ปรึกษาเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจกับอ.สันต์ครับ

(ภาพวันนี้ : เอื้องแปรงสีฟัน ที่บ้านบนเขา)

ผมขออนุญาตปรึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจกับอ.สันต์ครับ คือตอนนี้ผมอายุ65ปีตรวจพบว่าลิ้นหัวใจตีบเมื่อ 7 ปีที่แล้วและคุณหมอก็แนะนำให้ผ่าตัดตอนนั้นผมก็ดื้อมาจนถึงทุกวันนี้ คุณหมอที่ติดตามอาการก็ได้ส่งเข้าตรวจmriเมื่อ 02/09/2022 และคุณหมอนัดผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจวันที่ 20/03/2023 นี้ครับ ซึ่งอาการของผมก็ไม่เหนื่อย นอนศรีษะราบได้ ไม่บวมตามขาไม่มีอาการวูบหรือหมดสติครับ สุขภาพแข็งแรงดีกว่าเมื่อ 7 ปีที่แล้วอีกครับเพราะได้ควบคุมอาหารครับ ถ้าผมผ่าตัดกับไม่ผ่าตัดจะมีผลดีและเสียอย่างไรบ้างครับ ช่วยชี้แนะด้วยครับ ขออนุญาตส่งผล mri ให้คุณหมอชี้แนะด้วยครับ

…………………………………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถาม ผมขออธิบายนิดหนึ่งว่าการจะผ่าตัดหรือไม่ผ่าไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม หมอมักพิจารณาจากข้อบ่งชี้ (indication) และข้อห้าม (contra-indication) ของการผ่าตัด คือหมอผ่าตัดทุกคนมีหลักอยู่ในใจแล้วว่ากรณีไหนมีข้อบ่งชี้ให้ผ่าตัด หมายความว่าถ้าผ่าตัดแล้วจะได้ประโยชน์ ข้อบ่งชี้นี้มักพิจารณาร่วมกันจากสี่ทาง คือ

1.1 ทางกายวิภาค (anatomy) อย่างของคุณนี้ ผลตรวจเอ็มอาร์ไอพบว่าลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วหนักแถมแข็งและขัดขวางการไหลของเลือด (ตีบ) ด้วย นี่เรียกว่ามีข้อบ่งชี้ให้ผ่าตัดจากมุมมองของกายวิภาค

1.2 ทางสรีรวิทยา (physiology) หมายความว่าจากการวัดการทำงานของหัวใจ ถ้าโรคที่เป็นมันทำให้การทำงานของหัวใจแย่ลงไปมาก รู้ได้จากการวัด อย่างของคุณนี้ การวัดการหนาตัวของกล้ามเนื้อ การหดตัวของกล้ามเนื้อ การบีบเลือดออกจากหัวใจ (EF) ทุกอย่างก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้สำหรับคนอายุขนาดนี้ เรียกว่ามองจากมุมสรีรวิทยาแล้วไม่มีประเด็นเร่งเร้าให้รีบผ่าตัด

1.3 ทางอาการวิทยา (symptomatology) หรือพูดง่ายๆว่าคุณภาพชีวิต ถ้าโรคที่เป็นทำให้เกิดอาการมากจนคุณภาพชีวิตเสียไปก็ถือว่าเป็นปัจจัยเร่งให้ผ่าตัด อย่างในกรณีของคุณนี้คุณภาพชีวิตยังดีอยู่ ปัจจัยเร่งทางด้านนี้ก็ยังไม่มี

1.4 การดำเนินของโรค (natural course of disease) หมายความว่าโรคแบบนี้ถ้าปล่อยไปไม่รักษามันจะดำเนินไปอย่างไร สำหรับโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติก หากมันเป็นปัญหาลิ้นตีบ อนาคตจะไม่ดี คือตายเร็ว แต่หากมันเป็นปัญหาลิ้นรั่ว อนาคตมันจะดีกว่า คือตายช้า ในกรณีของคุณแม้ผลตรวจทางกายวิภาคจะบอกว่ามีทั้งรั่วและตีบ แต่พิจารณาจากมุมอาการวิทยามันเป็นปัญหาลิ้นรั่วที่เป็นปัญหาเด่น เพราะคุณไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกหรืออาการหน้ามืดเป็นลมกะทันหันซึ่งเป็นอาการสำคัญของลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ดังนั้นผมสรุปว่าหากปล่อยให้โรคดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน คุณจะอยู่ในกลุ่มตายช้ามากกว่าตายเร็ว นี่เป็นการสรุปแบบหยาบๆจากปัจจัยแวดล้อมของคุณคนเดียวนะ ไม่สามารถบอกเป็นเปอร์เซ็นต์อัตราตายออกมาได้

เอาละ ทราบภูมิหลังที่แพทย์ใช้ประกอบเรื่องแล้ว คราวนี้ก็มาถึงการตัดสินใจ คุณก็เอาทางเลือกทั้งสองทางมากางตรงหน้า

ทางเลือกที่ 1. คือผ่าตัด

ข้อดี คือการตีบหรือรั่วในเชิงกายวิภาคและสรีรวิทยาจะได้รับการแก้ไขทันที แต่อาการของคุณจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้คุณไม่ได้มีอาการอะไร

ข้อเสีย คือ

(1) ความเสี่ยงตายจากการผ่าตัดสำหรับคนอายุขนาดคุณก็จะมีความเสี่ยงตายและเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเช่นเป็นอัมพาตประมาณ 2.5%

(2) การใส่ลิ้นหัวใจเทียมต้องกินยากันเลือดแข็งตลอดชีวิต ไม่ใช่ยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet) นะ ยากันเลือดแข็ง (anticoagulant) ซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนจากเลือดออกในสมองมากกว่ายาต้านเกล็ดเลือดหลายเท่า

ทางเลือกที่ 2. คือการไม่ผ่าตัด

ข้อดี คือไม่ต้องไปเสี่ยงตายจากการผ่าตัด ไม่ต้องไปเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนของยากันเลือดแข็ง

ข้อเสีย คือ

(1) การมีลิ้นหัวใจรั่วรุนแรงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลวในระยะยาวแน่นอน แต่เสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ในเวลากี่ปีข้างหน้าไม่มีใครตอบได้ เพราะธรรมชาติของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วที่ไม่ได้ผ่าตัดมันคาดเดาอนาคตไม่ได้เนื่องจากมีความแตกต่างในแต่ละรายมาก บางครั้งเราติดตามไปยี่สิบสามสิบปีด้วยคาดหมายว่าต้องแย่แน่ๆ กลับเป็นว่าคนไข้สบายดีไม่เห็นเป็นอะไร ดังนั้นคุณจะสบายไปนานอีกกี่ปีไม่รู้ ข้อมูลปัจจุบันรู้แต่ว่าควรติดตามดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจไปเป็นระยะๆเช่นทุกปีเป็นต้น และใจเย็นๆอยู่ได้ตราบใดที่การทำงานของหัวใจยังดีอยู่ แต่เมื่อเริ่มเกิดหัวใจล้มเหลว (คุณเองจะทราบได้จากการหอบเหนื่อยง่ายแม้ออกแรงเล็กน้อย) จุดนั้นเป็นจุดที่ต้องรีบลงมือผ่าตัดแก้ไขกลไกการทำงานของลิ้นหัวใจเพื่อสงวนรักษากล้ามเนื้อหัวใจไม่ให้แย่ถึงขั้นกู่ไม่กลับ

(2) กรณีของคุณนี้มีความเสี่ยงอีกเรื่องหนึ่งซ่อนอยู่ข้างหลังคือการมีตัวลิ้นหัวใจตีบและแข็ง ตอนนี้ยังไม่มีนัยสำคัญในแง่ที่จะก่ออาการเจ็บหน้าอกหรือเป็นลมหมดสติ แต่มันมีความเสี่ยงที่จะเกิดปุ่มบนลิ้น (vegetation) จะจากการติดเชื้อหรือจากการพอกของแคลเซียมก็แล้วแต่ แล้วปุ่มนี้หลุดไป (embolization) อุดหลอดเลือดในที่ไกลๆเช่นสมองหรือปลายขาทำให้เกิดปัญหาได้ ความเสี่ยงนี้ไม่สามารถคาดการณ์เป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาได้ และไม่สามารถลดลงด้วยการใช้ยากันเลือดแข็ง เพราะปุ่มที่เกิดบนลิ้นหัวใจเอออร์ติกไม่เกี่ยวอะไรกับการก่อตัวของลิ่มเลือดอย่างในกรณีลิ้นไมทราลตีบ มันคนละอย่างกัน

ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของทั้งสองทางเลือกแล้ว มันพอๆกัน ทั้งนี้เป็นการชั่งน้ำหนักแบบลวกๆ เพราะข้อมูลส่วนที่เราไม่รู้มียังมีอยู่มาก เช่นอุบัติการเกิด embolization ในกรณีลิ้นเอออร์ติกตีบ เป็นต้น ไม่มีหมอคนไหนรู้ตรงนี้เพราะไม่มีใครทำวิจัยไว้เป็นเรื่องเป็นราว จึงไม่สามารถสรุปตัวเลขความเสี่ยงออกมาเป็นผลการบวกลบคูณหารที่ช่วยการตัดสินใจแบบง่ายๆได้

คุณจึงต้องอาศัยความรู้สึกจากลำไส้ (gut feeling) ของตัวคุณเอง ว่าจะผ่าดี หรือไม่ผ่าดี คุณเป็นคนเลือกเอง ข้างโน้นก็แย่ ข้างนี้ก็แย่ แย่ทั้งสองข้าง แต่คุณก็ต้องเอามันสักข้างหนึ่ง ผมตัดสินใจแทนคุณไม่ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี