห์น ฮอพคินส์) เขาก็หันหลังให้การใช้วิชาแพทย์รักษาคนป่วย แต่ไปเปิดรีสอร์ท Health and Wellness Center เพื่อสอนให้คนมีความสุขแทน ผลก็คือรีสอร์ทของเขาเจ๊งไปตามระเบียบ ในการทำรีสอร์ทนั้นเขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่ออะไรผมจำไม่ได้แล้ว มีสาระว่าองค์ประกอบที่จะทำให้คนมีความสุขมี 12 อย่างคือ (1) ความรับผิดชอบต่อตัวเองและเมตตาธรรม (Responsibility and Love) (2) การหายใจ (Breathing) (3) การรับรู้สิ่งเร้า (Sensing) (4) การกินอาหาร (Eating) (5) การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว (Moving) (6) ความรู้สึก (Feeling) (7) การคิด (Thinking) (คิดบวกมากกว่าลบ) (8) การเล่นและทำงาน (Playing and Working) (9) การสื่อสารปฏิสัมพันธ์ (Communicating) (10) ความใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy) (11) การค้นหาความหมาย (Finding meaning) (12) การฝ่าข้ามมิติการรับรู้ (Transcending)
ทราวิสเป็นเจ้าของคอนเซ็พท์ว่าสุขภาพกับความสุขเป็นของที่ต่อเนื่องกันและต้องเสริมกันและกัน (Health and Wellness Continuum) ซึ่งคอนเซ็พท์นี้กลายมาเป็นพื้นฐานของแนวคิดเวลเนสทุกวันนี้
ที่ผมเล่าถึงนี่ก็เพื่อชี้ให้คุณหมอเห็นองค์ประกอบสุดท้ายของทราวิสคือ Trancending ซึ่งเป็นคำที่คุณหมอถามถึง ผมไม่รู้ว่าเขาเอาไอเดียมาจากอีเมอร์สันหรือจากมหาริชชี เพราะสมัยที่เขาเขียนหนังสือนี้คือราวปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นช่วงมหาริชชีดังอยู่พอดี
เห็นคุณหมอชอบอยู่บ้านนอกคอกนา ขอกลับมาพูดถึงโทเรียวอีกหน่อยนะ มีอยู่ช่วงหนึ่งเขาตัดสินใจทิ้งชีวิตในเมืองออกไปปลูกกระต๊อบอยู่ในป่าคนเดียวสองปีเต็ม ใช้ชีวิตแบบพอเพียงกับธรรมชาติ กินง่ายอยู่ง่าย แล้วเขียนหนังสือดังมากชื่อ Walden ซึ่งเป็นชื่อบึงน้ำที่กระต๊อบเขาตั้งอยู่ เป็นวรรณกรรมอเมริกันคลาสสิกที่น่าอ่านอีกเล่มหนึ่ง
เมื่อก่อนโควิดมาผมไปขับรถเที่ยวอเมริกา ตั้งแต่แถวเวอร์มอนต์ลงมาทางแมสซาจูเซ็ท กลับมาถึงบ้านกรุงเทพแล้วรู้สึกว่าตัวเองลืมแวะที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แต่คิดยังไงก็คิดไม่ออกว่าลืมแวะที่ไหน เพิ่งมาคิดได้ตอนตอบจดหมายคุณหมอนี่เอง ว่าผมลืมแวะดูกระท่อมของโทเรียวที่เมืองคอนคอร์ดซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางที่ผมขับรถผ่านนัก
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์